จับตาทิศทางแก้ฝุ่น PM2.5 ปี 2567

ปัญหาสิ่งแวดล้อมอันดับต้นๆ ที่คนไทย โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และหลายจังหวัดภาคเหนือตอนบนเผชิญทุกปี และรับรู้ได้ชัดเจน คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่ลอยปะปนในอากาศ หายใจเอาฝุ่นพิษเข้าไป  แม้อนุภาคจะเล็กมาก แต่เชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพมากมาย ทั้งเสี่ยงโรคหัวใจและมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น ฝุ่น PM2.5 ถือเป็นปัญหาเรื้อรัง มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสุขภาพในอนาคตต่อคนไทย

ในรายงานจับตาทิศทางสุขภาพคนไทยปี 2567 (ThaiHealth Watch 2024 ) มลพิษอากาศเป็น 1 ใน 7 ประเด็นน่าจับตาในปี 2567  มีการชี้ชัดถึงปัญหาลมหายใจในม่านฝุ่น ฉายภาพต้นตอปัญหาที่แตกต่างหลากหลาย จำเป็นต้องเร่งสร้างความร่วมมือลดปัญหาจาก 3 แหล่งกำเนิด  ทั้งท่อไอเสียรถยนต์ , โรงงานอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง , การเผาในที่โล่ง ที่ทำให้ปี 2566 พบ 1,730,976 คน เป็นผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ สะท้อนการจัดการฝุ่นพิษต้องบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ  ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า ภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่กลายเป็นพื้นที่ปกคลุมหมอกควัน  ต้นตอใหญ่มาจากการเผาชีวมวล หรือวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร อย่างข้าว อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นำมาสู่การจัดตั้งสภาลมหายใจเชียงใหม่เมื่อปี 2562  ซึ่งเป็นปีที่ค่าฝุ่น PM2.5 ที่เชียงใหม่สูงที่สุดในโลก ถ้าปล่อยให้ภาครัฐทำงานอย่างเดียว  เราเจอปัญหาหนักการนี้แน่นอน  ซึ่งเจอมากว่า 15 ปี หนักขึ้นทุกปี    เราหายใจเอามลพิษเข้าร่างกายทุกวัน  ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศไทย เชียงใหม่มีภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม และภาควิชาการที่เข้มแข็งร่วมกับสภาลมหายใจเชียงใหม่ถอดบทเรียนและขับเคลื่อนหลังจากวิเคราะห์ปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือ

ปัจจัยสำคัญทำให้ปัญหาฝุ่นพิษเรื้อรัง ชัชวาลย์ บอกว่า  มาจากการวิเคราะห์ปัญหาผิด แก้ปัญหาผิด เราได้ยินว่า ฝุ่นควันเกิดจากเผาป่า มีอคติ มองข้อมูลไม่รอบด้าน หลังจากมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน  ภาควิชาการ ทำให้เรียนรู้ปัญหาได้รอบด้านมากขึ้น แท้จริงปัญหาฝุ่นมาจากหลายแหล่ง ทั้งเผาชีวมวล เกษตรเชิงเดี่ยว การคมนาคมขนส่ง โรงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า ไฟป่า  ฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้าน และจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉะนั้น การวิเคราะห์ปัญหารอบด้านเป็นเรื่องที่สำคัญ  นอกจากนี้ การแก้ปัญหาแบบอีเวนท์ ทุกปีเมื่อถึงเดือน ธ.ค. ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาขึ้นมาอีกชุด เป็นลักษณะรวมศูนย์แล้วมาช่วยกันดับไฟ ดับไฟตั้งแต่ ม.ค.จนถึง เม.ย. แล้วจบ แต่ระหว่างปีไม่เคยคุยเรื่องนี้ การแก้ปัญหาแบบเฉพาะกิจแก้ไม่ได้ ต้องแก้แบบยั่งยืน ผ่านแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

“ ที่ผ่านมาเป็นการแก้ปัญหาแบบสั่งการจากส่วนกลางไปที่จังหวัด ผู้ว่าฯ สั่งนายอำเภอ  นายอำเภอสั่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  นายก อบต. ไม่มีใครรับรู้เรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้กระทั่งสังคมโดยรวมขาดความรู้ความเข้าใจเป็นเรื่องที่แก้ยาก ความรู้และกฏหมายสำคัญ  ที่ผ่านมามีมาตรการเดียว ใครเผา โดนจับ ปรากฏว่าเกิดการลักลอบเผา แอบจุดไฟ จุดแล้วหนีจำนวนมาก เกิดไฟลุกลาม ไร้การควบคุมเต็มบ้านเต็มเมือง โดยที่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนเผา แจ้งความเป็นพันคดี จับไม่ได้เพราะทำให้การเผาเป็นเรื่องผิดกกหมาย ทุกอย่างอยู่ใต้ดิน “  ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าว

ส่วนประเด็นกฎหมายที่ใช้อยู่ ชัชวาลย์ระบุเป็นกฎหมายป้องกันสาธารณภัย จะทำงานเมื่อมีภัยมา ไฟไหม้แล้ว น้ำท่วมแล้วถึงจะสามารถใช้งบใช้คนเข้ามาแก้ปัญหาได้  ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเชิงรับ ปัญหา PM 2.5 เป็นเรื่องซับซ้อน ต้องการแก้ปัญหาเชิงรุก ต้องการแก้ปัญหารอบด้าน เราจะยืนงงในดงฝุ่นไม่ไหวแล้ว ปัญหาสุขภาพไม่ไหวแล้ว มีการวิเคราะห์คนไทยป่วยโรคที่เกี่ยวกับมลพิษอากาศ 40,000 คนต่อปี ไม่รวมความเสียหายทางเศรษฐกิจ เมื่อฤดูฝุ่นมาโรงแรมไม่มีคนพัก ร้านอาหารคนไม่เข้า เชียงใหม่สูญเสียเศรษฐกิจเป็นหมื่นล้าน ต้องใช้พลังความร่วมมือทุกภาคส่วนแก้ปัญหาที่ซับซ้อน เราตั้งเป้าช่วยลดฝุ่นควันให้ได้ แปรความขัดแย้งมาเป็นความร่วมมือ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ ฟื้นฟูโลก ลดฝุ่นควันให้ได้ เปลี่ยนจากห้ามเผาเด็ดขาดมาเป็นความร่วมมือ จะทำเช่นนี้ได้ต้องใช้ฐานความรู้ ฐานวิชาการ และทำให้ฝุ่นควันเป็นวาระแห่งชาติที่เชื่อมโยงแก้ปัญหาอาเซียนด้วย เรามีข้อตลงความร่วมมือทางอาเซียนแล้ว แต่ขาดแผนความร่วมมือ

“ อีกหนึ่งกลไกสำคัญลดฝุ่น เราต้องการ พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด  รัฐบาลผลักดันเข้าไป  ล่าสุด ครม. รับหลักการร่างอากาศสะอาดแล้ว ดังนั้น พรบ.อากาศสะอาด จะสร้างภาพเป็นองค์รวม เกิดกลไกที่ทำงานตลอดเวลาไม่ใช่เป็นการทำงานแบบอีเวนท์ จะสามารถแก้ปัญหาทั้งระบบได้ ”

 สถานการณ์ฝุ่นควันภาคเหนือสาหัส เดินหน้าบริหารจัดการเพื่อลด PM 2.5 จากแหล่งกำเนิด ชัชวาลย์ ระบุการเผาในที่โล่งเป็นตัวการใหญ่  เราต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายมานั่งคุยกันในระดับพื้นที่ อปท. เจ้าหน้าที่ป่าไม้มานั่งวางแผนในระดับพื้นที่ จากข้อมูล จ.เชียงใหม่ มี 210 ตำบล พบ 20 ตำบล ที่มีจุดความร้อนเกิน 200 จุดต่อตำบล นำมาสู่การลดฝุ่น เกิดแผนขึ้นมาจากชุมชน ควบคู่การพัฒนาแอป  Fire D  โดยนักวิชาการมหาวิยาลัยเชียงใหม่เป็นนวัตกรรมหนึ่งที่พัฒนาขึ้นเพื่อบริหารจัดการไฟ  ในแอปรายงานค่าฝุ่นพิษ จำนวนจุดความร้อน  กระแสลม การระบายตัวของสภาพอากาศ อุณหภูมิ

 “ แอปนี้ช่วยกรณีจำเป็นต้องใช้ไฟ ควรจะต้องใช้เวลาไหนถึงเหมาะสม ควบคุมได้ เพราะถ้ายิ่งห้ามเผายิ่งลุกลาม จะใช้ในพื้นที่จำเป็นเผา ต้องแจ้งเข้ามาก่อน ขณะนี้เชียงใหม่ใช้ คำว่า “การบริหารเชื้อเพลิงแบบควบคุม” หมายถึงชาวบ้านอยู่ได้ หากินได้ รัฐก็ได้ประโยชน์ ภาพรวมระดับจังหวัดช่วยลดค่าฝุ่น  20 ปีที่ผ่านมา ควบคุมการเผาไม่ได้ผล เปลี่ยนมาบริหารจัดการแทน เป็นอีกแนวทางจัดการฝุ่นอย่างยั่งยืน “

