ปีใหม่ 2567 เป็นปีที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปีมะโรงหรือ งูใหญ่ ตามปีนักษัตร งูใหญ่ในความเชื่อของคนไทย คือ พญานาค สัตว์ในตำนานอันเป็นที่เคารพบูชาของชาวไทยอย่างมาก พบเห็นได้จนชินตาตามวัดวาอาราม เพื่อส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้ด้วยสิริมงคล สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แนะนำเส้นทาง “มะโรงนักษัตร’ ชวนเรียนรู้สัตว์ในตำนานในความเหมือนและแตกต่าง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับปีมะโรงที่จะมาถึง ผ่านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ซึ่งจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร งานนี้ จัดนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นกรณีพิเศษ ระหว่างวันที่ 29 – 31 ธันวาคม 2566 วันละรอบเดียวเท่านั้น โดยไม่เสียค่าเข้าชม หลังจากจัดเส้นทางสายมู “นบพระ ไหว้(เทพ) เจ้า” ครั้งแรกเมื่อปีก่อน ได้รับความสนใจล้นหลาม
“ ทางพิพิธภัณฑ์จัดเส้นทางมะโรงนักษัตร เพราะมีกิจกรรมสักการะพระพุทธรูป “พุทธบูชานาคสัมพัจฉร์ 2567 ” อัญเชิญพระพุทธรูปที่มีคติการสร้างเกี่ยวข้องกับพญานาคให้ประชาชนสักการะรับปีมะโรงที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และอยากให้ความรู้เรื่องนาคและมังกร รับปีหน้าปีมังกรทองธาตุไม้ โดยใช้โบราณวัตถุสำคัญที่เป็นของมงคล เป็นสื่อเล่าเรื่องเดียวกัน โดยยึดกับคำว่า”มะโรง” แปลว่า งูใหญ่ คนไทย ถือว่าคือ พญานาค ถ้าคนจีนเป็นมังกร ของในพิพิธภัณฑ์ มีทั้งหงอน นาค มกร มังกร และเหรา เป็นสิ่งมีชีวิตในความเชื่อมีความหลากหลายและแต่ละภาคเรียกไม่เหมือนกัน งูหงอน ภาคตะวันตก เป็นตัวแทนอายุยืนยาว สัตว์เหล่านี้ลักษณะต่างกันด้วย “ ศุภวรรณ นงนุช ตำแหน่ง ภัณฑารักษ์ชำนาญการ และผู้นำชมเส้นทาง มะโรงนักษัตร กล่าว
เส้นทางนำชม มี 3 เส้นทาง มีโบราณวัตถุสำคัญควรค่าเข้าชม 10 รายการ ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ หมู่พระวิมาน และหอแก้วศาลพระภูมิ โดยมีจุดสตาร์ทแต่ละเส้นทางแตกต่างกัน ซึ่งใช้เวลาชมประมาณ 1 ชั่วโมง ประชาชนสามารถจองรอบพิเศษ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. มีภัณฑารักษ์นำชม เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป
จุกแรกที่เป็นหัวใจสำคัญ สักการะ พุทธบูชานาคสัมพัจฉร์ ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เริ่มจากพระพุทธสิหิงค์องค์สำคัญ และพระพุทธรูปนาคปรกสำคัญอีก 9 องค์ เพื่อเป็นสิริมงคลรับศักราชใหม่ และเรียนรู้เรื่องราวของนาคต่างๆ ในพระพุทธศาสนาผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนังและภาพศรนาคบากบนตู้พระธรรมในพระที่นั่งแห่งนี้
หลีฮื้อกระโดดข้ามประตูมังกร พิกัดหลังพระทวารคู่กลางในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หาชมได้ยาก ปกติพระทวารจะเปิด ทำให้มองไม่เห็นภาพลายกำมะลอด้านหลัง พิพิธภัณฑ์ฯ ปิดประตูเพื่อโชว์ภาพจิตรกรรมปลาไนกระโดดข้ามประตูมังกรจนกลายร่างเป็นมังกรห้าเล็บที่หลังพระทวารคู่นี้ เพื่อนำพาความสำเร็จมาสู่ผู้ชม เพราะตามความเชื่อปลาหลีฮื้อกระโดดข้ามประตูมังกร คนจีนเปรียบคนที่ขยันหมั่นเพียร แม้มาจากคนธรรมดาก็กลายเป็นมังกรได้ ในภาพมังกรห้าเล็บเป็นสัญลักษณ์จักรพรรดิ์ แล้วยังมีลวดลายของวิเศษข้างกาย 8 เซียน หรือคนไทยเรียก “ลี้ทิก๊วย” อย่างพัดรูปทรงใบกล้วย เชื่อว่า ปัดเป่าสิ่งไม่ดี นำพาโชคลาค ,น้ำเต้า สื่อรักษาโรคภัย และไม้เท้าเหล็ก แล้วยังมีอัษฎมงคลทั้งแปดตามความเชื่อพุทธศาสนามหายานอีกด้วย
นาฬิกาธูปรูปเรือมังกร ภายในพระที่นั่งพรหมเมศธาดา จัดแสดงนาฬิกาธูปรูปเรือมังกรประดับมุก ซึ่งไม่มีรางจับเวลาและลูกตุ้มบอกเวลา สันนิษฐานว่า มีกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย ซึ่งจะจุดธูปจับเวลาในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะในพระพุทธศาสนามหายาน และแพร่หลายเข้าสู่ประเทศจีนจนพัฒนารูปแบบของตนเอง และส่งต่อสู่เวียดนาม เกาหลี รวมถึงญี่ปุ่นด้วย คล้ายนาฬิเกมะพร้าวของไทยที่ใช้เป็นเครื่องบอกเวลาในอดีต
นารายณ์บรรทมสินธุ์ พิกัดห้องลพบุรี คัดสรรไว้ในเส้นทางด้วยลักษณะพิเศษทับหลังสลักภาพพระนารายณ์บรรทมบนหลังมกรที่เกษียรสมุทร หรือทะเลน้ำนม มกรเป็นสัตว์ในน้ำ มีขาต่าง จากนาคไม่มีขา ตามการตีความช่างพื้นถิ่นเขตที่ราบสูงบ้านเรา ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ปราสาทพนมรุ้งก็บรรทมบนหลังมกร สำปหรับโบราณวัตถุชิ้นนี้พบจากปรางค์กู่สวนแตง บ้านดงยาง จ.บุรีรัมย์ เทวาลัยในศาสนาฮินดู สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-17 ในกัมพูชาทับหลังนารายณ์บรรทมอยู่บนหลังพญานาค ตามคัมภัร์ฮินดูกล่าวว่าเมื่อพระศิวะทำลายจักรวาลแล้ว พระนารายณ์เข้าบรรทมบนหลังเศษะนาค เมื่อทรงเข้าฌานบังเกิดดอกบัวผุดออกมาจากพระนาภี บัวบานออกมามีภาพพระพรหม นำมาสู่การสร้างโลก ถือเป็นภาพมงคลยิ่งควรค่าแก่การชม
ถัดมา พระแท่นพระเจ้าตาก จัดแสดงห้องธนบุรี – รัตนโกสินทร์ สันนิษฐานเป็นของพระเจ้ากรุงธนบุรีได้มาจากเมืองแกลง จ.ระยอง เป็นของอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มาแต่เดิม ความน่าสนใจขาเตียงมีลักษณะราชสีห์มังกร’ซวนหนี’ รองรับสิ่งสำคัญ มาจากคติความเชื่อของจีนเรื่องลูกมังกร 9 ตัว
ห้องเดียวกันนี้ จัดแสดงพระเก้าอี้พับในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ร.1 ใช้ในกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน กรณีที่ไม่ได้ทอดพระแท่นที่ประทับถวาย รวมถึงใช้ในการเสด็จงานพระราชสงครามด้วย
