'ลอยกระทง' มรดกไทยล้ำค่า คู่ควรเสนอยูเนสโก

ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีที่สำคัญของคนไทย  กระทรวงวัฒนธรรมได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ดำเนินการสืบสานสาระและคุณค่าของประเพณีลอยกระทง  ประจำปี 2566 นี้  ภายใต้แนวคิดการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้แต่ละท้องถิ่นรักษาอัตลักษณ์ความเป็นไทย การรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมหนึ่งครอบครัวใช้หนึ่งกระทง หนึ่งคู่รักหนึ่งกระทง เมาไม่ลอยกระทง แต่งไทยไปลอยกระทง  การรณรงค์รักษาความสะอาดของแม่น้ำลำคลองหลังจัดกิจกรรมลอยกระทง เป็นต้น

กิจกรรมที่จะจัด  อาทิ งาน “ลอยกระทง สายน้ำแห่งวัฒนธรรม Loy Krathong : River of Culture” ในวันที่ 27 พฤศจิกายน ณ วัดอรุณราชวรารามฯ งาน Bangkok River Festival 2023  ที่ร่วมจัดกับไทยเบฟใน 10 ท่าน้ำสำคัญของกรุงเทพฯ รวมถึงงานลอยกระทงในท้องถิ่น  เน้นเผยแพร่คุณค่าสาระของวัฒนธรรมอันดีงามให้มีความสอดคล้องต่อการที่ประเทศไทยเตรียมเสนอ”ประเพณีลอยกระทง”  เป็นรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การยูเนสโก ในลำดับต่อไป  ก่อนหน้านี้ สวธ. ขึ้นทะเบียนในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติแล้ว 3 รายการ  ได้แก่ โขน ปี 2561 ,นวดไทย ปี 2562  และโนรา ปี2564

สำหรับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นเลขานุการในอนุสัญญามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก (ICH) ซึ่งในปี 2566 กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ร่วมกับสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการเตรียมนำเสนอรายการลอยกระทงในประเทศไทยต่อยูเนสโก  

นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการเตรียมการขึ้นทะเบียนลอยกระทงไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมว่า   ทางคณะทำงานได้จัดทำเนื้อหาองค์ความรู้เกี่ยวกับประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย โดยมุ่งที่จะนำเสนอยูเนสโกใน 3 ประเด็น คือ 1.ในมิติของพิธีกรรมและประเพณี คือ การปฏิบัติอันดีงามของคนที่สืบทอดมาแต่สมัยโบราณ ในการนำดอกไม้ ธูปเทียนใส่ในกระทงลอยในแม่น้ำในช่วงเวลาที่งดงามและเหมาะสม 2.มิติศิลปหัตถกรรมจากภูมิปัญญาการประดิษฐ์กระทงที่มีเอกลักษณ์ของคนไทย เกิดการคิดค้นประดิษฐ์กระทงในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยภูมิปัญญางานดอกไม้ ใบตอง เครื่องหอม และเกิดงานสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ เช่น กระทงรักษาสิ่งแวดล้อมย่อยสลายง่าย อีกด้วย 

3.มุ่งนำเสนอการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนตามแนวทางองค์การสหประชาชาติ หรือ SDG สิ่งที่ปรากฎเป็นรูปธรรม ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีที่ส่งเสริมการเท่าเทียมกันในสังคม ไม่จำกัด เพศ อายุ วัย เชื้อชาติ นอกจากนี้ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้คนในพื้นที่ ด้านสังคมประเพณีลอยกระทงทำให้มีการรวมตัวของผู้คน ร่วมแรงร่วมใจทำกิจกรรมตามความเชื่อและศาสนา ก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี  ด้านศาสนาเป็นการสร้างจิตสำนึกในการแทนคุณ บำเพ็ญกุศลทำความดีให้จิตใจเบิกบาน ประเพณีนี้ยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

คณะทำงานจากจุฬาฯ และสวธ. ได้ลงสำรวจพื้นที่และสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มชนหลายจังหวัดสำคัญ เช่น สุโขทัย  เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แพร่ ตาก พระนครศรีอยุธยาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจความคิดเห็นกลุ่มคนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยทีมวิจัยจะศึกษาข้อมูลการปกป้องมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และขอรับคำยินยอมจากชุมชนเพื่อเป็นหลักฐาน ทั้งเอกสาร  ภาพถ่าย การบันทึกภาพต่างๆ เพื่อเสนอต่อยูเนสโกต่อไป นอกจากนี้ คณะทำงานจัดประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณารายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเรื่องประเพณีลอยกระทง ระหว่างวันที่ 16-17 พ.ย.2566 ก่อนเข้าสู่กระบวนการประมวลข้อมูลและจัดทำเนื้อหาสมบูรณ์ทั้งหมดภายในเดือนธันวาคม 2566 เพื่อเตรียมต่อคณะกรรมการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติปี 2567 ก่อนจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้ความเห็นชอบเสนอต่อยูเนสโก ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2567 

ทั้ง อธิบดี สวธ. ยืนยันกรมส่งเสริมวัฒนธรรมจะทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งในการรักษาเนื้อหาและอัตลักษณ์ของงานประเพณีลอยกระทงทุกจังหวัดทั่วไทย คู่กับการส่งเสริมการท่องเที่ยวและประเพณีท้องถิ่นของแต่ละจังหวัด เพราะประเพณีลอยกระทงเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของคนไทยมายาวนาน สะท้อนวิถีชีวิตของคนไทยที่มีความผูกพันกับน้ำอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การตั้งถิ่นฐานริมน้ำ การใช้น้ำในการทำเกษตรและอุปโภคบริโภคประจำวัน ใช้เป็นเส้นทางสัญจรและเป็นพื้นที่เพื่อการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน ปัจจุบันประเพณีลอยกระทงได้สร้างรายได้และเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปลอดประสพ' อ้างอิง2ผู้เชี่ยวชาญ ยืนยัน 'ปลาหมอคางดำ' ผสม 'ปลานิล' ไม่ได้

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และ ปลัดกระทรวงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

'อ.เจษฎา' ฟันเปรี้ยง! มันคือ 'ปลาหมอคางดำที่อ้วน' ไม่ใช่ปลานิลที่กลายพันธุ์

ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณีเจ้าของวังกุ้ง พบ ”ปลานิลคางดำ” ในวังกุ้งคลองด่าน จ.สมุทรปราการ คาดว่าเป็นการผสมพันธุ์ระหว่างปลานิลกับปลาหมอคางดำ ว่า