สวธ.จับมือสถาบันไทยคดี จัดทำข้อมูล ชง'ชุดไทย'ขึ้น'มรดกโลก'

21ธ.ค.2566-กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดงาน การประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องในโครงการจัดทำข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “ชุดไทย” เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนต่อองค์การยูเนสโก เมื่อวันพุธ ที่ 20 ธันวาคม 2566 เวลา 13.30 น. โดยมี นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธาน ผศ.ดร.เสาวธาร โพธิ์กลัด ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ หัวหน้าคณะทำงาน อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ที่ปรึกษาคณะทำงาน และ อาจารย์ วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ที่ปรึกษาคณะทำงาน ร่วมด้วย สินจัย เปล่งพานิช เข้าร่วมการประชุมเสวนา พร้อมการรับฟังความคิดเห็นในการเตรียมความพร้อมจัดทำข้อมูล ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ชุดไทยเป็นชุดประจำชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนกับชาติอื่น ๆ ด้วยการออกแบบและการตัดเย็บที่ประณีตอันเป็นพัฒนามาจากการนุ่งห่มแบบไทย สร้างสรรค์ขึ้นโดยใช้ผ้าทอที่เป็นงานฝีมือของช่างไทยในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว สำหรับสุภาพสตรีมีแบบหลัก ๆ จำนวน 8 แบบ หรือเป็นที่รู้จักในนามว่า “ชุดไทยพระราชนิยม” โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงริเริ่มให้มีการศึกษาค้นคว้าเครื่องแต่งกายสตรีไทยสมัยต่าง ๆ และออกแบบเพื่อทรงใช้เป็นฉลองพระองค์ในโอกาสที่โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและประเทศยุโรปอย่างเป็นทางการ เมื่อ 60 กว่าปีที่ผ่านมา จึงนับว่าเป็นที่มาของการเกิดขึ้นของ “ชุดไทยพระราชนิยม” ที่มีแพทเทิร์นในการตัดเย็บแบบร่วมสมัย ส่วนของสุภาพบุรุษ มี 3รูปแบบ ซึ่งคนไทยทุกภูมิภาคมักสวมใส่ชุดไทยในวาระโอกาสต่าง ๆ และเมื่อมีโอกาสสำคัญในชีวิต

อธิบดีสวธ. กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันการสวมใส่ชุดไทยถือเป็นแนวปฏิบัติทางสังคมที่แสดงออกทางวัฒนธรรมร่วมของชาวไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชนชาวไทย การเลือกใช้ชุดไทยแบบต่างๆ ให้เหมาะสมแก่โอกาส ถือเป็นความเคารพต่อแนวปฏิบัติทางสังคม และการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ส่วนการเลือกใช้ผ้า และการตัดเย็บ ถือเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ช่าง และช่วยธำรงไว้ซึ่งงานช่างฝีมือดั้งเดิมด้านการทอผ้าพื้นบ้านของภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศ เสริมสร้างให้เกิดพลวัตในการสร้างสรรค์สิ่งทอพื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ชุดไทย จึงมีคุณค่าต่อสังคมในมิติบทบาททางวัฒนธรรม และมิติการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ต่อไป

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวธาร โพธิ์กลัด ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา กล่าวว่า สถาบันไทยคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดทำข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “ชุดไทย” เพื่อเสนอขอขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโก ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของมวลมนุษยชาติ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ดังนั้น คณะทำงานจึงดำเนินการศึกษา รวบรวมข้อมูลจากเอกสารชั้นต้น ข้อมูลการสวมใส่ชุดไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน การสัมภาษณ์ผู้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแต่ละแขนงที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ประกอบการชุดไทย โดยมุ่งหวังที่จะนำเสนอให้เห็นถึงคุณค่า “ชุดไทย” ทั้งมิติบทบาททางวัฒนธรรม การพัฒนาคุณภาพชีวิต การส่งเสริมให้เกิดกลุ่มอาชีพและรายได้ การลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ดร.เสาวธาร กล่าวต่อว่า การจัดประชุมในวันนี้ จะเป็นการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์และรูปแบบการเสนอขึ้นทะเบียน ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อองค์การยูเนสโก โดยกระบวนการ มีส่วนร่วมของชุมชน โดยจะขอรับฟังข้อเสนอแนะอย่างรอบด้านต่อปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการสงวนรักษา และปัจจัยที่จะส่งเสริมให้เห็นคุณค่าของ “ชุดไทย” ทั้งมิติบทบาททางวัฒนธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต่อจากนี้ คณะทำงานจะได้รายงานข้อมูลต่อกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พิจารณาอนุมัติข้อมูล แล้วจึงเสนอขอมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วย การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ต่อไป

ภายในงานดังกล่าว มีการเสวนาเรื่อง “วิวัฒนาการเครื่องแต่งกายไทยถึงชุดไทยพระราชนิยม” โดยมีอาจารย์ เผ่าทอง ทองเจือ ที่ปรึกษาคณะทำงาน, อาจารย์ วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ที่ปรึกษาคณะทำงาน, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ หัวหน้าคณะทำงาน ได้ให้ความรู้ถึงประวัติศาสตร์ หลักฐานการใช้ชุดไทยเริ่มตั้งแต่สมัยทวารวดี กรุงศรีอยุธยา วิวัฒนาการต่อมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ และเข้าสู่ยุครุ่งเรือง ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพัฒนาและสร้างมาตรฐานให้ชุดไทยได้รับความนิยม และมีการจำแนกการใช้งานตามวาระ โอกาสต่าง ๆ อย่างเป็นระเบียบแบบแผน และหลังจากจบการเสวนา มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น เตรียมความพร้อมจัดทำข้อมูล “ชุดไทย” เพื่อเตรียมเสนอยูเนสโก โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ หัวหน้าคณะทำงาน ในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ดังนี้ ประกอบด้วย ผู้ถือครองหลักคือคนไทยในทุกภูมิภาคของประเทศและในต่างประเทศ, กลุ่มช่างตัดเย็บชุดไทย, กลุ่มช่างทอผ้าพื้นบ้าน, การสืบทอดความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องด้านการผลิตวัตถุดิบผ้าทอพื้นบ้าน, หน้าที่ทางสังคม และความหมายทางวัฒนธรรมต่อชุมชน และเป็นมรดกภูมิปัญญาฯ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของยูเนสโก ในการรวบรวมข้อมูลของมรดกภูมิปัญญาฯ ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม จากชุมชนผู้ถือครองอย่างกว้างขวาง อีกด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผลงาน'ตรี อภิรุม' ราชานิยายลึกลับสยองขวัญ

21 พ.ย.2567 - นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า นายเทพ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (นวนิยาย) พุทธศักราช 2562  นามปากกา “ตรี อภิรุม” หรือ “นายเทพ ชุมสาย ณ อยุธยา” เจ้าของผลงาน “นาคี” 

ไทยติด TOP 8 ประเทศร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผลสำเร็จการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทย ในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นยกระดับศักยภาพของคนไทยและทุนทาง

ไทยโชว์งานศิลปะร่วมสมัย'ช็องจู คราฟต์ เบียนนาเล่'

12 ก.ย.2567 - นายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการจัดนิทรรศการประเทศรับเชิญในงาน 2025 Cheongju Craft Biennale ร่วมกับ Mr. Lee Beom-seok ผู้ว่าการเมืองช็องจู ประธานคณะกรรมการจัดงาน Cheongju Craft Biennale ณ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ เมื่อวันก่อน