อัพเดท'วัคซีน' มีประเภทไหนบ้าง?ที่เด็กควรได้รับ หลังโควิด

วัคซีนเป็นเครื่องมือทางสาธารณสุข ที่มีความสำคัญต่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และช่วยลดอัตราการป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนลดลง สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า การฉีดวัคซีนสามารถป้องกันการเสียชีวิตของผู้คนได้ประมาณ 3.5-5 ล้านคนทั่วโลกจากโรคภัยต่างๆ ในแต่ละปี

สำหรับประเทศไทย มีแผนการดำเนินงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ให้วัคซีนแก่เด็กกลุ่มเป้าหมายที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกคนตามสิทธิประโยชน์พื้นฐาน โดยมีวัคซีน 11 ชนิด ป้องกัน 13 โรค  แต่หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด19 การเข้ารับวัคซีนมีจำนวนลดลง จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขพบว่า การเข้ารับวัคซีนในเด็กลดลงถึง 20% หากความครอบคลุมวัคซีนในโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดอาจทำให้โรคหวนกลับมาระบาดอีกครั้ง

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และหน่วยงานเครือข่ายจึงได้จัดกิจกรรมวันแห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก 2566  ภายใต้แนวคิด “รวมพลังสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรค: การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคตลอดชีวิต (Lifetime immunization) เมื่อวัคซีนสำคัญสำหรับทุกช่วงวัย” เปิดเวทีเสวนา VaxTalk Venue Lifetime Immunization #ฉีดให้ครบจบโรคร้าย โดยมีการชี้ให้เห็นถึงแนวทางการใช้วัคซีนในเด็กที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันโรค อาทิ ไข้หวัดใหญ่ โปลิโอ ไอพีดี (IPD) และโควิด19

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์  ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่และสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ว่า ไข้หวัดใหญ่ตอนช่วงโควิด-19 หายไปเกือบหมด แต่หลังจากที่สถานการณ์คลี่คลาย ผู้คนเริ่มลดการใส่หน้าอนามัย ทำให้โรคไข้หวัดใหญ่มีโอกาสที่จะกลับมาใหม่ อย่างที่เห็นในกลุ่มเด็กนักเรียนมีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จำนวนมาก รวมไปถึงกลุ่มวัยทำงาน หรือในกลุ่มผู้สูงอายุด้วย ซึ่งจากข้อมูลโรคไข้หวัดใหญ่ย้อนหลังไป 6 ปี ก่อนยุคโควิด-19 จะพบว่าส่วนใหญ่แล้วเด็ก คือกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด จึงมีการส่งเสริมให้ฉีดวัคซีนในเด็กตั้งแต่อายุ 6เดือน -2 ปี  ซึ่งในปีนี้ได้มีการขยายช่วงอายุการรับวัคซีนเป็นจาก 2ปี ไปถึง  5 ปี แต่ส่วนตัวมองว่ายังเกาไม่ถูกที่คัน เพราะต้องเจาะไปที่กลุ่มเด็กที่อายุมากกว่า 5 ปี จนถึงกลุ่มวัยรุ่น เพราะเชื่อว่าสามารถแพร่ระบาดได้ในโรงเรียน และตั้งแต่โควิด-19 ทำให้ภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัดใหญ่ลดลง  ทำให้ไข้หวัดใหญ่กลับมาแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่แค่ในเด็กแต่ยังรวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ หากได้รับเชื้อก็จะมีอาการรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นเด็กคือ กลุ่มเสี่ยงเป็น แต่ผู้สูงอายุคือ กลุ่มเสี่ยงตาย

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวต่อว่า โดยการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ ก็จะมีช่วงฤดู เช่น ในประเทศซีกโลกเหนือ ยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่น จะพบมากในช่วงฤดูหนาว เดือนตุลาคม-มกราคม พอช่วงฤดูร้อน พฤษภาคม-กรกฎาคม ไข้หวัดใหญ่จะไม่มี แต่ปีนี้พิเศษเพราะในญี่ปุ่น หรืออเมริกา ยังพบการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ เหตุจากสถานการณ์โควิด เช่นเดียวกับประเทศไทยที่จะพบมากในช่วงฤดูฝน แต่หลังจากโควิด คาดว่าจะมีการแพร่ระบาดที่ขยายวงกว้างและรุนแรงกว่าเดิม ดังนั้น ในแนวทางการป้องกันคือ การฉีดวัคซีน ที่มีความคุ้มค่า และคุ้มทุนมากที่สุด สามารถฉีดได้ทุกช่วงอายุ แต่ขณะนี้ภาครัฐได้เน้นที่กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็ก กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว และกลุ่มผู้สูงอายุ

“หลายคนยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ หรือ 4 สายพันธุ์ ดีกว่า คำตอบคือ ฉีดได้ทั้งคู่ทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดฟรี หรือฉีดแบบชำระค่าบริการ เพราะวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์หรือ4สายพันธุ์ มีความปลอดภัยเท่ากัน ป้องกันโรคเท่ากัน แต่หากฉีดแบบ 4 สายพันธุ์ ก็สามารถป้องกันได้ในกรณีที่มีการแพร่บาด แต่ส่วนตัวมองว่า 4 สายพันธุ์อาจจะไม่เกิดการระบาด ทั้งนี้ต้องศึกษาเพิ่มเติม ครึ่งปี -1 ปี ส่วนกลุ่มที่ต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2 เข็ม คือ 1.เด็กที่อายุต่ำกว่า 9 ปี ที่ได้รับวัคซีนปีแรก และ2.กลุ่มที่มีระบบภูมิคุ้มกันเสีย เช่น โรคไตวายเรื้อรัง กลุ่มกินยากดภูมิ หรือกลุ่มที่มีการฉายแสงรักษามะเร็ง ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ด้วย นอกจากนี้ยังมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด HD ที่ใช้สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้มีประวัติแพ้ไข่ สามารถฉีดได้แล้ว การวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เพียงเข็มเดียว ยังสามารถป้องกันโรคหัวใจวาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคสโตรกได้อีกด้วย” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

อีกโรคที่ต้องฉีดวัคซีน รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่าคือ โรคโปลิโอ  ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มไม่แสดงอาการใดๆ พบมากกว่า 95% ของผู้ติดเชื้อ กลุ่มที่แสดงอาการเล็กน้อย หรือแสดงอาการคล้ายกับโรคหวัด กลุ่มอาการเยื้อหุ้มสมองอักเสบ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ปวดบริเวณต้นคอ คอแข็ง อ่อนเพลีย เป็นต้น พบ 1-2% แต่กลุ่มที่รุนแรงคือ กลุ่มอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ภาวะอัมพาตเฉียบพลัน อาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือถาวร ซึ่งส่วนที่ขาลีบ จะเป็นอาการถาวร  ที่พบมากถึง 1 ใน 500-1,000 ของผู้ติดเชื้อ  

ในกลุ่มเด็กควรได้รับวัคซีนโปลิโอ ปัจจุบันมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดกิน(OPV) ประกอบด้วย 2 สายพันธุ์ คือ 1 และ 3 ส่วนชนิดฉีด(IPV) ประกอบด้วย 3 สายพันธุ์ 1,2 และ3 โดยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมคม 2566 ทางกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้มีการนำร่องฉีดวัคซีนโปลิโอ สูตร 2IPV+3OPV คือ รับแบบ IPV จำนวน 2 เข็ม เมื่อเด็กอายุ 2 เดือน และ 4 เดือน จากนั้นรับแบบ OPV 3 ครั้ง เมื่อเด็กอายุ 6 เดือน 1 ปี 6 เดือน และ 4 ปีซึ่งปัจจุบัน OPV จะไม่มีสายพันธุ์ 2 เพราะไม่มีการระบาดมานานแล้ว และด้วยราคาถูก ดี และใช้งานง่าย แต่ก็มีข้อเสีย คือ อาจจะเกิด VAPP ลักษณะอาการคล้ายโปลิโอประมาณ 1-3 ราย ดังนั้นจึงต้องมีการใช้แบบ IPV ก่อน แต่มีราคาที่แพงกว่าข้อดีไม่เกิด VAPP ครอบคลุมเชื้อทั้ง 3 สายพันธุ์ ซึ่งในอนาคตการใช้แบบ OPV คงยกเลิกในอีก 10ปี หรือ15ปี และหากมีการระบาดจะต้องมีนำแบบ OPV มาใช้ในการปูพรมก่อน

อีกโรคที่มีความรุนแรงในเด็ก คือ โรคไอพีดี เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า นิวโมคอคคัส รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี อธิบายว่า เชื้อนิวโมคอคคัส  อาศัยหรือเกาะอยู่ที่ลำคอของทุกคน ซึ่งมีเด็กทั่วโลกที่อายุต่ำกว่า 5 ปี  เสียจากโรคนี้ถึงกว่า 300,000 ราย แต่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนที่สูงที่สุดในเด็กถึง 400,000 ราย โดยเชื้อนิวโมคอคคัสหากมีการแพร่เชื้อไปตามส่วนของร่างกายจะก่อให้เกิด แก้วหูอักเสบ เยื้อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสโลหิต และปอดอักเสบ ซึ่งเป็นต้นเหตุของ 3 โรคอันตราย ได้แก่ โรคไอพดี โรคปอดบวม และโรคหูชั้นกลางอักเสบ

แนวทางการใช้วัคซีนไอพีดี รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า เชื้อนิวโมคอคคัสยังสามารถถ่ายทอดเชื้อจากพ่อแม่ หรือผู้ปกครองสู่ลูกได้ อาการส่วนใหญ่ในเด็กจะพบว่าเกิดอาการแก้วหูอักเสบ ส่วนผู้ใหญ่จะพบอาการของโรคปอดอักเสบถึง 75%  ดังนั้น วัคซีนสามารถช่วยป้องกันได้ โดยมีประสิทธิภาพป้องกันในเด็ก สามารถป้องกันโรคหูชั้นกลางอีกเสบได้ถึง 40-85% ส่วนผู้ใหญ่สามารถป้องกันได้ดีถึง 73 % ซึ่งวัคซีนไอพีดี ขณะนี้มีทั้งหมด 5 ชนิด ที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย  แบ่งเป็น 10 สายพันธุ์ของอินเดียและตะวันตก  13 สายพันธุ์ของจีนและตะวันตก  15 สายพันธุ์ของตะวันตก  แต่ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการพิจารณาการเลือกชนิดเพื่อนำมาใช้และบรรจุในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กไทย แต่ในหลายประเทศทั่วโลกมีการให้บริการฉีดฟรีในช่วงเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ.2566 เป็นต้นมา โดยยังเหลือประเทศไทย ที่คาดว่าจะได้ฉีดในเด็กเร็วๆนี้  และประเทศจีน แต่จีนกำลังจะสร้างวัคซีนชนิดนี้ขึ้นมาเองด้วย

ด้าน ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศูนย์เด็ก โรงพยาบาลศิริราชฯ  ได้กล่าวถึงความสำคัญของการรับวัคซีนในเด็กเล็กว่า โควิด 19อันตรายในเด็กเล็กที่ติดเชื้อโดยยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ก่อให้เกิดภาวะที่ตามมาคือ โรคมิซซี(MIS-C) รุนแรงหรือLong COVID หายช้า ซึ่งในเด็กเล็กอาจจะส่งผลต่อพัฒนาการได้ โดยภาวะมิซซีจะมีอาการอักเสบในร่างกายตามระบบอวัยวะอย่างน้อย 2 ระบบขึ้นไป เช่น ระบบผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและระบบอื่นๆ เช่น ระบบไต ระบบประสาท ระบบหายใจ เป็นต้น ซึ่งอาการที่พบนอกจากการมีไข้ ยังมีอาการปวดท้องถึง 66.5% อาเจียน 64.3% ผื่น 55.6% ท้องร่วง 53.7% และเยื่อบุตาขาวแดง 53.6% ซึ่งการเสียชีวิตของเด็กจากโควิด-19 ที่ปอดอักเสบรุนแรงในปี 2563-2566 มากที่สุด 54% อยู่ในกลุ่มเด็กเล็กที่อยู่ต่ำกว่า 1 ปี  และเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน

“ดังนั้นหากฉีดวัคซีนในเด็ก อายุ 0-4 ปี จากการศึกษาในอเมริกา จะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 70% มีประสิทธิภาพป้องกันอยู่ได้ประมาณ 3-4 เดือน แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อน อย่างภาวะมิซซีได้มากถึง 90% ทั้งนี้ที่สำคัญการฉีดวัคซีนในแม่ช่วงหลัง 20 สัปดาห์ จะช่วยป้องกันทารกป่วยหนักวิกฤตในทารก 6 เดือนแรกได้ 60% หรือถ้าฉีดก่อนจะสามารถป้องกันได้ 38% ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการให้เด็กได้รับวัคซีนก่อนที่จะได้รับเชื้อโควิด-19” ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าว


เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'คารม' บอกรัฐบาลเฝ้าระวังโรคไอกรนใกล้ชิดผู้ปกครองไม่ต้องห่วง

'คารม' เผยรัฐบาลร่วมบูรณาการเฝ้าระวังโรคไอกรนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในโรงเรียน เน้นย้ำเฝ้าระวัง ติดตามอย่างเข้มงวด ป้องกันการแพร่ระบาด ขอผู้ปกครองอย่าเป็นกังวล

โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’  ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้

เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป