6 ธ.ค.2566-สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) แถลงข่าวผลการประเมินโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) 2022 โดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน รศ.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการ สสวท.
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวว่า ในการสอบประเมินสมรรถนะนักเรียน PISA ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผลการประเมินที่ได้จะเป็นตัวชี้วัดบอกถึงคุณภาพการศึกษาของประเทศ รวมถึงคุณภาพของประชากรในประเทศ และยังถูกใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ
นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า โดยในประเทศไทยมีทาง สสวท. ทำหน้าที่รับผิดชอบหลักในการดำเนินการสอบ PISA ร่วมกับ OECD ซึ่งการประเมิน PISA 2022 ล่าสุด มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณ 690,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี รวมกว่า 29 ล้านคน จาก 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ สำหรับในประเทศไทยได้ดำเนินการจัดสอบเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งมีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการประเมินจาก 279 โรงเรียนทั่วประเทศ ในทุกสังกัดการศึกษา รวม 8,495 คน โดยนักเรียนทำแบบทดสอบและแบบสอบถามด้วยคอมพิวเตอร์ผ่านทางแฟลชไดรฟ์ นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียนผ่านทางแบบสอบถามออนไลน์ด้วย
รศ.ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการ สสวท. อธิบายว่า การสอบ PISA จะเน้นการประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ซึ่งถือว่าเป็นวัยที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ โดยได้ทำการประเมินทุก 3 ปี อย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาและมุ่งให้ข้อมูลแก่ระดับนโยบาย PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน หรือเรียกว่า ความฉลาดรู้ (Literacy) ใน 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ การประเมินนักเรียนจะวัดทั้ง 3 ด้านดังกล่าวไปพร้อมกัน แต่จะเน้นหนักที่ด้านใดด้านหนึ่ง ในแต่ละรอบการประเมิน สำหรับ PISA 2022 เน้นการประเมินด้านคณิตศาสตร์ โดย PISA มองว่าในปัจจุบันบุคคลที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์จะต้องเป็นบุคคลที่สามารถให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริงที่ซับซ้อนร่วมกับการหาวิธีแก้ปัญหาโดยการคิดหรือแปลงปัญหาในเชิงคณิตศาสตร์ ใช้คณิตศาสตร์ และตีความและประเมินผลลัพธ์ทางคณิตศาสตร์ได้
รศ.ดร.ธีระเดช กล่าวว่า ในผลการประเมิน PISA 2022 ในระดับนานาชาติ พบว่า นักเรียนจากสิงคโปร์มีคะแนนเฉลี่ยทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านสูงกว่าทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมินในครั้งนี้ สำหรับประเทศที่มีคะแนนสูงสุดห้าอันดับแรกในด้านคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นด้านที่เน้นในรอบการประเมินนี้เป็นประเทศ/เขตเศรษฐกิจในเอเชียทั้งหมด ได้แก่ สิงคโปร์ มาเก๊า จีนไทเป ฮ่องกง และญี่ปุ่น ส่วนประเทศสมาชิก OECD มีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 472 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 485 คะแนน และด้านการอ่าน 476 คะแนน ซึ่งเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ด้านคณิตศาสตร์และการอ่านลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางสถิติ
สำหรับผลการประเมินของประเทศไทย รศ.ธีระเดช แสดงความเห็นว่า นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 409 คะแนน และด้านการอ่าน 379 คะแนน ซึ่งเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า คะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยทั้งสามด้านลดลง โดยด้านคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 25 คะแนน ส่วนด้านวิทยาศาสตร์และการอ่าน มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 17 คะแนน และ 14 คะแนน ตามลำดับ ทั้งนี้ ผลการประเมินของประเทศไทยตั้งแต่ PISA 2000 จนถึง PISA 2022 พบว่า คะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และการอ่านมีแนวโน้มลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงทางสถิติ
ผู้อำนวยการ สสวท. ได้วิเคราะห์ตามสังกัดการศึกษาและกลุ่มโรงเรียนที่เข้าร่วมการประเมินครั้งนี้ พบว่า กลุ่มโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยทั้งสามด้านอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีคะแนนคณิตศาสตร์สูงสุดห้าอันดับแรก ส่วนกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD สำหรับกลุ่มโรงเรียนอื่น ๆ ยังคงมีคะแนนเฉลี่ยทั้งสามด้านต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD
จากการเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยระหว่างนักเรียนกลุ่มสูง มีคะแนนตั้งแต่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 90 ขึ้นไป กับนักเรียนกลุ่มต่ำ มีคะแนนต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10 ของประเทศไทยในทั้งสามด้าน พบว่า นักเรียนทั้งสองกลุ่มมีคะแนนเฉลี่ยในแต่ละด้านแตกต่างกันประมาณ 200 คะแนน และเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า ความแตกต่างของคะแนนด้านการอ่านและด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนทั้งสองกลุ่มนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนด้านคณิตศาสตร์มีช่องว่างของคะแนนที่แคบลง เนื่องจากนักเรียนกลุ่มสูงมีคะแนนเฉลี่ยลดลงมากกว่าของนักเรียนกลุ่มต่ำ
สำหรับนักเรียนกลุ่มช้างเผือก ซึ่งเป็นนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในกลุ่มล่างสุดของประเทศ (ต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25) แต่มีคะแนนคณิตศาสตร์อยู่ในกลุ่มบนสุดของประเทศ (เปอร์เซ็นไทล์ที่ 75 ขึ้นไป) พบว่า ประเทศไทยมีนักเรียนกลุ่มช้างเผือกอยู่ 15% ในขณะที่ประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนกลุ่มนี้อยู่ 10% จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นักเรียนที่ด้อยเปรียบทางสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมก็สามารถมีผลการประเมินที่ดีได้
นอกจาก PISA จะรายงานผลการประเมินในรูปของคะแนนเฉลี่ยแล้ว ยังรายงานผลเป็นระดับความสามารถในแต่ละด้านซึ่งแบ่งเป็น 6 ระดับ โดยที่ระดับ 2 ถือเป็นระดับพื้นฐานที่นักเรียนสามารถใช้ทักษะและความรู้ในชีวิตจริงได้ ผลการประเมินครั้งนี้ พบว่า มีนักเรียนไทยที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปอยู่ 32% ในขณะที่ประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนกลุ่มนี้อยู่ 69% ส่วนประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีผลการประเมินสูง ได้แก่ สิงคโปร์ มาเก๊า ญี่ปุ่น จีนไทเป และเอสโตเนีย พบว่า มีนักเรียนมากกว่า 85% ที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป สำหรับด้านวิทยาศาสตร์และการอ่าน ประเทศไทยมีนักเรียนที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปอยู่ 47% และ 35% ตามลำดับ ส่วนประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปอยู่ 76% และ 74% ตามลำดับ
“ในภาพรวมของผลการประเมิน PISA 2022 สะท้อนให้เห็นว่า ระบบการศึกษาทั่วโลกมีคะแนนเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับ PISA 2018 ซึ่งเป็นผลกระทบจากที่ทุกประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายของการจัดการเรียนรู้ในช่วงที่มีวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับระบบการศึกษาไทยยังมีช่องว่างของคะแนนระหว่างนักเรียนกลุ่มสูงกับนักเรียนกลุ่มต่ำที่กว้างมาก แม้ในด้านคณิตศาสตร์จะมีช่องว่างดังกล่าวที่แคบลง แต่เป็นผลมาจากนักเรียนกลุ่มสูงมีการลดลงของคะแนนที่มากกว่านักเรียนกลุ่มต่ำ ดังนั้น จึงควรมีมาตรการในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ส่งเสริมและสนับสนุนทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้กับสถานศึกษาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมเพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งพัฒนาสถานศึกษาทั่วประเทศให้มีคุณภาพและครอบคลุมทุกสังกัด” ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าว
จากผลคะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยทั้งสามด้านลดลง รมช.ศธ. ให้เหตุผลว่า เบื้องต้นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คะแนนการสอบของไทยลดลง อาจจะมาจากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการเปลี่ยนแปลงระบบการสอนจากในห้องเรียนเป็นออนไลน์ ส่งผลให้การเข้าถึงในด้านการใช้เทคโนโลยีที่เข้ามาทดแทนการเรียนในห้องเรียนเกือบ 100% ซึ่งเด็กไทยอาจจะมีความเชี่ยวชาญ หรือมีความถนัดที่ไม่เทียบเท่าประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีไปไกลกว่า จึงยอมรับได้ว่ามาจากการศึกษา เป็นปัญหาของประเทศ
“หลังจากนี้ก็จะมีการติดตามในการแก้ไขปัญหาและความเอาใจใส่ ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีกมีความห่วงใยทั้งผลคะแนนการสอบ PISA และคะแนนภาษาอังกฤษ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ โดยมีรัฐมนตรีว่าการศธ. เป็นประธาน เพื่อให้การสอบครั้งต่อไป ประเทศไทยมีผลการสอบและอันดับที่ดีขึ้น เป็นเป้าหมายที่สำคัญของรัฐบาลชุดนี้ โดยผลคะแนนจะต้องไม่น้อยกว่าการสอบในรอบปี 2018 ซึ่งในปีนี้จะเน้นในการสอบด้านคณิตศาสตร์ “นายสุรศักดิ์กล่าว
แนวทางเตรียมตัวการสอบ PISA ในปี 2568 นางสุพัตรา ผาติวิสันติ์ รองผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวเสริมว่า สำหรับข้อสอบ PISA ในปีนี้มีความยากขึ้นในเชิงการเรียนรู้ของเด็กอาจจะไม่เต็มที่สมบูรณ์ในช่วงโควิด-19 มีผลทำให้การใช้เหตุผลในการคิดวิเคราะห์ที่ได้เต็มที่จากในห้องเรียนขาดหายไปบ้าง ซึ่งในปีนี้ ที่มีการเน้นสอบวัดผลคณิตศาสตร์ ก็มีผลทำให้การคิดวิเคราะห์หรือให้เหตุผลลดลง ดังนั้น หลังจากนี้จะต้องมีการส่งเสริมการเรียนรู้ในห้องเรียนด้านการคิดวิเคราะห์ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในนักเรียน ม.4 เพื่อเตรียมตัวในการสอบครั้งต่อไปที่จะเน้นวัดผลทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นหลัก และปัญหาสิ่งแวดล้อม ในขณะนี้ก็เริ่มมีการเตรียมความรู้ต่างๆให้กับนักเรียนชั้น ม.2 ในปีการศึกษา 2566 เพราะในอีก 2 ปี ก็จะอยู่ชั้นม.4 พอดี
นอกจากนี้ มีความพยายามที่จะร่วมมือกับสังกัดโรงเรียนในสังกัด สพฐ. อาชีวศึกษา และสังกัดอื่นๆ เพื่อให้นักเรียนคุ้นเคยกับข้อสอบ ผ่านการฝึกทำข้อสอบระบบออนไลน์ของสสวท. และสพฐ. นอกจากนี้ในแผนที่กำลังอยู่ในขั้นการดำเนินงาน คือ ได้มีการอบรมครูร่วมกับเครือโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 13 แห่ง เพื่อขยายผลให้กับคุณครูในโรงเรียนขยายโอกาส
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กระทรวงศึกษาธิการ เร่งผลักดันการเรียนรู้แบบ Active Learning
กระทรวงศึกษาธิการ สั่ง สพฐ. เร่งผลักดันการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้ครอบคลุมทุกภาค ทุกโรงเรียน หวัง ส่งเสริมให้นักเรียนตั้งคำถามและหาคำตอบเอง แทนการท่องจำแบบเดิม
'รมช.ศธ.' เคลียร์ปมเปิดบัญชีรับบริจาค เหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้
'สุรศักดิ์' แจงปมเปิดรับบริจาค ช่วยเหลือครู-นักเรียน เหตุรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ มอบ 'สพป.อุทัยธานีเขต 2' รับผิดชอบหลัก
"พล.ต.อ.เพิ่มพูน" จับมือครูเงาะ นำหลักสูตรอินเนอร์พาวเวอร์ช่วยพัฒนาครูฟรี ผ่านระบบออนไลน์ หวังใช้จิตวิทยาลดภาวะซึมเศร้าของเด็กและเยาวชน
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการแถลงข่าวโครงการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
'เศรษฐา' สั่ง ศธ.เร่งแก้ไขปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษา
นายกฯ ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงฯ ย้ำเดินหน้าแก้ไขปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษา ช่วยกันปลูกฝังให้เกลียดชังยาเสพติด แนะแบ่งเงินรางวัลนำจับเป็น 2 ส่วน เพื่อสร้างแรงจูงใจการทำงานของเจ้าหน้าที่