ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จ.สุโขทัย เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ และมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของ จ.สุโขทัย ปัจจุบันประเพณีนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาสัมผัสวัฒนธรรมไทย มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัย โดยปีนี้จัดงานตั้งแต่วันที่ 18-27 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา
ค่ำคืนวันที่ 27 พ.ย. มีพิธีเผาเทียน ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพิธีลอยพระประทีปพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระประทีปพระบรมวงศานุวงศ์ รวม 12 พระองค์ การแสดงพลุ ตะไล ไฟพะเนียง ณ ตระพังตะกวน และการแสดงแสง เสียง ชุดตำนานท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ณ วัดมหาธาตุ โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและภริยา ร่วมงานประเพณี เผาเทียน เล่นไฟ จ. สุโขทัย พร้อมด้วยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นายสุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เข้าร่วมพิธี
ในการนี้ ปลัด วธ. ได้อัญเชิญพระประทีปพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ลงลอย และร่วมลอยกระทงสืบสานประเพณีไทยกับชาวสุโขทัย และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ พร้อมทั้งเยี่ยมชมลานจำลองวิถีชีวิต หมู่บ้านวิถีไทย งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย ปี 2566 การออกร้านอาหารและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย (CCPOT) ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมของจังหวัดสุโขทัย นิทรรศการเผยแพร่สาระประเพณีลอยกระทง เผาเทียนเล่นไฟ ณ บริเวณศาลาสี่หลัง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ก่อนจะร่วมรำวงวันลอยกระทงตามวิถีไทย ทุกกิจกรรมเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยสู่สายตาชาวโลก ซึ่งตลอด 10 วันของการจัดงานมีประชาชนและนักท่องเที่ยวสนใจเข้าเที่ยวชมงานกว่า 340,000 คน สร้างรายได้สะพัดในพื้นที่
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัด วธ. กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม มีนโยบายยกระดับงานเทศกาลและประเพณีที่มีความโดดเด่น และรัฐบาลโดยคณะกรรมการพัฒนา Soft Power ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนเทศกาลลอยกระทง ซึ่งเป็นประเพณีที่มีเอกลักษณ์ โดยลอยกระทงเผาเทียน เล่นไฟ สุโขทัย ถือเป็นงานเทศกาลระดับชาติ จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน ชุมชน มีศักยภาพเป็น soft power เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีไทยสู่สายตาขาวโลก ดึงดูดความสนใจ ทำให้ชาวต่างชาติเห็นถึงประเพณี ศิลปะ ประวัติศาสตร์ การแต่งกาย ลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ทำให้คนสนใจวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ไทยมากขึ้น เป็นการเพิ่มวัฒนธรรมไทยให้มีมูลค่ามากขึ้น
“ ในประเพณีลอยกระทงมีองค์ความรู้ ความเชื่อ เสน่ห์ที่ซ่อนอยู่แตกต่างกันแต่ละพื้นที่ นอกจากขอขมาพระแม่คงคา ลอยทุกข์ลอยโศกโรคภัยต่างๆ ไปกับกระทง คุณค่าและสาระสำคัญ คือ เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีของคนในครอบครัวและชุมชนที่ร่วมกันจัดงานลอยกระทงขึ้น เพื่อให้รู้จักรำลึกบุญคุณของน้ำ และช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรของประเทศ ก่อนลอยรณรงค์ใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติ งดใช้โฟม ชวนลอย 1 ครอบครัว 1 กระทง ชวนแต่งไทยร่วมงานลอยกระทง หลังวันลอยกระทงมีการจัดเก็บกระทงรักษาแม่น้ำลำคลอง ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันสืบสานรักษามรดกวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่านี้ไว้ “ นางยุพา กล่าว
ปลัด วธ. กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ วธ.ได้คัดเลือกงานเทศกาลและประเพณีที่มีความโดดเด่นในจังหวัดต่างๆ ที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) ร่วมมือกับจังหวัด หน่วยงานรัฐ เอกชน เครือข่ายทางวัฒนธรรมและชุมชนจัดขึ้น เพื่อส่งเสริมและยกระดับไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ ทำโครงการต่อเนื่อง 2 ปี ปีละ 16 งานเทศกาลและประเพณี เดินหน้าส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายยกระดับจากท้องถิ่นสู่ระดับจังหวัด ไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ บนพื้นฐานความร่วมไม้ร่วมมือและความต้องการของชุมชน ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อให้วัฒนธรรมสร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชนและประเทศอย่างแท้จริง นอกจากนี้ มีความมั่นใจว่า วันที่ 7 ธ.ค. 2566 ประเพณีสงกรานต์ในไทยจะได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจากยูเนสโก ขอให้ชาวไทยรอฟังข่าวดี แสดงถึงต่างประเทศยอมรับคุณค่าวัฒนธรรมไทยที่เป็นสากล
งานลอยกระทงสุโขทัยปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาร่วมกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น ให้ความสนใจในประเพณีวัฒนธรรมโดดเด่นมากขึ้น ต่างตื่นตาตืนใจกับการแสดงพลุ ตะไล ไฟพะเนียง ตระการตา เป็นอีกเทศกาลที่มีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาร่วมงานได้ ส่วนร้านจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรมก็ขายดิบขายดี กระจายรายได้ไปยังชุมชนในพื้นที่ต่างๆ
น.ส.ศิริศรี หน่ายแหนง สมาชิกผ้าทอชางวัง ต.ท่าชัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย มาร่วมสาธิตผ้าทอและออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าทอในงาน กล่าวว่า สุโขทัยเป็นเมืองที่ร่ำรวยศิลปะ วัฒนธรรม มีภูมิปัญญาทอผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ชุมชนท่าชัย ลวดลายมาจากวิถีชีวิตสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในชุมชนท่าชัย เช่น ลายดอกรัก ลายตีนสน ลายคุ้งน้ำบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุ ลายคลื่นน้ำ ลายปลา ลายสะพานไม้ ซึ่งที่วัดพระศรีมหาธาตุก็จัดลอยกระทงริมแม่น้ำยม มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนผ้าทอชาววังที่ยั่งยืน การส่งเสริมท่องเที่ยวลอยกระทงสุโขทัยระดับนานาชาติ นักท่องเที่ยวจะมากขึ้น ทำให้ชุมชนมีรายได้มากขึ้น รวมถึงกระแสนิยมแต่งไทยท่องเที่ยวก็ยิ่งสร้างงานสร้างรายได้ สำหรับผ้าทอที่นำมาโชว์ ชุดต่างๆ ที่นำมาขายในงานลอยกระทงสุโขทัยก็ได้รับความสนใจและสนับสนุนจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี มีรายได้หล่อเลี้ยงชุมชนทอผ้า ดีใจที่รัฐส่งเสริมเผาเทียน เล่นไฟ สู่เฟสติวัลระดับโลก สิ่งสำคัญชาวสุโขทัยต้องภาคภูมิใจในมรดกวัฒนธรรม ช่วยกันทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจ และเดินทางกลับมาท่องเที่ยวงานลอยกระทงอีก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ย้อนเวลา 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ
ชวนแต่งชุดไทยเดินทางย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา ดื่มด่ำกับบรรยากาศโบราณสถานยามค่ำคืนที่งดงามในงาน “ 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ” ภายใต้แนวคิด “ย้อนเวลา ส่องวิถี ปลุกแสงสี พระนครศรีอยุธยา” โดยจะจัดกิจกรรมตามวัดและโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
สืบสานประเพณีถวายผ้าพระกฐินวัดหนองแวง แหล่งรวมมรดกวัฒนธรรม
5 พ.ย.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เนื่องในเทศกาลกฐิน พุทธศักราช 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานผ้าพระกฐินให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นำไปถวายพระสงฆ์ที่จำพรรษา
'หมูเด้ง' ซุปตาร์ดันวัฒนธรรมไทยสู่ระดับโลก
“หมูเด้ง”ซุปเปอร์สตาร์ฮิปโปแคระที่โด่งดังเป็นไวรัลทั่วโลกจากความน่ารักขี้เล่น สื่อต่างประเทศนำไปลงข่าว นิตยสาร TIME พาดหัวข่าวเป็นไอคอนไลฟ์สไตล์ที่กิน นอน และแอคชั่นดราม่า สร้างปรากฎการณ์หมูเด้ง ช่วยให้ยอดนักท่องเที่ยวเข้าชมสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี เพิ่มทวีคูณ
ลอยกระทงวิถีไทย สืบสานประเพณีงดงาม
วันลอยกระทงปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 จัดเป็นเทศกาลประเพณีสำคัญของคนไทยที่จะได้ร่วมกันสืบสานคุณค่าประเพณีอันดีงาม โดยการทำกระทงสวยงามหลากหลายรูปแบบ นำไปลอยตามแม่น้ำลำคลอง เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