COP28 ถอยลงคลอง ความท้าทายที่ยังรอยู่

การเจรจาฯ ลดโลกร้อนใน COP28 ที่ดูไบ UAE และอนาคต ซึ่งในที่สุดตกลงกันได้เพียง “การเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน แก๊สธรรมชาติ) ให้ทันการณ์ เป็นลำดับ และเท่าเทียมกัน เพื่อบรรลุการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 ”  และแม้จะบรรลุข้อตกลงการจัดตั้งกองทุนการสูญเสียและความเสียหาย ( Loss and Damage Fund )  ก็ตาม แต่กลับมีคำถามตามมาอีกมากมายหลังประชุมปิดม่าน

จากเวทีเสวนาเชิงนโยบาย Dialogue Forum 6 l Year 4 : COP28 และเส้นทางสู่อนาคต เมื่อวันก่อน มีการแลกเปลี่ยนในประเด็นดังกล่าวกับผู้เชี่ยวชาญและผู้ดูแลรับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันวิเคราะห์นัยยะความท้าทายที่จะเกิดขึ้นและเส้นทางในอนาคตในการแก้ปัญหาและรับมือโลกเดือด

ปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ทส. กล่าวว่า ในการประชุม COP 28 มีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ออกมา พบว่า เส้นทางที่เดินตั้งแต่ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)  8 ปีที่ผ่านมา น่าวิตกกังวล การะรักษาระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ขณะนี้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้น 1.2 องศาเซลเซียสไปแล้ว เหลือ 0.3 องศา ก็เกินแล้ว แม้จะมีเพดานไม่ให้สูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานฟอสซิลมีข้อถกเถียงประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนา ในที่ประชุมเสียงแตกรับคำว่า ‘Phase out ’ ไม่ได้ มาจบที่คำว่า ‘Phase down’ แต่เน้นเทคโนโลยีควบคุมการปล่อยก๊าซจากพลังงานฟอสซิลให้มากที่สุด นอกจากนี้ ทั่วโลกให้ความสำคัญกับพลังงานทางเลือก ต้องยกระดับเป็น 3 เท่าจากปัจจุบัน ทั้งแสงอาทิตย์ ลม นวัตกรรมกรีนไฮโดรเจน รวมถึงฟิวชั่นนิวเคลียร์ ต้องพิจารณานวัตกรรมที่จะเกิดในอนาคต  แล้วยังมีประเด็นภาคป่าไม้กักเก็บคาร์บอน อย่างไรก็ตาม บนเวทีมีการพูดคุยการเปลี่ยนผ่านได้มองมิติแรงงาน ผู้หญิง และกลุ่มเปราะบางต่างๆ เด็ก ผู้หญิง และชุมชนท้องถิ่น ต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

“ อีกมติที่น่ายินดีจะมีการจัดตั้งกองทุน Loss and Damage ขึ้นมา จบการประชุมน่าจะมีเงิน 790 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่จริงๆ เมื่อเทียบกับจำนวนประเทศที่ได้รับผลกระทบโลกร้อนประมาณ 140 ประเทศ จะต้องเรียกร้องอีกครั้งทุนนี้จะทำอย่างไร  ขณะนี้อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการจากประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา โดยใช้ธนาคารโลกรับหน้าที่บริหารจัดการด้านการเงินเบื้องต้น ท่าทีไทยเน้นย้ำถึงกองทุนนี้ เพราะปล่อยน้อย แต่ได้รับผลกระทบลำดับต้นๆ ของโลก กรมจะกลับมาพิจารณาแนวทางขอการสนับสนุนจากทุนนี้ เพื่อขับเคลื่อนประเทศต่อ รวมถึงทบทวนแผนการลดก๊าเรือนกระจกของไทยอีกครั้ง เวทีที่ดูไบยังให้ความสำคัญกับเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรที่มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งไทยเข้าร่วม  ซึ่งการประชุมเรียกร้องให้แต่ละประเทศยกระดับการดำเนินการตามที่ทำได้ ท่าทีต่างๆ ที่ไปสู่ COP29 ที่อาเซอร์ไบจาน ต้องสตรองกว่านี้และมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมต่อการลดก๊าซได้มากกว่านี้    “ ปวิช สรุปประเด็นสำคัญจากการร่วม COP28

สำหรับ UAE FRAMEWORK FOR GLOBAL CLIMATE RESILIENCE  7 สาขา  จาก COP28 รองธิบดีกรมโลกร้อนระบุสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการปรับตัวของประเทศไทย เรื่องน้ำ สิ่งแวดล้อม การย้ายถิ่นฐาน สุขภาพ การท่องเที่ยว การเพิ่มขีดความสามารถกลุ่มเปราะบางรับมือสภาพภูมิอากาศ  ซึ่งแผนดังกล่าวเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป  ส่วนเรื่องการเงินที่เรียกร้องมาตลอด ทั่วโลกต้องการเงินสนับสนุน 1 แสนล้านเหรียญต่อปี ปัจจุบันพบว่ามีเพียง 8.5 หมื่นล้านเหรียญ ไม่สามารถจะบรรลุข้อตกลงที่ตั้งไว้ ในเวทีมีการพูดคุยกันจะเพิ่มยอดการสนับสนุนให้กับประเทศกำลังพัฒนาได้ตามเป้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตั้งรับและปรับตัว  ซึ่งมีข้อถกเถียงการให้เงินสนับสนุนมีหลายรูปแบบ เช่น กู้ดอกเบี้ยต่ำ นับรวมหรือเปล่า  

ด้าน ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า การปลดระวางเชื้อเพลิงฟอสซิลต้องเป็นธรรมบนหลักการสภาพภูมิอากาศและผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ต้องจ่าย การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานฟอสซิลในมุมภาคประชาสังคม ผ่านมา 30 ปี ถือเป็นครั้งแรกที่มีการแตะคำว่า พลังงานฟอสซิล ซึ่งมีปริมาณการใช้กว่า 80% บนโลกใบนี้  อย่างไรแม้ถูกคัดค้านโดยกลุ่มประเทศผลิตน้ำมัน Opec โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย ก็มีคำถามจะเปลี่ยนผ่านอย่างไร ซึ่งแนวร่วมกลุ่มประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก เรียกร้องให้เร่งปลดระวางฟอสซิลทั้งหมด เพื่อความอยู่รอดของเกาะเล็กๆ ที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม  COP28              มีนัยยะความท้าทายที่จะเกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น การขยายตัวด้านการลงทุนก๊าซฟอสซิลเหลวในเอเซีย รวมถึงไทยด้วย ที่แนวโน้มเพิ่มขึ้น มีการถกเถียงจะไปตัวเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานที่ยั่งยืน แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ขีดกำจัด 1.5 องศาเซลเซียสอยู่ดี จะเป็นความท้าทายใหญ่ด้านพลังงาน

“ เราเลิกใช้คำว่า ปฏิวัติพลังงาน แต่ต้องมีการออกแบบระบบให้สอดคล้องกับประเทศนั้น แม้แต่ไทย อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลเริ่มกระโจนไปหาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่บ้านเรายังเป็นระบบรวมศูนย์พลังงานอยู่ดี  นักลงทุนใหญ่ได้ประโยชน์ กว่าจะถึงผู้บริโภคปลายทางหายไป 3 ใน 4   พูดถึงการเปลี่ยนผ่าน มีการเถียงกันมากว่าเป็นระบบไฟฟ้า ระบบขนส่ง หรือทั้งอุตสาหกรรม  เลขาฯ ยูเอ็นบอกว่า ให้รีบจำกัดอุณหภูมิที่ประตูนรกจะเปิด ตอนนี้เข้าสู่ภาวะโลกเดือดแล้ว “ ธาราย้ำความท้าทาย

