บัญชีฐานข้อมูลกำเนิดฝุ่น PM2.5 ของไทย

การกระจายฝุ่นจากการเผาในที่โล่ง(ข้อมูลปี 2562)

"จากเดิมเราเคยคาดการณ์ว่าการใช้น้ำมัน มาตรฐานยูโร 5 จะช่วยลดPM 2.5 ได้ 10%ในปี2573  เพราะยูโร 5 นี้มีการลดปริมาณกำมะถันน้อยกว่าน้ำมันยูโร 4 ถึง 5เท่า  ทำให้ฝุ่นPM2.5 ลดจาก 50PPM.เหลือ 10PPM.ซึ่งการคาดการณ์นี้ เป็นการคิดจากองค์ประกอบเดิม ที่ยังไม่มีการใช้รถEV มากนัก  แต่เมื่อดูยอดรถEV ที่มาแรงแซงโค้งมาก  ก็ทำให้เชื่อว่าเราจะลด PM2.5ได้ถึง 20% ได้อย่างแน่นอน...."

ปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญที่ทำให้คนทั่วโลกกลับมาให้ความสนใจในช่วงหลายปีหลัง คือ เรื่องมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะมลภาวะจากฝุ่น PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ในปี 2566 มีปัญหาความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

ทำให้หลายปีที่ผ่านมา ภาครัฐและหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลุกขึ้นต่อสู้กับปัญหา PM2.5  แต่ถือว่ายังไม่สามารถเอาชนะปัญหาได้ จนในล่าสุด ต้องมีการพยายามผลักดัน ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด ขึ้นเพื่อใช้เป็นกลไกมาช่วยแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋วพิษได้ ไม่ใช่มีแต่การใช้อำนาจตามกฎหมายเท่านั้น แต่จำเป็นต้องมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อค้นหาต้นกำเนิดที่แท้จริงของฝุ่นพิษวว่ามาจากไหน อย่างไร  เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ถูกจุด ด้วยเหตุนี้ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงได้ จัดทำ”ฐานข้อมูลบัญชีฝุ่น PM2.5″ ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนนโยบายเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหามลภาวะทางอากาศของประเทศไทย ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ

รศ. ดร.สาวิตรี การีเวทย์

รศ. ดร.สาวิตรี การีเวทย์ และคณะ จากJGSEE มจธ. นักวิชาการหลักผู้ดำเนินโครงการ “การจัดทำแนวทางการจัดการฝุ่น PM2.5 โดยการวิจัยการเกิดอนุภาคทุติยภูมิ จากการใช้ระบบแบบจำลองการจัดการคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและภาคกลาง” กล่าวว่า ฐานบัญชีข้อมูลฝุ่น PM2.5   เป็นการทำงาน เพื่อศึกษาแหล่งกำเนิดและกลไกของการเกิด PM2.5  ทุติยภูมิ (Secondary Aerosol Precursors) รวมถึงจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดการคุณภาพอากาศที่สามารถแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศจาก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้ลดลงได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)ซึ่งให้ทุนดำเนินงานตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา โดยมีเป้าหมายหลักคือ ให้กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ ในการจัดการปัญหาPM2.5

การกระจายตัวของฝุ่นรายเดือนหรือรายภาค(ข้อมูลปี 2562)

โดยเฉพาะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล ได้รับผลกระทบ  เพราะปริมาณฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ เป็นสาเหตุให้มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอด และโรคปอดเฉียบพลันในเด็กเล็กเพิ่มสูงขึ้น
“ฝุ่น PM 2.5 มีทั้งที่เกิดจากการปล่อยโดยตรงจากแหล่งกำเนิด เช่น การเผาในที่โล่ง ฝุ่นละอองจากรถยนต์ ที่เป็น “ฝุ่นแบบปฐมภูมิ” ยังมี PM 2.5 “แบบทุติยภูมิ” ที่เป็นการรวมตัวกันของสารตั้งต้น (Precursors) เช่น ไนโตรเจนออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แอมโมเนีย และ NMVOC กับสารอื่นๆ ผ่านปฏิกิริยาเคมีในอากาศอีกด้วย  ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีทั้งบัญชีการระบายทั้งของฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิ และของสารตั้งต้นที่ก่อให้เกิด PM2.5 ทุติยภูมิ เพื่อนำเข้าระบบแบบจำลองการจัดการคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก่อนใช้ประกอบการตัดสินใจในการแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศจาก PM2.5 ของประเทศ ทั้งในระยะกลางและระยะยาวต่อไป”รศ.ดร.สาวิตตรีกล่าว