 เหตุผลที่ต้องมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงนั้น ชัชวาลย์บอกว่าจากปัจจัยลักษณะป่าของเชียงใหม่เป็นป่าผลัดไป พื้นที่ป่า 9 ล้านไร่ เป็นป่าผลัดใบ 7 ล้าน ทำให้มีการทิ้งใบ 2 ตันต่อไรต่อปี  ดังนั้น ต้องลดเชื้อเพลิงในแต่ละปี  ความพยายามที่ผ่านมา ส่งผล ปี 2563 จุดความร้อนลดลงมา 8,000 จุด  ในปี 2565 ลดเหลือ 4,000  จุด  ปี 2566 แนวโน้มดีขึ้น และในปี 2567  มีแผนลดฝุ่นควัน  แบ่งเป็น 7 กลุ่มป่า จาก 21 ตำบล ประกอบด้วย ป่าอมก๋อย ,อินทนนท์ ,แม่แจ่ม,ดอยสุเทพ ,ศรีลานนา ,สันทรายดอยสะเก็ด และป่าเชียงดาว จัดทำมีระบบเชื่อมกับแอป Fire D และมีวอลรูมอยู่ที่ อบจ.เชียงใหม่ มีฐานข้อมูลทางเทคโนโลยีที่ดีเยี่ยม ที่สำคัญมีคณะกรรมการทุกฝ่ายช่วยกันจัดการดูแล

ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวในท้าย  ปีหน้าการจัดการแก้ปัญหาจะทำได้ดี​ จำนวนวันที่อากาศสะอาดเพิ่มขึ้น เพื่ออนาคตที่ดี คนภาคเหนือรับมลพิษอากาศน้อยลง ความร่วมมือทุกฝ่ายจะเป็นพลังสำคัญ ทำให้เกิดพลังขับเคลื่อนที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์พร้อมกัน แท้จริงทุกคนมีส่วนมีการสร้างฝุ่นควัน ปัจจุบันมีการขยายเป็นสภาลมหายใจภาคเหนือ ส่วนกรุงเทพฯ เตรียมจะจัดตั้งสภาลมหายใจกรุงเทพ  ทำให้เสียงสะท้อนจากคนกรุงเทพดังมากขึ้นเพราะมลพิษอากาศทำลายสุขภาพคนเมือง อีกทั้งกรุงเทพฯ มีประชากรหนาแน่น มลพิษสะสมรุนแรงมากขึ้น หลังปีใหม่ถึงเมษายน สถานการณ์ฝุ่นคลุมเมืองจะเกิดขึ้นอีก ส่วนภาคอีสานกำลังจะตั้งสภาลมหายใจอีสานเพื่อแก้ปัญหาให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ หากแต่ละจังหวัดบริหารจัดการฝุ่นตรงกับสภาพพื้นที่ อาทิ ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นพืชที่สร้างความยั่งยืนมากขึ้น พัฒนาระบบสวัสดิการของสาธารณสุขเยียวยาผู้ป่วย และมีการกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นแก้ปัญหาตามบริบท​ ควบคู่กับการสื่อสารเชิงรุกสร้างความตระหนักรู้ให้สังคม ภายใต้ข้อมูลวิชาการเพื่อเกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย  นี่จะเป็นทางรอดช่วยแก้ปัญหายั่งยืน

ต้องจับตาว่าทุกคนจะช่วยลดลมหายใจในม่านหมอกฝุ่นควัน คืนอากาศสะอาดกลับมาได้อย่างไร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตรียมรับมือหมอกควัน-ฝุ่นพิษ 2568

ใกล้จะเข้าสู่ฤดูกาลฝุ่นช่วงเวลาที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะเริ่มสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินช่วงหลังวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีฝนที่ลดลง และจะมีมวลอากาศเย็นแผ่เข้ามาบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

ทอ. ส่งเครื่องบินบีที-67 ทิ้งน้ำ 3 พันลิตร แนวไฟไหม้วิกฤตภาคเหนือ

กองทัพอากาศ ได้เผยแพร่ข้อมูล สนับสนุนภารกิจการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ (SEE & STRIKE ) โดยส่งอากาศยาน AU-23 PEACE MAKER (Sensor)

รัฐบาลซัดกลับ 'พิธา' ไม่รู้กาลเทศะ จ้องด้อยค่านายกฯ

'รองโฆษกรัฐบาล' ย้ำชัดรัฐบาลมีแผนป้องกันภัยชัดเจน ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติต้องรอบคอบ โต้กลับ 'พิธา' ไม่รู้กาลเทศะ จ้องด้อยค่านายกฯ ดิสเครดิต รบ.

การันตี 'ทักษิณ' โรดโชว์เชียงใหม่ ทำตามระเบียบพักโทษเป๊ะ!

'สมศักดิ์' ชี้ 'ทักษิณ' ไปเชียงใหม่ทำตามระเบียบราชทัณฑ์ อ้างปกติกรณีพักโทษ ไม่มีคิวรวมก๊วน สส. พบนายใหญ่ ขอแล้วยังไร้สัญญาณตอบรับ