'บรรทัดทอง-สามย่าน' Thai Street Food ยุคใหม่

กรุงเทพฯ ขึ้นชื่อว่า เป็น “มหานครแห่ง Street Food” สตรีทฟู้ดของไทยได้รับความนิยมในระดับสากล จัดเป็นหนึ่งใน soft power ที่โกยเงินเข้าประเทศจากเสน่ห์สตรีทฟู้ดที่ดึงดูดทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเปิดประสบการณ์และลิ้มลองอาหารเลิศรสและหลากหลาย  ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณมูลค่าตลาดธุรกิจอาหารริมทางปี 2566 ไว้สูงถึง 4.25 แสนล้านบาท  

ในพื้นที่ กทม. มีย่านธุรกิจอาหารริมทางมากมาย ย่านที่มาแรงและฮอตมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่ คือ จุฬาฯ-บรรทัดทอง-สามย่าน เพราะรวมความอร่อยหลากหลายไว้ใจกลางเมือง ทั้งอร่อยระดับตำนาน ระดับมิชลินไกด์ และอร่อยตามกระแส ใครผ่านไปผ่านมาแถวบรรทัดทอง โดยเฉพาะช่วงเย็น-ค่ำ จะเห็นผู้คนยืนต่อคิวรอตามร้านอาหารต่างๆ ไม่รวมเหล่าไรเดอร์ที่จอดมอเตอร์ไซต์บนถนนเพื่อรอรับออเดอร์ให้ลูกค้าที่สั่งออนไลน์ด้วย

ยกระดับสตรีทฟู้ด ‘บรรทัดทอง-สามย่าน’ ดูทันสมัย

รศ.ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ และผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU)บอกว่า มีเป้าหมายพัฒนาบรรทัดทอง-สามย่าน ให้เป็นสวรรค์ของนักชิม จะเป็นอีกย่านหนึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้สยามสแควร์ นอกจากจะได้ลิ้มรสความอร่อยที่หลากหลายและถูกหลักอนามัยแล้ว ยังได้สัมผัสบรรยากาศย่านอาหารริมทาง หรือ  Thai Street Food แบบใหม่ ที่มีระบบสาธารณูปโภคที่ดี ร้านอาหารเป็นระเบียบ ไม่กีดขวางทางสัญจร ปลอดภัย ลูกค้าเดินทางมาง่ายและมีจุดจอดรถสะดวก

ส่วนความเป็นมาวัฒนธรรม street food ไทย รศ.ดร.จิตติศักดิ์ เล่าว่า อดีตชาวสยามหรือคนไทยนิยมปลูกบ้านแบบมีอาณาบริเวณล้อมรอบ ตั้งเรือนอยู่ริมคลองและสัญจรทางน้ำเป็นหลัก การซื้อหาของกินของใช้ ซื้อจากเรือที่แล่นมาเทียบท่าน้ำหน้าเรือน จนสมัยรัชกาลที่ 5 อิทธิพลจากโลกตะวันตกที่เข้ามา ทำให้มีการสร้างถนน ถนนสายแรก ๆ เช่น ถนนเจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร

“เมื่อมีถนนก็มีการสร้างอาคารตึกแถวแบบตะวันตกตามแนวถนน เกิดเป็นย่านที่อยู่อาศัย และย่านการค้า ผู้คนเริ่มหันหน้าเข้าหาถนนและสัญจรทางบกมากขึ้น เริ่มมีหาบเร่และแผงลอยขายอาหาร เมื่อเมืองเจริญขึ้น ย่านที่อยู่อาศัยและการค้าขยายตัว มีถนนหลายสายมากขึ้น หาบเร่และแผงลอย หรืออาหารริมฟุตบาทก็ขยายตัวตาม ”

อาหารริมทางต้นทุนเดิมเอื้อต่อการพัฒนาย่าน

แม้หาบเร่แผงลอยริมถนนอาจทำลายทัศนียภาพของเมืองไปบ้าง แต่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนเมือง รศ.ดร.จิตติศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาหารริมทางตอบโจทย์ความหลากหลายของอาหาร การตั้งร้านหรือแผงลอยมีลักษณะคล้ายศูนย์อาหารที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โล่ง ผู้บริโภคสามารถเลือกอาหารที่ชอบได้หลายประเภท ทั้งอาหารคาว หวาน ทานเล่น เครื่องดื่มวิถีคนเมือง ทั้งยังตอบโจทย์เรื่องราคา ไม่มีค่าเช่าที่หรือค่าเช่าราคาไม่แพง ทำให้แผงลอยหรือร้านอาหารริมทางเป็นที่พึ่งของกลุ่มคนจนเมืองและกลุ่มผู้ใช้แรงงาน มุมเศรษฐกิจมหภาค เป็นสีสันทางวัฒนธรรมที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจชาติด้วย

นักท่องเที่ยวหลงไหลสตรีทฟู้ดกรุงเทพฯ

ที่ผ่านมา มีความพยายามหลายฝ่ายสร้างถนนคนเดินตามย่านเก่าและย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ แต่ไม่สำเร็จตามเป้า ในมุมมอง รศ.ดร.จิตติศักดิ์ ระบุการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นย่านไม่ใช่เรื่องง่าย มีหลายองค์ประกอบ ที่สำคัญ คือ ผู้คนที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ ทั้งผู้ค้าและผู้ขาย  สำหรับ จุฬาฯ-บรรทัดทอง-สามย่าน เป็นย่านที่มีศักยภาพสูง สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ  มีโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่อยู่แล้ว มีการจัดหมวดหมู่ร้านค้า (zoning) ให้มีเอกลักษณ์และความชัดเจน อย่างที่เลือกให้บรรทัดทอง-สามย่านเป็นแหล่งรวม Thai Street Food

“ย่านบรรทัดทอง-สามย่าน มีต้นทุนที่ดีมากอยู่แล้ว คือ เป็นถนนที่มีร้านอาหารหลากหลาย ทั้งร้านดั้งเดิมและร้านอาหารที่ย้ายมาจากตลาดน้อยและเยาวราช  PMCU ได้ยกระดับทั้งพื้นที่ให้เป็นย่าน street food ยุคใหม่ เน้นให้ร้านอาหารต่างๆ ปรุงอาหารตามสุขลักษณะและมีการจัดระเบียบพื้นที่ให้เรียบร้อย ดูทันสมัย เข้าถึงง่าย สะดวกและปลอดภัย แตกต่างจากภาพลักษณ์สตรีทฟู้ดแบบเดิม มีผู้บริโภคจำนวนมาก ทั้งนิสิต คนทำงานออฟฟิศ และนักท่องเที่ยว ที่ต้องการบริโภคอาหารตั้งแต่มื้อเช้าจรดมื้อค่ำ ส่วนปัญหาไรเดอร์จอดริมถนนตามหน้าร้านกีดขวางการจราจรกำลังพยายามจัดระเบียบการใช้พื้นที่สาธารณะนี้ให้เหมาะสมสำหรับทุกฝ่าย  “ ผอ.PMCU กล่าว

ไรเดอร์จอดริมถนนกีดขวาง ปัญหารอการจัดระเบียบ

อีกปัจจัยที่ทำให้สตรีทฟูด ย่านบรรทัดทอง-สามย่าน ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้อิทธิพลจากโซเชียลมีเดีย การรีวิวจากบล็อกเกอร์ เพจท่องเที่ยวต่างๆ สร้างกระแสการรับรู้ในกลุ่มผู้บริโภคที่แวะเวียนมา รวมถึงปากต่อปากบอกเล่าเสน่หอาหารริมทางในย่านนี้

ร้านดังระดับมิชลินไกด์การันตี ‘เอลวิส สุกี้’

ใครแวะเวียนไปชวนอิ่มอร่อย street food ที่ย่านจุฬาฯ บรรทัดทอง สามย่าน มีให้ได้ลิ้มลอง 3 แนวด้วยกัน ได้แก่  ร้านดังในตำนาน เป็นร้านอาหารดั้งเดิมที่เคยอยู่ในพื้นที่นี้ ขายกันตั้งแต่รุ่นพ่อถึงรุ่นลูก เช่น ร้านโจ๊กสามย่าน, ร้านเจ๊แดง, ร้านน้ำเต้าหู้เจ้วรรณ ร้านเปิดมากว่า 30 ปี ดังอยู่แล้ว แต่มาระเบิดความดังขึ้นไปอีก เมื่อ ลิซ่า แบล็กพิงก์ มาทานของหวานที่ร้าน 

ร้านหนึ่ง-นม-นัว อีกร้านในกระแสย่านบรรทัด

ส่วนร้านดังระดับมิชลินไกด์การันตี  เช่น ข้าวต้มปลากิมโป้ เปิดมาแล้ว 70 กว่าปี  เอกลักษณ์มีปลาเก๋าสดตัวใหญ่แขวนเด่นที่หน้าร้าน, ร้านเอลวิสสุกี้ เป็นสตรีทฟู้ดที่เปิดมานานกว่า 50 ปี , ร้านล้งเล้งลูกชิ้นปลา เปิดมาไม่ต่ำกว่า 40 ปี  และร้านอร่อยตามกระแส เช่น ร้าน CQK Mala Hotpot ร้านหนึ่ง-นม-นัว ร้านฉันจะกินชาเย็นทุกวัน ร้านขนมไทยแม่เดือน

ร้านอร่อยตามกระแส ขนมไทยแม่เดือน

นี่แค่ส่วนหนึ่งที่หยิบมาแนะนำ ตลอดทั้งถนนบรรทัดทองยังมีร้านอาหารยาวต่อเนื่อง เดินทางสะดวกด้วย MRT หรือ BTS ที่อยู่ไม่ไกล และมีรถขนส่งสาธารณะที่เข้าถึง ได้แก่ สาย  53, 67, 73  มีบริการลานจอดรถหลายจุด รองรับรถได้จำนวนมาก   สำหรับนิสิต จุฬาฯ ใช้บริการรถปรับอากาศของจุฬาฯ สาย 2 และ 5 ฟรี  หรือจะเรียกรถสามล้อไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชัน  Muvmi  ได้อีกด้วย ตอบโจทย์วิถีคนเมืองยุคใหม่จริงๆ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จุฬาฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ต่อเนื่อง สร้าง Siam Square พื้นที่เพื่อคนไทย ร่วมยุติความรุนแรงในสังคม

สำนักทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) สานต่อความตั้งใจ ในการสร้างสรรค์พื้นที่สยาม สแควร์ให้เป็นพพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน โดยคราวนี้ได้ร่วมสนับสนุนกิจกรรมของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

CU GRADS! The Future is Yours 2024

PMCU ชวนร้านผู้ประกอบการกว่า 60 ร้านค้าร่วมยินดีกับบัณฑิตย์ใหม่ ด้วยโปรโมชั่นสุดปัง พร้อมชวนถ่ายภาพโมเมนท์ PMCU ร่วมกับผู้ประกอบการศูนย์การค้าสยามสแควร์, สยามสแค