พิพิธภัณฑ์ฯ ขอนแก่น ปรับลุคครั้งใหญ่!

50 ปีที่ผ่านมา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ได้เปิดให้บริการประชาชน นักเรียน นักศึกษา ถือเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดขอนแก่น ในโอกาสครบรอบ 5 ทศวรรษ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น จัดงานสมโภชเฉลิมฉลองครบรอบ 5 ทศวรรษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น (The 5th Decade of Khon Kaen National Museum)  เมื่อวันเสาร์ที่ 23 ธ.ค. 2566  เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ไปทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2515 

กิจกรรมภายในงานมีการเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ขอนแก่น ตั้งแต่เวลา 09.00 – 19.00 น. การแสดงโขนจากน้องๆ เยาวชน ศูนย์การเรียนรู้นาฏกรรมโขน นาฏศิลป์ไทย จังหวัดขอนแก่น และการแสดงโขนตระการตาเรื่อง รามเกียรติ์ ตอน เล่ห์รักยักขินี   สี่อสุรีพ่าย จากสำนักการสังคีต ศก.  โดยนายเสริมศักดิ์  พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม เป็นประธาน พร้อมด้วยนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เข้าร่วมงาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า  กรมศิลปากรมีนโยบายที่จะปรับปรุงนิทรรศการถาวร และเพิ่มศักยภาพพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น   ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวม เก็บรักษา จัดแสดง และให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรม ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและลุ่มน้ำชี โดยจะปรับปรุงข้อมูลการจัดแสดง เทคนิคและรูปแบบในการนำเสนอ ตลอดจนภูมิทัศน์ และสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้ารับบริการ ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2568 – 2570 สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์จังหวัดขอนแก่นในการเป็นขุมทรัพย์ด้านการท่องเที่ยวและเมืองแห่ง MICE CITY ศูนย์กลางการจัดประชุมและแสดงสินค้าระดับสากล รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่นและอาเซียน 

ด้าน ลักษมน์ บุญเรือง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น กล่าวว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น ตั้งอยู่บนพื้นที่ 45 ไร่ เป็นสถานที่รวบรวม สงวนรักษา และจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ มรดกศิลปวัฒนธรรมชาติในเขตพื้นที่ภาคอีสานตอนบนและลุ่มแม่น้ำชี ในการปรับปรุงนิทรรศการถาวรจะปรับปรุงการจัดแสดงใหม่ทั้งหมด แต่คงรูปแบบอาคารอารยะสถาปัตย์เป็นทรงเรือนไทยประยุกต์ โดยจะเพิ่มการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุจากเดิม 600 รายการ เป็น 2,000 กว่า รายการ ผ่านห้องจัดแสดงใหม่ 3 ห้อง ประกอบด้วย ห้องเสมาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมทวารวดีในอีสาน จะนำเสนอใบเสมาวัฒนธรรมทวารวดีภาคอีสานครบทุกรูปแบบ ทั้งทรงธรรมชาติ ทรงเสมา ทรงแปดเหลี่ยม ปัจจุบันที่พิพิธภัณฑ์จัดแสดงเฉพาะใบเสมาที่พบเมืองฟ้าแดดสงยาง จ.กาฬสินธุ์

ถัดมาห้องพระพิมพ์แดนอีสาน จะเป็นแหล่งเก็บรวบรวมพระพุทธรูปบูชากว่า 400 ชิ้น ซึ่งพบที่เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง เมืองโบราณกันทรวิชัย และเมืองโบราณนครจำปีศรี จ.มหาสารคาม มีพระพิมพ์สมัยโบราณมีชื่อเสียงอย่างพระพิมพ์นาดูน    อีกไฮไลท์ ห้องวิถีชีวิต ศรัทธา พญานาค เสนอเกี่ยวกับวัฒนธรรมเขมรโบราณถึงวัฒนธรรมล้านช้างที่มีร่องรอยความเชื่อพญานาคอย่างหนาแน่นและเข้มข้น

สำหรับห้องพญานาคถือเป็นไฮไลท์ ผอ.พิพิธภัณฑ์ฯ ขอนแก่น เผยจะจำลองบรรยากาศเหมือนเดินอยู่ในท้องพญานาค ผู้ชมจะได้เห็นบันไดนาคโบราณ หูช้าง คันทวย สิมโบราณ พระพุทธรูปปางนาคปรก ฮางฮดของพระภิกษุ ประติมากรรมปูนปั้นศิลปะทวารวดีเก่าแก่ในพื้นที่อีสานเหนือ ซึ่งชาวอีสานเหนือศรัทธาพญานาคมาก เฉพาะห้องนี้มีโบราณวัตถุให้ชมกว่า 100 รายการ น่าจะถูกใจทั้งคนรักพิพิธภัณฑ์และสายมู พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นแหล่งรวบรวมความรู้วัฒนธรรมทวารวดีในอีสานที่ใหญ่สุดในไทย อยากให้รอมาชมกันหลังปรับปรุงครั้งใหญ่

ปีใหม่นี้ชวนเที่ยวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ตั้งอยู่เลขที่ 193 หมู่ 13 ถนนหลังศูนย์ราชการ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น  จ.ขอนแก่น  งดค่าเข้าชมเป็นของขวัญ และขอเชิญสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เสริมสิริมงคลในปีมะโรงด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วธ.ตั้งศูนย์ประสานงานโบราณสถานน้ำท่วม

24 ส.ค. 2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ติดตามผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยของโบราณสถานในพื้นที่ภาคเหนืออย่างใกล้ชิด ในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้รา

น้ำท่วมโบราณสถานเมืองน่าน

23 ส.ค.2567 - นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ติดตามผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยของโบราณสถานในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดน่าน เนื่องจากเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้มีน้ำไหลเข้าท่วมหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอเมือง ซึ่งมีวัดและโบราณสถานสำคัญหลายแห่ง เบื้องต้นพบว่า น้ำได้ไหลท่วมพื้นที่โบราณสถานวัดภูมินทร์

ทำแผนรับมือจุดเสี่ยงน้ำท่วมอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา

11 ส.ค.2567 - น.ส.สุดาวรรณ หวังศุกภิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ตนพร้อมด้วยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัด วธ. นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามแผนบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยยังพื้นที่โบราณสถานริมแม่น้ำ

ช่างไทยสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.7

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 องค์ใหม่  ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขอความร่วมมือกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร โดยสำนักช่างสิบหมู่ รับผิดชอบจัดสร้าง  โดยจะมีขนาด 4 เท่าของพระองค์จริง

วธ.จัดงาน'แพรพัสตรา บรมราชินีนาถ' เฉลิมพระเกียรติ พระพันปีหลวงฯ

1 ส.ค. 2567 ที่หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดแถลงข่าวงานแพรพัสตรา บรมราชินีนาถ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2567

'ภูพระบาท'คุณค่าโดดเด่น ไทยลุ้นมรดกโลก

เวลานี้คนไทยร่วมส่งแรงใจสนับสนุนการขึ้นบัญชีอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่ล่าสุดของประเทศไทยต่อจากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ วาระการพิจารณาภูพระบาทคาดว่าจะเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่  46