สปสช. อนุมัติ'รักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน'

25 ธ.ค. 2566 -นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมีวาระพิจารณา “ข้อเสนอการเพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” นำเสนอโดย นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบาย “มะเร็งครบวงจร” เพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็งให้เข้าถึงการรักษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ที่เป็นการยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง อัปเกรด (Upgrade)) เป็นส่วนสนับสนุนที่สำคัญทำให้นโยบายนี้บรรลุเป้าหมายได้ และเพื่อให้เกิดความครอบคลุมการรักษาที่ดียิ่งขึ้น ในวันนี้บอร์ด สปสช. ได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์การรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนในระบบบัตรทอง ซึ่งเป็นวิธีการฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอนที่เป็นเทคนิคการฉายรังสีสมัยใหม่ มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งและมีผลข้างเคียงลดน้อยลง โดยหลังจากนี้ สปสช. จะจัดทำประกาศเพื่อรองรับการจ่ายชดเชยตามที่กำหนดต่อไป

“มติบอร์ดในวันนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็งอย่างมาก ช่วยให้เข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งจากข้อมูลในระบบของ สปสช. พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับรังสีรักษาเข้าข่ายที่จะรับบริการฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอนนี้ได้ประมาณ 32,000 รายต่อปี (ข้อมูลจากฐาน IP ปี 65ของสปสช.) โดยในปี 2565 ใช้งบประมาณที่จำนวน 50 ล้านบาทต่อปี ในการดูแลผู้ป่วย” ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ที่มาของสิทธิประโยชน์นี้มาจากข้อเสนอของสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย เป็นข้อเสนอที่ได้จากการประชุมทีมแพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาผู้เชี่ยวชาญการฉายรังสีโรคมะเร็งในเด็ก และนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานยกระดับความเป็นเลิศด้านการแพทย์ขั้นสูงสุดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566

ทั้งการรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนเป็นวิธีรักษามะเร็งที่มีประสิทธิผล มีอัตราการควบคุมโรคเฉพาะที่และการรอดชีวิตที่สูงในกลุ่มโรคมะเร็งสมองในเด็ก ช่วยลดผลข้างเคียงในทุกด้านเมื่อเปรียบเทียบกับการฉายรังสีโฟตอนแบบเดิม โดยการรักษาต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย แพทย์รังสีรักษา แพทย์รังสีวินิจฉัยแพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ กุมารแพทย์ทางโลหิตวิทยาและรังสี (กรณีผู้ป่วยเด็ก) วิสัญญีแพทย์ นักฟิสิกส์การแพทย์ นักรังสีเทคนิค พยาบาล และวิศวกร

ปัจจุบันในประเทศไทยมีหน่วยบริการที่ให้บริการฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอนเพียงแห่งเดียว คือศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพฯ รพ.จุฬาลงกรณ์ เปิดให้บริการมาตั้งแต่สิงหาคม 2564 ดังนั้นในบริหารจัดการจ่ายชดเชย สปสช. จึงใช้รูปแบบเหมาจ่ายรายปี จำนวน 50 ล้านบาท ให้แก่ ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พร้อมให้มีการจัดระบบการส่งต่อ ประสานงาน เพื่อจัดบริการให้แก่ผู้ป่วยทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งในกรณีการนำส่งผู้ป่วยสามารถเบิกจ่ายค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วยอัตราเฉลี่ย 2,300 บาทต่อครั้ง

“หลังจากบอร์ด สปสช. เห็นชอบแล้ว จากนี้ สปสช. จะออกประกาศหลักเกณฑ์รองรับการจ่ายชดเชยค่าบริการ พร้อมดำเนินการตามที่บอร์ด สปสช. มอบหมาย ทั้งการกำกับติดตามประเมินผลการเข้าถึงบริการ การประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประเมินประสิทธิภาพประสิทธิผลการรักษา รวมทั้งจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยเพื่อความสะดวกในการเข้ารับบริการอย่างเท่าเทียมกันทุกสิทธิ และรายงานต่อคณะทำงานยกระดับความเป็นเลิศด้านการแพทย์ขั้นสูงสุดฯ ทุก 4 เดือน และคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฯ นอกจากนี้จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่นที่นอกเหนือจากทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนบริการและการดูแลผู้ป่วย เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษ เป็นต้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอเหรียญทอง' แจกแจงแนวคิดจ่ายเงินเอง ราคาบัตรทอง ชี้ช่วยลดความแออัดผู้ป่วยรพ.รัฐ

พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า โครงการ 'จ่ายเงินเอง ราคาบัตรทอง แอดมิตไม่ต้องเสียเงิน ทุกเขตทั่วราชอาณาจักรไม่ต้องใช้ใบส่งตัว'

ตีปี๊บ '30 รักษาทุกที่' เต็มรูปแบบ ครอบคลุมทุกพื้นที่ 77 จังหวัดของไทย

รัฐบาล ประกาศ '30 รักษาทุกที่' เต็มรูปแบบ ด้วยโอกาสของคนไทยนับจากนี้ ต้องมีชีวิตดี สุขภาพดี เริ่มแล้วครอบคลุมทุกพื้นที่ 77 จังหวัดของประเทศไทย