ปลายฝนต้นหนาวประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝุ่น หลายพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และภาคเหนือ เผชิญปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สำหรับ 8 จังหวัดภาคเหนือเป็นฤดูไฟป่าและหมอกควัน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชาขน
จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ เพียงระยะเริ่มต้นของฤดูไฟป่า ในช่วงวันที่ 1 ม.ค. ถึง 15 ก.พ2566. มีจุดความร้อนเกิดขึ้น 18,988 จุด ในภาคเหนือ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 118% จากปีก่อน เมื่อเข้าสู่เดือนมี.ค. มลพิษทางอากาศเริ่มไต่ระดับขึ้นจนเกินขีดจำกัดความปลอดภัยต่อสุขภาพ ตั้งแต่ 1 ถึง 10 เท่าขึ้นไป
ระดับความเข้มข้นสูงสุดถูกบันทึกไว้ที่ 537 มคก./ลบ.ม. วันที่ 27 มี.ค. 2566 ที่ อ.แม่สายชายแดน จ.เชียงราย มากกว่าระดับมาตรฐานปลอดภัยที่ WHO แนะนำ ถึง 35 เท่า
เมื่อสิ้นสุดฤดูไฟป่า คพ. ระบุว่า ระดับความเข้มข้นเฉลี่ย 24 ชม. ของ PM2.5 ในภาคเหนืออยู่ที่ 63 มคก.ลบ.ม. หรือเพิ่มขึ้น 110% จาก 30 มคก./ลบ.ม. ของปีที่แล้ว จำนวนวันที่มีฝุ่นพิษเกินขีดจำกัดปลอดภัยอยู่ที่ 112 วัน หรือเพิ่มขึ้น 60% จาก 70 วันของปีที่แล้ว สาเหตุล้วนมาจากกิจกรรมและฝีมือมนุษย์
ในเวทีเสวนา Dialogue Forum 4 l Year 4: ถอดบทเรียนวิกฤติ PM2.5 และอนาคตอากาศสะอาดของประเทศไทย บัณรส บัวคลี่ ที่ปรึกษาเครือข่ายสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า ปี 50 ครม.สุรยุทธ จุลานนท์ ออกมาตรการแก้วิกฤตปัญหาหมอกควันภาคเหนือ จากนั้นเข้า ครม.ทุกปี ปี 58 สังคมตื่นขึ้นมาจากภาพดอยหัวโล้นที่น่าน GISTDA เริ่มรายงานจุดความร้อน ปี 59 แอปค่า PM2.5 ได้รับความนิยม ปี 62 ปัญหามลพิษฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ ปี63 กรมควบคุมมลพิษรายงานค่า PM2.5 และสภาลมหายใจเชียงใหม่ ภาคเหนือก่อตั้งขึ้นปี 64 เพื่อกดดันรัฐแก้ปัญหา เกิดแอป FireD จุดเปลี่ยน ปี 65 เกิดคณะกรรมการไฟแปลงใหญ่ ทำบิ๊กดาต้า ปี 66 เกิดมาตรฐานใหม่ฝุ่น PM2.5 GISTDA รายงานจุดความร้อนซ้ำซาก ยุคแรกฝุ่นซุกใต้พรม ฉีดน้ำขึ้นฟ้า 8 ปีหลังมานี้สังคมตื่นมีความพยายามแก้ปัญหา มีมาตรการใหม่ๆ แต่ยังไม่สำเร็จ
บัณรส ให้ข้อมูลด้วยว่า จุดความร้อนเดือนมีนาคม ปี 66 ไทยแตกต่างจากเพื่อนบ้าน มีไฟรอบกลางคืนมากกว่าไฟรอบกลางวัน เป็นไฟนอกการควบคุม เป็นไฟลักลอบ ลามไปเรื่อย นอกเหนือจากสถิติจุดความร้อน สถิติปี 63 เชียงใหม่มีจุดความร้อน 2 หมื่นกว่าจุด ลำปาง 7 พันจุด แต่พบพื้นที่เผาไหม้ 1 ล้านกว่าไร่ เท่ากัน ตัวชี้วัดจุดความร้อนจึงไม่พอ ต้องดูพฤติกรรมและความรุนแรงปัญหา
นอกจากนี้ พื้นที่เกิดไฟซ้ำซาก ระหว่างปี 53-62 เป็นป่า 65% เกษตร 32% ในจำนวนนี้นาข้าวมากสุด รองลงมาข้าวโพด และอ้อย ข้อมูล GISTDA ปี 66 ยังชี้พื้นที่เผาไหม้ทั้งประเทศ เป็นป่า 64.9% เกษตร 33% สะท้อนสัดส่วนการไหม้ไม่เปลี่ยนแปลงเลย แต่แตกต่างจากปัจจัยผันแปรจากภูมิอากาศ ปีลาณีญาไฟน้อย เพราะฝนมาก ภูมิประเทศ ตั้งแต่วาระแห่งชาติฝุ่นพิษ เกษตรมีวาระแก้เผาภาคเกษตร แต่สัดส่วนพื้นที่เกษตรเผาไหม้ไม่ลดลงเลย ไหม้ซ้ำซาก ต้องยกระดับจากมาตรการที่ไม่สำเร็จ พื้นที่เกษตรมีเจ้าของ ทำไม่ลดไม่ได้ นี่เป็นโจทย์ใหญ่ต้องทำ
“ คนในพื้นที่อยู่กับปัญหามายาวนานเกิน 17 ปี ทุกๆ ปีแต่ละหน่วยงานรัฐ จังหวัด ถอดบทเรียน แต่ไม่ถูกหยิบมาใข้เพื่อแก้ อย่างปัญหาการถ่ายโอนภารกิจจากกรมป่าไม้ไปให้ อปท. แต่ อปท. ไม่มีงบดำเนินการ กำลังก็ขาด ชาวบ้านยังมีความเชื่อต้องเผาขยายวง จะทำอยางไรไม่ให้เกิดซ้ำรอย เป็นโจทย์ที่ท้าทายและอยากเห็นจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ขณะนี้มีรัฐบาลใหม่ มีข้อมูลแตกต่างจากเดิม เมื่อมาประมวลจะกลายเป็นความรู้ใหม่ เป็นจุดเปลี่ยนรักษาโรคเรื้อรังด้วยวิธีการใหม่ๆ ได้ “บัณรส ย้ำ พร้อมระบุการบริหารจัดการไฟภายใต้วิกฤตฝุ่นควัน คือ การร่วมกันใช้ไฟเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและนิเวศสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด กล่าวว่า รัฐบาลเศรษฐายังชี้ว่า PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ ต้องแก้ โดยใช้แรงจูงใจด้านเศรษฐกิจ ฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น “บนยอดภูเขาน้ำแข็ง” ที่สะท้อนปัญหาเชิงระบบโครงสร้าง 3 เรื่องใหญ่ที่ต้องแก้ไข คือ 1.ระบบการทำงานการบริหารของภาครัฐ ตั้งแต่ระบบแผน ระบบงบประมาณ กลไก การทำงานข้ามกรม ข้ามกระทรวง และปัญหาข้อจำกัดด้านกฎระเบียบของรัฐ 2.ปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร การเข้าถึงสิทธิในที่ดินทำกิน ทรัพยากรในป่า โดยเฉพาะความมั่นคงด้านสิทธิในที่ดินทำกิน รัฐบาลเดินมาถูกทาง 3.ต้องแก้ปัญหาการกำกับระบบตลาดเสรี โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม ที่ปล่อยให้ข้าวโพดเกิดการขยายขึ้นไปบนพื้นที่ป่าต้นน้ำ พื้นที่สูง และเข้าไปในพื้นที่ป่า เป็นความล้มเหลวของกลไกตลาดที่ไม่มีกฎกติกาเข้ามากำกับ การแก้ฝุ่นพิษ PM2.5 จำเป็นต้องแก้เรื่องเหล่านี้ให้ได้
ส่วนสถานการณ์ปัญหาต้นปี 2566 พื้นที่เผาไหม้ทั้งหมด 9,811,805 ไร่ เป็นป่าเผาไหม้ 6.3 ล้านไร่ หรือ 64% จำนวนนี้มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีพื้นที่ป่าไฟไหม้มากสุด 10 อันดับแรก คืออุทยานแห่งชาติ (อช.) ศรีน่าน, อช.เขื่อนศรีนครินทร์, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (ขสป.) แม่ตื่น, อช.สาละวิน,ขสป.สาละวิน, ขสป.ลุ่มน้ำปาย, ขสป.แม่จริม, ขสป.สลักพระ, อช.ถ้ำผาไท และ อช.แม่ปิง มีงบทำแนวกันไฟ 9.3 ล้านบาท มีเจ้าหน้าที่ 79 คน ซึ่งรวมอสม. ที่ไม่มีสวัสดิการดุแล มีเครื่องเป่าลม 37 เครื่อง ไม่มีโดรน ดูแล 10 ป่าอนุรักษ์พื้นที่รวม 7,177,491 ไร่ ส่วนข้าวโพดและไร่หมุนเวียนขยับเป็น 14% จากเดิม 6% นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้าง
“ เฉพาะต้นปีนี้ป่าถูกไหม้ไป 3.3 ล้านไร่ คิดเป็น 46% ของพื้นที่อนุรักษ์ 10 พื้นที่นี้ ถ้าเทียบต้นทุนปลูกป่าทดแทน 11,690 บาทต่อไร่ สูญเสียต้นทุนแล้ว 3.8 หมื่นล้านบาท ไม่รวมท่องเที่ยว ผลกระทบสุขภาพ จนท.ตาย รัฐบาลต้องให้งบเงินดูแลมากกว่านี้ สิ่งเหล่านี้จะอยู่ในร่างกฎหมาย ” บัณฑูร บอก
ย้ำด้วยว่าปัญหาฝุ่น ทำไปแล้ว 70% แต่อีก 30% ทำไม่ทันทั้งในเชิงขนาดและความเท่าทันปัญหา นี่คือ โจทย์ทั้งร่างกฎหมาย ซึ่งอยากเร็วกฎหมายจะออกอย่างเร็วหนึ่งปีครึ่ง กระบวนแก้ปัญหาจึงสำคัญ
6 ข้อเสนอเพื่ออนาคตอากาศสะอาด ในส่วน 1.พื้นที่มุ่งเป้า 3 แห่ง 10 เป้าหมายพื้นที่เฝ้าระวัง ป้องกันเข้มข้น ป่าที่ไฟไหม้มากสุดปี 66 ไม่ให้เกิดไฟที่ลักลอบเผาในป่า รัฐหนุนงบ เจ้าหน้าที่ เครื่องมือป้องกัน ในช่วงฤดูฝุ่นนำกำลังเสริมมาจากพื้นที่อื่นที่ไม่มีไฟ ทำกติการ่วมกันรัฐกับชุมชน เรื่องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าอนุรักษ์ ตามม.65 ทำแนวกันคน แนวกันไฟ งบที่ต้องการ 74 ล้านบาท 2.ระบบงบประมาณเพื่อป้องกัน เผชิยเหตุ และฟื้นฟูเยียวยา ทั้งระยะเร่งด่วน ระยะเร่งรัด 3.ภาคเกษตรกร กรณีข้าวโพด ฤดูฝุ่นนี้สนุนจัดการเศษวัสดุเกษตรวิธีต่างๆ แทนเผา สร้างระบบรวบรวมขนส่งซังและต้นข้าวโพดไปยังโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในรัศมี 50 กม. ระยะต่อไปกระทรวงเกษตรกำหนดโซนนิ่งปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในที่ราบ และพื้นที่รองรับการปลูกข้าวโพดที่ลดลงในพื้นที่สูง ทำโครงการเปลี่ยนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สูงทั้งหมด กรณีนาข้าว อ้อย ก็เช่นกัน
4.การทำงานประสานเชื่อมโยงกับกระทรวงและคณะกรรมการตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงแนวทางแก้ปัญหาฝุ่นพิษ กำหนดมาตรการเพิ่มเติม รวมถึงมาตรการด้านเศรษฐศาสตร์ 5.มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไข ปรับปรุง กฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน รวมถึงจัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดการมลพิษทางอากาศ พ.ศ. … ขึ้นมาใหม่ ภายใน 2 เดือน เพื่อแก้ปัญหา และ 6. การสื่อสารสาธารณะ ระยะเร่งด่วน ก่อนเกิดสถานการณ์ ช่วงเกิดฝุ่นพิษ ควรมีช่องทางและรูปแบบสื่อสารพิเศษคล้ายที่ทำช่วงโควิด รวมถึงเปลี่ยนการประกาศกำหนดช่วงเวลาห้ามเผาเด็ดขาด มาเป็นกำหนดช่วงเวลาควบคุมคุณภาพอากาศเข้มข้น และใช้ระบบแจ้งเตือนค่าฝุ่นผ่านสมาร์ทโฟน แก่คนในพื้นที่ค่าฝุ่นกระทบสุขภาพ
“ วาระแห่งชาติฝุ่นพิษ PM2.5 ร่วมกัน เราแก้ได้ สู่เป้าหมายป่าไม้ นาข้าว ข้าวโพดเผาไหม้ลดลง ปริมาณ Pm2.5 ลดลง จำนวนวันอากาศสะอาดขึ้น “ ดร.บัณฑูรกล่าว
นี่คือสถานการณ์และตัวการมลพิษฝุ่นที่ผ่านการถอดบทเรียน และนำเสนอแนวทางบริหารจัดการบรรเทาปัญหาฤดูฝุ่น 2566 – 2567 และเพื่ออนาคตมีอากาศสะอาดหายใจร่วมกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตรียมรับมือหมอกควัน-ฝุ่นพิษ 2568
ใกล้จะเข้าสู่ฤดูกาลฝุ่นช่วงเวลาที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะเริ่มสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินช่วงหลังวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีฝนที่ลดลง และจะมีมวลอากาศเย็นแผ่เข้ามาบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
ทอ. ส่งเครื่องบินบีที-67 ทิ้งน้ำ 3 พันลิตร แนวไฟไหม้วิกฤตภาคเหนือ
กองทัพอากาศ ได้เผยแพร่ข้อมูล สนับสนุนภารกิจการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ (SEE & STRIKE ) โดยส่งอากาศยาน AU-23 PEACE MAKER (Sensor)
รัฐบาลซัดกลับ 'พิธา' ไม่รู้กาลเทศะ จ้องด้อยค่านายกฯ
'รองโฆษกรัฐบาล' ย้ำชัดรัฐบาลมีแผนป้องกันภัยชัดเจน ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติต้องรอบคอบ โต้กลับ 'พิธา' ไม่รู้กาลเทศะ จ้องด้อยค่านายกฯ ดิสเครดิต รบ.
การันตี 'ทักษิณ' โรดโชว์เชียงใหม่ ทำตามระเบียบพักโทษเป๊ะ!
'สมศักดิ์' ชี้ 'ทักษิณ' ไปเชียงใหม่ทำตามระเบียบราชทัณฑ์ อ้างปกติกรณีพักโทษ ไม่มีคิวรวมก๊วน สส. พบนายใหญ่ ขอแล้วยังไร้สัญญาณตอบรับ
5 พื้นที่จมฝุ่นเดินหน้า'เขตมลพิษต่ำ'
สัปดาห์ที่ผ่านมาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกรุงเทพฯ ถือว่าเกินค่ามาตรฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพสูงสุดในรอบปี หลายเขตค่าฝุ่นถึงระดับวิกฤตทะลุ 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภาพรวมทุกเขตใน กทม. อ่วมจากฝุ่นปกคลุม แม้ตอนนี้ชาว กทม. พอหายใจหายคอให้สะดวกขึ้น