การประชุมลดร้อนโลก COP28 ที่ประเทศดูไบเริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 30 พ.ย.2566 เวทีนี้มีตัวแทนจากรัฐบาลไทยเข้าร่วมเพื่อนำเสนอนโยบายและความก้าวหน้าการทำงานแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งตอนนี้กลายเป็นโลกเดือดแล้ว ภาคประชาสังคมจัดเวทีในการพูดคุยแลกเปลี่ยนทางความคิดสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”วิเคราะห์ข้อท้าทายเจรจาฯ ลดโลกร้อน COP28 “ ภายใต้โครงการ“Dialogue Forum” เมื่อวันก่อน เพื่อเป็นพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข้อเท็จจริง รวมทั้งข้อคิดเห็นต่างๆ ของทุกฝ่ายในประเด็นที่กำลังอยู่ในความสนใจของสังคม โดยเฉพาะประเด็นเชิงนโยบายทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายที่ดีขึ้นระหว่างการเจรจาระดับโลก
เวที COP28 มีสิ่งสำคัญต้องหารือ เพราะนับตั้งแต่ประชาคมโลกก้าวเข้าสู่ทศวรรษแห่งความท้าทายในการแก้ปัญหาโลกร้อนระยะ 10 ปีแรก ตั้งแต่ พ.ศ.2564-2573 โดยมีการประชุมเจรจาลดโลกร้อน COP26 และ COP27 ที่เมืองกลาสโกล์ว ประเทศอังกฤษ และประเทศอียิบต์ ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ โลกกำลังก้าวสู่บททดสอบที่หนักหนาสาหัส เพราะความไม่ลงรอยในแนวทางแก้ปัญหาของประเทศสมาชิกในการเจรจาตกลงแก้ไขปัญหาโลกร้อนในเวทีดังกล่าว
เพื่อจะบรรลุเป้าหมายที่จะรักษาระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส หรือไม่เกินขีดจำกัดที่ 1.5 องศาฯ ทุกประเทศต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 43% ของระดับการปล่อยในปี 2562 แต่ข้อมูลจาก World Resources Institute กลับพบว่า ความพยายามในการช่วยกันลดก๊าซฯ ผ่านการดำเนินงาน “การมีส่วนร่วม (ลดก๊าซ) ที่ประเทศกำหนด” (NDCs) ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) โลกจะสามารถลดก๊าซฯ ได้เพียง 7% เท่านั้น นอกจากนี้ กลับพบว่า การให้เงินอุดหนุนการใช้พลังงานฟอสซิลกลับพุ่งสูงถึงกว่า US$7 ล้านล้านในปีที่ผ่านมา แม้จะมีความสำเร็จในการเจรจาในเบื้องต้นใน COP27 ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงจัดทำ Global Stocktake การเตรียมจัดตั้งทุนสำหรับ Loss and Damage หรือการเพิ่มเงินสนับสนุนการปรับตัวฯ ก็ตาม ประเด็นเหล่านี้ยังเป็นความท้าทายในวงเจรจาที่ดูไบ
นารีรัตน์ พันธุ์มณี ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า COP28 เป็นเวทีที่ต้องทำให้ชัดเจน หนักแน่น และมุ่งมั่นมากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ไทยจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำบนหลักการความรับผิดชอบที่แตกต่างกันและตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นจุดยืนของไทย COP 28 เน้นเรื่องพลังงาน นโยบายภาคพลังงานของไทยต้องกลับมาดูว่า มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในปี 2573 และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอีก 2 เท่า ไทยจะสามารถดำเนินการได้แค่ไหน ประเด็นสำคัญเป็นการข้ามผ่านอย่างเป็นธรรมโดยคำนึงถึงทุกภาคส่วน ถ้าค่าไฟขึ้น แรงงานทำยังไง มองลึกกว่าเทคโนโลยี แต่มองภาคประชาชนเข้าถึงพลังงาน หรือประชาชนกลุ่มเปราะบางไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์แบบนี้ได้ เป็นประเด็นที่จะคุยกัน
อีกความท้าทาย นารีรัตน์ระบุโลกเราพยายามลดปล่อยก๊าซสาเหตุโลกร้อน แต่หยุดโลกร้อนไม่ได้ ฉะนั้น การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความสำคัญมาก เงินจะให้ด้านนี้มากขึ้น ในการประชุมหลายประเทศกล่าวจะให้เงินทุนเพิ่มขึ้นในเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเห็นภาพกองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งท่าทีของไทยสนับสนุนกองทุนดังกล่าว หลายประเทศพัฒนาแล้วเห็นว่า ก็ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหารจัดการกองทุน ทำไมไม่ใช้กองทุนเดิม ก็เป็นแนวทางพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุนการเงิน การลงทุนในกลุ่มกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและยั่งยืน แล้วยังมีพันธบัตรที่มุ่งเน้นระดมทุนเพื่อนำไปอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ GREEN BOND ตลอดจนการสนับสนุนด้านการเงินอื่นๆ ด้วย
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจัดเป็นผลกระทบภายนอกระหว่างประเทศ ไม่ใช่เพียงแค่ผลกระทบภายนอกระดับชาติ ทั้งสินค้าสาธารณะและผลกระทบภายนอกก่อให้เกิดความล้มเหลวของตลาด ทำให้กลไกการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่อย่างจำกัดขาดประสิทธิภาพ ก่อใหเกิดปัญหาความยุติธรรมระหว่างคนต่างรุ่น ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความร่วมมือระหว่างประเทศจึงเป็นหัวใจการแก้ไขปัญหา ทำให้ต้องประชุมลดร้อนโลกทุกปี กลไกช่วยลดความเหลื่อมล้ำและไม่ยุติธรรม ความเสียหายจากน้ำท่วม ทำให้ข้าวตาย ส่วนความสูญเสีย ภายใต้โลกร้อน ผลผลิตต่ำกว่าศักยภาพที่ควรได้รับ บางประเทศไม่ได้ปล่อยก๊าซ แต่ได้รับผลกระทบ และมีขีดความสามารถในการปรับตัว
“ ความท้าทายที่พูดใน COP 28 เรื่องกองทุนฯ จะมีเกณฑ์และตัวชี้วัดอย่างไร จะจำกัดนิยามความสูญเสียและเสียหายอย่างไร ครอบคลุมพืชชนิดไหน ภาคเศรษฐกิจ หรือประเทศใดควรมีสิทธิได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน เช่น จีน อินเดีย ปล่อยก๊าซเยอะมาก แต่ก็อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา จะใช้เกณฑ์ใดชี้วัดปล่อยมากปล่อยน้อย ประเทศไหนควรบริจาคเงินเข้ากองทุน ตลอดจนการกำหนดแนวทางความช่วยเหลือจะทันการณ์หรือไม่ อีกความท้าทายไทยจะมีโอกาสได้รับเงินสนับสนุนมากน้อยแค่ไหนและเงื่อนไขใด “ รศ.ดร.วิษณุ กล่าว
ปมปัญหาโลกร้อนที่ยังไม่ได้แก้ ดร.กฤษฎา บุญชัย ผู้ประสานงานเครือข่าย Thai Climate Justice for All (TCJA) กล่าวว่า การประชุมลดโลกร้อนผ่านมาเกือบ 30 ปี ตั้งคำถามกลไกความร่วมมือแบบพหุภาคียังไปรอดมั้ย การหาคำตอบให้อุตสาหกรรมรายใหญ่เหมือนมีความก้าวหน้า แต่กองทุนความเสียหายและความสูญเสียยังไม่มีความเป็นรูปธรรม แล้วใครจะยอมจ่าย และใครคือผู้ได้เงิน เป็นโจทย์ใหญ่ ยกตัวอย่าง GREEN CLIMATE FUND ที่มาสู่ประเทศไทย มีแค่ 2 โปรเจ็ค ได้แก่ โครงการจัดการน้ำ และโครงการป่าชายเลน ประเด็นทุนต่างๆ ไม่เคยลงสู่มือผู้เดือดร้อนได้รับผลกระทบจากโลกร้อน ซึ่ง COP 28 แค่จะชัดเจนในรายละเอียด อีกประเด็นท้าทายตั้งแต่ COP 1- COP 28 ภาคอุตสาหกรรมฟอสซิลปลดปล่อยก๊าซมากที่สุดของโลก
“ โลกยังติดกับดักกับพลังงานฟอสซิล ปมปัญหาใหญ่ที่ยังแก้ไม่ได้จนทุกวันนี้ คือการบิดเบือนหลักความรับผิดชอบที่แตกต่าง มาจากหลักความเป็นธรรมที่ผู้สร้างมลภาวะมากต้องรับผิดชอบมาก จากเงินที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา ให้เปล่า 100,000 ล้านเหรียญฯ กลายเป็นเงินกู้ เงินลงทุน เพื่ออ้าง Net Zero และก็ยังไม่ถึงเป้าหมายที่สัญญาไว้ รวมถึงกองทุน loss&demage เช่นกัน “ ดร.กฤษฎา กล่าว
นอกจากนี้ ผู้ประสานสานงานเครือข่าย TCJA ระบุระบบพลังงานของโลกยังยึดติดกับพลังงานฟอสซิล ซึ่งปล่อยคาร์บอนฯ ถึงร้อยละ 60 ของทุกภาคส่วน โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลและเหล่านักลงทุนการเงิน การค้ารายใหญ่ของโลกสนับสนุน ยกตัวอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตเจ้าภาพจัด COP 28 ก็มีแผนลงทุนพลังงานฟอสซิลขึ้นมาอีก 30 ล้านบาร์เรล แล้วจะเรียกร้องให้ลดก๊าซลงมา 40% ได้อย่างไร ถ้าโครงสร้างพลังงานโลกไม่เปลี่ยน การเอาแนวคิดการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset )ตั้งแต่พิธีสารเกียวโต 1997 และบรรจุในมาตรา 6 ของข้อตกลงปารีส มาบิดเบือนความรับผิดชอบของผู้ปล่อยคาร์บอนฯ ด้วยการเอาธรรมชาติมาดูดซับคาร์บอน เอาแรงงานทำป่าคาร์บอน ฟาร์มคาร์บอน เกิดการอ้าง net zero อย่างไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับ ตัวเลขที่ถูกปั่นขึ้นมา ไม่เพียงแต่จะไม่ช่วยลดโลกร้อน ยังละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ COP 28 จะทำระบบการชดเชยคาร์บอนเป็นเครื่องมือสำคัญโดยไม่ดูบทเรียนที่เกิดขึ้น แน่นอนจะมีเสียงเรียกร้องให้ทบทวนในเวทีที่ดูไบแน่นอน
อีกทั้งกระบวนการจัดทำแผนเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ ส่วนมากยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจัง จึงเกิดแผนฯที่ขาดความจริงทางทางปฏิบัติ มีเงื่อนไขไม่ทำตามแผน ประเด็นสิทธิพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น กลุ่มเปราะบาง การลดก๊าซ การปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงเป็นแค่หัวข้อสัมมนา ไม่มีผลทางนโยบาย การประชุมระดับโลกปีละครั้งเน้นผู้แทนภาครํฐ นักล็อบบี้ภาคเอกชน ทำให้เวที COP ไม่สามารถสร้างจุดเปลี่ยนทางนโยบายและเชิงโครงสร้างได้
ต้องติดตาม COP 28 จะสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศแก้ปัญหาโลกเดือดได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กมธ.ต่างประเทศแนะ 5 ข้อแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
'กมธ.ต่างประเทศ' แนะ 'รัฐบาล' 5 ข้อ แก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง-ฝุ่นพิษข้ามแดน
TCMA ชูต้นแบบนิเวศนวัตกรรม PPP-Saraburi Sandbox ในเวที COP28
สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (COP28) ณ เมืองดูไบ
'เอลนีโญ' สั่นคลอนความมั่นคงทางอาหาร
ปรากฎการณ์’เอลนีโญ’ ถือเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย เพราะส่งผลให้เกิดภัยแล้ง ทำให้ขาดแคลนน้ำ ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย นักวิชาการคาดการณ์ว่า ปี 2567 ปรากฎการณ์เอลณีโญจะทวีความรุนแรงขึ้น
COP28 ถอยลงคลอง ความท้าทายที่ยังรอยู่
การเจรจาฯ ลดโลกร้อนใน COP28 ที่ดูไบ UAE และอนาคต ซึ่งในที่สุดตกลงกันได้เพียง “การเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน แก๊สธรรมชาติ) ให้ทันการณ์ เป็นลำดับ และเท่าเทียมกัน เพื่อบรรลุการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 ” และแม้จะบรรลุข้อ
อินโดรามา เวนเจอร์ส นำเสนอโซลูชั่นด้านความยั่งยืนในการประชุม COP28
บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน นำเสนอนวัตกรรมโซลูชั่นด้านความยั่งยืน และกลยุทธ์การลดคาร์บอน
COP28 ที่ดูไบ ล็อบบี้ยิสต์กว่า 2,400 คนยังหนุนการใช้น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน
จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยนักเคลื่อนไหว พบว่ามีล็อบบี้ยิสต์ส่งเสริมการใช้น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซอย่างน้อย 2,456 คนเข้าร่วมอย่างเป็นทางการในการประชุม