ยูเอ็นบอกว่าปีนี้ ไม่ใช่โลกร้อนแต่เป็นโลกเดือด ก็คงจะเป็นเช่นนั้นจริง เพราะทริปยุโรปช่วงปลายเดือนกันยายน ต้นเดือนตุลาคม แทนที่จะเริ่มหนาว อุณหภูมิแตะเลขตัวเดียว กลับยังต้องเสียเหงื่อย แถมยังมีฝนตกให้เปียกเล่นเป็นระยะๆ
เสื้อกันหนาวที่เตรียมไปแทบไม่ต้องใช้ เพราะเสื้อยืดกางเกงยืนส์เอาอยู่ อุณหภูมิเฉลี่ยคล้ายหน้าหนาวเมืองไทย แต่เที่ยงๆก็ร้อนเอาเรื่องเหมือนกัน 30 องศามีให้เห็นในบางวัน
ว่าด้วยเรื่องลมฟ้าอากาศแล้ว เที่ยวยุโรปทริปนี้ลากกระเป๋าแบกเป้ ไม่ขี้เหร่เลย เพราะมีเรื่องให้ลุ้นระทึกแทบตลอดเวลา จองรถไฟไว้แต่รถไฟไม่วิ่งต้องนั่งรถบัสแทนเพื่อไปต่อรถไฟอีกเมือง เหมือนนัดกันไว้ลงรถบัสรถไฟก็มาทันที ลากกระเป๋าเดินทางใบเขื่องถูลู่ถูกัง ลงโอุโมงค์ขึ้นบันได โยนกระเป๋าขึ้นรถไฟ
ทะลักทุเล…แต่ก็สนุก!
ทริปนี้ไปหลายเมือง แต่อยากเริ่มที่ เชสกี้ ครุมลอฟ (Cesky Krumlov)
ก่อนไปทำการบ้าน ใช้ Street View ใน Google Maps ส่องตั้งแต่โรงแรมที่จองไว้ ยันทุกซอกทุกมุมของเมืองเล็กๆที่ว่ากันว่าน่ารักที่สุดในโลก ไม่ว่าร้านอาหารเอเชีย เผื่อหิวเมื่อไหร่จะได้แวะไป ทางเดินเลียบแม่น้ำ Vltava เรื่อยไป โดยเฉพาะ Cesky Krumlov Castle ถือเป็นไฮไลท์ของเมือง
แค่ท่องใน Google Maps ก็นยอมรับว่า สมคำร่ำลือ แต่การได้เห็นของจริง ได้สัมผัสบรรยากาศ และอากาศ พูดได้คำเดียว ถ้ารวยร้อยล้านพันล้านจะไปหาซื้อบ้านที่ “เชสกี้ ครุมลอฟ” สักหลัง
เมืองนี้ตั้งอยู่บนคุ้งน้ำ แม่น้ำวูลตาวา (Vltava) ลักษณะเป็นกระเพาะหมูคล้ายๆบางกระเจ้าบ้านเรา เมืองอะไรช่างสวยงาม แถมยังเงียบสงบ ขนาดนั้น!
การเดินทางไป “เชสกี้ ครุมลอฟ” ทำได้หลายวิธี ตั้งแต่รถบัสยันรถไฟ เหมารถไปก็ได้ หรือจะโรดทริปก็ไม่เลว เป็นข้อมูลที่หาได้ในอินเตอร์เน็ตตามแต่จะสะดวกกันแบบไหน
แต่การไปของชาวคณะทัวร์หนุ่มน้อยสาวน้อยครั้งนี้ เหมารถจาก เมืองซาลซ์บูร์ก (Salzburg) ประเทศออสเตรีย นั่งรถ 2 ชั่วโมงกว่าก็ถึงที่หมาย ข้ามพรมแดนประเทศแบบไม่รู้เรื่อง นี่คืออีกหนึ่งข้อดีของการไปเที่ยวยุโรป เพราะวีซ่า เชงเก็น ไม่ต้องมานั่งเสียเวลาปั๊มตราเข้าออกเหมือนโซนอื่นๆของโลก
สัมผัสแรกที่ถึง เชสกี้ ครุมลอฟ คือล้อรถบดกับพื้นที่ใช้หินมาเรียงต่อกันเหมือนหลายๆเมืองในยุโรป เป็นการวอร์มอัพเขย่าลำไส้ไปในตัว
โรงแรมที่จองอยู่ริมฝั่งแม่น้ำวูลตาวา ฝั่้งตรงข้ามตัวเมือง ซึ่งเป็นข้อดี เพราะวิวหลักหมื่นล้าน โดยเฉพาะตอนเช้าตรู่ อุณหภูมิสิบต้นๆ มีหมอกลงตัดกับแสงไฟสีเหลืองของบ้านเรือนฝั่งตรงข้าม เห็นปราสาทเป็นเงารางๆอยู่ด้านหลัง นึกว่านั่งดูซีรีย์เขย่าขวัญก็ไม่ปาน
แต่…จะบอกว่าสวยมาก เงียบสงัด ชวนให้หลงไหล
แถมยังโรแมนติกอีกต่างหาก
หลังการรับประทานอาหารเช้าสไตย์ยุโรป ขนมปัง กาแฟ ไข่ดาว ไส้กรอก ยัดเข้าไปเต็มท้อง ก็ได้เวลาเดินชมเมือง
แล้วความบรรเจิดก็เริ่มขึ้น!
ถนนใน เชสกี้ ครุมลอฟ เป็นหินทั้งหมด การเดินจึงต้องระมัดระวังอยู่บ้างเพราะความไม่เคยชิน แต่เดินไปสักพักเริ่มปรับตัวได้ ก็เดินตัวปลิว ลัดเลาะฝั่งแม่น้ำวูลตาวา ข้ามสะพาน Vltava Bridge เบื้องหน้า คือ โบสถ์เซนต์วิตัส เป็นสถาปัตยกรรมแบบโกธิกตอนปลาย ผสมผสานกับโบสถ์สไตล์บาโรกเล็กน้อย
ถือเป็นแลนด์มาร์คจุดแรกของเมืองเก่าแห่งนี้
เดินลัดเลาะร้านขายของที่ระลึกแค่อึดใจเดียวก็ทะลุถึงจตุรัสกลางเมืองขนาดเล็ก The Plague Column ในวันที่อากาศดีผู้คนพาน้องหมามาเดินเล่นกันเยอะทีเดียว ส่วนนักท่องเที่ยวดูแล้วเป็นเกาหลีใต้เสียเยอะ คงจะมาตามรอยซีรีย์กระมัง
สัมผัสบรรยากาศสถาปัตยกรรมโดยรอบจนอิ่มแล้ว ก็เดินต่อลงเนิน ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำวูลตาวาอีกรอบมุ่งหน้าปราสาทเชสกี้ครุมลอฟ ปราสาทเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1204 ช่วงเดียวกับยุคสุโขทัยของไทย เป็นปราสาทขนาดใหญ่ในภูมิภาคโบฮีเมีย เป็นรองแค่ปราสาทฮรัดชานี ที่กรุงปรากเท่านั้น
ถามว่าใหญ่ขนาดใหญ่?
ใหญ่ขนาดเดินกันลิ้นห้อย เพราะต้องขึ้นเนินลงเนิน ระยะทางไกลทีเดียว
ประวัติคร่าวๆของเชสกี้ ครุมลอฟ ตามที่หาข้อมูลได้ตามอินเตอร์เน็ต เป็นเมืองขนาดเล็กในภูมิภาคโบฮีเมียใต้ของสาธารณรัฐเช็กเป็นเมืองมรดกโลกและเมืองประวัติศาสตร์ เมืองนี้ถูกควบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเช็กโกสโลวาเกียหลังการ การประกาศอิสรภาพ และถูกตั้งชื่อใหม่เป็น Cesky Krumlov ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารสหรัฐฯ เข้าขับไล่ชาวเยอรมันออกจากเมืองในปี 1945
ในยุคคอมมิวนิสต์ เมืองนี้เสื่อมโทรมลงมาก แต่หลังการปฏิวัติ Velvet ในปี 1989 Cesky Krumlov ได้รับการพัฒนาอีก
ครั้งจนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 1992 และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
แต่ถ้าจะย้อนไปอีกก็ตรงกับยุคสุโขทัยโน้นเลย
ปราสาทเชสกี้ครุมลอฟ คือแลนด์มาร์คสำคัญที่สุดของเมือง มีจุดชมวิวให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปตัวเมือง เพราะตัวปราสาทตั้งอยู่บนเนินเขา จึงสามารถเห็นวิวเมืองเชสกี้ ครุมลอฟ ได้เกือบ 360 องศา
ไฮไลท์อีกอย่างของ ปราสาทเชสกี้ครุมลอฟ คือคูน้ำป้องกันปราสาท โดยครอบครัวโรเซนเบิร์ก (Rosenberg) เจ้าของปราสาทเดิมเลี้ยงหมี ซึ่งเป็นประเพณีที่เจ้าของปราสาทสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ครอบครัว Rosenberg มีความสัมพันธ์อันยาวนานกับหมี ในตำนานเล่าว่าชาวโรเซนเบิร์กมีความเกี่ยวข้องกับตระกูลออร์ซินีผู้สูงศักดิ์ชาวอิตาลี ซึ่งมีชื่อสกุลมาจากคำว่า “ออร์ซา” ในภาษาอิตาลี ซึ่งแปลว่า “หมี” ลวดลายหมียังพบได้ในเสื้อคลุมแขนของโรเซนเบิร์กอีกด้วย
ปี 2000 คูเมืองมีหมีสี่ตัวและลูกสองตัว มองลงไปรู้สึกได้ถึงบรรยากาศที่เย็นยะเยือก
แต่วันที่ไปเห็นแค่ 2 ตัว อีก 2 ตัวไม่ทราบเป็นตายร้ายดีอย่างไร
ทุกปีในวันคริสต์มาสและเนื่องในโอกาสวันเกิดของหมี ผู้ดูแลปราสาทจะจัดเทศกาลหมี ในช่วงโอกาสนี้ คูเมืองจะได้รับการตกแต่งตามเทศกาลและมีกองของขวัญและอาหารสำหรับหมี หมีและเทศกาลเหล่านี้เป็นที่นิยมมากในหมู่เด็กๆ ที่มาเยือนปราสาท
เดินทะลุปราสาทเชสกี้ครุมลอฟไปลงด้านลานจอดรถ รู้สึกได้ถึงความเงียบสงัด ตลอดเส้นทางเป็นบ้านอยู่อาศัยของชาวเชสกี้ครุมลอฟ สวยงามราวในเทพนิยาย
เรื่องอาหารการกินสำหรับคนเอเชียไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะมีร้านอาหารจีน รสชาติถูกปากทีเดียว
ด้วยความเงียบนี่เอง สมองแล่นทันที กลับไทยจะซื้อล็อตเตอรี่ชุดใหญ่สักชุด หากเกิดอภินิหารถูกรางวัลที่ 1 จะมาซื้อบ้านที่นี่สักหลัง
เล่าร้อยรอบไม่สู้ไปดูของจริงรอบเดียว
ก็คิดๆอยู่จะกลับไป เชสกี้ครุมลอฟ อีกสักครั้ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมสมเด็จพระเทพฯ ทอดพระเนตรงานกุหลาบรวมน้ำใจ เทิดไท้องค์ราชัน
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทอดพระเนตรการจัดแสดงกุหลาบเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในงานกุหลาบรวมน้ำใจ
การถ่ายทอดสด รัฐบาลแถลงผลงาน รอบ 3 เดือน
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2567
กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงานกาชาดปี 2567
11 ธ.ค. 2567 เวลา 17.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานกาชาดประจำปี 2567 ภายใต้
พปชร.ขับก๊วนผู้กอง ‘กล้าธรรม’ โมเดล..ผงาด!! | ตรงปก ตรงประเด็น กับ...สำราญ รอดเพชร
ตรงปก ตรงประเด็น กับ...สำราญ รอดเพชร : วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2567
ไม่กลัวปฏิวัติ!! I ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2567
'ประสพ เรียงเงิน' นั่งปลัดวธ.คนใหม่
11 ธ.ค.2567 - ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ โดยแต่งตั้งนายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง ทั้งนี้ นายประสพ ถือว่าเป็นลูกหม้อกระทรวงวัฒนธรรม เคย