ภาคประชาสังคมที่ร่วมเวที COP28 วนันต์ เพิ่มพิบูลย์ ผู้อำนวยการบริหาร Climate Watch Thailand กล่าวว่า ผลลัพธ์ของ COP28 เหมือนน้ำผึ้งเคลือบยาพิษ มีการจัดตั้งกองทุน Loss and Damage ใส่เม็ดเงินลงไป แต่ก็ไม่ได้เป็นกองทุนแรกบนโลกนี้ จะต้องมีการนำเป้าหมายใหม่ด้านการเงินมาใส่ และตั้งคำถามใครเป็นคนให้เงิน ปัจจุบันมีความครอบงำทางเศรษฐกิจฝังราก ผู้ก่อให้เกิดโลกร้อน ก่อมาแต่อดีต อนุสัญญาฯ ทั่วโลกรับรองแล้ว ถ้าจีน อินเดียที่ใช้ฟอสซิลสูง  อยากปล่อยมีสิทธิเข้าถึงการพัฒนา แต่ผู้ปล่อยแต่ยุคอุตสาหกรรม ต้องใช้หนี้ สนับสนุบเงินนี้ ประเทศกำลังพัฒนาเรียกร้องให้ชดเชยต้องเป็นเงินให้เปล่า แต่ที่พูดกันส่วนใหญ่เป็นเงินในรูปแบบหนี้ นี่คือ ความเป็นธรรม นอกจากนี้  ในการเขียนโครงการเพื่อขอการสนับสนุนจากกองทุนต่าง ๆ ภาครัฐควรให้ภาคประชาสังคม และกลุ่มต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย แทนที่จะนำแผนของแต่ละกระทรวงมาพิจารณาเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา

“ การเปลี่ยนผ่านเวทีประชุมครั้งนี้เป็นการสูญเสียและถดถอยครั้งใหญ่ เพราะยกระดับเรื่องที่อันตรายและออกนอกเส้นทาง มีการพูดถึงเทคโนโลยีที่ยูเอ็นไม่รับรอง พูดถึงนิวเคลียร์ สิ่งที่ดีที่สุดของ COP นี้ คือ การตกลงกันไม่ได้เรื่องการซื้อขายคาร์บอนเครดิต หรือ Carbon Tradind มิฉะนั้น คงจะส่งผลเสียมากทั้งต่อพี่น้องที่ดูแลป่า รวมถึงจะก่อให้เกิดการปกปิดข้อมูลว่ามีใครมาทำสัญญาจากภาครัฐแน่นอน ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย มีหลายเรื่องให้ใช้งบประมาณทั้งการศึกษา สุขภาพ คุณจะให้เราเจียดเงินเหล่านี้ไปดูแลเรื่องโลกร้อน โดยที่ประเทศไทย พี่น้องเกษตรกร และพี่น้องกลุ่มอื่น ๆ ไม่ได้เป็นคนก่อได้อย่างไร “ วนันต์ กล่าว

ด้าน รศ. ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กล่าวว่า เรื่อง Climate Finance ครั้งนี้ไม่มีพัฒนาการมากเท่าไหร่ เราตั้งใจว่าจะต้องมีเงินเพื่อช่วยให้ปรับตัว ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควรจะต้องมีประมาณ 2 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ แต่ล่าสุดรวบรวมกันได้ 8.5  หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ   ความยากของโจทย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะ ชั้นบรรยากาศโลกเป็นสินค้าสาธารณะ ไม่มีปรเะทศไหนที่อยากจะลงขันจ่ายเงินให้คนอื่นได้ประโยชน์ แต่ประเทศตนเสียประโยชน์ รวมถึงไม่มีอำนาจกฎหมายใด ๆ ในโลกสั่งให้ประเทศใดประเทศหนึ่งหยุดปล่อย ฉะนั้น ข้อตกลงความร่วมมือสำคัญ รวมถึงด้านการเงินเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม

วิษณุ กล่าวเพิ่มเติมถึงกองทุน Loss and Damage ที่ปัจจุบันรวบรวมเงินบริจาคเกือบ 800 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 27,720 ล้านบาท  สหรัฐอเมริกาบริจาคน้อยมาก เมื่อเทียบกับความเสียหายต่อปีที่  1.8 % จาก GDP โลก หรือ 53.5 ล้านล้านบาทต่อปี  คาดว่าประเทศกำลังพัฒนาต้องการเงินช่วยเหลือ 3.5 – 20 ล้านล้านบาท เพื่อลดความเสียหาย ซึ่นเงินที่ได้เป็นแค่เศษเสี้ยว COP28 ยังไม่ได้ข้อสรุปถึงขอบเขตความสูญเสียและความเสียหาย ไม่ได้ข้อสรุปประเทศใดควรมีสิทธิ์ได้รับ แนวทางขอรับความช่วยเหลือ จะทันการณ์ใหม่ ไม่มีข้อสรุป น่าผิดหวังเล็กน้อยเรื่องความก้าวหน้า  จะเป็นการบริจาครั้งเดียวจบหรือไม่ จากนี้ไปในแต่ละปีจะมีเงินมาเข้ามาในกองทุนเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ การเปลี่ยนผ่านและรักษาไม่ให้อุณหภูมิโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จะเป็นสิ่งที่ลำบากมาก ต้องติดตามต่อไปในCOP30

นอกจากนี้ ผล COP28 เกิดปฏิญญาเกษตรยั่งยืน นักเศรษฐศาสตร์เสนอว่า ก่อนการประชุม COP 30 ไทยต้องทบทวนหรือปรับทิศทางนโยบายและการสนับสนุนของรับเกี่ยวข้อวกับภาคเกษตรและระบบอาหาร เพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่เพิ่มรายได้ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มภูมิคุ้มกัน  ไทยยังไม่ส่งเสริมการปรับตัวเท่าไหร่ สุดท้ายโลกร้อนมาเจ็บตัวเหมือนเดิม รวมถึงขยายขนาดและส่งเสริมการเข้าถึงการเงินทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับตัวและพลิกโฉมภาคเกษตรและระบบอาหาร  อีกทั้งกลไกทางเศรษฐศาสตร์ แรงจูงใจ ทั้งตลาดซื้อขายคาร์บอน ภาษีคาร์บอน จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย Net  Zero  ได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รมต.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำทัพผลักดันนโยบายลดโลกเดือด หนุนทุกภาคส่วนรวมพลังสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกระดับโลก

วันที่ 4 ธันวาคม 2567 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดกิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทยและวันอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านแห่งชาติ ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “Impact – Driven Policy:

สส. Kick off UK-Thailand Partnership on Adaptation ภายใต้การสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย

วันพฤหัสบดีที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO)

สส.มอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติ 24 หน่วยงานจัดการพื้นที่สีเขียว สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง กักเก็บคาร์บอนได้กว่า 12,000 ตันต่อปี

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) จัดพิธีมอบโล่รางวัล ยกย่องเชิดชูเกียรติ 24 หน่วยงาน ที่มีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว

TCMA ชูต้นแบบนิเวศนวัตกรรม PPP-Saraburi Sandbox ในเวที COP28

สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (COP28) ณ เมืองดูไบ

'เอลนีโญ' สั่นคลอนความมั่นคงทางอาหาร

ปรากฎการณ์’เอลนีโญ’ ถือเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย  เพราะส่งผลให้เกิดภัยแล้ง ทำให้ขาดแคลนน้ำ ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย นักวิชาการคาดการณ์ว่า ปี 2567 ปรากฎการณ์เอลณีโญจะทวีความรุนแรงขึ้น