'สส.พัทลุง' ปชป.จี้ ‘รัฐบาล’ เร่งช่วยเหลือประชาชน ในพื้นที่น้ำท่วมภาคใต้ เร่งอนุมัติเงินอุดหนุนเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในระยะยาวให้ออกแบบวางแผนแก้ไขปัญหาและจัดการน้ำในภาคใต้ทั้งระบบ
1 ธ.ค.2566 - ที่รัฐสภา นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดทางภาคใต้ ว่า ขอให้รัฐบาลสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ หลังเกิดฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือน ถนนถูกตัดขาดไม่สามารถสัญจรได้ สืบเนื่องจากปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างหนักจากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างฝั่งตะวันออก ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง จ.สุราษฎร์ธานี จ.สงขลา จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส และอื่นๆ ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม หลายพื้นที่ต้องเร่งอพยพพี่น้องประชาชนไปยังสถานที่ปลอดภัย และหลายพื้นที่ถนนถูกตัดขาด ผิวถนนถูกน้ำท่วมสูงไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค น้ำสะอาด และปัจจัย 4 เพื่อการดำรงชีพ
นายร่มธรรม กล่าวต่อว่า ในส่วนของ จ.พัทลุง มีปริมาณฝนที่ตกหนักและต่อเนื่อง ประกอบกับปริมาณน้ำฝนสะสมจากฝนที่ตกหนักเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากลงมาจากเทือกเขาบรรทัดผ่านลำคลองสายต่างๆ ก่อนไหลลงสู่พื้นที่รับน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งถือได้ว่าเป็นอุทกภัยครั้งใหญ่ของจังหวัดพัทลุง ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่พื้นที่ลุ่มเชิงเขา พื้นที่ริมฝั่งคลอง และพื้นที่โดยรอบทะเลสาบสงขลา ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเข้าท่วมบ้านเรือน สวนไร่นา และยางพารา และถนนหลายสาย ทำให้เส้นทางการสัญจรถูกตัดขาด
นอกจากนี้ ยังต้องเร่งอพยพพี่น้องประชาชนหลายหมู่บ้านใน อ.ป่าบอน อ.กงหรา อ.ตะโหมด และ อ.ศรีนครินทร์ ออกจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัย และหลายโรงเรียนต้องเปลี่ยนไปทำการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักเรียนละผู้ปกครองที่อาจประสบกับความยากลำบากจากสถานการณ์ดังกล่าว
ล่าสุด สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนช.) ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำฝน คาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 3 – 8 ธ.ค. 2566 หลายแห่ง โดยให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ในหลายจังหวัดพื้นที่ภาคใต้
ดังนั้น ตนจึงอยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาและการจัดการน้ำท่วม ดังนี้ 1.ในระยะเร่งด่วน ขอให้รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย เร่งเข้าไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบภัยทั้งเรื่องการอพยพย้ายสิ่งของ เร่งอนุมัติเงินอุดหนุนเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมอบถุงยังชีพช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอื่นๆ เช่น การตรวจสอบและซ่อมแซมแนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้ไหลไว พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยการเร่งระบายและพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก
นอกจากนี้ ในระยะเร่งด่วนจะต้องตัดกระแสไฟฟ้าในพื้นที่น้ำท่วมสูงและเสี่ยงอันตรายจากไฟดูด จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากและดินถล่มตลอด 24 ชั่วโมง และจัดชุดเคลื่อนที่เร็วสำหรับการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที อีกทั้งยังควรมีการเตรียมการเรื่องการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินทางการแพทย์ ในพื้นที่ที่ถนนถูกตัดขาด หรือพื้นที่ที่ประชาชนไม่สามารถออกจากบ้านเรือนได้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่พี่น้องประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป โดยหากพื้นที่ใดได้รับผลกระทบมาก ก็ขอให้ทางจังหวัดได้ประกาศภัยพิบัติอย่างเร่งด่วน
2.ระยะถัดไป หรือระยะกลาง ขอให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้รวบรวมความเสียหายไว้ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบและพิจารณาให้ความช่วยเหลือทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบให้ใกล้เคียงกับความเสียหายที่ได้รับ หรือตามความเป็นจริง โดนเฉพาะภาคการเกษตรทั้งด้านพืช ด้านปศสัตว์ และด้านการประมง ไปจนถึงการการสำรวจความเสียหายด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่นถนนหนทาง และระบบสาธารณูปโภค อาคารสถานที่ทั้งโรงพยาบาล อาคารเรียน ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน
3.ในระยะยาว ขอให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกแบบวางแผนแก้ไขปัญหาและจัดการน้ำในภาคใต้ทั้งระบบ โดยต้องจัดสรรงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ จัดการการระบายน้ำในคูคลองให้ดี เพราะน้ำท่วมเกิดขึ้นอย่างซ้ำซากทุกๆปี และส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนอย่างมาก ซ้ำเติม
“ผมขอแสดงความเห็นใจถึงพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทุกท่าน ขอให้พี่น้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ระมัดระวังในการใช้ชีวิต และสัญจรไปมาในสถานการณ์น้ำท่วม ขอเป็นกำลังใจให้หน่วยงานในการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นกำลังใจให้พี่น้องทุกท่าน” นายร่มธรรม กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศปช. แจ้งผู้ประสบอุทกภัย 16 จว. ยื่นรับเงินเยียวยาได้ถึง 15 ม.ค. 68
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศปช. รับทราบการเร่งรัดเยียวยาจำนวน 9,000 บาท ให้ถึงมือประชาชนโดยเร็ว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด
ศปช. สั่งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก น้ำท่วมภาคใต้ 27-28 ธ.ค.นี้
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.)
ศปช. อัปเดตสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ เร่งระบายน้ำสวนส้มโอปากพนัง
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ เร่งส่งต่อความช่วยเหลือเพิ่ม ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้
มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ส่งมอบอาหารยังชีพเพิ่ม กระจายความเชื่อเหลือ 4 จังหวัด หวังสถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว
ศปช. เร่งเครื่องตามข้อสั่งการนายกฯ กำชับเงินเยียวยาน้ำท่วม 9 พันบาท ต้องถึงมือประชาชนโดยเร็ว
น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ จ.นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี วานนี้เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยและความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย