กระเช้าขึ้นภูกระดึง ' ทำไมสร้าง-ทำไมไม่สร้าง'

หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐาสัญจร เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 เห็นชอบในหลักการอนุมัติ “โครงการเขียนแบบก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง” จังหวัดเลย   โดยส่งมอบให้สำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อ  เป็นการเสนอของบประมาณ 28 ล้านบาท เพื่อใช้ในการสำรวจและเขียนแบบก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ซึ่งมีทั้งเสียงสนับสนุนกระเช้าช่วยสร้างรายได้เข้าจังหวัดและเสียงคัดค้านไม่อยากให้มีกระเช้า หวั่นผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำลายมนต์เสน่ห์ภูกระดึง ซึ่งกระเช้าภูกระดึงถูกผลักดันให้อยู่ในแผนพัฒนาการท่องเที่ยวมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า  

ย้อนไปวันที่ 18 สิงหาคม 2565 จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 การทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ และดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงจังหวัดเลย ยังมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว จากประเด็นแผนการรับมือจากการพัฒนาพื้นที่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น การกระจายรายได้สู่ชุมชน การจัดการขยะจากนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น ฯลฯ .

 ล่าสุด วันที่  30 พฤศจิกายน 2566 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อนุมัติให้องค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)  (อพท.) เข้าไปสำรวจ เก็บข้อมูลสถานภาพทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และความเป็นไปได้ในโครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ตลอดจนทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.2566-ก.ย.2568 แต่ศึกษาความเป็นไปได้ ไม่ใช่ศึกษาเพื่อจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ  EIA   หากผลศึกษาความเป็นไปได้แล้วเสร็จ จะนำเสนอ ครม. พิจารณาใน 2 ปีข้างหน้า

 ภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร  กล่าวว่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียรมีข้อกังวลและสื่อสารไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตลอด ทั้ง อพท. และหน่วยงานท่องเที่ยวในพื้นที่ หากมีการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง เพราะบนหลังแปของภูกระดึงพื้นที่กว้างมากแม้จะมีทางเดินที่ทำเป็นทางไว้  แต่นักท่องเที่ยวสามารถออกนอกเส้นทางได้ตลอด หากนักท่องเที่ยวจำนวนมากขาดการควบคุม ธรรมชาติเสียหาย  อีกประเด็นคนมากเกินกว่าธรรมชาติจะรับได้ ตามอัตราความถี่ของบรรทุกคนขึ้นลงกระเช้า จะทำให้มีคนเกลื่อนภูกระดึง  แม้จะปิดภูกระดึง 4 เดือนต่อปี ธรรมชาติฟื้นไม่ทันแน่นอน  

“ อุทยานแห่งชาติภูกระดึงล้อมรอบด้วยชุมชน มีกิจกรรมมนุษย์รบกวน สัตว์ขึ้นมาอาศัยบนหลังแปมาก มีช้างป่า หมาใน หมาจิ้งจอก เก้ง กวาง พบเห็นได้บ่อย ถ้านักท่องเที่ยวมากจะเกิดการเผชิญหน้าระหว่างสัตว์ป่ากับนักท่องเที่ยว ทุกวันนี้มีกรณีอยู่ โดยเฉพาะเส้นทางไปผานกแอ่นตอนเช้าที่นักท่องเที่ยวนิยมไปดูพระอาทิตย์ขึ้น หากมีการพัฒนาโครงสร้างด้านบนรองรับท่องเที่ยยว  เช่น อาคาร  เส้นทางคมนาคมโดยรอบหลังแป เพื่ออำนวยความสะดวกคนไปชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก จะกระทบแหล่งอาศัยสัตว์ป่า  “ ภานุเดช กล่าว

อีกเหตุผลที่ทัดทานกระเช้าไฟฟ้า ประธานมูลนิธิสืบฯ กล่าวว่า จะทำลายอาชีพของลูกหาบ  ชาวบ้านศรีฐาน และบริเวณใกล้เคียง เมื่อเปิดภูจะมีอาชีพเสริม แต่เป็นรายได้หลัก มารับจ้างหาบสัมภาระนักท่องเที่ยว ถือเป็นรายได้ที่ดี  กระเช้าจะแย่งรายได้ แย่งอาชีพจากคนเหล่านี้ไป  จะมีแนวทางเยียวยาชาวบ้านอย่างไรให้ชัดเจน ยังไม่รวมร้านค้าระหว่างทาง ร้านขายอาหาร เครื่องดื่ม  ของขบเคี้ยว ร้านขายของที่ระลึกระหว่างทางที่ซำต่างๆ เป็นชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงกับภูกระดึงมาทำมาหากิน ถ้ามีกระเช้า นักท่องเที่ยวไม่เดินขึ้น  รายได้หายไป

"หากมีการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง เพราะบนหลังแปของภูกระดึงพื้นที่กว้างมากแม้จะมีทางเดินที่ทำเป็นทางไว้  แต่นักท่องเที่ยวสามารถออกนอกเส้นทางได้ตลอด หากนักท่องเที่ยวจำนวนมากขาดการควบคุม ธรรมชาติเสียหาย..."

ภานุเดชยังตั้งคำถามหากนำคนขึ้นไปบนหลังแปเพิ่มขึ้น จะวางแผนการรับมือจากการพัฒนาพื้นที่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวอย่างไร  ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยว 2,000 คนต่อวัน  ถ้ามีกระเช้าขึ้นภูกระดึง นักท่องเที่ยวก็มากไปอีก โดยเฉพาะช่วงพีคพระอาทิตย์ขึ้น-พระอาทิตย์ตก ที่มีความต้องการใช้กระเช้าสูง จะจัดการแก้ปัญหาอย่างไร ต้องมองให้รอบด้าน  อ้างอิงรายงานการศึกษาปี 2557 ถ้ามีกระเช้าจะสามารถขยายขีดความสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้  4,425 คน ต่อวัน ซึ่งเป้าหมายกระเช้าต้องขนคนให้มากที่สุด เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน ทั้งต้นทุนการสร้าง ต้นทุนการบริหารจัดการกระเช้า

อีกประเด็นชวนคิด ปธ.มูลนิธิสืบฯ บอกว่า อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งที่ 57 ในปี 2566 นี้ ด้วยความโดดเด่นเป็นอุทยานฯ ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ จ.เลย ปกคลุมไปด้วยป่าตามธรรมชาติมากกว่า98% และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชพันธุ์หายาก เช่น หญ้าดอกลำโพง ผักชีภูกระดึง กุหลาบขาว กุหลาบแดง เป็นต้น รวมทั้งมีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น เลียงผา ลิ่นชวา เต่าเหลือง ค่างแว่นถิ่นเหนือ ชะนีมือขาว ทั้งยังทรงคุณค่าภูกระดึงเป็นภูเขาหินทรายยอดตัดโดดเด่นเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน  อุทยานมรดกอาเซียนแห่งนี้อาจจะต้องถูกทำลายหากมีการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงเกิดขึ้น

ถ้าไม่เอากระเช้าขึ้นภูกระดึง ภานุเดช เสนอว่า เสน่ห์ภูกระดึง คือ การเดินขึ้นไปพิชิตด้านบน ได้ฟันฝ่าและเรียนรู้ธรรมชาติอันสงบงามตระการตา  เป็นสถานที่ที่เหมาะกับคนที่เริ่มต้นกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ควรใช้จุดเด่นนี้พัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้เหมาะสมและปลอดภัยกับนักท่องเที่ยวมากขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพื้นที่  ส่วนที่มีการกล่าวถึงประโยชน์จากการสร้างกระเช้า ช่วยแก้ปัญหาขยะ  เห็นว่า อุทยานฯ หลายแห่งในไทยเป็นต้นแบบเรื่องการจัดการขยะและของเสียโดยไม่ต้องมีกระเช้าเป็นพาหนะ ควรมีการนำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและชุมชนรอบอุทยานฯ  จัดอบรมให้ความรู้และไปศึกษาดูงานเพื่อนำมาปรับใช้กับภูกระดึง  ขณะเดียวกันเร่งปลุกจิตสำนึกนักท่องเที่ยวให้ท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ มีการคัดแยกขยะ  ลดการสร้างขยะ

“ การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ซึ่งได้รับการรับรองเป็นอุทยานมรดกอาเซียน ต้องมีความรอบคอบและระมัดระวังผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน ไม่ละเลยข้อเท็จจริงในพื้นที่ จะใช้ประโยชน์รูปแบบท่องเที่ยวอย่างไรให้เหมาะสมกับพื้นที่ หรือพัฒนากระเช้าเพื่อการท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นที่เหมาะสมกว่าในพื้นที่อุทยานฯ กระเช้าไม่ใช่คำตอบเดียว อย่างไรก็ตาม มูลนิธิฯ จะรวบรวมข้อมูล งานวิชาการ และค้นคว้าข้อมูลใหม่ๆ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวทีที่เกี่ยวข้องกับ“โครงการเขียนแบบก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง” จ.เลย    “ ประธานมูลนิธิสืบฯ กล่าวทิ้งท้าย

ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการทำกระเช้าขึ้นภูกระดึงที่ผ่านมา ทางภาครัฐได้มอบหมายให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.เป็นผู้ดำเนินการ แหล่งข่าวจาก อพท.เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นการศึกษาเรื่องกระเช้าขึ้นภูกระดึง โจทย์แรกไม่ได้คิดเรื่องกระเช้า แต่คิดว่าหาอะไรมาอนุรักษ์ภูเกระดึง   เพราะPain point ของภูกระดึงที่กรมป่าไม้ศึกษาไว้ คือ เรื่องการเดินขึ้น มีการขยายเส้นทางเดินของมนุษย์ออกไป และพบว่ามีขยะกระจายออกไปจากเส้นทางเดินจำนวนมาก เช่น ขวดเครื่องดื่มชูกำลัง เราเคยเก็บชยะที่อยู่นอกเส้นทางเดินได้เป็นตันๆ เพราะคนเดินขึ้นขว้างทิ้งระหว่างทาง ทำให้เป็นโจทย์ต้องมาดูว่าแล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร ที่เป็นการอนุรักษ์ จนมาสรุปว่ากระเช้าเป็นทางออกดีที่สุด เพราะ1. รบกวนธรรมชาติน้อย 2. ไม่ให้นักท่องเที่ยวไปสัมผัสรบวนสัตว์ เพราะในระยะทาง 5-8 กม.ถือว่าเป็นการรบกวนทางเดินธรรมชาติของสัตว์

แหล่งข่าวกล่าวว่า ผลการศึกษาที่อพท.ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัย.เกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยขอนแก่นเคยเสนอเข้าครม.เมื่อ 2559 และระหว่างจะหาผู้ยื่นเรื่องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณา   ก็ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งในรัฐธรรมนูญใหม่ มีการกำหนดให้มีขั้นตอนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเพิ่มเติมเข้ามา  จึงทำให้ผลการศึกษาต้องมีการทบทวนใหม่อีกรอบ  นอกจากนี้ สผ.ยังพบว่าการศึกษายังขาดสาระสำคัญเรื่องรายละเอียดรูปแบบของกระเช้า จึงต้องมีการจะจัดเตรียมข้อมูลส่วนนี้เพิ่มเติมให้ครบถ้วน โดยการศึกษาครั้งใหม่นี้ ที่อพท.ได้รับอนุญาติจากกรมอุทยานฯ เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2566 ให้เข้าพื้นที่ได้และคาดว่าจะใช้เวลาศึกษา เป็นเวลา  2ปี  

เรื่องการมีกระเช้าจะทำให้เกิดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จนกระทบกับพื้นที่  แหล่งข่าวกล่าวว่า การศึกษาซึ่งจริงๆ เริ่มตั้งแต่ปี 2557  พบว่าปัญหาของภูกระดึงคือ คนไปแล้วกลับเลยไม่ได้ ต้องนอนค้างข้างบน การศึกษาจึงเป็นความพยายามบีบให้คนนอนน้อยลง เป็นลักษณะขึ้นแล้วลงเลย   ต้องการให้นักท่องเที่ยวลงมานอนข้างล่าง โดยใช้กลไกการมีกระเช้ามาเป็นตัวควบคุม ซึ่งในความเห็นของที่ปรึกษา กำลังมองถึงจำนวนคนที่เหมาะสมในแต่ละวัน  และแยกกลุ่มนักท่องเที่ยว เช่น มองจากระยะทาง ว่านักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มนี้เดินทางมากี่กิโล  ควรไปพักตรงไหน

“โจทย์ของเราคือ  ต้องการให้คนนักท่องเที่ยวเที่ยวลงมานอนข้างล่าง  ซึ่งปัจจุบันกรมอุทยานฯ อนุญาตให้นักท่องเที่ยวนอนค้างได้ 5พันต่อวัน แต่เรามีแนวคิดต้องการให้มีการนอนค้างน้อยกว่า 5พันคน “แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวยืนยันอีกว่า แนวคิดการศึกษา ของอพท. ยึดโยงกับหลักการทำงานของอพท. ที่มีเจตนารมณ์ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ไปสู่มาตรฐานการรับรองระดับโลก และพยายามพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไปสู่ระดับ 100 ของแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ  ซึ่งการรับรองมีองค์กรเป็นกลางเข้ามาตรวจสอบ เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ จะเป็นเกณฑ์หลักในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนของอพท. อย่างไรก็ตาม แนวการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวยังต้องคำนึงถึงความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวและความพึงพอใจของชุมชน ไม่ใช่ปล่อยให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากจนเป็นการรบกวนชาวบ้าน ส่วนนักท่องเที่ยวเองก็คงไม่ชอบใจที่มีคนเยอะมากจนเที่ยวไม่สนุก หรือถ่ายรูปไม่ได้ ดังนั้น ในการพัฒนาของอพท.จึงคำนึงและคำนวณถึงเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว และนำไปสู่รูปแบบการบริหารจัดการที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความสมดุล

"พบว่าปัญหาของภูกระดึงคือ คนไปแล้วกลับเลยไม่ได้ ต้องนอนค้างข้างบน การศึกษาจึงเป็นความพยายามบีบให้คนนอนน้อยลง เป็นลักษณะขึ้นแล้วลงเลย  ต้องการให้นักท่องเที่ยวลงมานอนข้างล่าง โดยใช้กลไกการมีกระเช้ามาเป็นตัวควบคุม...."

ข้อกังวลว่าการบริหารจัดการ จะเข้มจริงหรือเป็นไปตามที่กำหนดสเป๊กได้จริงหรือไม่  แหล่งข่าวอพท.กล่าวว่า เรื่องนี้บางคนอาจจะใช้ความรู้สึกตัดสิน โดยที่ยังไม่ได้เข้าไปดูข้อมูลผลการศึกษา ที่ผ่านมา เราทำการรับฟังความคิดเห็น  32 ครั้ง เปิดให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ  ให้พูดซักถามเรื่องที่สงสัย  เช่น เรื่องเส้นทางสร้างกระเช้า เริ่มแรกจากมองไว้  5 เส้นทาง ซึ่งพอผ่านกระบวนการถามความเห็นประชาชน ในที่สุดก็เหลือเส้นทางเดียวที่คิดว่าเหมาะสม  ซึ่งทำให้ผลการแสดงความคิดเห็น จากที่คนไม่เห็นด้วยจำนวนมาก  ในที่สุดก็มีคนเห็นด้วย มากกว่าคนไม่เห็นด้วย

“การศึกษาครั้งนี้ เราต้องเข้าไปพื้นที่ใหม่ หาจุดสมดุล เป็นการทบทวน  นอกจากนี้ ยังมองว่าการศึกษาครั้งใหม่นี้ขบวนการมีส่วนร่วมจะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ เราเคยทำPublic hearing ที่จ.เลย ทั้งแบบ On Site  และ On Line โดยมีคนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น 342 คน  พบว่ามีคนไม่เห็นด้วย 0.2% และเห็นประโยชน์ของโครงการน้อย  3% ที่เหลือเห็นว่าโครงการมีประโยชน์ และมีประโยชน์มาก แสดงให้เห็นว่าคนในภูกระดึงมองว่าโครงการน่าจะมีประโยชน์  “

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในการทำPublic Hearing  ครั้งต่อไป  จะต้องทำในกระบวนการที่กว้างขวางมากกว่าเดิม ระยะทางผู้มีส่วนร่วมจะต้องมากกว่า 10 กม. จากที่กฎหมายกำหนด ซึ่งที่ผ่านมา แม้จะเคยเชิญคนทั้งจ.เลยมาร่วมแสดงความคิดเห็น นอกจากนี้ ยังเคยทำทำเวทีถามความคิดเห็นคนในที่กรุงเทพฯด้วย โดยมีการเชิญหน่วยงานและองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรที่เกี่ยวข้องมาร่วมแสดงความคิดเห็น แต่การทำประชาพิจารณ์ครั้งต่อไป คณะที่ปรึกษามองว่า จะต้องทำให้เยอะกว้างขวางมากยิ่งขึ้นกว่าครั้งๆที่ผ่านๆมา เพื่อให้ผลศึกษาของเรากว้างมากขึ้น โดยเฉพาะการถามความเห็นโดยใช้สื่อทางออนไลน์ จะเป็นอีกรูปแบบเพิ่มเติมที่จะนำมาใช้ในการประชาพิจารณ์ครั้งต่อไป  ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปจริงๆ .

   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุดสลด! 'ช้างภูหลวง' โดนกับดักสปริงรัดงวงจนเสียชีวิต

เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง พบซากช้างป่าเพศผู้โตเต็มวัยเสียชีวิต หลังถูกกับดักสปริงรัดบริเวณงวง ในพื้นที่ห้วยน้ำริน บ้านสองคอน ตำบลปลาบ่า อำเภอภูเรือ

เปิดภูกระดึงนักท่องเที่ยวทะลัก สัมผัสทะเลหมอกช่วงหยุดยาว

นักท่องเที่ยวแห่พิชิตภูกระดึงในช่วงวันหยุดยาว สัมผัสทะเลหมอกและธรรมชาติอันงดงาม ยอดพุ่ง 12 ต.ค.กว่า 2 พันคน  หลังปิดเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ

อพท.เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักสูตรบริหารจัดการท่องเที่ยวยั่งยืน

การจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นแนวทางสำคัญที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ล่าสุด ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมถอดบทเรียนแนวทางการส่ง

เปิดข้อเสนอแก้ไขปัญหา 'ทับลาน' มูลนิธิสืบฯยัน ไม่ควรเหมารวมทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน

เพจ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร โพสต์ข้อความ ระบุว่า เปิดข้อเสนอการแก้ไขปัญหาแนวเขตและที่ดินในพื้นที่ อช.ทับลาน โดยมีการแบ่งรูปแบบพื้นที่ทั้งหมดออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้