ทะลวงปัญหา'เด็กเกิดน้อย' เกิดไม่ได้ เกิดไม่พร้อม โตไม่ดี

น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ

ประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงวัย ลึกขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับสถานการณ์การเกิดของเด็กที่ลดลงจนน่าวิตก โดยมีการประมาณการว่า อัตราการเกิดที่มีแนวโน้มลดลงนี้ จะมีผลทำให้ประชากรไทยลดลงเหลือ 33ล้านคนในอีก50-60ปีข้างหน้า การลดลงของประชากรเกิดใหม่ กับการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ ย่อมส่งผลกระทบหลายด้าน ในเชิงเศรษฐกิจทำให้รัฐมีภาระในการดูแลผู้สูงอายุจำนวนมาก พร้อมๆกับการขาดแคลนคนวัยแรงงาน ที่ไม่เพียงพอกับการป้อนภาคธุรกิจต่างๆ  

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งเกาะติดปัญหาพลเมืองสูงวัยที่เพิ่มจำนวนขึ้น และอัตราการกิดที่ลดลงจนไม่สามารถชดเชยกับอัตรการเสียชีวิตได้  จึงได้เปิดพื้นที่กลางให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ระดมความคิดเห็น-นานาข้อเสนอแนวทางส่งเสริม-พัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ ก่อนจะชงเข้าสู่การพิจารณาในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 เพื่อใช้เป็นนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม สนับสนุนการแก้ไขปัญหา ‘เด็กเกิดน้อย’ สอดรับวาระแห่งชาติที่รัฐบาลเตรียมประกาศ

น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาประเด็นการส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ เปิดเผยว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ประชากรเด็กและวัยแรงงานจะลดลง ซึ่งในแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาวที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2565 ก็ได้มีการระบุถึงการส่งเสริมให้สังคมมีการเกิดดี อยู่ดี แก่ดี และตายดี ด้วย  ทั้งนี้ การส่งเสริมให้เกิดหรือเพิ่มประชากรจะต้องคำนึงถึงการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ สร้างระบบที่ดีและเอื้อต่อการเลี้ยงดูเด็กเพื่อยกระดับประชากรให้เติบโตเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีระบบที่ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงทางการเงิน เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมในสังคมที่ดี และเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยสูงอายุ ก็มีระบบการดูแลที่ดีไปจนกระทั่งเสียชีวิต ทั้งหมดนี้นำมาสู่ความจำเป็นในการจัดทำนโยบายสาธารณะฯ ที่ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อน

น.ส.ภัทรพร เล้าวงค์

น.ส.ภัทรพร เล้าวงค์ คณะทำงานและเลขานุการคณะทำงานพัฒนาประเด็นฯ กล่าวว่า สถานการณ์ประชากรของประเทศไทยยังเต็มไปด้วยความท้าทาย ซึ่งสามารถแบ่งเป็น ‘ช่วงเกิด’ โดยพบว่าการเกิดลดลงเป็นอย่างมากในรอบ 6 ทศวรรษที่ผ่านมา และยังมีปัญหาการเกิดที่ไม่พร้อมและอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตลอดจนการเกิดไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ที่อยากมีบุตรแต่ร่างกายไม่เอื้อ และ ‘ช่วงเติบโต’ ซึ่งเด็กที่โตมาอย่างน้อยร้อยละ 15 ไม่ได้เข้าสู่บริการด้านสุขภาพหรือได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมเท่าที่ควรจะเป็น มีเด็กได้เกือบร้อยละ 25 มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า และยังพบปัญหาการตายก่อนวัยอันควร

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาในมิติอื่นๆ ทางสังคม เช่น ความสัมพันธ์และความรุนแรงในครอบครัว เด็กเร่ร่อนถูกทอดทิ้ง ผู้ปกครองขาดความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดู ขาดแคลนทรัพยากร-ครัวเรือนยากจน มีครัวเรือนตกหล่นจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ การจัดสวัสดิการดูแลบุตรในสถานประกอบการยังมีจำกัด ตลอดจนเรื่องความเท่าทันเทคโนโลยี

น.ส.ภัทรพร กล่าวต่อไปว่า โดยสรุปคณะทำงานพบว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่อง”เกิดไม่ได้ เกิดไม่พร้อม โตไม่ดี “ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้ดำเนินการแก้ปัญหาแล้ว แต่ก็ยังมีช่องว่างในการดำเนินงาน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 1. กลุ่มเปราะบางยังเป็นกลุ่มตกหล่นจากมาตรการต่างๆ ภาครัฐควรปรับปรุงรูปแบบการทำงานในเชิงรุกในการลงพื้นที่ เพื่อป้องกันการตกหล่นจากสวัสดิการ ตลอดจนควรมีมาตรการที่ครอบคลุมความต้องการของกลุ่มเศรษฐานะระดับกลาง 2. ความแตกต่างของปัญหาในแต่ละพื้นที่ ควรมีการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล วางแนวทางและพัฒนาโครงการที่มาจากบริบทพื้นที่ให้มากขึ้น ตลอดจนควรมีการวิเคราะห์ช่องว่างเชิงสมรรถนะของบุคลากรในพื้นที่


3. การจัดบริการที่มีคุณภาพยังไม่ครอบคลุม โดยพบว่าด้านคุณภาพบริการ มีสถานบริการที่เป็นมิตรกับวัยรุ่นและเยาวชนในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพียง 19% และนอกสังกัด สธ. เพียง 8% ส่วนการกำกับดูแล พบว่าไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลสถานบริการดูแลเด็กอ่อนและสถานสงเคราะห์ของเอกชน 4. สังคมขาดความตระหนักและการใช้ความรู้ที่ถูกต้องเป็นฐานในการพัฒนาเด็ก 5. การนำเทคโนโลยีมาใช้ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ

น.ส.ภัทรพร กล่าวอีกว่า ร่างมติสมัชชาสุขภาพฯ ในระเบียบวาระนี้จึงอยากให้มีกรอบทิศทางทางนโยบาย (Policy Statement) เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาประชากร ควรสร้างความตระหนักและแรงขับเคลื่อนทางสังคมที่ใหญ่มากพอ (MOMENTUM) ในระดับชาติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยเฉพาะ 3,000 วันแรกของชีวิต ทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่

นอกจากนี้ ควรมีมาตรการหนุนเสริมสำหรับกลุ่มและเป้าหมายพื้นที่เฉพาะที่ยังเป็นช่องว่างสำคัญ อาทิ กลุ่มครัวเรือนยากจน กลุ่มผู้ใช้แรงงานในโรงงานพื้นที่ที่มีอัตราการตั้งครรภ์ของแม่วัยรุ่นสูง กลุ่มผู้ปกครองที่ยังมีการเลี้ยงดูบุตรหลานอย่างไม่เหมาะสม กลุ่มเด็กที่มีปัญหาเฉพาะหรือถูกกลั่นแกล้ง บนพื้นฐานการจัดทำมาตรการในลักษณะมาตรการที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรอบด้าน (COMPREHENSIVE PACKAGE) มากกว่ามาตรการเชิงเดี่ยว

พร้อมกันนี้ ควรผลักดันมาตรการเชิงโครงสร้าง อาทิ การมีกลไกในพื้นที่ในการวางระบบการบริหารจัดการในลักษณะบูรณาการที่จะพัฒนาและสนับสนุนเด็กในมิติต่างๆ และลดทอนการบริหารจัดการแบบแยกส่วนภายใต้กระทรวงต่างๆ การปรับกฎหมาย-กฎระเบียบต่างๆ ที่เอื้อและสนับสนุนให้เอื้อต่อการสร้างครอบครัวสำหรับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกฎหมายด้านการทำงานและการลา การกำกับดูแลสถานพัฒนา-ดูแลเด็กให้มีคุณภาพ การประเมินผลการดำเนินโครงการขนาดใหญ่เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและแก้ปัญหาที่ตรงจุดยิ่งขึ้น การพัฒนางานวิจัยในลักษณะการวิจัยเชิงสำรวจระยะยาวให้มากขึ้น การพัฒนาแนวทางยกระดับการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกมิติ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันปรับปรุงข้อมูล-ตัวเลขสถิติให้ถูกต้อง และมีข้อเสนอต่อ Policy Statement ที่น่าสนใจ อาทิ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ที่เสนอว่า แผนและประเด็นที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนยังขาดจุดโฟกัสเรื่องสุขภาวะทางจิตซึ่งจะมีความสำคัญเรื่อยๆ ขณะเดียวกันควรมีการขับเคลื่อนคุณธรรมในเชิงพฤติกรรมในทุกกลุ่มวัย โดยปัจจุบันมีการจัดทำดัชนีชี้วัดไว้แล้ว ที่สำคัญคือทุกวันนี้ชุมชนมีความเปราะบาง จำเป็นต้องทำให้เกิด ‘ระบบพี่เลี้ยงในชุมชน’ ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนออื่นๆ ได้แก่ จัดทำ data center เกี่ยวกับเด็กในระดับประเทศที่แสดงผลในลักษณะแดชบอร์ด เพิ่มเรื่องพื้นที่เรียนรู้-พื้นที่เรียนเล่นที่ช่วยสร้างศักยภาพให้เด็กนอกห้องเรียน กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นดูแลเด็กภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน บัญญัติกฎหมายให้สถานประกอบการมีมุมนมแม่ จัดบริการสำหรับเด็กพิการและเด็กพิเศษ ดึงภาคธุรกิจเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาโดยรัฐสนับสนุนสิทธิประโยชน์ จัดตั้งสเปิร์มแบงก์ในระดับจังหวัดเพื่อสร้างประชากรใหม่ที่มีคุณภาพในระดับจังหวัด ใช้มาตรการภาษีกระตุ้น การเพิ่มวันลาและการได้รับค่าจ้าง สร้างความเข้าใจและตระหนักร่วมกันว่าการมีบุตรยากเป็นปัญหาของชาติ ใช้ยาแรงหรือมาตรการที่เข้มข้นในการจูงใจในลักษณะเดียวกับในต่างประเทศ เช่น ลาคลอด 200 วัน ฯลฯ

ทั้งนี้ คณะทำงานจะเปิดรับข้อเสนอไปจนถึงวันที่ 14 พ.ย. 2566 ส่วนความคิดเห็นและข้อเสนอจากการประชุมครั้งนี้ จะถูกนำไปสังเคราะห์และเพิ่มเติมใน ‘ร่างมติสมัชชาสุขภาพฯ’ ให้มีความชัดเจนและครบถ้วนขึ้น ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้งในเวทีสมัชชาเฉพาะประเด็น ในวันที่ 20 พ.ย. 2566 เพื่อให้มีความสมบูรณ์ และจะนำเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค. 2566 โดยในปีนี้ มีระเบียบวาระเข้าสู่การพิจารณารวม 3 ระเบียบวาระ ได้แก่ การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง และการส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บิ๊กตู่' ประชุมเคาะงบประมาณร่ายจ่ายปี 2567 นัดแรก

'บิ๊กตู่' นั่งหัวโต๊ะถกกำหนดวงเงินงบรายจ่าย 2567 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต ย้ำจะทำให้สถานะการเงินการคลังมีความมั่นคงในทุกๆด้าน

'ประยุทธ์' ยกรายงาน สศช.-IMF-ม.หอการค้า ตอกย้ำหลังเอเปกไทยมีสัญญาณเชิงบวกทางศก.ต่อเนื่อง

'ประยุทธ์' ย้ำหลังการประชุมเอเปก ประเทศไทยมีสัญญาณเชิงบวกทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทยประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แสดงศักยภาพของ'ทีมประเทศไทย'ได้อย่างดียิ่ง

'สุพัฒนพงษ์' ร่ายหลักเศรษฐศาสตร์แก้แพงทั้งแผ่นดิน!

'สุพัฒนพงษ์' กางตำราเศรษฐศาสตร์แก้ปัญหาแพงทั้งแผ่นดิน ระบุเป็นเรื่องชั่วคราว บอกประชาชนอย่าเฝ้ามองแค่สินค้าตัวใดตัวหนึ่ง ดูภาพรวมดีกว่า ชี้อาจเป้นผลดีสะท้อนว่าการบริโภคกระเตื้องขึ้น