ส่งท้ายราตรีวันเพ็ญ 'ลอยกระทงสาย ไหลประทีป 1,000 ดวง'

กระทงกะลา ลอยเป็นสาย ส่องสว่างทั่วแม่น้ำปิง

ถึงงานประเพณีลอยกระทงจะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่เราได้มีโอกาสเดินทางไป จ.ตาก เที่ยวชมงานประเพณีลอยกระทงสาย ไหลประทีป 1,000 ดวง เป็นครั้งแรก ได้หอบหิ้วความประทับใจสุดตราตรึงกับความสวยงามของกระทงสายที่ไหลส่องแสงสว่างทั่วแม่น้ำปิงในคืนเดือนเพ็ญ ที่งานนี้ไม่ได้เป็นเพียงการโชว์เพียงอัตลักษณ์ของชาวเมืองตากเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่ถูกส่งต่อรุ่นสู่รุ่นอีกด้วย

ประเพณีลอยกระทงสาย ไหลประทีป 1,000 ดวง จ.ตาก  เป็นงานประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งมีความโดดเด่น แตกต่างจากการลอยกระทงจังหวัดอื่นๆ ที่มีการนำหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ภูมิปัญญาชาวบ้านและงานศิลปวัฒนธรรม มาหล่อหลอมรวมกัน และเป็นการแสดงการคารวะแม่น้ำปิง มีการทอดผ้าป่าน้ำ คล้ายๆ การบังสุกุลกรวดน้ำ อุทิศบุญกุศล ให้กับเจ้ากรรมนายเวร ผู้มีพระคุณ สืบทอดมาเกือบร้อยปี

กองเชียร์ทั้งบนเวที และบนฝั่ง ให้กำลังใจผู้แล่อยกระทงสาย

จากเดิมก่อนที่จะมาเป็นงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000  ดวง นั้นการนำเอากระทงกะลามาลอยเป็นสายจะเป็นเพียงการสาธิตการลอยเท่านั้น โดยกระทงจะทำมาจาก กะลามะพร้าว เนื่องมาจากชาวเมืองตากมีการนำเอามะพร้าวมาแปรรูปทำเป็นอาหารว่างที่เรียกว่า “เมี่ยง” ถือเป็นอาหารว่างที่รับประทานเป็นประจำหลังอาหาร ซึ่งมีส่วนประกอบหลัก คือ มะพร้าว ถั่วลิสง ใบเมี่ยงหมัก นอกจากทำเพื่อรับประทานกันเองภายในครอบครัวแล้ว ยังมีการนำมาขายเป็นอาหารพื้นเมืองและได้รับความนิยมในภาคเหนือโดยทั่วไป แต่ส่วนทำเมี่ยงจะใช้เนื้อมะพร้าวที่ขูด กะลามะพร้าวจึงถูกทิ้งจำนวนมาก ชาวบ้านจึงได้ทดลองนำกะลาด้านที่ไม่มีรูมาทำเป็นกระทง

การนั่งประจำที่ปล่อยกระทงสาย แถวเรียงหนึ่งตามท่าน้ำ 

โดยเอากะลามาขัดถูจนสะอาดตกแต่งลวดลายสวยงาม ภายในกะลาใส่ด้ายดิบที่ฝั่นเป็นรูปตีนกา ซึ่งมีตำนานเล่าขานจากผู้เฒ่าผู้แก่สีบทอดต่อกันมาหลายความเชื่อ หนึ่งในความเชื่อนั้นคือ กาเผือกสองผัวเมียที่ออกไข่มา 5 ฟอง เกิดเหตุการณ์ที่มำให้ไข่ทั้ง 5 ฟอง แตกออกมาเป็นเด็กทารก 5 คน คือ เณรน้อย ไก่ เต่า วัว และพญานาค ที่เคยมีวิบากกรรมร่วมกัน ทั้ง 5 ขอให้มีโอกาสได้พบพ่อแม่ด้วยเถิด หลังจากกาเผือกตายได้บอกว่า จงฟั่นด้ายเป็นรูปตีนกา แล้วลอยแม่น้ำคงคาไป ทั้ง 5 คน ก็ได้สำเร็จอรหันต์เป็นพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ด้วยเหตุนี้การลอยกระทงสายทุกครั้ง จึงมีการฟั่นด้ายเป็นรูปตีนกา เพื่อ บูชาแม่กาเผือกของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำสืบมาจนทุกวันนี้

การนั่งประจำที่ปล่อยกระทงสายแบบสองแถว ส่งกระทงต่อๆกัน 

หลังจากนั้นจะหล่อเทียนขี้ผึ้ง ซึ่งนำมาจากเทียนจำนำพรรษาที่พระสงฆ์จุดเพื่อทำพิธีสวดมนต์ในโบสถ์วิหารตลอดสามเดือน หลังจากออกพรรษาชาวบ้านจะนำเทียนขี้ผึ้งเหล่านั้นมาหล่อใส่ในกะลา ซึ่งถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิริมงคลแก่ผู้นำไปลอยก่อนที่จะปล่อยลงลอยในแม่น้ำปิง

ต่อมาจึงได้มีการพัฒนาการลอยมาเป็นการแข่งขันกันอย่างยิ่งใหญ่ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2540 จนเป็นงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง ประจำทุกปีจวบจนปัจจุบัน โดยหลายๆชุมชน และสถาบันการศึกษา จะรวมตัวกันเป็นทีม จัดทำกระทงกะลา สร้างสรรค์การแสดง เป็นรูปแบบที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของชาวจังหวัดตากที่ภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งทีมชนะจะได้รับพระมหากรุณาชิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานถ้วยรางวัลในการแข่งขันเป็นประจำทุกปี

กระทงสายสว่างทั่วแม่น้ำปิง

ประเพณีลอยกระทงสายจึงเป็นความภาคภูมิใจของคนจังหวัดตาก ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีเดียวในประเทศไทย หรือแห่งเดียวในโลก ซึ่งเราได้มีโอกาสเดินทางมาเที่ยวงานลอยกระทงสาย ไหลประทีป 1,000 ดวง ในช่วงเย็นของวันสุดท้าย ที่จะมีการแข่งขันลอยกระทงสายประจำทุกปี โดยในปีนี้มีทีมเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 4 สาย  เพื่อประชันความงดงามของกระทงสาย และความสามัคคีในการนำกระทงกะลาลงลอยในแม่น้ำปิง สร้างความตื่นตาตื่นใจ และกลายเป็นสีสันของงานลอยกระทงที่นี่

กระทงปิดท้าย สัญลักษณ์สิ้นสุดการปล่อยกระทงสาย

ก่อนที่จะถึงเวลาแข่งขันกระทงสาย บริเวณเดียวกันมีสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี หรือสะพานแขวน ที่ทอดยาวพาดข้ามแม่น้ำปิง ระหว่างฝั่งเทศบาลเมืองตาก และตำบลป่ามะม่วง ยิ่งในช่วงโพล้เพล้แบบนี้ แสงยามเย็นเมื่อพระอาทิตย์สะท้อนระยิบระยับกับผิวแม่น้ำปิงดูสวยงาม เดินสะพานรับลมเย็นๆ ชมพระอาทิตย์ตกเพลินๆ

อุปกรณ์ทำกระทงสาย กะลา เทียน และด้าย

จากสายน้ำที่ว่างเปล่า แสงเทียนจากกระทงก็ค่อยๆ ปรากฏขึ้น เพราะชาวบ้านและนักท่องเที่ยวเริ่มทยอยนำกระทงมาลอยกันตามท่าน้ำที่ทางผู้จัดงานได้จัดเตรียมไว้ให้ หากไม่มีกระทงตามระหว่างทางภายในงานก็มีกระทงมาจำหน่าย ทั้งกระทงกะลาแบบดั้งเดิม และแบบสมัยใหม่ที่มีการตกแต่งลวดลายให้กะลาดูสวยงามยิ่งขึ้น กระทงใบตอง กระทงจากขนมปัง และกระทงรูปแบบอื่นๆ ให้เลือกได้ตามต้องการเลย

.กระทงกะลารูปแบบใหม่สวยงาม

อีกกิจกรรมเมื่อมาลอยกระทงที่นี่แล้วต้องทำ คือ การวัดวาและตามประทีป โดยจะนำสายสิญจน์มาวัดเท่ากับขนาดตัวจากปลายนิ้วแขนซ้ายจรดปลายนิ้วแขนขวา และสายสิญจน์ที่พันรอบศีรษะมามัดต่อกัน ชุบกับน้ำมันมะพร้าว นำไปพาดกับราวไม้ จากนั้นจุดไฟที่สายสิญจน์แล้วอธิฐาน ซึ่งจะนิยมทำในวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปี เพราะมีความเชื่อว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ สืบชะตา เสริมดวงชะตาทำแล้วจะทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง

ด้ายดิบที่ฟั่นเป็นรูปตีนกา

เสียงโฮเชียร์ดังขึ้นเป็นสัญญาณใกล้ถึงเวลาแข่งขันกระทงสาย เหล่าชาวบ้านหลายร้อยคนที่มาเที่ยวงานลอยกระทง และตั้งใจมาดูการแข่งขัน ก็ต่างมามุงที่ขอบน้ำ ผู้เข้าแข่งขันที่เป็นตัวแทนขุมชนปล่อยกระทงสายนั่งประจำที่ ยกตะกร้าที่ใส่กระทงกะลา 1,000 ใบ จุดไฟพร้อมไปลงแม่น้ำ สิ้นสุดเสียงพิธีกร เริ่มการแสดงที่เปรียบเสมือนเป็นเชียร์อัพ กระทงนำขนาดใหญ่ที่จัดทำอย่างสวยงามถูกปล่อยเป็นอันดับแรก ตามด้วยกระทงกะลา ทำให้ดูเป็นสายอย่างต่อเนื่อง จนสุดสายตา ส่องแสงระยิบระยับเต็มท้องน้ำ

กระทงกะลาหาซื้อได้ภายในงาน ตกแต่งหลากสีสัน

แต่ปีนี้ชาวบ้านที่มานั่งให้กำลังใจบอกว่า น้ำแรงมาก ทำให้กระทงไม่ค่อยเป็นสาย ซึ่งเป็นความท้าทายที่ผู้ปล่อยกระทงกะลาจะต้องวางกลยุทธ์ในการปล่อยเพื่อให้เป็นสายมากที่สุดอีกด้วย

กระทงกะลาแบบดั้งเดิม

การแสดงที่ปลุกเร้าอารมณ์ เหล่ากองเชียร์บนบกก็ส่งกำลังใจทั้งปรบมือ ส่งเสียงกรี๊ด เราสังเกตใบหน้าแต่ละคนที่นั่งเชียร์ติดขอบแม่น้ำ เปื้นด้วยรอยยิ้ม แววตาที่เบิกโต เหมือนลุ้นอยู่ตลอดเวลา ดูพวกเขาจะภูมิใจในการแข่งขันไม่ว่าผลจะออกมาเป็นยังไง เพราะทุกคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมเป็นทั้งผู้ที่อยู่เบื้องหน้า และเบื้องหลัง ในความสำเร็จครั้งนี้

ประชาชนพากันมาลอยกระทงกันอย่างหนาแน่น 

สำหรับการลอยกระทงกะลา หรือประทีปซึ่งประกอบด้วยกระทงนำ เป็นกระทงขนาดใหญ่ ประดิษฐ์ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยใบตอง ดอกไม้สดที่เย็บเป็นรูปแบบต่างๆ แล้วจึงนำมาประกอบเป็นรูปกระทง ภายในกระทงต้องมีผ้าสบง เครื่องกระยาบวช หมากพลู ขนม สตางค์ รูปเทียน ฯลฯ ซึ่ง สิ่งเหล่านี้ได้ประยุกต์มาจากแพผ้าป่าน้ำในสมัยโบราณ  ตามด้วยกระทงกะลา ที่ใช้กะลามะพร้าวจำนวน 1,000 ใบ นำมาขัดถูให้สะอาด ทั้งภายในและภายนอก ตกแต่งลวดลายอย่างสวยงาม ภายในกะลาใส่ด้ายดิบ ที่ฟั่นเป็นรูปตีนกา แล้วหล่อด้วยเทียนขี้ผึ้งซึ่งนำมาจากเทียนจำนำพรรษา ชาวบ้านจะนำเทียนเหล่านั้นมาหลอมละลายด้วยความร้อนกล่อลงในกะลา ที่มีด้ายรูปตีนกาสำหรับเป็นเชื้อเพลิงจุดไฟก่อนที่จะปล่อยลงลอย

อธิฐานก่อนปล่อยกระทงลงสู่แม่น้ำ

และกระทงปิดท้าย มีลักษณะคล้ายกระทงนำแต่มีขนาดเล็กกว่า ประดิษฐ์ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยใบตองและดอกไม้สด ลอยปิดท้ายหลังจากลอยกระทงกะลาครบ 1,000 ใบ พร้อมทั้งมีสัญลักษณ์ให้ทราบว่าได้สิ้นสุดการลอยของสายกระทงนั้นแล้ว

อีกส่วนที่สร้างความสนุกสนานที่ขาดไม่ได้เลย คือ การเชียร์ ในขณะที่ทำการลอยกระทงสายอยู่นั้นจะมีกองเชียร์ร่วม ร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนานครื้นเครง เป็นการให้กำลังใจแก่ผู้ที่ทำการลอย เพลงที่นำมาร้องมีเนื้อหาสอดคล้องกับประเพณีไทยหรือวิถีชีวิตของชุมชน ดนตรีที่นำมาบรรเลงต้องใช้เครื่องดนตรีไทยทั้งหมดและจะต้องใช้กะลาเป็นส่วนประกอบของการแสดงอย่างน้อย 1 ชุด ซึ่งการแสดงทั้งหมดใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที

ประชาชนที่มาร่วมงานลอยกระทงสาย ไหลประทีป 1,000 ดวง

สิ้นสุดการปล่อยกระทงปิดท้ายของสายที่ 4 ก็มีการประกาศผลสายที่ชนะเลิศคือ สายที่ 2 จากชุมชนปทุมคีรี ชุมชนดอยคีรี ชุมชนเด่นสน ชุมชนหัวเดียด และโรงเรียนตากพิทยาคม อย่างไรก็การแข่งขันเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือ ชุมชนที่ตากได้สืบสานมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ามาจวบจนปัจจุบัน และเป็นความสวยงามหนึ่งเดียวที่เราจะได้ชมกันเป็นประจำทุกปี

ไฟประดับดาตลอดเส้นทางจัดงาน ผู้คนเนื่องแน่น 

. กระทงจากประชาชนที่มาร่วมงานค่อยไหลๆไปนามสายน้ำปิง 
ชมพระอาทิตย์ตกที่ สะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดร.เอ้' เฉลยข้อสอบแล้ว ขนย้าย 'กากแคดเมียม' อย่างไรให้คนไทยไม่เสี่ยงตาย

ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า เฉลยข้อสอบแล้ว How to ขนย้ายกากแคดเมี่ยมอย่างไรให้คนไทยไม่เสี่ยงตาย หลังรัฐบาลสอบตกยับทุกข้อ"

นักท่องเที่ยวไทย-ต่างชาติ เที่ยวลอยกระทง ชมวิถีย้อนยุคสุโขทัยคึกคัก

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จ.สุโขทัย ประจำปี 2566 ที่จัดขึ้นบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

'ลอยกระทง'ทั่วไทย ดื่มด่ำสายน้ำแห่งวัฒนธรรม

ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับเทศกาลลอยกระทง ในปี 2566 นี้ จะตรงกับวันจันทร์ที่ 27 พ.ย. ซึ่งเป็นหนึ่งในเทศกาลยอดนิยมที่คนไทยเดินทางไปร่วมงานเพื่อสืบสานประเพณีและระลึกถึงความสำคัญของเเม่น้ำลำคลองที่หล่อเลี้ยงชีวิตอยู่เสมอผ่านการขอขมาพระแม่คงคา

นายกฯ เกาะติดการดูแลผู้ลี้ภัยเมียนมา!

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ติดตามการดูแลช่วยเหลือผู้หนีภัยความไม่สงบ บริเวณชายแดนไทย - เมียนมา ตามหลักมนุษยธรรม พร้อมให้กำลังใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง