ตามรอยสินไซ บุกถิ่นไดโนเสาร์ ขอนแก่น

สวนจำลองไดโนเสาร์ ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ 

ช่วงนี้ ดวงมีแต่เดินทางไปแหล่งประวัติศาสต์ หรือแหล่งดึกดำบรรพ์ อาทิตย์ก่อนก็ไปยุคดึกดำบรรพ์ภาคใต้จังหวัดสตูล มาอาทิตย์นี้ ว๊าบมาอีสาน ที่จังหวัดขอนแก่น   มาเยือนถิ่นไดโนเสาร์ และตามรอยสินไซ ซึ่งเป็นหนึ่งในวรรณกรรมที่เป็นต้นทางวัฒนธรรมที่ชาวบ้านได้นำไปต่อยอดในเชิงการท่องเที่ยว ธุรกิจ และทางจังหวัดยังได้นำตัวละคร สีโห ในเรื่องสินไซ ที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์อยู่ยอดเสาไฟในเมืองขอนแก่นอีกด้วย

ก่อนจะไปตามรอยสินไซ มาเพิ่มพลังกายพลังใจกันก่อนที่ "มีกินฟาร์ม" สวนเกษตรผสมผสานที่ตั้งอยู่ในต.จระเข้ อ.หนองเรือ ที่นี่ไม่ได้มีเพียงแค่บรรยากาศของท้องทุ่งเท่านั้น ยังพร้อมเสิร์ฟไปด้วยกิจกรรมที่จะพาแขกผู้มาเยือนได้เรียนรู้วิถีชนบท การทำเกษตรแบบผสมผสาน พร้อมรับประทานอาหารเมนูท้องถิ่นสุดเลิศรส ที่มาจากความตั้งใจของพี่ปู-จงรัก จารุพันธุ์งาม เจ้าของฟาร์ม ในการกลับมาสานฝันในวัยเด็กปลูกบ้านท่ามกลางสวนต้นไม้ และสร้างพื้นที่อาหาร และมีโฮมสเตย์สไตล์เก๋ๆท่ามกลางธรรมชาติให้พักค้างแรมด้วย

 ที่ฟาร์มแห่งนี้ยังมีเมนูอาหารแซ่บๆ ไม่ว่าจะเป็นปลานึ่ง อ๋อมปลายอน ไก่ใต้น้ำ ไข่เจียว สลัดไส้กรอกป่า ฯลฯ และมีกิจกรรมเชื่อมโยงธรรมชาติ ตกแต่งหน้าคุ๊กกี้ด้วยดอกไม้ในฟาร์ม ทำพิซซ่าหน้าความลับ เพราะจะนำผักหรือพืชที่กินได้แต่ละฤดูในสวนมาทำเป็นหน้าพิซซ่า อบในเตาถ่านหอมกรุ่น และงานฝีมือสร้างลายผ้าจากดอกไม้ ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดเหล่านี้สามารถจองล่วงหน้ามาที่ฟาร์มได้เลย

รอยเท้าไดโนเสาร์ ที่พบในเขาภูเวียง

ได้เวลาเดินทางตามรอยสินไชกันแล้ว หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักสินไซ หรือสังข์สินไซ วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษาที่ปรากฎในประเทศลาว และไทย นับเป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าในการร้อยเรียงภาษาใช้ศัพท์โบราณและศัพท์ทางพุทธศาสนาที่ลึกซึ้ง แต่มีความงามในทางอักษรศาสตร์อันเป็นสุนทรียะในบทประพันธ์ มีเนื้อหาครบรสทั้งการผจญภัยและชิงรักหักสวาท ผ่านแกนหลักของเรื่อง ธรรมะย่อมชนะอธรรม โดยมีตัวละครเอกคือ ท้าวสินไซ (เป็นคน) ท้าวสังข์ทอง (เป็นหอยสังข์) และท้าวสีโห (เป็นช้าง) ทั้งสามต้องออกไปตามหาอาที่ถูกยักษ์ลักพาตัวไปกลับคืนมาให้พระราชบิดาเพื่อพิสูจน์ตนเองผ่านอุปสรรค 9 ด่าน    

กระดูกไดโนเสาร์ชิ้นแรกในไทย

ในอดีต สินไซ ได้รับความนิยม นำมาวาดเป็นจิตรกรรมฝาผนังสิมตามวัดต่างๆ เรียกว่า ฮูปแต้ม  สามารถพบในวัดตาม จ.นครพนม จ.เลย จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด และจ.อุบลราชธานี มีทั้งลักษณะลายเส้นด้วยฝีมือช่างพื้นบ้านและช่างพื้นบ้านที่รับอิทธิพลช่างหลวง ซึ่งเราได้เดินทางมาที่วัดไชยศรี  บ้านสาวะถี อ.เมือง เป็นวัดที่มีสิมอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี มีโครงสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนผนังทั้งด้านในและด้านนอกปรากฎภาพฮูปแต้มเรื่องสินไซครบทั้ง 9 ด่าน ได้แก่ ด่านงูซวง ด่านวรุณยักษ์หรือยักษ์กันดาร ด่านพระยาช้างฉัตทันต์ ด่านยักษ์สี่ตน ด่านยักษ์ขิณี ด่านนารีผล ด่านยักษ์อัสสมุขี ด่านเทพกินรี และด่านยักษ์กุมภัณฑ์ สอดแทรกด้วยภาพพุทธประวัติ ภาพเทพ มนุษย์ และสัตว์ต่างๆ

โครงกระดูกต้นแบบไดโนเสาร์ภูเวียงโกซอรัส สิรินธร

ความสร้างสรรค์ของช่างในสมัยนั้นนับว่าเป็นภูมิปัญญาทางศิลปะเพราะสามารถย่อเรื่องราวของสินไซ มีการแบ่งสัดส่วนและวาดตัวละครให้เข้าใจได้ง่าย เพิ่มสีสันให้ตัวละครด้วยสีฝุ่นโทนสีคราม เหลือง ขาว เน้นสัดส่วนภาพที่เกินจริง ทำให้ได้อารมณ์ในการชมที่สนุกสนาน ซึ่งฮูปแต้มวัดแห่งนี้นับว่าค่อนข้างที่จะสมบูรณ์

มาเพลินเพลิดชมการแสดงจาก คณะสินไซน้อย 100 ปี บ้านสาวะถี ที่เหล่าเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านสาวะถี (สาวัตถีราษฎร์รังสฤษฏิ์) ที่ได้ประยุกต์การแสดงหมอลำโดยใช้หุ่นกระติบข้าวมาประกอบเล่าเรื่องตำนานสินไซ ที่สร้างเสียงหัวเราะ ความบันเทิงใจ และยังเข้าใจเรื่องสินไซได้ง่ายอีกด้วย

ฮูปแต้มเรื่องสินไซ วัดไชยศรี

ไปต่อกันที่โฮงสินไซ บ้านกลางป่าแหล่งศึกษาวรรณคดีและงานศิลปะเรื่องสินไซของ ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ นักวิจัยและนักวิชาการอิสระ ที่สนใจศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมสินไซอย่างต่อเนื่อง และได้นำสินไซ มาประยุกต์ควบคู่ไปกับพัฒนาสุขภาวะแบบองค์รวม ผ่านธรรมชาติ วัฒนธรรม และศิลปะ โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลออทิสติกและผู้พิการ ที่สามารถเข้ามาทำกิจกรรมวาดภาพ เพ้นท์หน้ากากผีตาโขน เป็นต้น และจุดเด่นของที่นี่คือ การได้ชมพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับวรรณกรรมสินไซ  ซึ่งจัดแสดงอยู่ชั้นบนของโฮง เมื่อขึ้นมาชั้นบนจะพบกับงานศิลปะชิ้นใหญ่ที่วาดโดยเจ้าของโฮงสินไซ ที่บอกเล่าร่องรอยวรรณกรรมของสินไซปรากฎอยู่ในภาคอีสานของทั้ง 13 วัด ในจังหวัดทางภาคอีสาน และในลาว 3 วัด และหนังสือสะสมที่ส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมสินไซที่แปลเป็นภาษาต่างๆ ทั้งฉบับลาว ฉบับไทยแต่ละภาค หรือหนังสือนิทาน เรียกได้ว่าเป็นคลังของวรรณกรรมสินไซ ที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาวรรณกรรมเรื่องนี้

ความสวยงามปราณีตของฮูปแต้ม วัดไชยศรี

ออกจากโลกวรรณกรรม เดินทางเข้าสู่ดินแดนไดโนเสาร์แห่งยุคครีเทเชียส  ที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง อ.เวียงเก่า ซึ่งยังครอบคลุมพื้นที่อีก 3 อำเภอ ได้แก่ ภูเวียง สีชมพู และชุมแพ การเที่ยวชมอุทยานฯครั้งนี้เรามาตั้งหลักที่ไร่แทนคุณ ซึ่งมีโปรแกรมท่องเที่ยวชุมชนในเวียงเก่าให้เลือกหลายแบบ โดยเราได้เลือกแบบ วันเดย์ทริป จุดหมายแรกนั่งรถพ่วงข้างของชาวบ้านมาวัดทรงศิลา(ถ้ำกวาง) เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าภูเวียงสุดอันซีนในเวียงเก่าระยะทางประมาณ 1 กม.กว่าๆ

โดยสภาพของป่าจะเป็นป่าเต็งรัง สลับกับป่าดิบแล้ง ทำให้มีพันธุ์ไม้ที่มีค่าหลายชนิด ภายในป่าจะมีทั้งลานหินธรรมชาติ ซากฟอสซิลกระดองเต่าที่ติดอยู่ในหินและช่องหินภูเขาก้อนใหญ่อยู่ในบริเวณต่างๆ  ลานสลัดได ที่มีลักษณะคล้ายๆ ตะบองเพชร ขึ้นอยู่เต็มไปหมด เดินมาถึงจุดชมวิว 360 องศาของเขาภูเวียงที่ชาวบ้านเรียกว่า พลาญดินแดนหิน 130 ปี จากนั้นเดินข้ามสะพานหินมาชมรอยฝามือแดง ซึ่งเป็นงานศิลปะของมนุษย์ถ้ำโบราณที่มีอายุหลายร้อยปี

จิตรกรรมที่เล่าเรื่องด่านการต่อสู้ระหว่างสินไซกับยักษ์กุมภัณฑ์

เปลี่ยนมาขึ้นรถสองแถวสุดคลาสิคไปยังผาชมตะวัน มีการสันนิษฐานว่าผาหินแห่งนี้มีอายุราว 140 ล้านปีของยุคครีเทเชียส จากจุดชมวิวสามารถมองเห็นอ.ศรีบุญเรือง อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ  อ.หนองนาคำ และเขื่อนอุบลรัตน์ จากนั้นลัดเลาะเข้าป่าไปชมน้ำตกตาดฟ้า สายน้ำไหลจากแนวหินหลั่นลงมาเป็นชั้นๆ อย่างสวยงาม และชมรอยตีนไดโนเสาร์ 130 ล้านปี มีประมาณ 7 รอย ที่เป็นรอยเท้าคล้ายกับเท้านก บางรอยก็เป็นริ้วคลื่น ซึ่งแต่ละรอยก็จะมีขนาดเท้าที่ไม่เท่ากัน ทั้งนี้แสดงถึงสภาพแวดล้อมแห่งนี้ว่าในโบราณเป็นแนวชายน้ำ

มายังจุดสุดท้ายที่จะสรุปเรื่องของไดโนเสาร์ในจ.ขอนแก่น ที่ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ประกอบด้วย 3 โซนหลัก เดินเข้ามาที่โซน A  มิวเซียมการ์เด้น ที่มีประติมากรรมโครงกระดูกไดโนเสาร์ให้เดินชมท่ามกลางสวนต้นไม้นานาพันธุ์ เข้าสู่โซน B ซึ่งเป็นอาคารนิทรรศการไฮไลท์เรียนรู้เรื่องไดโนเสาร์แบ่งเป็น 5 โซนย่อย ได้แก่โซน 1 กำเนิดจักรวาล วิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต และเรื่องราวของไดโนเสาร์ทั่วโลก โซน 2 ไดโนเสาร์ในแหล่งเทือกเขาภูเวียง  นำเสนอซากดึกดำบรรพ์ (ฟอสซิล) กระดูกไดโนเสาร์ชิ้นแรกของเมืองไทยที่ค้นพบบริเวณห้วยประตูตีหมาในเทือกเขาภูเวียงเมื่อปี พ.ศ.2519 ยังมีโครงกระดูกต้นแบบภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก โซน 3 ห้องปฏิบัติการด้านซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยาและซากดึกดำบรรพ์ในจังหวัดขอนแก่น

บรรยากาศยามบ่ายที่ผาชมตะวัน

ส่วนโซน 4 ที่เป็นสวนไดโนเสาร์ หรือ หุบเขาภูเวียง  ที่มีหุ่นจำลองของไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก 5 สายพันธุ์ที่ค้นพบในขอนแก่นได้แก่ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน สยามโมซอรัส สุธีธรนี สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส กินรีไมมัส ขอนแก่นเอนซิส ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ สุดตื่นตาตื่นใจ และโซน 5 ยุคเทอร์เชียรี การใช้ประโยชน์หินแร่ จากโซน B ไปพื้นที่ โซน C หุบเขาไดโนเสาร์ มีโรงเรียนฝึกนักล่าไดโนเสาร์ ที่เปิดโอกาสให้นักเรียน เยาวชน และผู้สนใจร่วมเรียนรู้เรื่องราวเบื้องต้นของไดโนเสาร์กันแบบสนุกเพลิดเพลิน ล่าสุดศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ยังได้รับรางวัลยอดเยี่ยม (Thailand Tourism Gold Award หรือกินรีทอง) สาขาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้อีกด้วย นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 09.30-16.30 น. (ปิดวันจันทร์) โทร.081-846-2760, 081-845-8628

หากใครที่ชอบท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และธรณีวิทยา ขอนแก่นเป็นอีกจังหวัดที่ไม่ควรพลาด

ชมวิวเขาภูเวียง ที่พลาญดินแดนหิน 130 ปี
คลังความรู้เกี่ยวกับสินไซ ที่จัดเก็บไว้ในโฮงสินไซ
ตกแต่งคุ๊กกี้หน้าดอกไม้
ลิ้มรสเมนู อ๋อมปลายอน สุดแซ่บ 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์เพิ่มอีก 3 สายพันธุ์

พบซากฟอสซิลไดโนเสาร์เพิ่มอีก 3 สายพันธุ์ เป็นไดโนเสาร์พันธุ์กินเนื้อ และสัตว์น้ำ ขอความร่วมมือทุกคนงดเข้าไปหยิบจับและเคลื่อนย้ายเด็ดขาด

วันเด็กทำเนียบฯ ปีนี้ไร้ไดโนเสาร์ 'อนุทิน' บอกไม่จำเป็นต้องมีสิ่งใดตลอดไป

รัฐบาลรับมอบ​ของขวัญวันเด็ก​มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง​เตรียมแจกเสาร์นี้​ ขอ​อย่าไปตีความทำเนียบฯไร้จัดแสดงไดโนเสาร์​ มองไม่จำเป็นต้องมีสิ่งใดตลอดไป​

เที่ยวกาฬสินธุ์ ถิ่นไดโนเสาร์

ททท. สำนักงานขอนแก่น เชิญชวนน้อง ๆ นักเรียน รวมถึงผู้ปกครองและนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวที่ชื่นชอบ ความสนุกและความตื่นเต้น ออกเดินทางไปท่องเที่ยวและเรียนรู้ เรื่องราวในยุคดึกดำบรรพ์ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์

อุ๊ต๊ะ 'สุชาติ'​ แกว่งปาก​กระดกลิ้น ด่าลั่น 'กปปส.+พันธมิตร'​ วิวัฒนาการกลายเป็นเหี้ย!

นายสุชาติ​ สวัสดิ์ศรี​ อดีตศิลปินแห่งชาติ​ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก โดยมีรายละเอียดดังนี้มีคนบอกว่า อย่าโทษ กปปส. เพราะต้นเหตุของรัฐประหารอยู่ที่เรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม "สุดซอย" "เหมาเข่ง"