เริ่มแล้วสำหรับงานสมโภชพระอาราม 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ตามรอยประวัติศาสตร์พระอารามหลวงแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ถือเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์แห่ง 3 ยุค ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องกรุงธนบุรีจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567
ความพิเศษของงานเป็นการจัดแสดงของเก่าล้ำค่า อย่างเครื่องโต๊ะลายครามงดงาม คัมภีร์ใบลานเก่าแก่ตั้งแต่ยุคแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ต้นฉบับใบลานเทศน์ลายมือสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ผ้าห่อคัมภีร์โบราณหลากหลายลวดลายที่หาชมยาก เครื่องถ้วยโบราณ รวมทั้งครั้งแรกที่นำพระแสงราวเทียน ที่สมเด็จกรมพระบวรมหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ถวายเป็นพุทธบูชาก่อนสิ้นพระชนม์ ออกมาให้ชม ผ่านนิทรรศการพิเศษ 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ตลอดจนทัวร์ไหว้พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด จัดโดยวัดมหาธาตุฯ ร่วมกับกรมศาสนา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร
สำหรับพระแสงราวเทียน เป็นพระแสงดาบคู่พระทัยที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงใช้ในการศึกกู้บ้านเมืองตลอดพระชนม์ชีพ ด้วยความผูกพันศรัทธายาวนานที่ทรงมีต่อวัดมหาธาตุฯ ที่เคยเป็นจุดหลบภัย ทรงสถาปนาให้เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และทรงบรรพชาที่วัดนี้ ทำให้ในคราวประชวรหนักช่วงปลายพระชนม์ชีพ เสด็จฯ จากวังหน้า มากราบลาสักการะพระประธานในพระอุโบสถใหญ่ น้อมถวายพระแสงทำเป็นราวเทียนเพื่อเป็นพุทธบูชา ไม่นานเสด็จสวรรคต พระแสงราวเทียนอยู่คู่วัดมหาธาตุฯ จวบจนกระทั่งสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย คาดว่าน่าจะช่วงบูรณะหลังคาพระอุโบสถราวปี 2500 ความอัศจรรย์ได้พบก่อนจัดงานสมโภชเพียงไม่กี่วัน
นอกจากนี้ วัดมหาธาตุฯ ได้ขยายเวลาเปิดไปจนถึงสี่ทุ่ม พร้อมประดับไฟ แสง สี สวยงามตระการตายามค่ำคืนตามจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ ภายใต้แนวคิด“การเดินทางด้วยแสงแห่งปัญญา : JOURNEYING THROUGH LIGHT OF WISDOM” สร้างประสบการณ์เสพงานศิลปะและสถาปัตยกรรมของวัดให้สนุกสนานยิ่งขึ้น ประกอบด้วยตึกแดง อุโบสถ พระปรางค์ พระมณฑป ต้นพระศรีมหาโพธิ์อายุ 205 ปี
ส่วนการแสดงดนตรีไทยร่วมสมัยประกอบแสงไฟรวมศิลปินและวงดนตรีที่มีชื่อเสียง วันที่ 29 ธ.ค. 66 : อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และปุ้ย ดวงพร พงศ์ผาสุก , 30 ธ.ค. 66 : วงเสียงไทยคอรัส , 31 ธ.ค. 66 : วง SU Feroci Light Orchestra โดย อาจารย์ดำริห์ บรรณวิทยกิจ , 1 ม.ค. 67 : วง Thai Symphony Brass Quintet โดย อ.สุกรี เจริญสุข , 2 ม.ค. 67 วงขุนอิน เดอะบางสะพาน ทั้งยังมีการแสดงดนตรีไทย, โขน, รำไทย, ลิเก, กองสะบัดชัย และโนราห์เยาวชน สืบสานวัฒนธรรมน่ายล
ตลอดงานสมโภชจัดตลาดวันวาน ย่านวังหน้า ร.ศ.241 ชวนมาลิ้มรสอาหารอร่อยแบบไทยโบราณ ของอร่อยประจำย่าน อุดหนุนงานหัตถศิลป์ เครื่องหอม เครื่องประดับ งานปั้น งานจักสาน และสินค้าเด่นต่างๆ สามารถซื้อหาเป็นของขวัญปีใหม่ได้ วัดมหาธาตุตั้งอยู่ย่านท่าพระจันทร์ชวนมาพบแพทย์แผนไทย นวดบำบัด ตำรับยาโบราณ พยากรณ์ดวงชะตา เลือกซื้อของเก่าของสะสมย่านเก่า