นักวิจัย JGSEE กล่าวว่า แม้การทำโครงการวิจัยจะจำกัดอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่การทำงานจริง  จำเป็นต้องเก็บข้อมูลจากพื้นที่อื่นทั่วประเทศ เพราะอากาศไม่มีอาณาเขต การเกิดมลภาวะทางอากาศของพื้นที่อื่นๆ ส่งผลต่อมลภาวะทางอากาศของภาคกลางกรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วย ซึ่งจากการวิจัยพบว่า สัดส่วนระหว่าง PM2.5 ปฐมภูมิ และ PM2.5 ทุติยภูมิอยู่ที่ 70:30  โดยในประเทศไทยแหล่งกำเนิด PM2.5 มาจากการเผาชีวมวลในที่โล่งในพื้นที่การเกษตรเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นการเผาฟืน/ถ่านไม้เพื่อหุงต้มในภาคครัวเรือน โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนขนาดเล็ก การผลิตซีเมนต์ และการจราจร ตามลำดับ

การระบายฝุ่นเปรียบเทียบตามแหล่งกำเนิด (ข้อมูลปี 2562)

ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รศ.ดร.สาวิตตรีกล่าวว่า  แหล่งกำเนิด PM2.5  ปฐมภูมิมาจากการจราจรเป็นส่วนใหญ่ ทั้งจากรถบรรทุกขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ รถเมล์ รถยนต์ส่วนบุคคล การเผาไหม้ในอุตสาหกรรมจากจังหวัดโดยรอบ เช่น จังหวัดนครปฐม และสมุทรสาคร โดยส่วนใหญ่รถมีอายุการใช้งานนาน ส่งผลต่อการปล่อยไอเสียในปริมาณมาก ขณะที่ฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิที่เกิดจากพื้นที่ภาคกลางจะมีต้นกำเนิดจากการเผาในที่โล่งในพื้นที่การเกษตร และการผลิตซีเมนต์ แต่จะสังเกตได้ว่าในช่วงที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและภาคกลางได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในรอบปี  ซึ่งจะเป็นช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นผลมาจากทั้งการเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวที่มวลอากาศมีการเคลื่อนตัวโดยความเร็วต่ำ รวมถึงเป็นช่วงที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เข้าสู่ช่วงเตรียมพื้นที่เพื่อการทำเกษตรรอบใหม่ จึงมีการเผาในที่โล่งในจำนวนมากขึ้น รวมถึงการเกิดไฟป่าในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ปริมาณมลพิษในอากาศสูงขึ้นอย่างมากและส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีฐานบัญชีฝุ่น PM2.5 ที่ค่อยๆ เริ่มตั้งแต่ประมาณปี  2554-55 เป็นต้นมา  รศ.ดร.สาวิตตรี กล่าวว่า จริงๆแล้วหลายประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น มีการทำบัญชีฐานข้อมูลฝุ่นพิษทางอากาศ หรือ PM2.5 กันมานานแล้ว ทำก่อนบัญชีก๊าซเรือนกระจกเสียอีก โดยข้อมูลนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการปัญหาฝุ่น แต่สำหรับประเทศไทย เพิ่งมาตื่นตัวเรื่อง PM2.5 เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะคนได้รับผลกระทบ ทั้งๆที่เราก็ประสบปัญหาเรื่องฝุ่นกันมานานแล้ว  ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไม บ้านเราจึงไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาฝุ่น ก็เพราะมองว่าเป็นเรื่องของอากาศ ซึ่งไม่มีรูปธรรม จับต้องไม่ได้  ไม่มีมูลค่า  ไม่เหมือนปัญหาเรื่องน้ำที่จับต้องได้ คนจึงให้ความสำคัญมากกว่า

ในการเก็บและรายงานข้อมูล นักวิจัย ยอมรับว่า มีความยากพอสมควรในการได้ข้อมูลมา  โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นแหล่งวิถีชีวิตชาวบ้าน ซึ่งจะบ่งชี้ว่าแหล่งกำเนิดPM2.5 มาจากพื้นที่ไหน อย่างไร โดยเฉพาะช่วงฤดูเริ่มทำการเกษตรที่มีการเผามากเก็บข้อมูลได้ค่อนข้างยาก ต้องรอการรายงานจากหน่วยงานอื่นๆในพื้นที่ เช่น กรณีเกิดไฟป่า ที่มีการเคลื่อนไหวเกิดเหตุได้ตลอดในช่วงหน้าแล้ง หลังจากได้ข้อมูล  ยังเชื่อถือไม่ได้ทันที ต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องกับแหล่งอื่น หรือ Cross check อีกทีก่อนจะบันทึกลงในรายงาน   เทียบกับการเก็บข้อมูลในต่างประเทศ ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีติดตั้งแต่ละพื้นที่จำนวนมาก ทำให้เก็บง่ายกว่ามาก นอกจากนี้ ข้อมูลที่มาจากภาคอุตสหกรรม ก็ยังเก็บได้เฉพาะอุตสาหกรรมรายใหญ่ๆ ส่วนรายย่อย ที่ยังใช้เทคโนโลยีเก่า  หรือไม่มีระบบบำบัดอากาศก่อนปล่อยออกมา ก็ยังเป็นจุดบอดที่เข้าไม่ถึงข้อมูล  

“ข้อมูลของจะมีการอัพเดททุกๆ 5ปี ล่าสุดใช้ปีฐาน คือปี 2019  ยังไม่ได้ปรับ เพราะช่วงปี 2020-2023 เป็นช่วงโควิดระบาด ทำให้ยากต่อการทำงาน การเก็บจึงไม่เต็มรูปแบบ แต่ปีนี้ จะกลับมาเต็มที่ใหม่  และเราตั้งเป้าจะปรับปรุงข้อมูลให้เร็วขึ้น “

เพื่อให้ข้อมูลมีการอัพเดททันกับสถานการณ์ฝุ่นที่รุนแรงในช่วงหน้าแล้งของทุกปี รศ.ดร.สาวิตตรี บอกว่า ขณะนี้ทาง โครงการฯ จึงมีแผนปรับปรุงข้อมูลให้เร็วขึ้น โดยร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือไจก้า เก็บข้อมูลจากดาวเทียมของญี่ปุ่นจะถ่ายภาพทุก 10 นาที ถือว่าเร็วกว่าข้อมูลของGisda ของไทย หรือข้อมูลจาก NASA  แต่ดาวเทียมญี่ปุ่นยังมีความไม่สมบูรณ์เรื่องพื้นที่ปล่อย ทำให้ต้องนำข้อมูลมาครอสเช็กกับทางNASA อีกครั้ง แต่ความร่วมมือครั้งนี้ จะทำให้บัญชีฐานPM2.5 เร็วขึ้นจากการรายงานทุกๆ 5ปี มาเป็น ทุกๆ 3ปี

ฐานบัญชีข้อมูลPM2.5 ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหามลภาวะทางฝุ่น ซึ่งทางโครงการฯ ได้มอบข้อมูลกับคพ.นำไปใช้ประโยชน์ โดยคพ.จะทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานและกระจายข้อมูล ไปยังภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้หน่วยงานอื่นๆ เข้าถึงข้อมูลฝุ่น   นอกจากนี้ ทางสำนักฝ่ายความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร ที่มีอัตราการเกิดPM2.5 สูง  ก็ขอนำข้อมูลไปใช้ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์  นอกจากนี้ ยังมีอบต.หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม เกษตรจังหวัดที่ขอข้อมูลฝุ่นนี้ด้วยเช่นกัน  

อย่างไรก็ตาม การมีฐานบัญชีฝุ่น ยังไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของปัญหา จะต้องมีแนวทางการลด PM2.5 ด้วยเช่นกัน  รศ. ดร.สาวิตรี  กล่าวว่า หนึ่งในมาตรการที่เป็นความหวังในขณะนี้นั้นก็คือ  การที่ประเทศไทยประกาศใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เชื่อว่าจะสามารถช่วยลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิได้ไม่ต่ำกว่า  20%  ภายในปี 2573 ซึ่งเป็นการนับรวมกับปัจจัยของการใช้รถ EV ที่มียอดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งประเทศไทยถือว่าการใช้รถEV เติบโตสูงมาก ยอดสิ้นปี66 เพิ่มจากปีก่อนถึง  628 % ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่ามาตรการส่งเสริมรถEV ของรัฐสิ้นสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ทำให้คนแห่ไปจองซื้อรถEV  จำนวนมาก ซึ่งการใช้รถEV ที่เพิ่มขึ้นนี้ จะไปจะช่วยลดปริมาณPM2.5 ให้ลดลงอย่างแน่นอน

สัดส่วนการระบายมลพิษทางอากาศ (ข้อมูลปี 2562)

“จากเดิมเราเคยคาดการณ์ว่าการใช้น้ำมัน มาตรฐานยูโร 5 จะช่วยลดPM 2.5 ได้ 10%ในปี2573  เพราะยูโร 5 นี้มีการลดปริมาณกำมะถันน้อยกว่าน้ำมันยูโร 4 ถึง 5เท่า  ทำให้ฝุ่นPM2.5 ลดจาก 50PPM.เหลือ 10PPM.ซึ่งการคาดการณ์นี้ เป็นการคิดจากองค์ประกอบเดิม ที่ยังไม่มีการใช้รถEV มากนัก  แต่เมื่อดูยอดรถEV ที่มาแรงแซงโค้งมาก  ก็ทำให้เชื่อว่าเราจะลด PM2.5ได้ถึง 20% ได้อย่างแน่นอน แต่ว่ารถEVส่วนใหญ่ยังเป็นรถส่วนบุคคล ไม่ใช่รถสาธารณะ เพราะเรายังมีรถในระบบขนส่งยังเป็นเครื่องดีเซล ยังเป็นเทคโนโลยีเก่าที่เป็นตัวหลักก่อปัญหาฝุ่น  ซึ่งรถพวกนี้ ยังมีจำนวนที่เยอะมากๆ ยังวิ่งบนถนน ในกทม.และข้ามจังหวัด “รศ.ดร.สาวิตตรีกล่าว

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ยังมองไปถึงการเกิดพ.ร.บ.อากาศสะอาดอีกว่า การออกกฎหมาย ควรเน้นไปที่การบอกว่า การทำให้อากาศสะอาดนั้น “เป็นสิทธิและหน้าที่ของทุกคน”  สิทธิอากาศของเรา จะต้องเป็นสิ่งที่ไม่ควรไปล่วงล้ำสิทธิ์ของผู้อื่น  เช่น โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตแล้วปล่อยมลพิษ  ก็ไม่ควรล่วงล้ำสิทธิคนอื่น โดยการปล่อยมลพิษออกมา เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยแก้ปัญหาได้ หรือนายทุนที่รับซื้ออ้อย ก็ไมควรซื้ออ้อย ที่ปลูกโดยการเผา ไม่ควรมองแค่การได้ของมาราคาถูก ๆ  โดยไม่มองถึงที่มาของสินค้าว่าสร้างปัญหามลพิษทางอากาศหรือไม่  

“มองว่า พ.ร.บ.อากาศสะอาด จะต้องมีกฎหมายลูก กำหนดปริมาณการปล่อยมลภาวะทางอากาศ ว่าไม่ควรเกินเท่าไหร่  เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนหรือก้าวก่ายสิทธของคนอื่น ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม หลายประเทศมีกฎหมายแบนภาคเกษตร ที่ก่อมลพิษ เราทำควรเรื่องของอากาศก็เหมือนกับการทำเศรษฐกิจ  ซึ่งเรายังทำได้ “รศ.ดร.สาวิตตรีกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตรียมรับมือหมอกควัน-ฝุ่นพิษ 2568

ใกล้จะเข้าสู่ฤดูกาลฝุ่นช่วงเวลาที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะเริ่มสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินช่วงหลังวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีฝนที่ลดลง และจะมีมวลอากาศเย็นแผ่เข้ามาบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

'เน็กซ์‘ ปลื้มรถอีวีโตต่อเนื่อง ชี้ปี 66 กวาดรายได้ 9.3 พันล้านบาท

เน็กซ์‘ปลื้มรถอีวีโตต่อเนื่อง ดันผลประกอบการ NEX มีรายได้กว่า 9.3 พันล้านบาท มั่นใจปี 67 นโยบายรัฐสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ดันเป้าหมายรายได้ 2 หมื่นล้านบาท