Food Waste ปัญหาใหญ่ที่ซ่อนในศูนย์อาหาร

ศูนย์อาหารถือเป็นสวรรค์ของนักกิน เพราะเป็นแหล่งรวมอาหารนานาประเภท บางแห่งมีร้านดัง สะดวกสบายเพราะจัดพื้นที่ให้นั่งรับประทาน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก มีเมนูอร่อย จานด่วน ราคาสบายกระเป๋า ทำให้เป็นแหล่งรวมร้านอาหารและผู้บริโภคจำนวนมาก  สิ่งที่ตามมาทั้งศูนย์อาหาร โรงอาหาร แคนทีน  ฟู้ดคอร์ท กลายเป็นตัวการสำคัญสร้างขยะอาหาร (Food Waste) จำนวนมหาศาลในแต่ละวัน และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

คนไทยหนึ่งคนสร้างขยะอาหารถึง 146 กิโลกรัมต่อปี ปัจจุบันไทยมีปริมาณขยะอาหารเกิดขึ้นประมาณ 9.7 ล้านตันต่อปี ขณะนี้ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน  UN กำหนดให้การลดขยะอาหารเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เมื่อปี 2558 กำหนดเป้าลดขยะอาหารในระดับค้าปลีกและบริโภคทั่วโลกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 สำหรับประเทศไทยพบว่า ตลาดสดมีการทิ้งของขยะอาหารสูงสุด รองลงมา ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ และอาคารสำนักงาน ซึ่งสถานที่ที่กล่าวมามีศูนย์อาหารอยู่ด้วย

ขยะอาหารจากแหล่งกำเนิดศูนย์อาหาร เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ควรมองข้าม ต้องส่งเสริมให้เกิดการลด  ป้องกัน  และนำขยะอาหารที่เกิดขึ้นไปกำจัดอย่างเหมาะสม ซึ่งไม่ใช่การทิ้งไปอย่างสูญเปล่า  นำมาสู่การผนึกความร่วมมือระหว่างสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI)  กรมควบคุมมลพิษ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมอนามัย กรุงเทพมหานคร  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์อาหารในหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและสถานศึกษา  14 แห่ง แสดงเจตจำนงร่วมส่งเสริมการป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารในเมืองใหญ่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง   ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียทรัพยากร ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การสูญเสียอาหารเป็นปัญหาสำคัญของโลก รวมถึงไทย ทั้งผลิตอาหารไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน  อีกส่วนจากการบริโภคไม่ทันหรือไม่หมด  ทำให้ต้องทิ้งกลายเป็นขยะอาหาร  จากข้อมูลองค์ประกอบขยะมูลฝอย พบว่า  ร้อยละ 38 เป็นขยะอาหารที่ถูกทิ้งรวมกับขยะทั่วไป คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักการลดการเกิดขยะอาหาร คัดแยก และจัดการขยะอาหารตั้งแต่ต้นทาง  รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังไม่มีการวางระบบคัดแยกและเก็บขนขยะมูลฝอยแบบแยกประเภท เกิดปัญหาต่อขยะที่จะนำกลับไปใช้ประโยชน์และการกำจัดที่ปลายทาง มีกลิ่นเหม็น  แมลงวัน สัตว์รบกวน  รวมถึงเกิดก๊าซเรือนกระจก

อธิบดี คพ. กล่าวต่อว่า ไทยเป็นประเทศสมาชิก UN ต้องทำตามเป้า SDGs ลดขยะอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค ล่าสุด วันที่ 11 ม.ค. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ  และประธานคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ เห็นชอบแผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (พ.ศ. 2566 – 2573) และแผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อเป็นทิศทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอาหารของประเทศ เน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันและลดขยะอาหาร จัดระบบคัดแยกขยะอาหาร ณ แหล่งกำเนิด จัดระบบกำจัดขยะอาหาร ณ สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย สนับสนุนและผลักดันให้ประชาชนคัดแยกขยะอาหารออกจากขยะทั่วไป และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบคัดแยกและเก็บขนขยะแบบแยกประเภท