วัดมหาธาตุฯ เป็นแหล่งเรียนรู้มิติศาสนาและวัฒนธรรมกลางกรุง เป็นวัดที่มีสมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์ เป็นวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของไทย และเป็นวัดที่ทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรก และมีพระอุโบสถใหญ่ที่สุดในพระนคร ประดิษฐานพระศรีสรรเพชญคู่บ้านคู่เมือง สมโภช 338 จัด Workshop & DIY การจัดดอกไม้ถวายพระ จัดพานพุ่ม จัดโต๊ะหมู่บูชา ร้อยมาลัย เข้าวัดแล้ว ชวนร่วมกิจกรรมเสบียงบุญ ถวายสังฆทานพระสงฆ์ บริจาคร่วมบุญบูรณปฎิสังขรณ์วัด 339 บาท รับพระสมเด็จอรหังเป็นที่ระลึกเพื่อบูชา
คืนข้ามปีวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จะจัดกิจกรรมเจริญจิตตภาวนา สวดมนต์ข้ามปี “เสริมบุญบารมี ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับศักราชใหม่ 2567 ” และปะพรมน้ำพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล เช้าวันรุ่งขึ้นทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่พระสงฆ์ 73 รูป ใครที่ไม่ได้เดินทางไปต่างจังหวัดช่วงเทศกาลปีใหม่ อยู่กรุงเทพฯ ชวนมาเที่ยววัดมหาธาตุ ไหว้พระ ชมของเก่า ถ่ายภาพกับงานไฟ และเคาน์ดาวน์รับปีมะโรงกันได้ แนะนำจอดรถได้สะดวกสบายที่สนามหลวง แล้วเดินเท้าเข้ามาท่องเที่ยววัดทางด้านพระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศน.ชวนแจ้งความประสงค์ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐิน 9 พระอาราม
ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ และพระราชานุญาตให้กระทรวง กรม หน่วยงานองค์กร คณะบุคคล และเอกชนที่มีความประสงค์ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินพร้อมเครื่องบริวารพระกฐิน เพื่อน้อมนำไ
'นวราตรี' พื้นที่ของทุกศาสนา
หนึ่งปีมีครั้งเดียวเทศกาล “นวราตรี” ถือเป็นช่วงเวลาที่ชาวฮินดูบูชาพระแม่อุมาเทวีจากความเชื่อตามตำนานที่พระแม่อุมาเทวีในร่างอวตารเป็นองค์ “พระแม่ทุรคา“ ปราบอสูรชื่อว่า “มหิษาสูร” ที่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายไปทั่วได้สำเร็จ หลังสู้รบกันมา 9 วัน 9 คืน
รุ่นใหม่วัยเยาว์ 5 ศาสนา ท่อง'กะดีจีน'
ชุมชนกะดีจีนหรือชุมชนกุฎีจีนถือเป็นชุมชนที่อยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางความวัฒนธรรมและความเชื่อมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ย่านนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับทุกวัยและทุกศาสนา ในพื้นที่มีชุมชนและศาสนสถานแต่ละศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม เพื่อส่งต่อเรื่องราวพหุวัฒนธรรม เยาวชนรุ่นใหม่จาก 5 ศาสน
เปิดประเพณี'กวนอาซูรอ'ชายแดนใต้
ทุกศาสนาของโลก พุทธ คริสต์ อิสลาม สืบทอดมายาวนานจนทุกวันนี้ เพราะเปิดทางให้ผู้ศรัทธาและผู้สนใจศึกษาได้เรียนรู้และนำหลักศาสนามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตและสร้างสังคมที่เข้มแข็ง ศาสนาอิสลามในคัมภีร์อัลกุลอารหลักคำสอนให้คำนึงถึงการแบ่งปัน โดยมีการส่งต่อวัฒนธรรมทางศาสนา