'มะเร็งปากมดลูก-ไข้เลือดออก-งูสวัด' ภัยไม่เงียบ ต้องสกัดด้วยวัคซีน

สำหรับการฉีดวัคซีนนอกจากจะสำคัญกับเด็กเล็กแล้ว ในกลุ่มเด็กวัยรุ่น วัยทำงาน และผู้สูงอายุก็นับว่าสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเมื่อมีอายุที่มากขึ้นภูมิคุ้มกันที่สะสมมาจากการฉีดวัคซีนในอดีต ก็จะลดลงเรื่อยๆ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ก็มีโอกาสเสี่ยงและติดเชื้อได้ง่าย  การฉีดวัคซีนนับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คนทุกเพศทุกวัย

โดยทางกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการจัดทำคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนอื่นๆ ครอบคลุมทุกกลุ่มวัย โดยตามมติคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้กำหนดระดับคำแนะนำเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.วัคซีนจำเป็นสำหรับผู้ใหญ่ฯ โดยรัฐเป็นผู้จัดสรรให้ 2.วัคซีนแนะนำสำหรับผู้ใหญ่ และ3.วัคซีนทางเลือก เป็นต้น

ทั้งนี้ในเสวนา VaxTalk Venue Lifetime Immunization #ฉีดให้ครบจบโรคร้าย ที่ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และหน่วยงานเครือข่ายได้จึงขึ้นในโอกาสวันแห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก 2566  ภายใต้แนวคิด “รวมพลังสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรค: การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคตลอดชีวิต (Lifetime immunization) เมื่อวัคซีนสำคัญสำหรับทุกช่วงวัย” ได้นำเสนอการฉีดวัคซีนที่น่าสนใจในกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงานและวัยผู้สูงอายุ ที่จำเป็นต้องได้รับ ได้แก่ วัคซีนมะเร็งปากมดลูก วัคซีนไข้เลือดออก และวัคซีนงูสวัด ซึ่งเป็นโรคที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวันของทุกเพศทุกวัย

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศูนย์เด็ก โรงพยาบาลศิริราชฯ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกว่า มะเร็งปากมดลูกเกิดจากเชื้อไวรัส HPV ที่มีมากกว่า 200 สายพันธุ์ ในจำนวนนี้อย่างน้อย 40 สายพันธุ์ สามารถติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศได้ และมีอย่างน้อย 13 สายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ที่มีส่วนทำให้เกิดมะเร็ง สายพันธุ์ที่ 6 และ 11 ทำให้เกิดหูด ที่อวัยวะเพศ สำหรับไวรัส HPV จะสามารถติดต่อได้นั้นเกิดจากการสัมผัสโดยตรงจากการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น ซึ่งการสวมใส่ถุงยางอนามัยจะกันได้เฉพาะส่วนที่ใส่เท่านั้นจึงไม่สามารถป้องกันไวรัส HPV ได้สมบูรณ์ และไม่ได้เกิดจากการเข้าห้องน้ำสาธารณะร่วมด้วย ทั้งนี้การติดเชื้อจะไม่แสดงอาการ จะค่อยแสดงอาการทีละเล็กสะสมเชื้อยาวนานกว่า 20 ปี ถึงจะพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งได้

ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวต่อว่า มะเร็งและเนื้องอกจากเชื้อไวรัส HPV ไม่ได้เกิดขึ้นขึ้นเฉพาะบริเวณปากมดลูกเท่านั้น แต่ยังเกิดในอวัยวะสืบพันธ์หลายแห่ง อาทิ มะเร็งทวารหนัก หูดอวัยวะเพศ มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งช่องปากและลำคอ นอกจากนี้ไวรัสที่ยังไม่ได้พัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง สามารถที่จะทำให้เกิดความผิดปกติได้  ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจรักษาเพื่อไม่ให้ไวรัสพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งทั่วโลกพบไวรัสชนิดนี้กว่า 700,000 รายต่อปี ซึ่งในประเทศไทยอัตราการเสียชีวิตของหญิงไทยจากโรคมะเร็งปากมดลูกเฉลี่ยในทุกๆ 2 ชั่วโมง จะมีหญิงไทย 1 คน ที่ต้องเสียชีวิต และมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นเกือบ 10,000 คน หรือ เฉลี่ยประมาณ 25 คนต่อวัน และเสียชีวิตปีละกว่า 4,700 คน หรือประมาณ 13 คนต่อวัน ซึ่งมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่สองรองจากมะเร็งเต้านม และพบเจอบ่อยถึง 80% ในช่วงชีวิตหนึ่งมนุษย์มีการติดเชื้อ HPV จึงเป็นปัญหาใหญ่มากของหญิงไทย นอกจากนี้ยังมีค่าใช้สูงมากถึง 300,000-2,000,000 บาทต่อราย

ในส่วนของการการป้องกัน ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวว่า สามารถป้องกันทำได้ 2 แบบ ได้แก่ 1.ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV ที่มีทั้ง 2 สายพันธุ์ 4 สายพันธุ์ และ  9 สายพันธุ์ โดยในวัคซีนทุกๆ สายพันธุ์ จะมีสายพันธุ์ก่อมะเร็งปากมดลูกที่ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักจะสามารถป้องกันมะเร็งได้ 70% ส่วน 4 สายพันธุ์ จะมีสายพันธุ์ก่อมะเร็งปากมดลูก 6, 11, 16, 18 สามารถป้องกันมะเร็งได้ 70% และป้องกันหูดหงอนไก่ได้ 90%  และหากฉีดครบทั้ง 9 สายพันธุ์ จะมีสายพันธุ์ก่อมะเร็งปากมดลูก 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 จะสามารถป้องกันมะเร็งได้ถึง 95% และป้องกันหูดหงอนไก่ได้ 90% โดยอย่างน้อยควรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1-2 เข็ม ฉีดได้ทุกเพศ ตั้งแต่อายุ 9-26 ปี เน้นในช่วงอายุ 11-12  ปี เพื่อฉีดก่อนได้รับเชื้อก่อนมีเพศสัมพันธ์ และมีการตอบสนองที่ภูมิคุ้มกันที่ดี    2.ตรวจภายในเป็นระยะ ทำแปปสเมียร์ถ้าพบรอยโรคระยะต้น รีบทำลาย

“หากไม่ฉีดป้องกันมะเร็งจากเชื้อ HPV ทำลายสุขภาพและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต โดย 40% ของคนไข้มะเร็งปากมดลูก รู้สึกอยากแยกตัวจากสังคม หรือรู้สึกถูกขับไล่ รังเกียจจากคู่นอนของตน และ 80% หูดที่เกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศของทั้งผู้ชายและผู้หญิง ทำให้สูญเสียความมั่นใจการใช้ชีวิต ส่วนมะเร็งช่องปากและลำคอ จะพบกับปัญหาการพูด การกลืน การลิ้มรส การหายใจ การมีเพศสัมพันธ์และการเข้าสังคม ดังนั้นอย่าคิดว่ามีแฟนคนเดียว จะหนีรอดพ้นจากความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก ทุกคนมีโอกาสเสี่ยงได้”  ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าว

ศ.พญ. ธันยวีร์ ภูธนกิจ

ไข้เลือดออกเป็นอีกหนึ่งโรคยอดนิยมที่เป็นได้ทุกเพศทุกวัย ศ.พญ. ธันยวีร์ ภูธนกิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พบผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับปีนี้จะพบผู้ป่วยไข้เลือดออกมากกว่าถึง 130,000 ราย ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะมาก โดยพื้นที่กรุงเทพฯ พบกว่า 10,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตจำนวนแล้วกว่า 130 ราย  เพราะโรคนี้สามารถพบได้ทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะในวัยประถมอายุ 5-14 ปี  วัยมัธยมอายุ 15-24 ปี และวัยผู้ใหญ่ตอนต้นที่เริ่มทำงาน

รู้จักไข้เลือดออก ศ.พญ. ธันยวีร์ อธิบายว่า ไข้เลือดออกเกิดจากไวรัสเดงกี มี 4 สายพันธุ์  โดยในประเทศไทยจะพบมากสุดคือสายพันธุ์ที่ 1 และ 2 แต่ในบางช่วงไวรัสมีการพัฒนาทำให้ผู้ป่วยเป็นสายพันธุ์ที่ 3 และ 4 ได้ ซึ่งผู้ที่เคยเป็นแล้วก็เป็นซ้ำอีกได้ โดยอาการของไข้เลือดคือ ปวดหัว มีผื่น เบื่ออาหาร ปวดข้อ กระดูก ท้องเสีย และหากไข้สูง 3-4 วัน ควรได้รับการตรรวจรักษา และในช่วง 4-7 วัน เป็นช่วงระยะอันตราย เพราะอาจจะเกิดภาวะเกร็ดเลือดต่ำ มีไข้เลือดออกทำให้เลือดออกในอวัยวะที่สำคัญ หรือส่งผลให้ตับวาย ไตวาย สาเหตุของการเสียชีวิต ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสเดงกี เป็นการรักษาไปตามอาการและให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผ่านช่วงระยะอันตราย  

 ศ.พญ. ธันยวีร์ เน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญคือการป้องกันตัวเอง ด้วยการรับวัคซีน โดยประเทศไทยมีวัคซีนไข้เลือดออก 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดที่มีแกนหลักเป็นไข้เหลือง เป็นวัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิตอ่อนฤทธิ์ มีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกทุกสายพันธุ์ 65% และป้องกันการนอนโรงพยาบาล 80% และชนิดที่มีแกนหลักเป็นไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 2 เป็นวัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิตอ่อนฤทธิ์  มีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกทุกสายพันธุ์ 80% และป้องกันการนอนโรงพยาบาล 90% และสามารถฉีดได้ทุกเพศทุกวัย แต่ควรหลีกเลี่ยงในกรณีที่แพ้วัคซีน หรือภูมิคุ้มกันต่ำ รวมถึงในหญิงตั้งครรภ์ ทั้งนี้การติดเชื้อครั้งที่ 2 จะรุนแรงที่สุด ดังนั้นควรรับวัคซีนทั้งในกรณีที่เคยเป็น และไม่เคยเป็นไข้เลือดออก

นพ. วีรวัฒน์ มโนสุทธิ

โรคงูสวัด เชื้อที่ส่งต่อมาจากอีสุกอีใส นพ. วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า  ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี ในจำนวนนี้ 9 ใน 10 คน มีเชื้องูสวัดอยู่ในร่างกาย ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใส หลายคนที่เคยเป็นอีสุกอีใสในตอนเด็ก หรือในวัยเรียน  อาจจะสบายใจว่าเชื้อสงบลงแล้ว  แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาจจะ 10-20 ปี สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ภูมิต้านทานลดลงและเชื้อที่สงบแท้จริงเชื้อไม่ได้หายไปไหน แต่ไปซ่อนอยู่ที่ปมประสาทโดยที่เราไม่รู้ตัว ทำให้มีโอกาสที่ไวรัสจะสามารถกลับมาอีกครั้งโดยการพัฒนาเป็นเชื้องูสวัด

นพ. วีรวัฒน์ บอกว่าอาการของโรคงูสวัดจะมีผื่นและตุ่มน้ำใสเหมือนกับอีสุกอีใส แต่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน คือ เกิดเป็นแผลในชั้นผิวหนังแท้ เมื่อหายแล้วจะเกิดแผลเป็นตามบริเวณร่างกายที่เป็น นอกจากนี้ยังมีอาการปวดตามเส้นประสาทรุนแรงที่อาจจะมากกว่าการคลอดบุตรนานเป็นเดือน-ปี หรืองูสวัดขึ้นตา ส่งผลให้กระจกตาอักเสบ ทำให้เกิดแผลเป็นกระจกตากลายเป็นสีขาว ส่งผลต่อการมองเห็น และยังสามารถก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ ที่เป็นภาวะอันตรายและรุนแรง

กลุ่มที่ควรเฝ้าระวังและสังเกตอาการ นพ. วีรวัฒน์ กล่าวว่า กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มคนอายุที่มากกว่า 50 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะคนที่มีโรคร่วม เช่น โรคเบาหวาน โรคไต เป็นต้น และกลุ่มผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับยากดภูมิ ยาเคมีบำบัด เช่น ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ กลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง โรคแพ้ภูมิตัวเอง ดังนั้นวัคซีนจึงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันงูสวัด จากเดิมมีวัคซีนชนิดเก่า ชนิดเชื้อเป็น จะไม่สามารถใช้ในกลุ่มเสี่ยงได้ และประสิทธิภาพลดลงตามเวลา ปัจจุบันมีวัคซีนชนิดใหม่ ที่ไม่ใช่ชนิดเชื้อเป็น ซึ่งสามารถใช้ได้ในกลุ่มเสี่ยง มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคและภาวะแทรกซ้อนระยะยาวนานถึง 10 ปี โดยจะต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 2-6 เดือน ดังนั้นกลุ่มที่ควรได้เข้ารับวัคซีนงูสวัดมากที่สุดคือ กลุ่มเสี่ยง .

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอยง’ สะท้อนความรู้สึกโควิด-19 ปีที่ 2 'ยุ่งเหยิง-ดราม่าวัคซีน-เซียนคีย์บอร์ด'

หลังการระบาดใหญ่ทั่วโลก ในปีแรก ทุกคนมุ่งหวัง ที่จะยุติการระบาดด้วยวัคซีน จึงมีการผลิตคิดค้นวัคซีนกันมากมาย มากกว่า 10 platform

'คารม' บอกรัฐบาลเฝ้าระวังโรคไอกรนใกล้ชิดผู้ปกครองไม่ต้องห่วง

'คารม' เผยรัฐบาลร่วมบูรณาการเฝ้าระวังโรคไอกรนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในโรงเรียน เน้นย้ำเฝ้าระวัง ติดตามอย่างเข้มงวด ป้องกันการแพร่ระบาด ขอผู้ปกครองอย่าเป็นกังวล