การอัดฉีดเงินทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยแก่ศิลปินและเครือข่ายฯ ทั้งภาครัฐและเอกชน ช่วยกระตุ้นการพัฒนาความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จูงใจให้คนนำงานวิจัยออกมารังสรรค์ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมแทนที่จะวางไว้ในหิ้ง เพิ่มคุณค่า มูลค่าทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการเผยแพร่ศิลปะร่วมสมัยไทยในเวทีโลก ทั้งยังเป็นการเร่งให้วงการศิลปะไทยเติบโตขึ้นด้วย ซึ่งกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ทำหน้าที่นี้มาตั้งแต่ปี 2561 โดยได้หนุบงบโครงการเจ๋งๆ 162 โครงการ เป็นเงิน 43 ล้านบาท
เช่นเดียวกับ ในปี พ.ศ. 2567 ที่จะถึงนี้ มีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยอีก 27 โครงการ กระจายทุกภูมิภาคเป็นจำนวนเงิน 3,950,000 บาท ส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยครอบคลุม 9 สาขา ทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง ดนตรี ออกแบบเครื่องแต่งกาย เรขศิลป์ วรรณกรรม ภาพยนตร์ โครงการคว้าทุน อาทิ งานวิจัย เรื่อง ศรีเทพเมืองมรดกโลก : ศิลปะไทยลายรดน้ำและลายกำมะลอสร้างสรรค์ ณ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ โดยนางสาวฤทัยทิพย์ รัตนพันธ์ ,ตุ๊กตาสังคโลกนิวเจน โดย นางสาวชนากานต์ เสมาชัย ,เทศกาลน่าน ในหัวข้อ ศิลปะภาคการแสดงสด ณ สา-ป๊ะ-น่านเฟส โดยมูลนิธิน่านศึกษา ,ค่ายพัฒนาศักยภาพทางศิลปะของเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษด้านทัศนศิลป์ โดยครูสังคม ทองมี
นอกจากนี้ ยังมีโครงการออกแบบเลขนศิลป์ชุมชนจากการประยุกต์ใช้อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไทตาด จ.นครพนม เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ,เทศกาลดูหนังฟังทอล์ก “กลางแปลง กลางโขง” โดยนายายธีรยุทธ์ วีระคำ,เขียน-อ่านปัน(สันติ)สุข : เครือข่ายเยาวชนรักการอ่าน การเขียนวรรณกรรมร่วมสมัยชายแดนใต้ ระยะที่ 2 (จ.นราธิวาส) โดยนายพิเชฐ แสงทอง และเพลงกล่อมเด็กใหม่ใจกลางยุค โดย นายบทละคร จันทร์เรือง ฯลฯ
งานแถลงข่าวของกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยประจำปี 2567 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน เมื่อวานนี้ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า กองทุนส่งเสริม สนับสนุนศิลปะร่วมสมัย ผูัได้รับการสนับสนุนล้วนมีความรู้ความสามารถ จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล โดยการนำศิลปะร่วมสมัยมาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และส่งเสริมพลังความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้พัฒนาไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการบนพื้นฐานของทุนทางสังคมและวัฒนธรรม ผลักดันและเสริมสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยให้แพร่หลายในประชาคมโลก อย่างไรก็ตาม ตนจะหารือกับรัฐบาลเพื่อพิจารณาสนับสนุนงบประมาณเข้ากองทุนฯ ให้มากขึ้น
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยกล่าวว่า กองทุนฯ เป็นแหล่งทุนอุดหนุนการส่งเสริมงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัน ทุกโครงการที่ได้รับการส่งเสริมล้วนมีแนวทางการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการให้เกิดการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายในระดับชุมชน ระดับชาติ และระดับนานาชาติ และต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เกิดการบูรณาการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยเชิงรุกผ่านระบบนิเวศศิลปะ ช่วยยกระดับคุณค่าทางสังคมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