“ ศูนย์อาหารเป็นแหล่งเกิดขยะอาหารที่สำคัญต้องให้ความสำคัญในการวางแผนเพื่อบริหารจัดการขยะอาหารตั้งแต่ต้นทางอย่างเหมาะสม เพราะมีผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่เจ้าของศูนย์อาหาร ร้านค้าที่เช่าพื้นที่ ลูกค้าที่มาซื้ออาหาร ความร่วมมือนี้ TEI ศึกษาภายใต้โครงการส่งเสริมการป้องกัน ลด และจัดการขยะอาหารจากแหล่งกำเนิดศูนย์อาหาร เป็นส่วนสำคัญเคลื่อนแผนปฏิบัติการขยะอาหารระยะ 1  มาตรการที่ 1  การป้องกันและลดการเกิดขยะอาหาร  จัดทำองค์ความรู้และประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องในภาคผู้ประกอบการอาหาร “  ปรีญาพร กล่าว

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า  เมนูอาหารแต่ละจานที่ผลิตขึ้นทำลายความหลากหลายทางชีวภาพตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่การขนส่งใช้พลังงาน สร้างขยะในครัวเรือน ตลาด   ศูนย์อาหาร หากบริโภคไม่หมดเป็นของเสีย ถูกเก็บขนไปฝังกลบรวมกับขยะอื่นๆ ทับถมจนเกิดก๊าซมีเทนตัวการก่อภาวะเรือนกระจก ไทยต้องสร้างระบบจัดการขยะอาหารที่เหมาะสม

สถานการณ์ขยะอาหารในศูนย์อาหารจะรุนแรงน้อยลง ดร.วิจารย์ย้ำต้องมีความร่วมมือสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วยสนับสนุนให้ศูนย์อาหารและหน่วยงานต่าง ๆ มีข้อมูลและกำหนดเป้าหมายลดปริมาณขยะอาหารและอาหารส่วนเกินด้วยระบบคัดแยกและรวบรวมให้เอื้อต่อการนำไปใช้ประโยชน์และกำจัดอย่างเหมาะสม ,ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมป้องกันและลดการเกิดขยะอาหาร ,ส่งเสริมองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี สำหรับผู้ประกอบอาหารและผู้จำหน่ายอาหารในการป้องกัน ลด คัดแยก และจัดการขยะอาหาร ,พัฒนาและขยายผลรูปแบบที่เหมาะสมและแนวปฏิบัติที่ดีในการป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารจากศูนย์อาหาร และจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกินที่แหล่งกำเนิด ตลอดจนขับเคลื่อนแผนจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกินด้วยกลไกข้อมูล กฎระเบียบ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและกว้างขวาง โดย TEI  หนุนการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจัดการขยะอาหารอย่างเป็นระบบ

ประเด็นแนวทางการจัดการขยะอาหารจากศูนย์อาหารขนาดกลางและขนาดใหญ่นั้น    ณัฐณิชา ยี่ลังกา นักวิจัยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า  ขยะในศูนย์อาหาร มีทั้งขยะจากครัว ที่มีทั้งเศษพลาสติก เศษผัก ขยะอื่นๆ ไม่มีเวลาแยกทิ้งรวมๆ กัน  ขยะอาหารจากในครัวและในจานเยอะพอกัน  ส่วนใหญ่รวบรวมขยะอาหารไปเป็นอาหารสัตว์ แต่ก็มีข้อจำกัดของผู้ที่มารับเอาไป   มีตัวอย่างการศึกษาปริมาณและองค์ประกอบขยะอาหารที่ศูนย์อาหารศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ  พบว่า กินได้ 80% กินไม่ได้ 20%  ส่วนใหญ่เป็นคาร์โบไฮเดรต

“ ผู้บริหารศูนย์อาหารต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน  ตั้งทีมวางแผน   กำหนดจุดและจัดหาภาชนะรองรับขยะอาหาร  ประสานหาผู้รับขยะอาหารไปใช้ประโยชน์  สำหรับผู้ประกอบร้านอาหาร ผู้ขายอาหารวางแผนการสั่งซื้อวัตถุดิบในปริมาณพอเหมาะ  เก็บรักษาวัตถุดิบอย่างเหมาะสม   แปรรูปเศษวัตถุดิบที่เหลือ  นำอาหารเหลือมาลดราคา แนวทางพนักงานศูนย์อาหาร  คัดแยกขยะอาหาร ให้คำแนะนำลูกค้า ตรวจเช็คจุดคัดแยกขยะอาหารให้สะดวก สำหรับผู้บริโภคแจ้งปริมาณอาหารที่พอดีทาน ปฏิเสธไม่รับสิ่งที่ไม่ทาน  ระมัดระวังการซื้ออาหารในรายการส่งเสริมอาหารหรือลดราคามากเกินไป  แนวทางนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์มีทั้งเป็นอาหารสัตว์ แปรรูปเป็นปุ๋ย น้ำหมักชีวภาพ  เลี้ยงไส้เดือนดิน หนอนแมลงวันลาย และผลิตก๊าซชีวภาพ “  ณัฐณิชา กล่าว

โรงอาหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นกรณีตัวอย่างให้เรียนรู้การป้องกัน ลดใช้ และกำจัดขยะอาหาร  รศ.ดร.นุตา  ศุภคต ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ  กล่าวว่า โครงการ CHULA ZERO WASTE  เริ่มปี 2560-2564  เป้าหมายลดขยะในมหาวิทยาลัย  ปัจจุบันโครงการยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีแผนงานการจัดการขยะในโรงอาหารด้วย ในมหาวิทยาลัยมีโรงอาหาร 12 แห่ง  ร้านค้า  88 ร้าน ก่อนวางระบบจัดการขยะในโรงอาหาร  มีการศึกษาปริมาณและองค์ประกอบขยะ ปี 59 มีขยะจากโรงอาหาร 3.27 ตันต่อวัน เป็นเศษอาหาร 2.44 ตัน หรือ  74%  มาจากผู้ใช้บริการโรงอาหาร 1.80 ตัน อีก 0.64 ตัน จากร้านค้าในโรงอาหาร มีทั้งอาหารปรุงสุกและเศษผักผลไม้ กลยุทธ์จัดการขยะไม่ได้ใช้เทคโนโลยี แต่เริ่มจากตัวเรา ลดการเกิดขยะอาหารมากที่สุด และคัดแยกนำขยะไปให้ประโยชน์   หัวใจสำคัยการสร้างพฤติกรรมการลดและคัดแยกขยะ สร้างความรู้ความเข้าใจผู้ใช้บริการ ทานให้หมด ทานแต่พอดี เลือกของที่ดีต่อสุขภาพ อบรมเชิงปฏิบัติการด้านการจัดการขยะแก่ร้านค้า แม่บ้านในโรงอาหาร  

ส่วนระบบการคัดแยกขยะ รศ.ดร.นุตา กล่าวต่อว่า  ในส่วนผู้ใช้บริการโรงอาหาร มีถังคัดแยกขยะ 6 ประเภท ได้แก่ น้ำ/น้ำแข็ง, แก้วน้ำ/หลอด, ขวดพลาสติก, ขยะทั่วไป, เศษอาหาร และพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยเศษอาหารปรุงสุกมีจุดรวบรวม ปลายทางเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรีนำไปเลี้ยงปลา ขยะเศษอาหารมีคุณค่าเชิงโภชนาการ เกษตรกรใช้จริง ปลามีคุณภาพขายได้ ส่วนร้านค้าในโรงอาหาร แบ่งถังขยะเศษอาหารและถังขยะทั่วไป เศษผักผลไม้ สำนักบริหารระบบกายภาพจุฬาฯ นำไปเข้าเครื่องแปรรูปขยะอินทรีย์ ได้วัสดุปรับปรุงดิน แม้ไม่เทียบเท่าปุ๋ย แต่ใช้บำรุงต้นไม้ได้  เทียบข้อมูลปี 59 มีขยะร้านค้า 21 ตันต่อเดือนส่งให้ กทม.ฝังกลบ หลังทำโครงการปริมาณขยะส่งให้ กทม. ลดลงเหลือ 7 ตันต่อเดือน

“ ภาพรวมตั้งแต่ดำเนินโครงการ 5 ปี สอดรับเศรษฐกิจหมุนเวียน ขยะอาหารนำกลับมาเป็นทรัพยากรทดแทนอาหารปลาและทดแทนปุ๋ยใช้ในมหาวิทยาลัย การจัดการขยะในโรงอาหาร ทำให้เราสามารถลดขยะทั่วไปได้ร้อยละ 66  เสนอให้มีการรณรงค์ต่อเนื่องภายในโรงอาหาร  จุดทิ้งขยะต้องมีความสะอาด มีจนท.ดูแลไม่ให้ถังเต็ม รองรับขยะได้ตลอดเวลา และสะดวกต่อการทำงานของแม่บ้าน ปลายทางไม่ควรใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน จนท.สามารถจัดการได้ อีกทั้งต้องมีการเก็บข้อมูลนำเสนอผลรูปธรรมให้กับผู้บริหาร เป็นแนวทางปรับปรุง พัฒนาต่อ ไป อีกทั้งมีการรายงานผลดำเนนงาน มอบประกาศนียบัตรและให้ของรางวัลประจำปีสร้างจูงใจ กระตุ้นร้านค้าและเจ้าหน้าที่โรงอาหารลดขยะนำมาสู่การร่วมมือกัน นอกจากนี้ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้คัดแยก ขยะคัดแยกแล้ว ไม่เทรวม เชื่อว่าทุกคนมีใจรักสิ่งแวดล้อม เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ลดปริมาณอาหาร คัดแยก ยังมีเกษตรกรที่ต้องการขยะอาหารอีกมาก แต่ขาดการเชื่อมโยงปลายทาง  “ รศ.ดร.นุตา กล่าว

ศูนย์อาหารในโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการฯ  สุทิดา อุทะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหาร กรมอนามัย กล่าวว่า ปริมาณขยะอาหารที่เพิ่มขึ้นและการจัดการที่ไม่เหมาะสม ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ก่อเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก กรมอนามัยเล็งเห็นความสำคัญของสถานประกอบการอาหารคัดแยกขยะในศูนย์อาหารที่มีเป้าหมายชัดเจน  โดยนำร่อง รพ.ในสังกัด สธ.  โดยเฉพาะในโรงครัวและโรงอาหาร ลดขยะอาหารในโรงอาหารในโรงพยาบาลได้ 70% และเตรียมจะขยายผลจัดการขยะในศูนย์อาหารต่อไป

ผู้รับขยะอาหารไปใช้ประโยชน์อย่าง  ธนกร  เจียรกมลชื่น  ผู้จัดการบริษัท  Bangkok Rooftop Farming  กล่าวว่า ขยะเศษอาหารยังไม่มีหน่วยงานแก้ปัญหาจริงจัง การจัดการขยะอาหารแบบฝังกลบเกิดก๊าซมีเทน กลุ่มเรานำขยะอาหารมาใข้ประโยชน์ ต่อยอดสร้างรายได้  60,000 บาทต่อเดือน โดย 50% เป็นรายได้จากขายผักในฟาร์ม  อีก 20% ทำดินและปุ๋ยจากเศษอาหารขาย   อีกส่วนมาจากการเทรนนิ่งปลูกผักที่บ้าน มีต้นแบบสวนผักดาดฟ้าบนห้างเซ็นเตอร์วัน ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  อยากสร้างกระแสสวนผักดาดฟ้า จากการศึกษาหนึ่งฟาร์มลดขยะเศษอาหารได้ 50 ตันต่อปี เป้าหมายลดขยะอาหารให้ได้ 30% ภายใน 5 ปี ลดขยะเศษอาหารได้ 7,000 ตัน  สร้างสิ่งแวดล้อม สร้างงาน ลดปล่อยก๊าซ และสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง อนาคตจะหาพันธมิตรภาคธุรกิจขยายฟาร์ม ลดขยะอาหารล้นเมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอนามัย ชวน ชาวเน็ต ‘เล่น’ TikTok ‘เล่า’ ผ่านคลิป ‘ลุ้น’รางวัลรวม กว่า 30,000 บาท

กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมการประกวด TikTok Challenge เชิญชวนคนไทยแจกสูตรเด็ดเคล็ดลับ สุขภาพดี ทั้งกินดี นอนดี หรือ

ผงะ! ผลตรวจพบ 8 คนงาน มีสารแคดเมียมสูงเกินมาตรฐาน

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยผลการปฏิบัติงานเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพเพิ่มเติม กรณีพบกากแคดเมียมและกากสังกะสีผลการเก็บตัวอย่างแคดเมียมในปัสสาวะของพนักงานโรงงาน