Sky Walk ราชวิถี ตอบโจทย์ฟื้นฟูเมือง?

การพัฒนากรุงเทพฯ จะต้องปรับปรุงและผลักดันการออกแบบทั้งมวล เพื่อให้ทุกคนสามารถเดินทางไปได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน มีการเดินหน้า 3 โครงการเพื่อ คน กทม. ซึ่งเป็นเรือธง (Flagship) ขับเคลื่อนกรุงเทพฯ เมืองเดินได้ เมืองเดินดีของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC )  ที่อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบร่วมกับสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เป้าหมายส่งเสริมการเดินเท้าและยกระดับคุณภาพชีวิต  เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม

3 โปรเจ็คต้องจับตา ประกอบด้วย  1.ปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้าถนนสุขุมวิท ตามแผนถนนสุขุมวิทตั้งแต่ซอย 1 – 107 ทั้งสองฝั่งระยะทาง 25 กิโลเมตร 2.Skywalk ราชวิถี เริ่มต้นจากสถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – รพ.ราชวิถี- สถาบันโรคผิวหนัง-สถาบันสุขภาพเด็กฯ -คณะสาธารณสุขศาสตร์-รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล -องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก -มูลนิธิช่วยคนตาบอด -รพ.รามาธิบดี  ถนนพระราม 6 สิ้นสุดที่สถานีราชวิถี (สายสีแดง)   3.Covered walkway หลังคาคลุมทางเดินกันแดดกันฝน  รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุ 3 โครงการเป็นหัวใจของกรุงเทพฯ เดินได้ เดินดี  ถือเป็นโครงการสาธารณะที่ต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้ กทม. เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

รูปแบบทางยกระดับ Sky Walk ราชวิถี

โฟกัสโครงการ “Skywalk ราชวิถี”  รศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า สกายวอล์กราชวิถี ระยะทาง 1.1 กม.จะไม่จำกัดเพียงทางเดินยกระดับมีหลังคาคลุม แต่ยกระดับคุณภาพชีวิตคน และเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาฟื้นฟูย่านโยธี-ราชวิถีอย่างบูรณาการ โครงการนี้หารือและเสนอโดยหน่วยงานและคนในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2557 ก่อนพัฒนาต่อในโครงการกรุงเทพฯ 250  เมื่อปี 2558 มีการจัดทำผังแม่บทเพื่อการฟื้นฟูเขตเมืองชั้นในกรุงเทพฯของ กทม. สำหรับผังแม่บทย่านโยธี-ราชวิถี 2575 มีสกายวอล์กเป็นยุทธศาสตร์บรรลุวิสัยทัศน์ย่านนวัตกรรมทางการแพทย์และบริการสาธารณสุขระดับโลก

ศักยภาพของพื้นที่นี้ประกอบด้วยโรงพยาบาลตติยภูมิขั้นสูง 7 แห่ง โรงเรียนการแพทย์ มูลนิธิคนตาบอด องค์การทหารผ่านศึก หน่วยงานวิจัยทั้งหมดรวม 12 หน่วยงาน สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม วางวิสัยทัศน์เป็น Medical Metropolitan  โดยผังแม่บท เฟส 2 เริ่มปี 2566-2571   จะเชื่อมต่อ แลกเปลี่ยน ทรัพยากรของทุกหน่วยงาน สกายวอล์กเชื่อมต่อการสัญจรที่สะดวกสบายสำหรับทุกคน ทั้งผู้ป่วย ผู้มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนที่ ผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่และบุคลากร ประชาชน  จำนวนผู้ใช้งานเฉพาะริม 2 ฝั่งถนนราชวิถี ราว 1.2 แสนคนต่อวัน เฉพาะรพ.พระมงกุฎ 5,000 คน แต่ถ้าผู้คนในย่านโยธี-ราชวิถี ครึ่งล้านคนต่อวันผ่านเข้าออก  ทั้งยังเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตในอนาคต ทั้งน้ำท่วม  เหตุการณ์ประท้วงที่มักเกิดขึ้นบริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ  เป็นจุดเริ่มต้นการฟื้นฟูย่านด้วยการเดินแบบบูรณาการ  

