เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยวเป็นหนึ่งในเส้นทางศึกษาธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่มีระยะทางประมาณ 2.6 กิโลเมตร ด้วยลักษณะที่เป็นป่าดิบเขา และป่าต้นน้ำ ที่นี่จึงอุดมสมบูรณ์หลากหลายไปด้วยพรรณไม้ เป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าสงวนอย่าง ชะนีมือขาว มีน้ำตกผาดอกเสี้ยว เป็นจุดเด่นของเส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ กลายเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
อีกเสน่ห์ของการเดินทางชมธรรมชาติของ เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว คือ การได้เรียนรู้ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตในนการดูแลอนุรักษ์ป่า ของชาวปกาเกอะญอ ที่บ้านแม่กลางหลวง หมู่บ้านอ่างกาน้อย หมู่บ้านเล็กๆที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า การตั้งถิ่นฐานของบ้านแม่กลางหลวง เริ่มต้นเมื่อปี 2413 โดยนายตาโร บรรพบุรุษที่อพยพมาจากจ.แม่ฮ่องสอน จนมาถึงที่ตั้งถิ่นฐานในปัจจุบันในบริเวณดอยหัวเสือ เป้นผู้บุกเบิกสร้างชุมชนด้วยช้างตัวเมียหางด้วน ชื่อว่า “โมธุแหม่ “เพียงตัวเดียว จึงได้ตั้งชื่อว่า แคว้นมึกะคี หรือภาษาไทยแปลว่า บ้านแม่กลางหลวง หมายถึง ดินแดนแห่งความสงบ สันติ และอุดมสมบูรณ์
ในอดีตเส้นทางนี้ใช้ประโยชน์ในการเป็นแนวกันไฟ ขนผลผลิตทางการเกษตร และใช้ในการเดินติดต่อไปมาหาสู่กันภายในชุมชน ต่อมาในปี 2562 เส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ได้ดำเนินการปรับปรุงเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ทางธรรมชาติที่สำคัญและเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แก่ประชาชน รวมถึงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนด้วย
ด้วยความโดดเด่นทั้งธรรมชาติ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชุมชน ทางบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ร่วมกับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จึงได้พัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว เส้นทางที่ 4 ในพื้นที่ดอยอินทนนท์ พร้อมส่งมอบในปี 2566 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ นิเวศวัฒนธรรม สะท้อนความความสัมพันธ์ระหว่าง คน คือ ชาวปกาเกอะญอ กับผืนป่า ที่อยู่ร่วมกันได้เพราะเมื่อป่าอยู่รอด คนก็อยู่ได้ โดยอีก 3 เส้นทางที่มีการพัฒนาและปรับปรุงไปแล้วได้แก่ 1.เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน 2.เส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอย 3.เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า กล่าวว่า สำหรับเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว ได้ยึดหลักการออกแบบที่มีผลกระทบกับธรรมชาติน้อยที่สุด พร้อมกับการรับฟังความคิดเห็นและมีส่วนร่วมจากกลุ่มต่าง ๆ ตลอดจนนำภูมิปัญญาการก่อสร้างของชาวปกาเกอะญอ มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ อย่าง สะพานไม้ไผ่ ควบคู่กับการพัฒนาระบบสื่อความหมาย 14 จุด ทั้งแบบแผ่นป้ายที่ติดตั้งอยู่ในป่า และแบบออนไลน์ วีดิโอเยี่ยมชมเสมือนจริง 360 องศา เพื่อให้ผู้สนใจสามารถสัมผัสธรรมชาติในเส้นทางฯ ผาดอกเสี้ยวได้ทุกที่ ทุกเวลา จนเกิดเป็นจิตสำนึกในการปกป้องและร่วมดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน
เถาวัลย์ ที่เรื้อยคดเคี้ยวเกี่ยวพันต้นไม้ ที่อยู่ของสัตว์ป่า
นายเกรียงไกร ไชยพิเศษ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ได้เล่าถึงเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยวว่า เมื่อก่อนเส้นทางนี้จะดูแลโดยชุมชนบ้านแม่กลางหลวง มีการใช้ไม้สร้างเป็นทางเชื่อมเดินผ่านน้ำตกหรือบางจุดที่เดินลำบาก ซึ่งการปรับปรุงพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวล่าสุด ที่ทางมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ได้เข้ามีส่วนในการพัฒนา มาช่วยเสริมและปรับปรุงให้เส้นทางเดินทางง่ายขึ้น และมีการทำป้ายสื่อความหมายในจุดต่างๆ แต่ไม่กระทบกับป่า รวมถึงสร้างความมั่นคงของสะพานข้ามน้ำตกผาดอกเสี้ยวให้แข็งแรง ซึ่งได้เริ่มเปิดใช้เส้นทางที่ปรับปรุงใหม่มาได้กว่า 8 เดือน ซึ่งก็มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการประมาณ 300-400 คนต่อวัน ยิ่งในช่วงหน้าฝนที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวแถบตะวันออกกลางเดินทางมาเยือนค่อนข้างมาก หรือในหมู่ชาวต่างชาติ ส่วนนักท่องเที่ยวไทยมักจะนิยมไปเที่ยวที่ยอดดอยหรือกิ่วแม่ปานมากกว่า ทั้งนี้เพื่อป้องกันด้านความปลอดภัย จำเป็นจะต้องมีผู้นำเที่ยวซึ่งก็คือชาวชาวปกาเกอะญอ ที่บ้านแม่กลางหลวง ที่ผ่านการอบรมจากทางอุทยานฯ ทั้งการปฐมพยาบาล การสื่อความหมายหรือให้ความรู้ต่างๆ เรียบร้อยแล้ว
โดยการเดินทางครั้งนี้ คณะสื่อได้มีโอกาสร่วมเดินศึกษาเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว ทันทีที่ไกด์นำทางชาวปกาเกอะญอ เริ่มพูดแนะนำเส้นทาง ฝนก็ตกลงมาทันทีทั้งๆที่ช่วงสายแดดยังร้องเปรี้ยงอยู่ สมแล้วที่หลายคนบอกว่ามาเที่ยวที่ดอยอินทนนท์จะได้สัมผัสสภาพอากาศวันเดียวทั้งแดด หนาว และสายฝน คณะรีบสวมใส่เสื้อกันฝนกันถ้วนหน้า พร้อมเริ่มทยอยเดินเข้าป่าไปตามไกด์ทันที
ระหว่างที่ฝนก็ตกพรำ แต่ไกด์ก็ไม่ลดละความพยายามในการเล่าเรื่องราววิถีภูมิปัญญาของชาวปกาเกอะญอในการดูแลอนุรักษ์ป่า จากเดิมที่ป่าแห่งนี้โล้นโล่งเพราะมีการทำลายเพื่อปลูกฝิ่น ต่อมาในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชเมืองหนาวหรือกาแฟแทนฝิ่น เพื่อแก้ปัญหาป่าถูกทำลายและปากท้องของชาวชาติพันธุ์ และมีการเร่งปลูกป่าทดแทนด้วยไม้พื้นถิ่น อย่าง ต้นสนสามใบ ที่ช่วยฟื้นป่ามีไม้อื่นๆที่เติบโต กลายเป็นบ้านของสรรพชีวิต และแหล่งต้นน้ำของชุมชนบ้านแม่กลางหลวง ซึ่งชาวบ้านก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลในแบบของวิถีชาวปกาเกอะญอ เช่น การบวชป่าโดยใช้จีวรพันรอบต้ยสนสามใบ ป้องกันการตัดทำลาย หรือการสร้างความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา ในการดูแลป่า ซึ่งทุกปีก็จะมีการประกอบพิธีขอขมาป่าหรือขอใช้น้ำเพื่อทำการเพาะปลูก เป็นต้น
