ปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยในประเทศไทย เป็นเรื่องเรื้อรังที่แก้ไขได้ยาก และเป็นสิ่งที่ผู้รับผิดชอบการจัดการ จะต้องต่อสู้กับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีทางจขสิ้น ในการหาทางออก แม้ว่าจะมีการสร้างองค์ความรู้ การรณรงค์คัดแยกขยะจากองค์กรเอกชนหรือหน่วยภาครัฐบางหน่วย แต่ดูเหมือนว่าวิธีการต่างๆเหล่านั้นจะเป็นเพียงการรับรู้ชั่ววูบที่ลงมือทำเพียงชั่วคราวก็กลับเข้าสู่วงจรขยะล้นเมือง สอดคล้องกับข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษในปี พ.ศ. 2565 มีขยะมูลฝอยในประเทศไทยจำนวน 25.70 ล้านตัน โดยเฉลี่ยมีคนทิ้งขยะวันละ 1.2 กิโลกรัมต่อคน นอกจากนี้ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมดพบว่าจำนวนขยะที่มากถึง 27.6% ที่ไม่สามารถนำไปกำจัดได้อย่างถูกต้อง และมีขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อมมากถึง 9.91 ล้านตัน ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหาเหล่านี้มาจากการคัดแยกขยะที่ไม่ถูกวิธี
ขณะเดียวกัน ก็เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า “ขยะ”นั้น สามารถทำให้กิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ โดยการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ อันทำให้เกิดเป็นวงจรการใช้ประโยชน์อย่างไม่รู้จบ เช่น ขยะพลาสติก เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยังเป็นการลดปริมาณขยะไม่ให้หวนกลับไปสร้างปัญหาให้สิ่งแวดล้อมได้อีก แต่ปฐมบทของการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นจริงได้ ต้องเริ่มต้นด้วย”การรู้จักแยกขยะ”
ด้วยเหตุนี้ ทางกลุ่มธุรกิจ TCP จึงได้จัดกิจกรรม TCP Spirit “คณะเศษสร้าง ปี 2” ภายใต้แนวคิด แอ่วเหนือขึ้นดอย ตามรอยวิถีไร้ขยะ นำอาสาสมัครจำนวน 60 คนลงพื้นที่ศูนย์จัดการขยะโครงการพัฒนาดอยตุง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย พาเข้าสู่การปฏิบัติจริงผ่านหลักสูตรพิเศษฉบับ “ดอยตุงโมเดล” ต้นแบบการพัฒนาครบวงจรเพื่อความยั่งยืน
แม้จุดเริ่มต้นของ “ดอยตุงโมเดล “จะอยู่ภายใต้สโลแกน “ปลูกป่า ปลูกคน “เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบดอย ที่ครอบคลุม 29 หมู่บ้าน หรือมีประชากรราว 11,000 คนใน 6 ชาติพันธุ์หลัก คือ อาข่า ลาหู่ ไทใหญ่ ไทลื้อ ลั๊วะ และจีนยูนนาน ให้หยุดยั้งการทำลายป่า ไปพร้อมๆกับการมีอาชีพทำกินที่ยั่งยืน แต่หลังจากดอยตุงโมเดล ที่เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2531 ประสบความสำเร็จ สามารถแก้ปัญหาการทำกินของชาวบ้าน จนมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ปัญหาที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือ ปริมาณขยะที่มากขึ้น เฉพาะในพื้นที่ของโครงการดอยตุง ไม่นับขยะจากชุมชนโดยรอบ มีขยะมากถึง 130 ตัน /ปี ดังนั้น ในปี2555 ทางโครงการดอยตุง จึงหาทางออกด้วยการเริ่มดำเนินการคัดแยกขยะ ที่ศูนย์จัดการขยะ ผลของการดำเนินการมาเป็นเวลาหลายปี สามารถลดปริมาณขยะไปสู่บ่อฝั่งกลบได้เฉลี่ย 40% และในช่วงปี. 2559-2560 เฉลี่ยลดขยะได้กว่า 15% จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2561-ปัจจุบัน ไม่มีขยะถูกส่งไปยังบ่อฝั่งกลบอีก หรือมีอัตรา 0% ต่อมาโครงการขยายส่งต่อแนวคิดนี้ไปยัง 29 หมู่บ้านใน อ.แม่ฟ้าหลวง ซึ่งขณะนี้มี 24 หมู่บ้านที่สามารถคัดแยกขยะได้อย่างถูกวิธี
กลยุทธิ์หลักของ การจัดการขยะของดอยตุงโมเดล อยู่ที่”การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง” ไปพร้อมกับๆ ความสามารถแยกขยะได้ยิบย่อยมากถึง 44 ประเภท ขยะที่คัดแยกสามารถสร้างมูลค่าและรายได้ให้กับชุมชน ทำให้ดอยตุงโมเดล กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบอีกด้าน นอกเหนือจากการสร้างอาชีพทำกิน ที่ผู้สนใจอยากแก้ปัญหาขยะต้องเดินทางมาศึกษาการคัดแยกขยะที่ครบวงจรจากที่นี่
ส่วนกิจกรรม TCP Spirit “คณะเศษสร้าง ปี2″ จะมาเรียนรู้เรื่องขยะ จากดอยตุงโมเดลนี้ก็มีวิขาหลักๆ คือ วิชากายวิภาคของขยะ เรียนรู้คัดแยกขยะ 44 ประเภท และวิชาสร้างโอกาสปลุกปัญญา เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นเศศวัสดุ แต่ที่สำคัญก็คือ การกระตุ้นให้ผู้ร่วมกิจกรรมฉุกคิด มองเห็นแง่มุมบางอย่างเกี่ยวกับขยะที่เคยมองข้าม และเปลี่ยนมุมมองความคิดของตน ที่เป็นผู้สร้างขยะ ว่าทำอย่างไรถึงจะไม่ก่อขยะ ซึ่งจะเป็นการตอบข้อสงสัยว่าทำไมเราถึงต้องแยกขยะ นอกจากนี้ ในแง่เศรษฐกิจหมุนเวียนที่เกิดจากขยะ ยังมีการเปรียบเทียบแนวคิดแบบ”วงกลม” เป็นแนวคิดของเศรษฐกิจที่มีวัสดุ กับภาพใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ ที่มีการหมุ่นเวียนทั้งสองด้าน หรือที่เรียกว่าเป็น Butterfly Diagram
นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า จากความสำเร็จของ TCP Spirit คณะเศษสร้าง ปี 1 ที่นำอาสาลงพื้นที่ชุมชนบ้านหาดทรายดำในจังหวัดระนอง ในปีที่ 2 จึงได้ขยายปทำความเข้าใจภาพรวมของเศรษฐกิจหมุนเวียน และ The Butterfly Diagram: Visualizing the Circular Economy ไขความลับวัฏจักรหมุนเวียนจากห้องเรียนธรรมชาติ ซึ่งดอยตุง เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาชุมชนต่างๆ และยังเป็นพื้นที่ zero waste นับเป็นห้องเรียนที่จะทำให้เราเข้าใจและเห็นถึงความเป็นไปได้ในการลงมือทำจริง
สราวุฒิ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้และสะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์ของการทำเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะการคัดแยกต้นทาง ซึ่งหากได้จำแนกแบบลงลึกก็จะสามารถแยกขยะได้ถึง 44 ประเภท ที่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นความคาดหวังของอาสาที่ได้มาเข้าร่วมกิจกรรมคือการได้รับองค์ความรู้กลับไปสานต่อในบริบทของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน และเกิดการสร้างเครือข่ายจากรุ่นสู่รุ่น ได้แชร์ประสบการณ์หรือปัญหาที่พบในพื้นที่ในการช่วยระดมความคิดในการแก้ไขด้วย
“นอกจากการจัดกิจกรรมดังกล่าว ในส่วนของการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนทาง TCP ขณะนี้สามารถนำขวดเครื่องดื่มกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ 100% โดยคาดว่ากลุ่มแพคเกจจิ้งขนมจะสามารถรีไซเคิลได้ครบ 100% ในปีหน้า” สราวุฒิ กล่าว
ด้านดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ รับหน้าที่ครูใหญ่คณะเศษสร้าง มหาวิทยาลัยชีวิตจริง สะท้อนให้เห็นถึงภาวะโลกป่วยว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน มีรายงานฉบับหนึ่ง ได้วิเคราะห์และพยากรณ์ หากมีการพัฒนาธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรมากเกิน การใช้เคมี หรือตัดไม้ทำลายป่า จะส่งผลให้สิ่งแวดล้อมเข้าสู่ภาวะวิกฤต และโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยจนล้มสลายในปี 2050 แต่มนุษย์ก็ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิต
“เชื่อมโยงกับรายงานที่มีการตรวจสุขภาพโลกครั้งใหญ่ โดยนักวิทยาศาสตร์ได้กำหนดแนวคิด Planetary Boundaries หรือขีดความสามารถในการรองรับของโลก 9 ด้าน ได้แก่ 1. การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ 2. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3. ปรากฏการณ์ทะเลกรด 4. การเปลี่ยนแปลงระบบผืนดิน 5. การใช้น้ำจืดแบบไม่ยั่งยืน 6. การไหลของสารเคมีธรณีชีวภาพหรือการไหลของไนโตรเจนและฟอสฟอรัสสู่ชีวมณฑล 7. ภาวะฝุ่นละอองในอากาศ 8. มลภาวะจากสารเคมีใหม่ 9. การลดลงของโอโซนในชั้นบรรยากาศ ซึ่งพบว่ามนุษย์ได้ละเมิดขีดจำกัดความปลอดภัยถึง 6 ใน 9 ด้าน อย่างสิ่งที่เกิดขึ้นช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในจ.ชลบุรี พบว่ามีการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงที่มากเกินและไหลลงสู่ทะเล ส่งผลทำให้ทะเลในประเทศไทยกำลังจะตาย เป็นต้น” ดร.เพชร กล่าว
ดร.เพชร กล่าวอีกว่า ดังนั้นสิ่งที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างเห็นผล ก็คือ ทรัพยากรมนุษย์ ผ่านแนวคิดการทำเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมคณะเศษสร้าง ซึ่งเหล่าอาสา ที่เป็นทั้งครู หมอ อาจารย์ เยาวชน จะเป็นเมล็ดที่ขยายแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่จะเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูโลกของเรา
เส้นทางสู่ zero waste ของ”ดอยตุงโมเดล “นายไพศาล คำกาศ “ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า ดอยตุง เป็นพื้นที่เปิดให้หน่วยงานต่างๆ ได้เข้ามาศึกษาแนวทางการจัดการขยะสู่เป้าหมาย zero waste ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ซึ่งขยะภายในโครงการดอยตุงจะต้องถูกเก็บกลับมาจัดการอย่างถูกวิธี ลดการนำไปฝังกลบ เพราะปัจจุบันบ่อฝังกลบในพื้นที่เพียงบ่อเดียวถูกปิดเนื่องจากขยะเต็ม ดังนั้นจึงต้องหาวิธีจัดการกับขยะที่เกิดขึ้นบนดอย โดยปกติทั่วไปเราจะแยกขยะกันอยู่ 4 ประเภท ได้แก่ ขยะทั่วไป ถังสีน้ำเงิน เช่น ขยะที่ย่อยสลายยาก ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้, ขยะอินทรีย์ ถังสีเขียว เช่น วัสดุที่สามารถย่อยสลายและเน่าเปื่อยได้ง่าย, ขยะรีไซเคิล ถังสีเหลือง เช่น วัสดุที่พิจารณาแยกชิ้น ส่วนที่ยังสามารถนำกลับมาใช้ได้ และขยะอันตราย ถังสีแดง เช่น วัสดุที่ปนเปื่อน หรือมีส่วนประกอบเป็นวัตุอันตราย
แต่นอกจากการแยกขยะทั้ง 4 ประเภทดังกล่าว หากมองอย่างลงลึกถึงการนำขยะเข้าสู่กระบวนการกำจัดที่ถูกต้อง เรายังสามารถแยกขยะได้ 6 ประเภทหลัก ในจำนวนนี้สามารถแยกย่อยได้อีกถึง 44 ประเภท ซึ่งเป็นแนวทางการคัดแยกขยะดอยตุง ไพศาล กล่าวว่า ขยะ 6 ประเภทหลัก สู่ปลายทางกำจัด ได้แก่ 1.ขยะย่อยสลาย เช่น เศษอาหาร เศษผัก เศษผลไม้ สามารถนำไปหมักทำปุ๋ย ก๊าซชีวภาพ 2.ขยะปนเปื้อน เช่น ถุงพลาสติกเปื้อน นำมาล้างทำความสะอาด นำไปขายต่อได้ 3.ขยะห้องน้ำ เช่น กระดาศทิชชู ผ้าอนามัย หน้ากากอนามัย แพมเพิส นำเข้าสู่เตาเผาขยะ 4.ขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย ปากกา หมึกเครื่องปริ้น รวมไปถึงขยะ E-waste เช่น โทรศัพท์ สายชาร์จ เก็บส่งบริษัทกำจัดขยะอันตราย 5.ขยะขายได้ เช่น พลาสติกดำ กระดาษเปียก พลาสติกยืดสีล้วน ฝาอลูมิเนียม ท่อPVC ขวดพลาสติกสีเขียว ขวดแก้วสีน้ำตาล ขวดแก้วสีเขียว ขวดแก้วใสไม่มีสี หลอดพลาสติก ขวดพลาสติกขุ่น ขวดพลาสติกใส พลาสติกยืด(ไม่มีสี ไม่มีสกรีน) ช้อนไฟเบอร์ ถุงดำ ขวดพลาสติกรวม ฝาขวดพลาสติก กระดาษอ่อนสีต่างๆ กระสอบฟาง กล่องลัง-กระดาษแข็ง กระดาษขาวดำ กระป๋องอลูมิเนียม กระป๋องสังกะสี เชือกพลาสติกแพ็คกล่อง สายไฟทองแดง เหล็กหนา เหล็กบาง นำส่งร้านรับซื้อของเก่า และ 6.ขยะพลังงาน เช่น ขวดพลาสติกสีอื่นๆ กล่องนม-กล่องน้ำผลไม้ ถุงขนม-ซองกาแฟ-ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แก้วกระดาษ-หลอดกระดาษ ช้องพลาสติกเหนียว ตะเกียบไม้-ช้อนส้อมไม้-ไม้เสียบลูกชิ้น เสื้อผ้าเก่า-เศษผ้า แก้วพลาสติกกรอบ กล่องอาหาร PET ถุงเพาะชำ กล่องโฟมต่างๆ นำส่งให้กับบริษัทที่ต้องการผลิตเชื้องเพลิงพลังงานชีวภาพ ซึ่งเป็นชุดความรู้สำหรับหน่วยงานที่ตั้งเป้าลดขยะสู่บ่อฝั่งกลบได้
โดยเบื้องต้นขยะทั้ง 44 ประเภทจะถูกคัดแยกมาจากต้นทางบางส่วน ก่อนจะคัดแยกอย่างละเอียดอีกครั้งที่ศูนย์จัดการขยะ ตัวอย่างในพื้นที่ดอยตุงในปี 2562 มีขยะประมาณ 130 ตัน แบ่งเป็น ร้านอาหารมีขยะเฉลี่ย 44% จะต้องคัดช่วยคัดแยกให้ได้ 90% พื้นที่ท่องเที่ยวมีขยะเฉลี่ย 48% จะต้องช่วยแยกขยะ 50% โรงงานมีขยะเฉลี่ย 6% ช่วยแยก 70% และสำนักงานมีขยะเฉลี่ย 2% ช่วยแยก 66% จากนั้นขยะจะถูกส่งมายังศูนย์จัดการขยะ นำสู่การกำจัดปลายทาง แบ่งเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ 73% ขยะเชื้อเพลิง 1.9% ขยะอันตราย 0.1% ขยะห้องน้ำ 3.2% ส่วนขยะขายได้ แยกออกเป็น พลาสติก 9.9% แก้ว 4.6% กระดาษ 6.0% โลหะ 1.2%
เกริกชัย ปิ่นละมัย ครูโรงเรียนทับช้างวิทยาคม อ.ทวี จ.สตูล เล่าว่า รู้สึกดีใจที่ได้มาร่วมกิจกับ คณะเศษสร้าง เพราะที่โรงเรียนมีขยะจำนวนมาก แม้ว่าจะมีถังขยะแยกสีแยกประเภทการทิ้ง แต่ก็ยังพบว่ามีขยะถูกทิ้งปนรวมกัน ดังนั้นเป้าหมายของการมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จะนำความรู้เรื่องการคัดแยกขยะไปประยุกต์ใช้กับทางโรงเรียน ช่วยเกิดการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมของธนาคารขยะ ก่อให้เกิดการสร้างพฤติกรรมทั้งครูและนักเรียนให้ตระหนักถึงประโยชน์ของการคัดแยกขยะอย่างจริงจัง อีกทั้งหากประสบความสำเร็จจะเกิดการส่งต่อความรู้ไปยังชุมชนได้ด้วย
–
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดภารกิจ ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า สู่ผลงานที่ลงมือทำจริงของกลุ่มธุรกิจ TCP
ปี 2566 ที่กำลังจะผ่านไป เป็นปีที่องค์กรต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Sustainability Development อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม และมีองค์กรจำนวนไม่น้อยที่ได้เริ่มทำงานด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง
‘แมนซั่ม วิตามิน วอเตอร์’ ส่ง 2 สูตรใหม่ ตอบโจทย์ผู้ชายวัยทำงานที่ใส่ใจสุขภาพ
กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดตัว แมนซั่ม วิตามิน วอเตอร์ 2 สูตรใหม่ “แมนซั่ม วิตามิน วอเตอร์ ใบแปะก๊วย ชาเขียวและโสม” และ “แมนซั่ม วิตามิน วอเตอร์ แอล-กลูตาไธโอน ซีบัคธอร์น”