อนุสาวรีย์ฯ ศูนย์กลางเดินทาง -เปลี่ยนถ่ายของกรุงเทพฯ

สำหรับอนุสาวรีย์ฯ ศูนย์กลางการเดินทางสำคัญของ กทม. ผู้จัดการโครงการฯ ระบุเป็นจุดตั้งต้นของรถเมล์เกือบทุกสาย ผู้โดยสาร BTS อนุสาวรีย์ฯ มากกว่า 2 หมื่นคนต่อวัน มากเป็นอันดับ 4 เชื่อมต่อรถตู้สู่ชานเมืองและปริมณฑล มีวินมอเตอร์ไซด์ 52 แห่ง ภายในย่าน สะท้อนความไม่สะดวกการเดินทาง   อนาคตมีโครงการสายสีแดง สถานีราชวิถี และสายสีส้ม สถานีรางน้ำ,สถานีดินแดง ด้วยความหนาแน่นของผู้ใช้งาน เป็นศูนย์รวมการเปลี่ยนถ่ายขนส่งมวลชน ทำให้ถนนราชวิถีและรอบอนุสาวรีย์ฯ เป็นศูนย์กลางการจับจ่ายใช้สอยของย่าน หาบเร่แผงลอย 100 ราย ร้านค้า 200 แห่ง ตลาด 9 แห่ง ห้าง 6 แห่ง

ปัญหาจราจรติดขัดสาหัส เกินความสามารถรองรับของถนนราชวิถี แก้ด้วยสกายวอล์ก รศ.ดร.นิรมล กล่าวว่า ถนนราชวิถีเป็นหนึ่งในถนนที่วิกฤตที่สุดในกรุงเทพฯ ปริมาณถนนราชวิถี และโดยรอบรวมไม่ต่ำกว่า 3 แสนคันต่อวัน รถติดตลอดทั้งวัน ที่จอดรถมีน้อยหมื่นคัน  เกิดปัญหาความปลอดภัย มลภาวะ มลพิษอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นหนาแน่นมาก ทางเท้าแคบ  มีสิ่งกีดขวาง  จุดตัด จุดข้ามทางม้าลายไม่สะดวกต่อผู้พิการ

ปัญหารถติดเกินความสามารถรองรับของ ถ.ราชวิถี

กลุ่มผู้ใช้งานและพฤติกรรมผู้ใช้พื้นที่ อันดับแรกบุคลากร เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ มาทำงาน กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้สูงอายุ มาพบแพทย์  นักศึกษามาเรียนหนังสือ ผู้พิการเปลี่ยนถ่ายการสัญจร กลุ่มแม่ค้าค้าขาย ผู้ประกอบการ  ภาพภูมิทัศน์ที่เห็นเสมอ ผู้ใช้งานพื้นที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่าง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และคนตาบอด คนพิการ เดินไปเรียนเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ  เดินทางด้วยความยากลำบาก

ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า  ย่านราชวิถีเป็นเดสติเนชั่นการรักษาพยาบาลคนกรุงเทพฯ  ผลสำรวจเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทาง อยู่ กทม. 75% โดยเฉพาะราชเทวี พญาไท ดินแดง ดุสิต  อีก 25% อยู่ปริมณฑล อยุธยา ลพบุรี นครนายก การเข้ามาในพื้นที่เพื่อทำงาน/เรียน  37%  กว่า 60% เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ รถเมล์ รถไฟฟ้า แล้วเดินเท้าต่อเพื่อไปถึงที่หมาย มากกว่า 50% ของผู้ใช้งานเข้ามาใช้ทางเท้าในพื้นที่เกือบทุกวัน

“ เสียงจากผู้ใช้งาน ฝุ่นควัน มลพิษ ทางเท้าแคบมีสิ่งกีดขวาง ทางเท้าไม่เรียบขรุขระ อันตรายจากรถยนต์ จักรยานยนต์  แดด ความร้อน ฝนตกไม่มีที่หลบฝน  ความสกปรกของทางเท้า กองขยะ  ต้องลงไปเดินบนถนน  คนขับผ่านต้องระวังคน  เพิ่มเติมปัญหาคนไร้บ้าน การสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ “  

ทางเท้าแคบ มีสิ่งกีดขวาง

ปัญหาการเดินเท้าในพื้นที่ รศ.ดร.นิรมล เผยถึงอันตรายจากรถยนต์ มอเตอร์ไซด์ ในพื้นที่มีจุดเข้าออกของรถทั้งหมด 19 จุด ที่นักเรียนคนตาบอดเดินผ่านและต้องมีเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือในการเดินผ่าน เพราะเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง  ทั้งตกท่อระบายน้ำ  ชนป้าย ต้นไม้ ชนสิ่งกีดขวางทางเท้า  จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้น น้องๆ ต้องการทางเดินสกายวอล์ก ที่สามารถใช้เดินได้อย่างสะดวก ส่วนผู้ป่วยองค์การทหารผ่านศึก  ที่มารักษาที่รามาธิบดี ต้องข้ามฝั่งทุกครั้ง เพื่อติดต่อที่มารักษา ต้องการทางเดินยกระดับที่เชื่อมสองฝั่ง เพราะไม่สะดวกขึ้นลงสะพายลอย ข้ามทางม้าลายรู้สึกไม่ปลอดภัย การพัฒนาพื้นที่ต้องการมีความปลอดภัยมากขึ้น ไม่มีสิ่งกีดขวาง มีร่มเงา มีป้ายบอกทาง  กว้างขึ้น และมีที่นั่งพัก

ส่วนข้อเสนอการยกระดับคุณภาพการเดินเท้า ผลสำรวจ 35% อยากให้มีการสร้างสกายวอล์ก 33% อยากให้มีการปรับปรุงทางเท้าที่กว้างและต่อเนื่อง อีก 32% ต้องมีหลังคาปกคลุม แดด ฝนตก ยังใช้งานได้ ขณะที่ 81% เห็นด้วยต่อสกายวอล์ก  ลดความเสี่ยงการข้ามถนน  ง่ายต่อการเดินทางสะดวกสบาย ปลอดอันตรายจากถนน  14% ไม่แน่ใจ อีก 5% ไม่เห็นด้วย

ย่านราชวิถีมีวินมอเตอร์ไซด์ 52 แห่ง

ประเด็นสำคัญความคิดเห็นต่อการสร้างทางยกระดับ เชื่อม BTS อนุสาวรีย์ฯ -รพ.รามาธิบดีฯ แยกตึกชัย ควรเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า และจุดจอดรถเมล์ ควรมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลฉุกเฉิน  และเชื่อมต่อกับอาคารหน่วยงานต่างๆ   มีลิฟต์ขึ้น-ลงเป็นช่วงๆ กว้างอย่างน้อย 4 เมตร ถ้ามีการสร้าง 87% การเดินเท้าจะปลอดภัยมากยิ่งขึ้น สภาพแวดล้อมจะเอื้อต่อคนทุกกลุ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ สกายวอล์กราชวิถีมีความท้าทาย ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ ขนาดทางเท้าที่กว้าง 1.5-3.5 เมตร  แนวสาธารณูปโภคใต้ดิน ไฟฟ้า ประปา สื่อสาร บ่อบำบัดน้ำเสีย ท้าทายที่สุด ไม่สามารถขยายทางเท้าหรือยื่นโครงสร้างสกายวอล์กเกินแนวทางเท้าได้ เพราะเป็นถนนสายหลัก ส่วนความเป็นไปได้ในการวางโครงสร้างสกายวอล์กจะเป็นรูปแบบขอใช้พื้นที่เพื่อวางในแนวรั้วของหน่วยงาน ส่งเสริมภาพลักษณ์เมืองที่สวยงามและยั่งยืน

สความจำเป็นเร่งด่วนของโครงการนี้ ผู้จัดการโครงการฯ ระบุโครงการพัฒนาขนาดใหญ่กำลังจะมาถึงในอนาคต  อาคารใหม่ของ รพ.ต่างๆ ในพื้นที่ ต้องมีแนวทางรับมือกับปริมาณผู้คนที่จะหลั่งไหลเข้ามาในย่านเพิ่มขึ้นหลายเท่า  อนาคตจะเกิดสมรภูมิทางเท้า

ภาพอนาคตย่าน’โยธี-ราชวิถี’ จะเลือกทิศทางไหน  ต้องติดตามกันต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คน กทม. เกินครึ่งไม่เห็นด้วยมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด

นย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจ ของประชาชน เรื่อง “สองมาตรการใหม่ คน กทม. จะเอาไง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานคร หากมีการใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บขยะและค่าธรรมเนียมรถติด