ในยุคปัจจุบันที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ ตอบโจทย์ความต้องการมนุษย์ หรือการสร้าง AI ที่จะมาทำงานแทนแรงงานคน หรือ ChatGPT เป็นต้น ความกังวลจึงตกมาอยู่กับเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องเรียนให้ตอบโจทย์กับตลาดแรงงาน แต่สิ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนได้ก็ต้องหันกลับมามองที่สถาบันการศึกษาว่ามีความพร้อมมากขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นครูผู้สอน วิชาที่เรียน ที่จะใช้ในการผลิตบุคคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพันธุ์ (สศช.) ระบุสถานการณ์การจ้างงานในไตรมาส 4 ปี 2565 ว่า ผู้ว่างงานที่เป็นเด็กจบใหม่จำนวนกว่า 2.3 แสนคน ว่างงานถึง 64.5% โดยระบุสาเหตุที่ว่างงานว่า หางานแล้วแต่ยังไม่ได้งาน สะท้อนให้เห็นการหางานที่ยากขึ้น ระบุสาเหตุที่ว่างงานว่า หางานแล้วแต่ยังไม่ได้งาน สะท้อนให้เห็นการหางานที่ยากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิเอสซีจีเดินหน้าขยายแนวคิด Learn to Earn เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด จัดงาน Learn to Earn : The Forum ร่วมกับทุกภาคส่วนระดับประเทศ นำทัพสร้างวาระแห่งชาติ เพื่อจุดประกายและเปิดมุมมองใหม่ ให้เยาวชนได้เรียนรู้ ปรับตัวแบบ Lifelong learning พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ผันผวนอย่างรวดเร็ว
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า Learn to Earn เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เพราะยุคสมัยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นทรัพยากรจึงต้องมีความพร้อมเสมอเพื่อความอยู่รอดในการแข่งขันและพัฒนาประเทศ เป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา อุตสาหกรรม และสาธารณสุข ซึ่งการจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้ พวกเราต้องเตรียมพร้อมแรงงานของชาติให้เก่งทั้งทักษะงาน และทักษะการใช้ชีวิต รัฐบาลจึงเร่งปรับปรุงคุณภาพการศึกษาทุกระดับ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและขจัดความยากจน ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการเรียนการสอน ทำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานที่จะทำให้เกิดคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีรายได้เลี้ยงตนเองได้ พร้อมส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong learning เร่งพัฒนาทักษะทั้ง Hard skill และ Soft skill รวมถึงสร้าง Future skill ที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน และอาชีพใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 60 ปี ที่ทางมูลนิธิเอสซีจี ได้ดำเนินงานเพื่อสังคม ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสนับสนุนทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน จำนวนกว่า 100,000 ทุน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างคนให้เติบโตเป็นทั้งคนเก่งและดี มีน้ำใจ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ที่โลกต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ภาวะโลกร้อน สงคราม ทำให้ส่งผลกระทบในทุกมิติ รวมไปถึงในการศึกษาด้วย ทำให้พบเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือจบมาแล้วไม่มีงานทำ จากสิถิติพบว่ามีจำนวนผู้ว่างงานกว่า 4 แสนคน ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้มองเห็นการว่างงานของผู้คนจำนวนมากคือ ทักษะไม่ตอบโจทย์กับตลาด หรือไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานประกอบการได้ ดังนั้นการศึกษาจึงต้องมีการปรับตัว รวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การเรียนรู้ไม่จำกัดเพียงในห้องเรียน หรือใบปริญญาไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่ปัจจุบันการศึกษาคือ ผู้เรียน ผู้สอน และผู้ใช้งาน ต้องเรียนรู้และปรับตัวเข้าหากัน
“ทั้งนี้การศึกษาในระบบยังคงเป็นรากฐานที่สำคัญ แต่ก็สามารถที่จะพัฒนาทักษะเพิ่มได้อย่างไม่สิ้นสุด ดังนั้นจึงต้องมีความพร้อมในกระบวนการ Upskill และ Reskill ให้ทันกับสถานการณ์ได้ตลอดชีวิต ซึ่งทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการผลักดันแนวคิด Learn to Earn ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมขยายไปในวงกว้าง เพราะจะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาน้อยลง เมื่อมีอาชีพ มีรายได้ คนในสังคมก็จะพึ่งพาตัวเองได้ และอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน” รุ่งโรจน์ กล่าว
ด้านปัญหาของการศึกษาไทย ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้เหตุผลว่า หลักสูตรไม่ตอบโจทย์ แต่นักเรียนกลับต้องเรียนหนัก ครูภาระมาก ขาดงบประมาณ ผลิตคนไม่ตรงกับความต้องการ ผลิตเกินความต้องการ นักเรียนไม่สนใจเรียนสายอาชีพ ไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ทักษะภาษาอังกฤษต่ำ ซึ่งเป็นความท้าทายในการแก้ปัญหาเหล่านี้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นสังคมผู้อายุ และการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมและเทคโนโลยี การปรับตัวของครูในการสอนช่วงสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตามในสถานการณ์นี้มีเด็กที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการ ก็มีกลไกในการติดตามเด็ก ไม่ว่าจะส่วนกลาง เขตพื้นที่การศึกษา แม้ว่าจะสามารถติดตามได้เกือบ 100% แต่ก็พบว่าเด็กอายุเกิน 15 ปี ไม่สามารถที่จะเรียนในภาคบังคับได้ ก็สามารถที่จะเข้าสู่การศึกษาของ กศน.
ในส่วนของนโยบายในการแก้ปัญหาการศึกษา ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ในเบื้องต้นต้องลดภาระครูและบุคลากร เช่น ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะ โยกย้ายกลับภูมิลำเนา แก้ไขปัญหาหนี้สิน จัดหาอุปกรณ์การและสวัสดิการ และลดภาระนักเรียน ผู้ปกครอง เช่น ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ มีระบบแนะแนวการเรียนและเป้าหมายของชีวิต ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่มและมีการรับรอมาตรฐานวิชาชีพ จัดทำระบบเทียบการศึกษา เพื่อให้เรียนไม่เสียเวลาเรียนในระบบ และมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ อย่าง ม.สวนสุนันทา ที่มีหลักสูตรอีสปอร์ต ซึ่งตอบโจทย์กับยุคสมัยและผู้เรียน ที่อาจจะเป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรให้แก่มหาวิทยาลัยอื่นในอนาคต
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในอดีตจะมีการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงใหญ่ของเทคโนโลยีทุกๆ 10 ปี ช่วยให้มีระยะเวลาในการวางแผนลงทุน แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่าน สิ่งที่กระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์มากที่สุดคือ Digital Transformation ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ภาคอุตสาหกรรมไม่เคยเจอ จึงกลายเป็น Digital Disruption จึงทำให้อุตสาหกรรม 45 กลุ่มในสภาอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมจึงมุ่งหน้าที่จะปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ โดยเฉพาะเรื่อง “คน” ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ อย่าง New S-curve หรือ Innovation โดย 3 อันดับทักษะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ คือ 1. ทักษะทางวิศวกรรม 68.8% 2.ทักษะทางดิจิทัล 63.3% และ3. ทักษะทางการวิเคราะห์ข้อมูล 53.7% ซึ่งทั้ง 3 ทักษะมีความต้องการมาก แต่แรงงานยังมีน้อย หากย้อนกลับมาดูปัญหาพื้นฐานต้นทุนมนุษย์ ที่ไม่สามารถปฏิรูปได้อย่างรวดเร็ว ถึงบริษัทใหญ่จะสามารถลงทุนเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีใหม่ๆได้ แต่ปัญหาเดียวที่พบคือ ไม่มีแรงงานคน เมื่อเทียบกับศักยภาพด้านทรัพยากรมนุษย์โลกปี 2566 จาก 133 ประเทศ พบว่า ไทยอันดับอยู่ที่ 79 ตกลงมากจากปีที่แล้วที่อยู่ในอันดับ 75 เทียบกับประเทศในแถบเอเชียอย่าง มาเลเซียอันดับที่ 42 เวียดนามอยู่อันดับที่ 75 เป็นต้น
เกรียงไกร ชี้ถึงปัญหาด้านทักษะแรงงานว่า หลังจากที่สถาการณ์โควิด-19 กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประสิทธิภาพแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียน อย่าง เวียดนาม อินโดนีเซีย แรงงานมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น สวนทางกับไทยที่ยังไม่กลับไปสู่ในระดับก่อนโควิด-19 ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ประเทศไทยกำลังขาดแคลนกำลังคนที่มีทักษาด้านภาษาอังกฤษ และดิจิทัล โดยการจัดอันดับ English Prorcency 2022 จาก 113 ประเทศ ไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 97 ซึ่งต่ำกว่าเกาหลีใต้และมาเลเซีย และด้าน Basic ICT Skills พบแรงงานที่มีทักษะทางด้านนี้เพียง 17% และที่แย่สุดคือ Advanced ICT Skills ที่มีเพียง 1% ซึ่งเป็นปัญหาในปัจจุบัน
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า สำหรับทางออกของปัญหาด้านการผลิตแรงงานให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด หัวใจหลักที่สำคัญ คือ “คน” ซึ่งศักยภาพของคนมีหลายมิติ อย่างเรื่องทักษะ ในจำนวนแรงงานแรงงานในประเทศไทย 100% ในจำนวนนี้มีแรงงานเกษตรกรหรือแรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ต้องใช้ทักษะขั้นสูงเกิน 50% ดังนั้นเป้าหมายที่จะลดความเลื่อมล้ำหรือพัฒนาทักษะความสามารถเพื่อการแข่งขัน หากยกระดับเป้าหมายนี้ได้ ก็จะช่วยแก้โจทย์การขาดแรงงานได้ แต่สภาพความเป็นจริงต้องยอมรับว่า เด็กในครอบครัวยากจนมีโอกาสเข้าเรียนน้อยกว่า ซึ่งผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 20% ของครัวเรือนไทย ที่เข้าเรียนในระดับประถมศึกษา 99 คน สามารถเรียนจนจบมัธยาต้นเหลือเพียง 76 คน จบมัธยามปลายลดลงเหลือ 27 คน และจบมหาวิทยาลัยได้มีเพียง 8 คน
อีกนัยหนึ่งคือผลการศึกษาของผู้ปกครอง หากได้รับการศึกษาในระดับต่ำ อาจจะส่งผลให้บุตรหลานได้รับการศึกษาในระดับต่ำไปด้วย เฉลี่ยถึง 49% ที่อยู่ในระดับประถมศึกษา และมีโอกาสที่จะเรียนต่อในระดับมัธยม 34% ส่วนในระดับอุดมศึกษาเฉลี่ยเพียง 16% ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศในการแก้ปัญหาระดับการศึกษา สำหรับความยากจนข้ามรุ่น เพราะหากนักเรียนที่อยู่ในครอบครัวฐานะยากจนมีระดับการศึกษาที่สูงกว่าภาคบังคับ จะช่วยให้สร้างรายได้ที่สูงตามไปด้วย
ดร.ประสาร กล่าวต่อว่า ดังนั้นจุดมุ่งหมายของกสศ. ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด จึงต้องมุ่งเน้นไปที่กลุ่มประชากรยากจนที่สุด 15% ให้ได้รับการศึกษา โดยพบว่านักเรียนระดับอนุบาล-ม.3 ซึ่งเป็นการศึกษาระดับภาคบังคับอยู่ในระบบจำนวน 1.1 ล้านคน นอกระบบอีก 6 แสนคน และในส่วนของประชากรที่เข้าสู่ระบบการศึกษาที่สูงกว่าภาคบังคับตั้งแต่ระดับม.ปลาย-อุดมศึกษาอยู่ในระบบมีเพียง 2 แสนคน ที่ได้ทักษะไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน และส่วนที่อยู่นอกระบบมีมากถึง 9 แสนคน กลายเป็นขาดทักษะ ดังนั้นทั้งในระบบและนอกระบบ สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ทักษะเพื่อตอบโจทย์ตลาด และมีอาชีพทำ