การมีสุขภาพดีเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเจ็บป่วยด้วยพันธุกรรมหรือปัจจัยต่างๆ รอบด้าน อาจเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน โดยเฉพาะ “โรคหัวใจ” ที่ยังคงครองอันดับ 1 ของการเสียชีวิตในประเทศไทย และมักพบเจอในคนหลากหลายช่วงวัยด้วยปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ *จากสถิติที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ วันที่ 19 กันยายน 2566) จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดทั่วประเทศไทยมีมากถึง 670,873 คน / ปี และมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดทั่วประเทศไทย 39,276 คน คิดเป็น 5.85% นับเป็นอัตราผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อย
ดังนั้น การยกระดับความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์และพัฒนาความเชี่ยวชาญในการรักษา โดยการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ควบคู่ไปกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มากด้วยประสบการณ์ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรักษาได้อย่างตรงจุด เพื่อผลลัพธ์ที่ดีและความปลอดภัยสูงสุดของคนไข้ทุกคน อาทิ “เทคนิคการผ่าตัดหัวใจแผลเล็ก” (Minimally Invasive Cardiac Surgery : MICS) ที่ให้ผลลัพธ์ด้าน Well-Being ที่แตกต่างจากวิธีดั้งเดิมอย่างเห็นได้ชัด คือ ไม่ต้องผ่าตัดเปิดแผลใหญ่เหมือนการผ่าแบบเปิดหน้าอก แผลมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมถึง 5 เท่า หรือเหลือเพียง 4-5 ซม. คนไข้ไม่เจ็บตัวมาก และช่วยให้การฟื้นตัวของร่างกายกลับสู่สภาพปกติได้เร็วขึ้น ซึ่งนับอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ในการรักษาของผู้ป่วยในยุคนี้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
มาทำความรู้จักเทคนิคการผ่าตัดหัวใจแผลเล็ก (Minimally Invasive Cardiac Surgery : MICS) เป็นเทคนิคที่ใช้ในการผ่าตัดหัวใจด้วยเครื่องมือขั้นสูงที่ทันสมัย และต้องผ่าตัดโดยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือเท่านั้น โดยปัจจุบันการผ่าตัดหัวใจแผลเล็ก สามารถรักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจได้มากมาย เช่น โรคลิ้นหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคเนื้องอกในหัวใจ ฯลฯ ซึ่งจุดเด่นของเทคนิคการผ่าตัดหัวใจแผลเล็ก คือแผลมีขนาดเล็กลงกว่าผ่าตัดแบบเดิม 4-5 เท่า ลดอาการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะภายใน ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของกระดูกหน้าอก (Sternal wound infection) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจพบได้ในการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด ดังนั้น การผ่าตัดแผลแบบเล็ก จึงเป็นวิธีช่วยลดความเสี่ยง และความกังวลหลังการผ่าตัด นอกเหนือไปจากประสิทธิภาพในการผ่าตัดที่ไม่ต่างจากการผ่าตัดแบบเปิดหน้าอก ซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดแบบเดิมมานานกว่า 50-60 ปี
ขั้นตอนแรกจะเป็นกระบวนการตรวจจากอายุรแพทย์โรคหัวใจก่อน หากมีข้อบ่งชี้ว่าต้องผ่าตัด ก็จะมีการส่งตัวคนไข้มาที่ศัลยแพทย์หัวใจ เพื่อประเมินอาการและตรวจร่างกายเพิ่มเติม เช่น ฉีดสีดูเส้นเลือดหัวใจ (coronary angiogram) หรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) พร้อมวางแผนในการผ่าตัดด้วยวิธีที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุด
ในรายที่สามารถผ่าตัดด้วยวิธีการผ่าแผลเล็กได้ คนไข้จะได้รับการเตรียมตัวก่อนเหมือนการผ่าตัดทั่วไป โดยวันผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการดมยาสลบจนหลับ จากนั้นทีมผ่าตัดจะทำการเปิดแผลขนาดเล็กประมาณ 3 – 5 เซนติเมตร ที่บริเวณหน้าอกเพื่อใช้เป็นแผลผ่าตัด และอาจจะมีแผลเล็กๆ ขนาดประมาณ 0.3 -1 เซนติเมตร เพิ่มอีกประมาณ 2-3 แผล สำหรับใส่อุปกรณ์ช่วยผ่าตัด จากนั้นจะทำการติดตั้งเครื่องปอดและหัวใจเทียม ผ่านทางแผลเล็กๆ บริเวณขาหนีบ และดำเนินการผ่าตัดทุกขั้นตอนผ่านแผลบริเวณหน้าอกที่เตรียมไว้ในตอนเริ่ม
วิธีการผ่าตัดแผลเล็กนี้ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือผ่าตัดที่มีลักษณะพิเศษที่มีขนาดเล็กและก้านยาวกว่าเครื่องมือปกติ จะช่วยให้ทำงานผ่านช่องเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีการใช้การใช้กล้องส่อง (Thoracoscope) เพื่อช่วยให้เห็นภาพการผ่าตัดได้อย่างชัดเจนกว่าปกติ โดยจะใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดอยู่ที่ประมาณ 4-5 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ หากคุณหมอและทีมที่ผ่าตัดมีความชำนาญมากพอ ก็จะสามารถใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดน้อยลงมาอยู่ที่ประมาณ 3-4 ชั่วโมง เทียบเท่ากับการผ่าตัดผ่านแผลใหญ่แบบมาตรฐานดั้งเดิม
ข้อดี-ข้อจำกัด ของการผ่าตัดหัวใจแผลเล็ก ที่ได้รับการพัฒนาเทคนิคอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดผลดีกับคนไข้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านของสภาพจิตใจ ที่ไม่ต้องกังวลกับแผลใหญ่กลางหน้าอกอีกต่อไป ด้วยแผลที่เล็กลงและถูกซ่อนไว้ด้านข้าง ทำให้มองไม่เห็นแผลออกมาจากเสื้อผ้า สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจไร้กังวล หรือการเจ็บปวดทางร่างกายที่น้อยลง เนื่องจากไม่ต้องตัดกระดูกหน้าอกเหมือนการผ่าตัดแบบเปิด เสียเลือดระหว่างผ่าตัดน้อยลง ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ในส่วนของข้อจำกัดของเทคนิคการผ่าตัดหัวใจแผลเล็กนั้นคือ อาจจะไม่เหมาะกับการผ่าตัดในกรณีฉุกเฉิน อีกทั้งเครื่องมือสำหรับการผ่าตัดแผลเล็ก ต้องใช้โดยศัลยแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการฝึกฝนจนชำนาญและมีความเชี่ยวชาญมากพอ ซึ่งปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์ที่สามารถใช้เครื่องมือผ่าตัดแผลเล็กยังนับว่ามีไม่มากพอเมื่อเทียบกับจำนวนคนไข้ที่มากขึ้นเรื่อย ๆ
ทั้งนี้ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน “การผ่าตัดหัวใจแผลเล็ก” ด้วยเครื่องมือเฉพาะทาง ในเมืองไทยปัจจุบันยังนับว่ามีจำนวนไม่มากนัก โดย 3 ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก 3 จังหวัด ได้มาร่วมให้ข้อมูลความรู้เพิ่มเติมเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วย อาจารย์ นพ. สยาม ค้าเจริญ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลรามาธิบดี และอีก 2 ท่านที่เป็นแพทย์ประจำอยู่ในโรงพยาบาลต่างจังหวัด คือ นพ. ณัฐพล อารยวุฒิกุล ศัลยแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลลำปาง และ นพ. ภราดร เจ็ดวรรณะ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ซึ่งทั้ง 3 ท่านต่างมีแนวคิดและอุดมการณ์ในการรักษาคนไข้โรคหัวใจ ให้ได้กลับมาใช้ชีวิตได้ดียิ่งขึ้นด้วยวิวัฒนาการที่ก้าวล้ำ จึงมุ่งมั่น เรียนรู้ ฝึกฝนในการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดแผลเล็กมากว่า 10 ปี พร้อมทุ่มเทและอุทิศชีวิตไว้กับห้องผ่าตัด โดยเฉพาะในโรงพยาบาลต่างจังหวัด ที่นับเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไข้ในท้องถิ่น ให้ได้รับการรักษาเทียบเท่าคนเมือง
นพ.สยาม ค้าเจริญ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยว่า วิวัฒนาการด้านการแพทย์ตั้งแต่ยุคก่อนจนถึงปัจจุบันนั้นมีการพัฒนามาเรื่อยๆ จากสมัยก่อนเวลาผ่าตัดหัวใจ เราไม่ได้มีทางเลือกมากนัก ดังนั้น ก่อนการผ่าตัดจะต้องทำการเลื่อยตัดกระดูกหน้าอกแบ่งครึ่ง จากนั้นใช้อุปกรณ์ถ่าง เปิดอกออกให้กว้าง และเข้าไปผ่าตัด Bypass ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้น ซ่อมลิ้นหัวใจ ซึ่งถือเป็นการผ่าตัดแบบมาตรฐานมา 30 – 40 ปี พอมาถึงในยุคนี้ ที่อุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการผ่าตัดแผลเล็ก ได้ถูกพัฒนาและเข้าถึงมือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น ประกอบกับตัวบุคลากรทางการแพทย์ที่จะใช้เครื่องมือชนิดนี้ได้อย่างเชี่ยวชาญ ต้องอาศัยระยะเวลาในการฝึกฝน อาจจะต้องสั่งสมประสบการณ์การผ่าตัดอย่างน้อย 50-120 เคส จนพัฒนาไปถึงจุดที่สามารถใช้เทคนิคการผ่าตัดหัวใจแผลเล็กได้อย่างมีคุณภาพ และปลอดภัยเทียบเท่ามาตรฐานการผ่าตัดแบบดั้งเดิม ก็จะกินเวลาไปอีกหลายปี ดังนั้น แพทย์ที่จะทำการผ่าตัดด้วยวิธีการผ่าแผลเล็กนับว่ายังมีไม่มากพอ เมื่อเทียบกับจำนวนคนไข้
“ปัจจุบันมีคนไข้บางกลุ่มเริ่มถามหาวิธีการผ่าแบบแผลเล็กมากขึ้น เพราะสะดวกและช่วยให้คนไข้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ดีขึ้นและเร็วกว่าการผ่าแบบเดิม ทั้งในเรื่องของการบาดเจ็บน้อยลง ฟื้นตัวเร็ว และไม่ต้องกังวลเรื่องแผลฉีกหรือติดเชื้อ เพราะแผลมีขนาดเล็กลงเหลือเพียง 4-5 ซม.เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม การจะผ่าตัดทั้งแบบเปิดหรือแบบแผลเล็กต้องขึ้นอยู่การวินิจฉัยของแพทย์ด้วยเช่นกัน ว่าคนไข้แต่ละรายควรทำการผ่าด้วยวิธีแบบไหนจึงจะปลอดภัยที่สุด เพราะนั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด” นพ.สยามกล่าว
นพ.ณัฐพล อารยวุฒิกุล ศัลยแพทย์หัวใจและหลอดเลือด รพ.ลำปาง เผยว่า ปัจจุบันการผ่าตัดหัวใจแผลเล็กเรียกว่ารักษาได้เกือบทุกโรค อาทิ ลิ้นหัวใจมีปัญหา หลอดเลือดหัวใจมีปัญหา เส้นเลือดที่ออกจากหัวใจใหญ่มีปัญหา หัวใจเต้นผิดจังหวะ ฯลฯ ซึ่งหัวใจสำคัญของการผ่าตัดแผลเล็กให้ปลอดภัยและได้มาตรฐาน นอกจากตัวศัลยแพทย์และทีมที่มีความเชี่ยวชาญแล้ว อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือเครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัด ต้องได้มาตรฐานความแข็งแรง ต้องเหมาะและถนัดมือกับทั้งหมอผู้ผ่าตัดและทีมให้มากที่สุด
“ทั้งนี้ โรงพยาบาลลำปางเราเริ่มโปรแกรมผ่าตัดหัวใจแผลเล็กประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว ซึ่งก็มีทีมศัลยแพทย์ทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาดูงานในส่วนนี้ที่ รพ.ลำปางเราอยู่ตลอด และอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือเครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัด ที่ต้องได้มาตรฐานความแข็งแรง และน่าเชื่อถือ พร้อมทั้งต้องเหมาะและถนัดมือกับทั้งหมอผู้ผ่าตัดและทีมให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์ที่ช่วยถ่างช่องซี่โครง มีดผ่าตัดที่มีลักษณะเฉพาะ อุปกรณ์ที่ช่วยจับเข็มเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการเย็บแผลในระดับที่ลึก หรือจะเป็นกล้องเพื่อช่วยเสริมสร้างการมองเห็นที่ชัดเจนขึ้น เป็นต้น ดังนั้นทุกขั้นตอนต้องผ่านการเรียนรู้ ทดลอง และฝึกฝน เพื่อให้เกิดการชำนาญ พร้อมรักษาคนไข้ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด”
ด้านนพ.ภราดร เจ็ดวรรณะ ศัลยกรรมทรวงอก หัวใจและหลอดเลือด รพ.สุราษฎร์ธานี กล่าวเพิ่มเติมว่าในมุมมองของหมอที่ทำงานในโรงพยาบาลศูนย์ต่างจังหวัด การผ่าตัดหัวใจแผลเล็กยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมไม่มากนัก เนื่องจากยังเป็นเทคนิคใหม่ จำเป็นต้องมีอุปกรณ์เครื่องมือเฉพาะ และมีศัลยแพทย์กับทีมที่มีประสบการณ์โดยตรง การผ่าตัดแผลเล็กก็เหมือนการเปลี่ยนแปลงตัวเราออกมาจาก Comfort Zone เดิม ที่เราคุ้นเคยกับการผ่าตัดในแบบมาตรฐาน มาเป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ที่ต้องใช้เครื่องมือที่ยาวกว่าปกติเข้าไปทำงานผ่านช่องเล็กๆ ร่วมกับการทำงานผ่านทางกล้อง โดยช่วงเริ่มต้นอาจจะทำให้แพทย์และทีมรู้สึกอึดอัด ทำงานยากขึ้น ใช้เวลาผ่าตัดนานขึ้น ดังนั้น การผ่าตัดหัวใจแบบแผลเล็กให้มีผลลัพธ์ที่ดีนั้นอาจจะต้องมี การเรียนรู้เส้นโค้งแบบแข็ง หรือ Stiff Learning Curve ในช่วงแรก คือ มีประสบการณ์ผ่าตัดด้วยวิธีนี้อย่างน้อย 50-120 ราย และ มีการผ่าตัดแบบนี้อยู่สม่ำเสมออย่างน้อย 1-2 รายต่อสัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ประโยชน์หลายๆ อย่างของเทคนิคการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ทำให้สถาบันทางการแพทย์ส่วนใหญ่ในอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เปลี่ยนมาใช้เทคนิคนี้กันมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนขนาดแผลเล็กลงจากเดิมที่ประมาณ 20-25 ซม. ตรงกลางหน้าอก มาเป็นแผลขนาด 4 ซม. ที่อยู่ด้านข้างหน้าอกด้านขวา หรือรอบ ๆ หัวนม ดูดีกว่าเดิมอย่างมาก และถ้าใช้เทคนิคการส่องกล้องเข้าช่วย ไม่ใช้เครื่องถ่างหน้าอก อาการปวดแผลหลังผ่าตัดก็จะน้อย สามารถฟื้นตัว กลับไปทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสร้างความมั่นใจให้คนไข้ได้มากขึ้นอีกด้วย
“สำหรับ รพ. สุราษฏร์ธานี เราได้เริ่มโปรแกรมการผ่าตัดลิ้นหัวใจ ปิดผนังหัวใจรั่ว ผ่าตัดหัวใจเต้นผิดจังหวะ และเนื้องอกหัวใจ ผ่านการส่องกล้องแผลเล็กมาประมาณ 4 ปี จากประสบการณ์ฝึกอบรมในต่างประเทศและประสบการณ์ที่ศูนย์หัวใจของเราเอง ทำให้เรามั่นใจว่าเราเป็นศูนย์หัวใจอีกศูนย์หนึ่งที่สามารถให้บริการผ่าตัดหัวใจแบบส่องกล้องได้ตามมาตรฐานสากลและเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานของศัลยแพทย์ผู้สนใจได้” นพ.ภราดรกล่าว
โดยสถิติ ข้อมูลปี 2565 มีคนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดลิ้นหัวใจทั่วประเทศทั้งสิ้น 4,000 – 5,000 ราย และจำนวนคนไข้ที่เข้ารับการรักษาโดยวิธีการผ่าตัดแผลเล็กไม่เกิน 300 ราย หรือคิดเป็น 5% ต่อปี เรียกได้ว่าเทคนิคการผ่าตัดหัวใจแผลเล็ก นับเป็นทางเลือกใหม่ในการสร้าง Well-Being สำหรับคนไข้ได้ดียิ่งขึ้น และคาดว่าในอนาคตจะมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาเพื่อยกระดับด้าน Healthcare หรือการดูแลรักษาคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหล่าทัพตบเท้าสวนสนาม ครั้งแรกในรัชกาลที่ 10 | ห้องข่าวไทยโพสต์สุดสัปดาห์
เหล่าทัพตบเท้าสวนสนาม ครั้งแรกในรัชกาลที่ 10 | ห้องข่าวไทยโพสต์สุดสัปดาห์
'ICC' ฟันรวบ เนทันยาฮู.. ไม่ง่าย!! | จับจ้องมองโลก..อิสรา สุนทรวัฒน์
'ICC' ฟันรวบ เนทันยาฮู.. ไม่ง่าย!! จับจ้องมองโลก..อิสรา สุนทรวัฒน์ : วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2567
ต่อลมหายใจ ‘ทักษิณ’ | ห้องข่าวไทยโพสต์สุดสัปดาห์
ห้องข่าวไทยโพสต์สุดสัปดาห์ : วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2567