เมื่อมาถึงมาถึงจุดที่ 1 พลิกฟื้น คืนผืนป่าต้นน้ำ เป็นจุดที่มองเห็นภาพความสำเร็จของการพลิกฟื้นผืนป่าด้วยการปลูกไม้พื้นถิ่น อย่างต้นสนสามใบ มาถึง จุดที่ 2 ชะนีมือขาว สัตว์ป่าคุ้มครองในผืนป่าแม่กลางหลวง หากอยากเห็นต้องมาช่วงเช้าๆนะ ชะนีมีบทบาทสำคัญในการกระจายเมล็ดพันธุ์ต่างๆ ซึ่งชาวปกาเกอะญอ เรียกว่า เกอะอยูปว่า มีความเชื่อว่าชะนีเคยเป็นคนมาก่อน หากทำร้ายจะพบแต่ความโชคร้าย ซึ่งเป็นแนวคิดป้องกันการฆ่าหรือทำร้ายชะนีมีคำเปรียบเปรยว่า นกกกตาย 1 ตัว ต้นไทรจะเงียบเหงาไป 7 ต้น เช่นเดียวกับชะนีตาย 1 ตัว ภูเขาจะเงียบเหงาไป 7ลูก จุดที่ 3 ความเกื้อกูลภายใต้ผืนป่า ที่มีชันโรง ผึ้งจิ๋วไร้เหล็กใน ที่เป็นนักผสมพันธุ์สร้างความหลากหลายให้พรรณไม้ จุดที่ 4 เถาวัลย์ ที่อยู่ของสัตว์ป่า มีหน้าที่รักษาแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ซึ่งชาวปกาเกอะญอเชื่อว่าหากเถาวัลย์พันวนขึ้นทางซ้าย หากเดินผ่านเข้าไปจะหลงป่า ช่วยให้คนไม่บุกรุกป่า
หลังจากจุดที่ 4 เส้นทางจะค่อนข้างลื่น แต่ก็ยังมีราวไม้ไผ่ไว้ให้จับพยุงการดิน หรือบางจุดก็จะมีการทำทางเดินปูน หรือบางเส้นที่ลาดชันก็จะมีการทำสะพานไม้ให้เดินเชื่อมได้ง่ายขึ้น ช่วยให้หน้าฝนก็เดินได้ไม่ลำบากมากนัก ได้ฟิวป่าแบบฉ่ำๆ เรามานั่งพักหลังจากเดินหนีฝนตรงน้ำตกผาดอกเสี้ยว ไกด์ได้เล่าถึงความสำคัญของแต่ละจุดที่ผ่านมาว่า สายน้ำที่มีคุณประโยชน์ต่อทั้งผืนป่าและมนุษย์ นอกจากการดูแลแล้ว ชาวปกาเกอะญอ จะมีพิธีการเลี้ยงผีน้ำ หรือขอขมาน้ำ เพื่อนำน้ำมาใช้ในการปลูกข้าว ทำเกษตรต่างๆ โดยจะมีการทำพิธีทุกปีที่ตาน้ำ ซึ่งจะมีศาลเล็กตั้งอยู่
อย่าง จุดที่ 5 พลังของสายน้ำ ตรงจุดนี้จะพบกับต้นน้ำของน้ำตกผาดอกเสี้ยว ที่ไหลเชียวมากๆ ขอข้ามไปจุดที่ -7 แล้วจะย้อนพูดถึงจุดที่ 6 จุดที่ 7 นี้คือน้ำคือชีวิต เป็นจุดกลางน้ำที่ไหลมาจากต้นน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของปลาหลากหลายชนิด เช่น ปลาซิวใบไผ่เล็ก ปลาค้อ เป็นต้น จุดที่ 8 ตาน้ำ ต้นกำเนิดแหล่งน้ำในผืนป่า ที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของป่า และสถานที่ทำพธีขอขมาน้ำ และจุดที่ 9 รักจัง น้ำตกผาดอกเสี้ยว ซึ่งเป็นน้ำตกชั้นที่ 7 จากทั้งหมด 10 ชั้น มีความโดดเด่นด้วยความสูงของสายน้ำกว่า 20 เมตรที่ไหลลงกระทบแอ่งน้ำด้านล่าง เกิดเป็นม่านน้ำสีขาวสวยงาม ตรงจุดมีสะพานไม้ไผ่ที่สร้างคามภูมิปัญญาชาวปกาเกอะญอ ให้เดินข้ามไปอีกฝั่ง เป็นจุดไฮไลท์ที่มีการเรียกอีกชื่อว่า รักจัง ตามชื่อภาพยนต์
ทีนี้เป็นจุดที่ 6 คุณค่า ป่าดิบเข้า ซึ่งเป็นป่าไม้ผลัดใบ ตรงจุดนี้เราจะเห็นต้นไม้สูงกว่า 1,28 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ และเขียวขจีตลอดทั้งปี จากจุดนี้ พอฝนเริ่มซ่าลงเราเดินต่อไปยังจุดที่ 10 รากไทร กลไกธรรมชาติยึดโยงผืนป่า เดินตามไหล่เขามาเรื่อยๆมาถึงจุดที่ 11 ดอกเดสี้ยว พันธุ์ไม้ท้องถิ่น ซึ่งจะผลิดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ช่วงเดือนนี้จึงไม่มีดอกให้ชม มาถึงจุดที่ 12 วัฎจักรวัฒนธรรม บนผืนนา ในที่สุดฝนก็หยุดตก ทำให้แสงยามได้ทอประกายให้พวกเราได้ยลโฉมนาขันบันได ที่รวงข้าวสีทองอร่ามตัดกับสีเขียวของทิวเขาอย่างสวยงาม เดินลัดเลาะมาตามเส้นท้องนา ข้ามลำธารสายเล็กมาถึงจุดที่ 13 กาแฟ รักษ์ป่า ที่เริ่มต้นจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ส่งเสริมให้มีการปลูกกาแฟ อีกทั้งยังเกื้อกูลต่อธรรมชาติ มาถึงจุดที่ 14 ปลายทางคุณค่าและความหมาย คนอยู่กับป่า ออกจากป่าเข้าสู่ชุมชนบ้านแม่กลางหลวง สัมผัสกับวิถีและบรรยากาศโดยรอบอย่างอบอุ่น
การเดินทางมาที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว หากไม่ได้นำรถยนต์ส่วนตัวขับมาเอง ก็สามารถใช้บริการรถสองแถวสีเหลืองที่มีจุดให้บริการอยู่ในอ.จอมทอง ได้เลย โดยตรงจุดทางเข้านักท่องเที่ยวสามารถแจ้งรับบริการไกด์นำชมได้เลย และมีโฮมสเตย์สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักที่บ้านแม่กลางหลวงด้วยนะ
ตลอดการเดินตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว นอกจากจะสัมผัสได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้แล้ว สิ่งสำคัญคือ ความใส่ใจต่อผืนป่า และความน่ารักต่อนักท่องเที่ยวของไกด์ชาวปกาเกอะญอ ที่ทำให้เราเขาใจว่าทำไมที่นี่ถึงเป็นแห่งเรียนรู้ “นิเวศวัฒนธรรม” ที่ควรค่าแก่การเดินทางมาเที่ยว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ดอยอินทนนท์' ต่ำสุด 10 องศา อุ่นขึ้นเล็กน้อย ชมความงาม หยดน้ำค้างบนยอดหญ้า
เพจเฟซบุ๊ก "อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่" โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า ดอยอินทนนท์อุ่นขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงอากาศหนาว
'ดอยอินทนนท์' หนาว! เริ่มเปิดเส้นทางชมธรรมชาติ
นายเกรียงไกร ไชยพิเศษ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า วันนี้อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กำหนดจัดกิจกรรมเปิดการท่องเที่ยว
สัมผัสอากาศหนาว ยอดดอยอินทนนท์เช้านี้ อุณหภูมิต่ำสุด 11 องศาฯ
บรรยากาศเช้าวันที่ 28 ตุลาคม 2567 บนดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ยอดดอยอินทนนท์ อุณหภูมิต่ำสุด 11°C
แปลงใหญ่กาแฟบ้านป๊อก จ.เชียงใหม่ กาแฟไทย ใจรักษ์ป่า นำนวัตกรรม ยกระดับผลิตภัณฑ์ ตอบโจทย์ BCG Model
จากการพัฒนาตามนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ร่วมกับผลการพัฒนาภายใต้ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อมุ่งตอบโจทย์การเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่าใน 4 ปี และการเป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรแบบครบวงจรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ด้วย BCG Model ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลุ่มแปลงใหญ่กาแฟบ้านป๊อก ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่
สดร.เผยภาพดาวหาง ฝีมือคนไทยบันทึกจากยอดดอยอินทนนท์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยภาพดาวหาง 12P/Pons-Brooks ที่เป็นฝีมือคนไทยบันทึกได้ช่วงหัวค่ำวันที่ 11 มีนาคม 2567 จากยอดดอยอินทนนท์ อ. จอมทอง จ. เชียงใหม่