นายประสพ เรียงเงิน ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า แม้จะเป็นกองทุนเล็กๆ เงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ไม่มาก แต่หากมีใจเชื่อมร้อยกันจะประสบผลสำเร็จ โครงการที่ได้ทุนมีการต่อยอดทุนวัฒนธรรม และเผยแพร่ทั้งในไทยและต่างประเทศ อย่างปี 66 มีโครงการการแสดงดนตรีร่วมสมัยกับแคนอีสานบรรเลงประสานสากล แคนวงไทยสมิทธิ์ เป็นตัวอย่างยกระดับศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านสู่ระดับสากล ซึ่งกองทุนฯ ปี67 ยังอุดหนุนเพื่อการสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัย สร้างเครือข่ายผ่านระบบนิเวศศิลปะ นำงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมาเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายบทละคร จันทร์เรือง ผู้ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนฯ เป็น 1 ใน 3 โครงการส่งเสริมการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไทย กล่าวว่า โครงการเพลงกล่อมเด็กใหม่ใจกลางยุค จะนำเพลงกล่อมเด็กแต่โบราณ ซึ่งมีคุณค่าช่วยปลูกฝังแนวคิดที่ดีแก่เด็กมาทำใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย จำนวน 6 บทเพลง เพื่อให้พ่อแม่นำไปเปิดให้ลูกๆ ฟังก่อนนอน เพราะปัจจุบันพ่อแม่ไม่ได้ร้องเพลงกล่อมลูกแล้ว อีกทั้งจะเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเพลงกล่อมเด็กระดับนานาชาติ กองทุนฯ เป็นพลังส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานสู่สังคม
ในวันเดียวกันจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนางานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยโดยกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1.ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) นางวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล กรรมการผู้จัดการ Retail and Brand 2.บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด นายสุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ 3.กลุ่ม Chat Lab นายฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล ประธานกลุ่ม ร่วมลงนามขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power โดยการนำศิลปะร่วมสมัยมาเป็นกลไกสำคัญ
นอกจากนี้ สศร.เปิดนิทรรศการโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยประจำปีงบฯ . 2566 ให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 2566 จนถึงวันที่ 5 ม.ค. 2567 ณ ห้องปฏิบัติการ 1 และ 2 บริเวณชั้น 2 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประติมากรรมเพื่อชุมชน แหล่งรวมคนเมืองแห่งใหม่
ใจกลางกรุงเทพฯ นอกจากสวนสาธารณะพื้นที่สีเขียว สถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นปอดให้กับคนเมืองแล้ว การมีสวนประติมากรรมให้เที่ยวชมย่านใจกลางเมือง เป็นแหล่งนัดพบชาวเมืองแห่งใหม่ เต็มเต็มความสุขของการใช้ชีวิตในเมืองด้วยผลงานศิลปะที่ชวนให้เราหยุดพัก
ประกาศเกณฑ์รับเงินอุดหนุนงานวัฒนธรรมปี68
28 ก.ย. 2567 - นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 นี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดทำโครงการงบประมาณ หมวดเงินอุดหนุนทั่วไป เงินอุดหนุนส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาการดำเนินงานของเครือข่ายทางวัฒนธรรม
7 ศิลปินรางวัล'ศิลปาธร' ต้นแบบคนรุ่นใหม่
ศิลปินศิลปาธรล้วนเป็นศิลปินร่วมสมัยรุ่นกลางที่ทุ่มเทพลังความคิด สติปัญญา และจิตใจมุ่งมั่น สร้างผลงานศิลปะร่วมสมัยที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.)ยกย่องเชิดชูเกียรติให้แก่ศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล’ศิลปาธร’ จำนวน 7 สาขา
ปักหมุดพิพิธภัณฑ์ใน LA ต้องไปชมสักครั้ง
การเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศให้สนุกสนาน นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติที่งดงามตระการตาและแหล่งมรดกวัฒนธรรมล้ำค่า พิพิธภัณฑ์ เป็นอีกหนึ่งในเดสติเนชั่นที่เราอยากแนะนำให้ไปเยี่ยมชม เก็บเกี่ยวช่วงเวลาพิเศษควรค่าแก่การจดจำ
ไทยโชว์งานศิลปะร่วมสมัย'ช็องจู คราฟต์ เบียนนาเล่'
12 ก.ย.2567 - นายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการจัดนิทรรศการประเทศรับเชิญในงาน 2025 Cheongju Craft Biennale ร่วมกับ Mr. Lee Beom-seok ผู้ว่าการเมืองช็องจู ประธานคณะกรรมการจัดงาน Cheongju Craft Biennale ณ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ เมื่อวันก่อน
'นิรันดร์กัลป์'ธีมศิลปะ ภูเก็ตเบียนนาเล่
มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale , Phuket 2025 เปิดตัวผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ นายอริญชย์ รุ่งแจ้ง และ Mr. David The พร้อมภัณฑารักษ์ นางสาวมาริสา พันธรักษ์ราชเดช และ Ms. Hera Chan ณ HOUSE OF TIN BARON อำเภอเมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ตอกย้ำความพร้อมจัด Thailand Biennale ครั้งที่ 4