จากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.4 ในเมียนมา เช้าวันที่ 17 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ถือเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ สาเหตุเกิดจากการเลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อน kengtung fault หรือคนไทใหญ่ เรียกว่า “รอยเลื่อนเก่งตุง” ในรัฐฉาน ทางตอนเหนือของเมียนมา อยู่ทางตอนเหนือของจ.เชียงราย ประมาณ 100 กิโลเมตร. ทำให้จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ ส่วนกรุงเทพมหานคร คนบนตึกสูงรับรู้แรงสั่นไหว ด้วย กทม.อยู่บนชั้นดินอ่อนเมื่อเกิดแผ่นดินไหวใหญ่จึงเกิดการขยายตัว
ที่ผ่านมาแผ่นดินไหวในเมียนมาที่ทำให้เกิดความสั่นสะเทือนไกลถึง กทม.ส่วนใหญ่จะมาจากรอยเลื่อนน้ำมา และรอยเลื่อนสะกาย แต่รอยเลื่อนครั้งนี้เกิดจากรอยเลื่อนเชียงตุงที่มีการวางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ มีการเลื่อนตัวตามแนวระนาบเหลื่อมขวา
จากสถานการณ์แผ่นดินไหวเชียงตุง ดร.วีระชาติ วิเวกวิน ผู้อำนวยการส่วนรอยเลื่อนมีพลังและแผ่นดินไหว กองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า สำหรับแผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นแผ่นดินไหวขนาดค่อนข้างใหญ่ ที่ความลึก 9 กม. ขนาดใกล้เคียงแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ที่แม่ลาว จ.เชียงราย ซึ่งรัฐฉานได้รับแรงสั่นสะเทือนมากเป็นพิเศษ และรับรู้แรงสั่นสะเทือนที่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน พะเยา น่าน สกลนคร อุดรธานี ขอนแก่น กรุงเทพฯ นนทบุรี และพบว่า เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมามากกว่า 30 ครั้ง แต่ขนาดลงลด ซึ่งในพื้นที่รัฐฉานและเชียงตุงพบรอยเลื่อนมีพลังจำนวนมาก เมื่อขยับจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กและปานกลาง มีสถิติการเกิดแผ่นดินไหวแทบทุกเดือน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในรอยเลื่อนใหญ่ ลอยเลื่อนสะกายในเมียนม่าและลอยเลื่อยแม่น้ำแดงในเวียดนาม-จีน
นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า แผ่นดินไหวในเมียนมา ลาว ไม่ไกลจากบ้านเราประมาณ 100 กิโลเมตร ถึงแม่สาย จ.เชียงราย พม่ามีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว คลื่นแผ่นดินไหวจะวิ่งตรงมาไทยในภาคเหนือถึงอีสาน รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน เพราะมีสภาพธรณีวิทยาที่มีคุณสมบัติขยายคลื่น เกิดผลกระทบและความเสียหาย โรงเรียนในเชียงใหม่เสียหาย แต่ไม่ใช่โครงสร้างหลัก ปูนกะเทาะออกจากเสา พระประธานที่วัดภูมินทร์ จ.น่าน ร้าว ส่วนวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา มีแผ่นดินไหวขนาด 4.0 บริเวณ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เหตุจากการเลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รับรู้ได้ แต่ไม่มีรายงานความเสียหาย อย่างไรก็ตาม ถือเป็นรอยเลื่อนมีพลัง ที่จะสามารถส่งผลกระทบต่อชุมชนในบริเวณนั้น ต้องเตรียมพร้อม
“ กรมมีแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ศึกษารอยเลื่อนมีพลังให้ครอบคลุม จำแนกพื้นที่ได้รับผลกระทบ รอยเลื่อนบางพื้นที่จะเร่งศึกษาให้เสร็จ รวมถึงรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวใต้ดินเร่ง X-ray หาตำแหน่ง อีกเรื่องวางแผนพัฒนาระบบแพลตฟอร์มเพื่อการจัดการธรณีพิบัติแผ่นดินไหว เพื่อเป็นข้อมูลจัดการในอนาคต เร่งติดตั้งเครื่องมือติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง เพื่อลดผลกระทบ “ ดร.วีระชาติ กล่าว
สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า คนในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวต้องมองย้อนกลับมาว่า อยู่ในอาคารที่มีการออกแบบรองรับแผ่นดินไหวหรือเป็นอาคารที่สร้างกันเอง เป็นเพิง เป็นอาคารก่ออิฐง่ายๆ จนถึงอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่สร้างโดย ไม่ได้ออกแบบคำนึงถึงภัยพิบัตินี้ เมื่อห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว ความแรงของคลื่นและความเสียหายจะลดลง ที่น่ากังวลแม้ไม่แรงมากนัก แต่จังหวะการสั่นของแผ่นดินไหวสอดคล้องกับอาคาร ตัวอาคารจะเขย่าได้มาก
“ แผ่นดินไหวครั้งนี้ห่างจากกรุงเทพฯ มาก แต่ก็เกิดการสั่นไหวในอาคารสูง เนื่องจากสภาพกรุงเทพฯ เป็นแอ่งตะกอนขนาดใหญ่ 100×100 กิโลเมตร ชั้นบนสุดเป็นดินที่อ่อนมากหนา 8-12 เมตร เวลาสั่นที่เชียงตุง จึงสั่นที่ชั้นดินกรุงเทพฯ จังหวะสั่นชั้นดินสอดคล้องอาคารสูง ทำให้คนกรุงรู้สึกได้ มาตรฐานออกแบบอาคารต้านทานแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวปี 64 ปีล่าสุด กรุงเทพฯ อยู่ในโซนที่ได้รับผลกระทบชัดเจน หากก่อสร้างตามกฎหมายจะปลอดภัย อย่างไรก็ตาม อาคารควบคุมจะเป็นอาคารสูง อาคารสาธารณะ โรงพยาบาล โรงเรียน ต้องออกแบบต้านทาน แต่บ้านเรือนประชาชนที่สูงไม่ถึงเกณฑ์ กฎหมายไม่ได้บังคับ หากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงอาจจะเกิดผลกระทบความเสียหายได้ ฉะนั้น อาคารสร้างใหม่ในพื้นที่ จะมีข้อแนะนำกรมโยธาธิการฯ แต่เรื่องใหญ่ คือ อาคารเก่าในกรุงเทพฯ ในพื้นที่เดียวกันจึงมีทั้งอาคารควบคุมและไม่ได้ควบคุม บ้านแข็งแรงโดนบ้านไม่แข็งแรงถล่มทับเป็นความเสี่ยงของชุมชน “ รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ จากงานวิจัย รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ กล่าวว่า อาคารสร้างใหม่ กรณีอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กบ้าน 2 ชั้น หากจะเสริมเหล็กตามข้อแนะนำกรมโยธาฯ จะเพิ่มเงิน 5% ของราคาบ้าน จะปลอดภัย ขณะที่อาคารเก่า พบว่า หากซ่อมบ้านเก่าเพื่อทำให้แข็งแรง ค่าของเสริม 30% ค่าแรง 70% หากชุมชนใช้วิธีการรวมช่างในและนอกชุมชนมาอบรมร่วมกันเสริมความแข็งแรง และให้ช่างไปช่วยเสริมอาคารที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือท้องถิ่นสามารถตั้งงบได้ การเสริมให้แข็งแรงหลังละไม่ถึงหมื่นบาท หากเกิดแผ่นดินไหว บ้านไม่ถล่มทับชาวบ้าน
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการมก. วิเคราะห์ผลกระทบแผ่นดินไหวครั้งนี้สั่นสะเทือนถึง จ.สกลนคร ด้วยว่า รพ.สกลนคร อาคาร 9 ชั้น รับรู้ได้ รพ. ตั้งอยู่ริมหนองหาร หนองน้ำขนาดใหญ่ในเมืองสกลนคร สอบถามข้อมูลจากคนในพื้นที่ พบว่า ที่ตั้ง รพ.ส่วนหนึ่งเป็นริมหนองหาร อาจมีการถมดินใหม่เพื่อก่อสร้างโรงพยาบาล จาการตรวจสอบพิกัดบริเวณที่ตั้งอาคารฉุกเฉินเป็นบ่อน้ำเดิม มีการถมทับเพื่อสร้างโรงพยาบาล เป็นไปได้ว่า อาจจะเป็นดินอ่อนที่ขยายแรงได้ เวลาเกิดแผ่นดินไหวมวลดินอ่อนจะสั่น ส่งผลตัวอาคารสั่นตาม อีกประเด็นบริเวณอำเภอเมืองสกลนครมีเปลือกโลกหนาไม่เท่ากัน อาจมีสิ่งเกี่ยวข้องกับการส่งผ่านคลื่นแผ่นดินไหว กรมฯ ต้องศึกษาวิจัยเชิงลึกเพิ่มเติม
ด้านนักวิจัยศูนย์แผ่นดินไหวแห่งชาติเสนอให้วางแผนรับมือระยะยาวกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้ได้มาตรฐานการออกแบบที่รองรับแผ่นดินไหว รศ. ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า บริเวณใกล้เชียงตุงเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดกลาง (มากกว่า 5.0) บ่อยครั้ง เช่น ขนาด 6.8 ในปี 2554 หรือแผ่นดินไหวเชียงตุงขนาด 5.9 เมื่อปี 2565 เพราะมีรอยเลื่อนมีพลังเป็นจำนวนมากบริเวณดังกล่าว ส่วนงานวิจัยแผ่นดินในประเทศไทยนั้นได้ดำเนินการในเชิงพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมให้ประเทศไทยสามารถนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้ ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนที่โรงพยาบาลในจ.เชียงใหม่และเชียงราย พร้อมระบบส่งสัญญาณแจ้งเตือนกับบุคลากรประจำอาคาร เช่น วิศวกร เจ้าหน้าที่เทคนิค เพื่อประเมินสภาพความปลอดภัยของอาคารได้อย่างทันท่วงที หวังว่า จะเป็นอาคารต้นแบบเพื่อให้อาคารอื่นนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป เครื่องมือดังกล่าวสามารถตรวจวัดการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้อย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์ล่าสุดตรวจวัดได้พร้อมกันทั้งสองโรงพยาบาล และมีความรุนแรงที่สุดที่เคยตรวจสอบมา แต่ยังมีค่าต่ำกว่าค่าในการออกแบบของอาคาร โดยระบบสามารถสื่อสารกับวิศวกรประจำอาคารและช่างเทคนิคได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดความสับสนในการจัดการด้านการสื่อสารหลังแผ่นดินไหวได้
นอกจากนี้ ทีมวิจัยได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดการสั่นสะเทือนของอาคารเนื่องจากแผ่นดินไหว โดยได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาจนถึงสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในปัจจุบัน โดยในกรุงเทพฯ ติดตั้งอุปกรณ์ไว้อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ซึ่งมีความสูง 37 ชั้น เดือน มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ กทม.วางแผนติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดที่โรงพยาบาลในสังกัด เช่น โรงพยาบาลกลาง ด้วย
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารต้านแผ่นดินไหว ปี 2564 ซึ่งกำหนดให้อาคารต้องออกแบบต้านแรงแผ่นดินไหวได้ โดยครอบคลุมจังหวัดในภาคเหนือและพื้นที่กรุงเทพฯ รวม 43 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ ควรเตรียมความพร้อมรับมือสำหรับแผ่นดินไหวในอนาคตที่อาจจะมีขนาดใหญ่กว่านี้หรือเกิดขึ้นใกล้กว่านี้ มาตรการรับมือแผ่นดินไหวที่ดีที่สุด คือ การทำให้โครงสร้างอาคารแข็งแรง เพราะแผ่นดินไหวยังไม่สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ โดยการออกแบบและก่อสร้างอาคารใหม่ให้ต้านแผ่นดินไหวและเสริมกำลังอาคารเก่าให้รองรับแผ่นดินไหวในอนาคตได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมอุตุฯ เตือนฉบับที่ 2 อากาศแปรปรวน 19-21 ต.ค. เปิดพื้นที่ฝนตกหนัก ระวังน้ำท่วมฉับพลัน
กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง อากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทย ฉบับที่ 2 (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 19 - 21 ตุลาคม 2567)
'ดร.ธรณ์' ดึงสติ ไม่ต้องตื่นตระหนกพายุลูกใหญ่ถล่ม หากมาจริงจะแจ้งล่วงหน้า
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า
เกิดแผ่นดินไหวตอนเหนือของหมู่เกาะสุมาตรา ห่างจากจังหวัดสตูล 553 กม.
กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว รายงานเกิดสถานการณ์แผ่นดินไหวตอนเหนือของหมู่เกาะสุมาตรา
'นักวิชาการ' เผยระบบเตือนภัย J-Alert - L-Alert สุดยอดของญี่ปุ่นในการเตือนภัยเข้าถึงทุกที่
ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กเกี่ยวกับระบบเตือนภัย ว่า
นายกฯ ห่วงคนไทยในญี่ปุ่น ขอให้ติดตามประกาศแจ้งเตือนแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่อง
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เตือนชาวไทยที่อยู่ในพื้นที่ประเทศญี่ปุ่นให้ติดตามสถานการณ์ต่อกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.3 ริกเตอร์ ที่กรุงโตเกียวและพื้นที่โดยรอบ
ปภ.ประสานจังหวัดอุบลราชธานี ดูแลชาวบ้าน ‘อ.เมือง-วารินฯ’ จากผลกระทบแผ่นดินไหว
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)ได้ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าว พบว่าพื้นที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี และวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี