28พ.ย.2566-นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในต่างประเทศมีข่าวการตรวจพบสารเอทิลีนออกไซด์ (ethylene oxide) ความเข้มข้นสูงตกค้างในเมล็ดงา บะหมี่กึงสำเร็จรูป และพบในสินค้าอาหารประเภทอื่นๆ เพิ่มขึ้น ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู ได้แจ้งผลการตรวจสอบความปลอดภัยอาหารภายใต้ระบบเตือนภัยสินค้าอาหาร (RASFF – Rapid Alert System for for Food and Feed) แก่ประเทศสมาชิกว่ามีการตรวจพบการปนเปื้อนของสารเอทิลีนออกไซด์ในไอศกรีม ซึ่งเกิดการตกค้างในฝักวานิลลาที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตไอศกรีมยี่ห้อหนึ่งกว่า 10 รายการ
สารเอทิลีนออกไซด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตรชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เป็นก๊าซไม่มีสี มีกลิ่นเฉพาะตัว ติดไฟได้ ใช้ในการอบฆ่าเชื้อบนอุปกรณ์ และเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ทนต่อความร้อน ใช้เป็นสารรม เพื่อกำจัดแมลง แบคทีเรีย และเชื้อรา โดยมีพิษเฉียบพลันระดับปานกลางในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์ และความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ หากร่างกายได้รับสะสมในระยะเวลานาน ก่อให้เกิดการระคายเคืองอย่างสูงต่อดวงตา ผิวหนัง และทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน และส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง สลายตัวช้า ทำให้มีการตกค้างในสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบันสหภาพยุโรปห้ามใช้สารดังกล่าว ในการฆ่าเชื้อเมล็ดพืชและเครื่องเทศ แต่ยังคงพบว่ามีการใช้งานในบางประเทศ สำหรับประเทศไทยจะต้องตรวจไม่พบการตกค้างในอาหาร หากตรวจพบ อาหารนั้นจัดเป็นอาหารผิดมาตรฐานตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522
นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่อว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจในการพัฒนาการตรวจวิเคราะห์และให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการด้านอาหารของประเทศ จึงได้พัฒนาเทคนิคการตรวจวิเคราะห์ และเปิดให้บริการตรวจวิเคราะห์สารเอทิลีนออกไซด์ในอาหาร ด้วยเทคนิค Gas Chromatography Mass Spectrometry (GC-MS) ซึ่งเป็นวิธีตรวจการตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช “เอทิลีนออกไซด์”ที่เป็นวิธีมาตรฐานของสหภาพยุโรป EU Reference Laboratory for pesticides requiring Single Residue Methods (EURL-SRM) เพื่อยกระดับการควบคุมคุณภาพและคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าที่อันตรายต่อสุขภาพ
“ผู้ประกอบการที่มีการนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาจำหน่ายในประเทศไทย หากต้องการสร้างความมั่นใจ ในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหาร สามารถส่งตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ธัญชาติ และผลิตภัณฑ์ธัญชาติ เพื่อตรวจวิเคราะห์ ได้ที่ศูนย์รวมบริการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ในวันและเวลาราชการ) ในอัตราค่าบำรุงการตรวจวิเคราะห์ 5,000 บาท ต่อตัวอย่าง ใช้ระยะเวลาตรวจ และรายงานผลภายใน 20 วันทำการ หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร http://bqsfdmsc.moph.go.th/bqsfWeb/ หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 2589 9850 ถึง 7 ต่อ 98150 98152 และ 99968” นายแพทย์ยงยศ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตือนควันไฟไหม้ โรงงานพลาสติกและเคมีภัณฑ์ มาบตาพุด อันตรายสารก่อมะเร็ง
เกิด ไฟไหม้ บริเวณ Plant VCM1 ภายในโรงงานบริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด ในพื้นที่นิคมมาบตาพุด จ.ระยอง ทำให้เกิดกลุ่มควันสีขาวและสีดำปริมาณมาก
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต "ชุดทดสอบสารพาราควอดตกค้างในผักและผลไม้สด"
วันนี้ (26 สิงหาคม 2567) นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชุดทดสอบอิมมูโนโครมาโตกราฟี สำหรับตรวจหาสารพาราควอตตกค้างในผักและผลไม้สด ระหว่าง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
โชว์กินข้าวตกค้าง 10 ปี ได้ไม่คุ้มเสียทั้งการเมืองและตลาดข้าวไทยแสนล้าน
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า โชว์กินข้าวส่อคลุกสารก่อมะเร็งตกค้าง 10 ปี ได้ไม่คุ้มเสียทั้งทางการเมืองและตลาดข้าวแสนล้านต่อปีของประเทศ