'ถนนคนเดินวัวลาย' แหล่งรวมวิถีล้านนา

สายอาร์ตมาเชียงใหม่บอกเลยต้องมาถนนคนเดินวัวลาย ตอบโจทย์คนชอบเดินตลาดนัดกลางคืน ที่นี่เหมือนงานแฟร์ที่รวบรวมสินค้าพื้นเมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและอาหารท้องถิ่นไว้มากมาย แถมยังน่าเดิน ที่สำคัญสามารถเช็คอินอุโบสถเงินสวยๆ วัดศรีสุพรรณ บรรยากาศชิลๆ มีทั้งความร่วมสมัย และเต็มไปด้วยกลิ่นอายวัฒนธรรมล้านนา ที่สำคัญการเดินเที่ยวถนนคนเดินวัวลายยังมีความคึกคักยามราตรี ไม่ว่าจะเป็นจากจำนวนผู้คนที่ออกมาซื้อของหรือเดินเล่น เสียงเชิญชวนจากพ่อค้าแม่ขาย หรือเสียงเพลงของวงดนตรีล้านนา วงดนตรีเปิดหมวก ทำให้เป็นตลาดบกที่นิยมอย่างมาก

ตลาดวัฒนธรรมชุมชนวัดศรีสุพรรณ “กาดหมั้ว คัวเงิน คัวเขิน ชุมชนวัดศรีสุพรรณ ชุมชนวัดหมื่นสาร และชุมชนวัดนันทาราม” (ย่านวัวลาย) หรือที่รู้จักในชื่อว่า “ถนนคนเดินวัวลาย” อยู่ในเขตต.หายยา อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เป็นหนึ่งใน  10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย ประจำปี พ.ศ. 2566 ขับเคลื่อนโดยสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.)   โดยมี นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน การนี้  ผู้นำชุมชนวัดศรีสุพรรณ ชุมชนวัดหมื่นสาร และชุมชนวัดนันทาราม ผู้ขับเคลื่อนตลาด นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ ร่วมงาน เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา  

ลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดี สวธ. กล่าวว่า จากนโนบายการส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน อัตลักษณ์ไทย สู่เส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม : 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย ปีนี้คัดเลือกตลาดบกและตลาดน้ำที่มีศักยภาพและมีความพร้อม เพื่อส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ประชาชนจากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม สำหรับตลาดวัฒนธรรมชุมชนวัดศรีสุพรรณเป็นลำดับที่ 6 ได้เปิดตัวและดำเนินโครงการด้วยการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนให้พร้อมต่อการบริหารจัดการชุมชนและบริหารจัดการมรดกภูมิปัญญาที่มีอยู่ นำเสนออัตลักษณ์ของชุมชนให้สอดรับกับความต้องการของนักท่องเที่ยว และสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของการท่องเที่ยวโดยชุมชนและองค์กรเครือข่ายในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การบริการ  การบริหารจัดการองค์กร และแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนตามความเหมาะสมของบริบทพื้นที่

ด้าน วีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าฯ เชียงใหม่ กล่าวว่า ตลาดวัฒนธรรมชุมชนวัดศรีสุพรรณ จ.เชียงใหม่ จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2545 เป็นถนนทางเดินในลักษณะเป็นตลาดนัดกลางคืน ทั้งสองข้างทางมีทั้งร้านขายเครื่องเงิน เครื่องเขิน อาหาร สินค้าพื้นเมือง และของฝากของที่ระลึก ตลอดแนวทางเดินตั้งแต่แยกประตูเชียงใหม่จนถึงแยกประตูหายยา ถนนทิพย์เนตร เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ แขวงเม็งราย ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร และพื้นที่ปากทางจากถนนวัวลาย เข้าสู่วัดศรีสุพรรณ อุโบสถเงิน อีก 500 เมตร โดยมีวัดศรีสุพรรณเป็นศูนย์กลางจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ บูรณาการทางศิลปวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นกับการท่องเที่ยววิถีชุมชนเครื่องเงิน เครื่องเขิน ย่านวัวลาย  

​“ ตลาดวัฒนธรรมชุมชนวัดศรีสุพรรณ ย่านวัวลายได้รับเลือกจะเป็นการต่อยอดการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ให้เกิดความคึกคัก ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก ทั้งยังเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย ปลูกฝังให้แก่เยาวชน ประชาชนได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมนำไปสู่การอนุรักษ์สืบสาน โดยนำทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมจะส่งผลให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเกิดความมั่นคง ยั่งยืนได้ ” รองผู้ว่าฯ กล่าว

ตลาดวัฒนธรรมชุมชนวัดศรีสุพรรณนอกจากเป็นแหล่งช้อปปิ้งครบครันแล้ว ที่นี่รวมวิถีวัฒนธรรม อาทิ เครื่องเงิน เครื่องเขิน หัตถกรรมทอผ้า เครื่องประดับเครื่องเงิน ราคาไม่แพงจับต้องได้  เปิดให้บริการทุกวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 18.00 – 22.00 น.  สำหรับตลาดบกต่อไป ได้แก่  ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน อ.เมือง จ.น่าน ในวันที่ 12 พ.ย.  ตลาดเขมราษฎร์ธานี อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 18 พ.ย.  ตลาดตรอกโรงยา อ.เมือง จ.อุทัยธานี ในวันเสาร์ที่ 25 พ.ย. และปิดท้ายด้วย ตลาดเก่าหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ  ในวันอาทิตย์ที่ 26 พ.ย. นี้ เป็น 10 ตลาดบกที่เดินเพลิน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สัมผัส'คลองบางหลวง' ตลาดบกสานวัฒนธรรม

ชุมชนคลองบางหลวงยังคงเป็นชุมชมดั้งเดิมที่รักษาเอกลักษณ์วิถีชุมชนเห็นได้จากเรือนแถวไม้ค้าขายของสองฟากฝั่งถนนและเรือนแถวไม้จำหน่ายสินค้าต่าง ๆ แก่ผู้ที่มาท่องเที่ยวชื่นชมบรรยากาศริมคลอง ตั้ง

ปลุก’อาสาท้องถิ่น’ อนุรักษ์โบราณสถานมรดกล้านนา

จากสถานการณ์ภัยธรรมชาติ การขยายตัวของเมือง หรือแม้กระทั่งการลักลอบขุดของโบราณ  ทำให้เกิดผลกระทบต่อวัดเก่า เมืองเก่า โบราณสถานในหลายพื้นที่ การกระตุ้นให้คนในชุมชนตระหนักถึงปัญหาภัยอันตรายที่คุกคามต่อศิลปวัฒนธรรม ต้นเหตุของความสูญเสียมรดกของชาติ ต้องเดินหน้าอย่างจริงจัง

'กรมศิลป์' เก็บข้อมูลโบราณวัตถุล้ำค่า หลังเจดีย์เก่าแก่วัดศรีสุพรรณพังถล่ม

ทีมนักวิทยาศาสตร์​จากกลุ่มวิทยาศาสตร์​เพื่อการอนุรักษ์​ สำนักพิพิธภัณฑสถาน​แห่งชาติ​ และทีมภัณฑารักษ์​ จากพิพิธภัณฑสถาน​แห่งชาติ​เชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ 7 กรมศิลปากร​ ร่วมกันดำเนินการจัดทำทะเบียน​ อนุรักษ์​สภาพโบราณ​วัตถุ​ และทำการตรวจองค์ประกอบ​ของธาตุภายในเนื้อโลหะ​ (XRF)​ ของโบราณวัตถุ

ระทึก! พระธาตุเจดีย์วัดศรีสุพรรณ พังถล่มทั้งองค์ เจอกรุพระเก่าอายุกว่า 500 ปี

เกิดเหตุระทึก "องค์พระธาตุเจดีย์วัดศรีสุพรรณ" พระธาตุเก่าแก่ อายุกว่า 500 ปี บริเวณวัดศรีสุพรรณ ถนนวัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่​กลางเมืองเชียงใหม่ พังถล่มลงมาต่อหน้าหลังจากเจ้าหน้าที่​สำนัก​ศิลปากร​ที่ 7 กรมศิลปากร​