เด็กไทยคว้าที่ 3 ศึกเขียนโปรแกรม ควบคุมหุ่นยนต์ ผู้ช่วยนักบินอวกาศ NASA

เยาวชนตัวแทนประเทศไทย ‘ทีมกาแล็กติก 4’ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT)มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลอันดับ 3 จากการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์แอสโตรบี (Astrobee) ผู้ช่วยนักบินอวกาศของNASA ที่ปฏิบัติงานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ในโครงการคิโบะ โรบอต โปรแกรมมิง ชาเลนจ์ ครั้งที่ 4 (The4 th Kibo Robot Programming Challenge) ซึ่งมีตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันจาก 10 ประเทศ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรดำเนินการจัดแข่งขันโครงการ The 4 th Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์ประเทศไทยโดยทีมกาแล็กติก 4 (Galactic 4) เป็นทีมชนะเลิศและเป็นทีมตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันในรอบชิงแชมป์นานาชาติ ณ ศูนย์อวกาศสึกุบะ (Tsukuba SpaceCenter) ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณการเดินทางจากบริษัท 168 ลักกี้ เทรด จำกัด, บริษัทสตาร์ ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทสเปซ อินเวนเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทแมพพอยท์เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า ทีมกาแล็กติก 4 ประกอบด้วยสมาชิก 4 คนได้แก่ นายณัฐวินทร์ แย้มประเสริฐ (หัวหน้าทีม) นายเดชาธร ดาศรี นายกษิดิศ ศานต์รักษ์ และนายชีวานนท์ ชุลีคร นักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 2 สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เข้าร่วมการแข่งขัน The 4 th Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์นานาชาติ เมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือแจ็กซา (JAXA) และถ่ายทอดสดทาง YouTube ช่องJAXA จากศูนย์อวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีนักบินอวกาศ ดร.ซาโตชิ ฟุรุกะวะ (Satoshi Furukawa)ทำหน้าที่ควบคุมการแข่งขันอยู่บนห้องทดลองคิโบะโมดูล สถานีอวกาศนานาชาติเพื่อค้นหาสุดยอดทีมเยาวชนจากทั่วโลก ที่สามารถทำคะแนนได้สูงสุดในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobeeให้ปฏิบัติภารกิจซ่อมแซมสถานีอวกาศ ซึ่งมีตัวแทนเยาวชนจาก 10 ประเทศ เข้าร่วมการแข่งขัน ได้แก่ ออสเตรเลีย,บังคลาเทศ, ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไต้หวัน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, สหรัฐอเมริกา และไทย

ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมกาแล็กติก 4 จากประเทศไทย คว้ารางวัลอันดับ 3 มาครองได้สำเร็จถือเป็นการแสดงความสามารถในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยภาษา JAVA ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobeeผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA ที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติให้เคลื่อนที่ไปอ่าน QR Code และยิงแสงเลเซอร์เข้าเป้าหมายทำคะแนนได้สูงเป็นอันดับที่ 3 ของการแข่งขัน รองจากไต้หวันและสิงคโปร์ ช่วยสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในเวทีระดับนานาชาติ

ด้าน นายณัฐวินทร์ แย้มประเสริฐ นักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 2 สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าทีมกาแล็กติก 4 กล่าวถึง  ความรู้สึกหลังทราบผลการแข่งขันว่ารู้สึกภาคภูมิใจกับสมาชิกในทีมทุกคนที่ได้ร่วมพัฒนาโปรแกรมนี้ขึ้นมา จนได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศและได้นำไปประมวลผลโปรแกรมบนสถานีอวกาศนานาชาติจริง อีกทั้ง ยังสามารถคว้ารางวัลอันดับที่ 3 กลับมาได้ซึ่งเป็นโอกาสที่หาได้ยากมาก เนื่องจากแต่ละทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกันในการเก็บคะแนนและแต่ละกลยุทธ์ทำคะแนนได้ไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่เห็นได้จากทุกทีม คือความตั้งใจทำผลงานให้ออกมามีประสิทธิภาพที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ ไม่ว่าผลออกมาจะเป็นอย่างไร เราเชื่อว่าแต่ละทีมไม่ได้รู้สึกเสียดายผลคะแนนจากการแข่งขันที่ได้รับ

ตัวแทนทีมกาแล็กติก กล่าวอีกว่า นอกจากการแข่งขัน ทางทีมยังได้เยี่ยมชมองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นที่เมืองสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่นรู้สึกตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นการทำงานของแผนกภาคพื้นดินที่คอยติดต่อสื่อสารกับสถานีอวกาศนานาชาติได้เห็นกระบวนการคัดเลือกนักบินอวกาศ และได้รับประโยชน์มากมายในด้านองค์ความรู้ที่ใช้ในการปฏิบัติการในอวกาศที่สำคัญตลอดการทำกิจกรรมยังได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ต่างชาติมากมาย ทั้งญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไต้หวันและประเทศอื่น ๆ ทำให้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลงานซึ่งกันและกัน


“ต้องขอขอบคุณ สวทช. และJAXA ที่จัดการแข่งขันนี้ขึ้นมา รวมทั้งขอขอบคุณบริษัทเอกชนและผู้มีส่วนร่วมอื่น ๆที่สนับสนุนการเดินทางเข้าร่วมการแข่งขัน  ซึ่งช่วยเปิดโอกาสให้พวกเราได้สัมผัสใกล้ชิดกับการเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ในอวกาศและมีโอกาสพูดคุยกับนักบินอวกาศ ดร.โคอิจิ วากาตะ (Koichi Wakata)ที่มีประสบการณ์ภารกิจที่สถานีอวกาศนานาชาติมาแล้วหลายครั้ง”

ทั้งนี้ ทีมกาแล็กติก 4 สามารถคว้ารางวัลอันดับ 3 มาครอง ด้วยคะแนน 94.79 คะแนน ส่วนทีมชนะเลิศได้แก่ ทีมฟลายอิง ยูนิคอร์นส์ (Flying Unicorns) จากไต้หวัน คะแนน 110.77 คะแนน และทีมอันดับที่สอง ได้แก่ทีมเอสเอสทีวัน (SST1) จากสิงคโปร์ 98.54 คะแนน รับชมการแข่งขันย้อนหลังได้ทาง YouTube ของ JAXA ที่ลิงก์https://youtube.com/live/DBKVAojl0GQ

เพิ่มเพื่อน