อรหันต์ปราบมังกร เป็นตุ๊กตาหินเซียงหลงหลอฮั่นในท่วงท่าเหยียบมังกรประดับตกแต่งศาลเจ้าพ่อหอแก้ว สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งในพื้นที่วังหน้า ถือหนึ่งในสิบแปดอรหันต์ของจีน ท่านมีนามว่า พระมหากัศยปะ บางคนเชื่อว่า พระอรหันต์จี้กงก็คือร่างหนึ่งของอรหันต์ปราบมังกร เดิมที มีเพียงสิบหกอรหันต์เท่านั้นที่กล่าวถึงในพระสูตรจากอินเดีย ต่อมาเพิ่มพระอรหันต์อีกสองรูปช่วงปลายราชวงศ์ถังต่อกับสมัยห้าราชวงศ์สิบอาณาจักรของจีน คือ อรหันต์ปราบมังกรกับอรหันต์ปราบเสือ
ธรรมาสน์กลมยอดทองจากวัดค้างคาว พิกัดมุขเด็จ เป็นธรรมาสน์กลมยอดทองสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีรูปลักษณ์หาชมได้ยากและบันไดมนุษยนาค พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.7 ทรงได้มาจากวัดค้างคาว เมืองนนทบุรี ต่อมาพระราชทานแด่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส จัดแสดงห้องชวา – ศรีวิชัย ภาพสลักจากบุโรพุทโธเป็นภาพนางสุชาดาพร้อมเหล่านางทาสีถวายข้าวมธุปายาสแด่พระโคตมโพธิสัตว์ใต้ต้นไทรด้วยเข้าใจว่า เป็นรุกขเทวดาที่นางเคยขอสามีและบุตรชายไว้ ก่อนที่พระโพธิสัตว์จะเสวยข้าวนั้นแล้วลอยถาดที่แม่น้ำเนรัญชรา โดยอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า “ถ้าจะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ขอให้ถาดทองลอยทวนกระแสน้ำ หากไม่สำเร็จสมประสงค์ ขอให้ถาดลอยไปตามกระแสน้ำ” ในพระพุทธประวัติกล่าวว่า ถาดนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปจนถึงวังน้ำวนแห่งหนึ่งจึงจมลงสู่นาคพิภพ ไปกระทบกับถาดสามใบของพระอดีตพุทธเจ้าสามพระองค์ คือ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า และพระกัสสปพุทธเจ้า พญานาคราช ซึ่งกำลังหลับอยู่ในนาคพิภพ เมื่อได้ยินเสียงถาดกระทบกันรู้ทันทีว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้นในโลกมนุษย์อีกหนึ่งพระองค์แล้ว
ถัดมา พระอิศวร ห้องสุโขทัย ชมพระอิศวรทรงสังวาลนาคจากการกวนเกษียรสมุทร เดิมประดิษฐานที่หอเทวาลัยเกษตรพิมาน โบสถ์พราหมณ์ เมืองเก่าสุโขทัย ตู้พระธรรมจำหลักเล่าเรื่องทศชาติ ที่ห้องอยุธยา
พิเศษสำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมทัวร์ร่วมลุ้นรางวัลระหว่าง วันที่ 29-31 ธันวาคมนี้ เป็นเครื่องรางแก้ชงปี2567 โอมาโมริไท่ส่วย วันละ 10 ชิ้น ด้านหน้าทอรูปองค์ไท่ส่วยประจำปีมังกรธาตุไม้ ‘ หลี่เฉิงต้าเจียงจวิน’ ด้านหลังรูปมังกรตามปีนักษัตรมะโรง พร้อมคำอวยพรอักษรไทยประดิษฐ์แบบจีนว่า “คุ้ม ครอง ชะ ตา” ภายในบรรจุยันต์ไท่ส่วยที่ผ่านการอธิษฐานจิตจากพระอาจารย์จีนคณาณัติจีนพรต (เย็นงี้) เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) องค์ไท่ส่วยคือเทพเจ้าผู้คุ้มครองดวงชะตา
นอกจากนี้ ลุ้นกาชาปองชุดพิเศษรับปีมังกรทอง “ลูกมังกรทั้งเก้า” โดยศิลปินอาร์ตทอย วันละ 9 ตัว หลังจบกิจกรรมในแต่ละวัน ซึ่งกลุ่มศิลปินร่วมกันสร้างสรรค์ชิ้นงาน “ตำนานลูกมังกรทั้ง 9” อ้างอิงจากคติความเชื่อของจีนเรื่องลูกมังกร 9 ตัว โดยศิลปินแต่ละคนนำมังกรแต่ละตัวมาออกแบบด้วยลายเส้นของตนเอง ได้แก่ ปี้ซี่ มังกรมีกระดอง บรรทุกแรงได้มหาศาล โดย Little Gods Studio , ปี้อ้าน มังกรรูปพยัคฆ์ รูปผิดชอบชั่วดี เป็นสัญลักษณ์ของยุติธรรม โดย Munkky Studio , เทาเที่ย มังกรรูปหมาป่า นิสัยตะกละตะกลาม โดย Kuma Monster , ผูเหลา ชอบร้องเสียงดัง มักประดับไว้บนระฆัง โดย Sloth Doll, ฉิวหนิว ชอบเสียงเพลง พบมากบนเครื่องดนตรี โดย Punsanook
กาชาปอง เจียวถู รูปร่างคล้ายก้นหอย แสดงถึงความปลอดภัย โดย Mue-Krabi , ชือเหวิ่น มังกรรูปร่างเหมือนปลา ชอบมองทิวทัศน์และกลืนกินไฟ นิยมประดับหลังคาเพื่อเป็นเคล็ดในการป้องกันอัคคีภัย โดย Dhyana Studio , ซวนหนี มังกรรูปสิงโต ชอบนั่งมองดูควันไฟ โดย Munkky Studio และ หยาจื้อ รูปร่างคล้ายหมาไน ชอบการสังหาร มักทำเป็นลวดลายอาวุธ โดย Poly Holy ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์ฯ พระนครเปิดให้ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ (Night at the Museum) ระหว่างวันที่ 29 – 31 ธ.ค. 2566 อีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พระเจ้าตอง' กลับพะเยา หลังโดนขโมย 36 ปีก่อน ค้นพบที่สวิต กรมศิลป์พิสูจน์แล้วของจริง
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ประสานงานและติดตามนำ “พระเจ้าตอง” กลับจังหวัดพะเยา รับส่งมอบพระเจ้าตอง จากนางสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ Night at The Museum
กลับมาอีกครั้งสำหรับบิ๊กอีเว้นท์ของคนรักพิพิธภัณฑ์ เมื่อกรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำหนดจัดกิจกรรม "ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ" Night at the Museum ในเทศกาลท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
บูรณะวัดไชยวัฒนารามนำชีวิตชีวาสู่มรดกโลก
วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา งดงามทรงคุณค่า เป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยาอดีตเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ วัดเก่าแก่แห่งนี้เป็นโบราณสถานสำคัญของอยุธยา และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่โดย
'4วัด1วัง'เที่ยวมรดกโลกอยุธยายามราตรี
กระแสตอบรับดีสำหรับโครงการท่องเที่ยวโบราณสถานยามค่ำคืนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ยกระดับท่องเที่ยวโบราณสถานยามราตรีเปิดโบราณสถานให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมเพิ่มขึ้นเป็น 5 แห่ง ประกอบด้วย
ย้อนเวลา 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ
ชวนแต่งชุดไทยเดินทางย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา ดื่มด่ำกับบรรยากาศโบราณสถานยามค่ำคืนที่งดงามในงาน “ 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ” ภายใต้แนวคิด “ย้อนเวลา ส่องวิถี ปลุกแสงสี พระนครศรีอยุธยา” โดยจะจัดกิจกรรมตามวัดและโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์