25 ต.ค. 2566 – กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผบก.ปทส., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ., พ.ต.อ.ปทักข์ ขวัญนา ผกก.5 บก.ป., พ.ต.อ.ภัทราวุธ อ่อนช่วย ผกก.5 บก.ปทส., พ.ต.อ.ปราโมทย์ โพธิ์พันธุ์ ผกก.สภ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์ ผอ.ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติการทลายขบวนการรักษามะเร็งทิพย์อวดอ้างพลังวิเศษ และสรรพคุณยาเกินจริง จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ 6 ราย ตรวจยึดของกลาง 104 รายการ มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท
สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับการแจ้งเบาะแสจากประชาชนให้ตรวจสอบพฤติกรรมของพระนรสีห์ วัดเขาพระครุฑ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เนื่องจากมีพฤติกรรมเปิดวัดเป็นสถานที่รักษาโรคให้กับประชาชนทั่วไป และมีการเรียกเก็บค่ายาในราคาสูง โดยยาที่ขายให้กับผู้เข้ารับการรักษาเป็นยาชนิดแคปซูล ไม่มีฉลาก เข้าข่ายเป็นการหลอกลวงให้ประชาชนหลงเชื่อ และมีการเผยแพร่การรักษา และการเชิญชวน ให้ประชาชนทั่วไปเข้ารับการรักษาผ่านทางเพจเฟซบุ๊กชื่อ “สำนักพระกรรมฐานศากยาราม” (https://www.facebook.com/Sakayaram)
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงได้ทำการตรวจสอบเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว พบว่า ได้มีการโพสต์รูปภาพ วิดีโอการรักษาโรค และข้อความสื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปเข้าใจว่า พระนรสีห์ฯ กับพวกสามารถตรวจรักษา โรคมะเร็งโรคเบาหวาน โรคร้ายแรงอื่น ๆ หายขาดใน 1 – 3 เดือน ได้ อีกทั้งมีการโพสต์ข้อความโอ้อวดสรรพคุณการรักษาโรคของผลิตภัณฑ์ “มหาโอสถหลวงพ่อนรสีห์” (หงส์เกี้ยวมังกร, ตะวันฉาย, เลือดมังกร และจันทร์ฉาย) ว่ามีสรรพคุณการรักษาโรคครอบจักรวาล อาทิ เช่น “สกัดจากสมุนไพรความเข้มข้นของตัวยาสูงกว่าผงสมุนไพรบดธรรมดาถึง 10 เท่า,ล้างสารพิษ, เสริมภูมิต้านทาน, ปวดเข่า, ปวดข้อ, ปวดขา, ปวดหลัง, หมอนรองกระดูก, เก๊าท์, ลดบวม, ลดการอักเสบ, กรดไหลย้อน, โรคตับ, โรคไต, โรคหัวใจ, ปอด, เส้นเลือดตีบ, ไขมันอุดตัน, โรคระบบสมอง, โรคมะเร็ง, โรคไตวาย, โรคเบาหวาน, โรคอัลไซเมอร์, ประสาทเสื่อม, กระตุ้นการทำงานของภูมิต้านทานโรค และคืนความหนุ่มสาว” เป็นต้น
อีกทั้งมีการโพสต์ที่มาของวิชาการรักษาโรคมะเร็งว่าค้นพบจากการกรรมฐานรักษาสุนัขชื่อ ปีใหม่ ที่ป่วยเป็นมะเร็งจนหาย เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจตนว่ามีพลังวิเศษในการรักษาโรค เป็นการอาศัยความเชื่อ ความศรัทธา ทางศาสนา และนำความหวาดกลัวความทุกข์ของประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ มาเป็นเครื่องมือ ซึ่งประชาชนกลุ่มดังกล่าวอยู่ในภาวะที่อ่อนไหวและอาจหลงเชื่อ เข้ารับการรักษาจนได้รับความเสี่ยงต่อการวินิจฉัยโรคที่ผิดพลาด รักษาไม่ได้ผลและเสียโอกาสในการรักษาโรคที่แท้จริง
เมื่อทำการสืบสวน ทราบว่า พระนรสีห์ฯ มีพฤติกรรมเปิดวัดเป็นสถานที่รักษาโรคให้กับประชาชนทั่วไป และมีประชาชนหลายคนนั่งรอรับการตรวจรักษาจริง โดยมีผู้ร่วมขบวนการในการรักษาโรคให้ประชาชนและมีการแบ่งหน้าที่กันทำ ดังนี้ 1. น.ส.อรินดาฯ (สงวนนามสกุล) ทำหน้าที่จ่ายยา รับเงินค่ารักษา ประสานงานติดต่อผู้ป่วย และให้ความเห็นเบื้องต้นกับผู้ป่วย 2. นายเดชชรินทร์ฯ (สงวนนามสกุล) ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพระนรสีห์ในการต้อนรับ คัดกรองผู้ป่วย และให้ความเห็นเบื้องต้น 3. น.ส.อารียา หรือมดฯ (สงวนนามสกุล) ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพระนรสีห์ และบางครั้งทำหน้าที่รักษาแทนพระนรสีห์หากพระไม่ว่าง โดยเจาะเข็มตามร่างกายของผู้ป่วยตามที่พระสอน ซึ่ง น.ส.อารียา หรือมดฯ เป็นผู้ที่พระนรสีห์ฯ กล่าวอ้างว่า เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้าย โดยตนเป็นผู้รักษาจนหายภายใน 2 เดือน และบรรลุโสดาบันแล้ว 4. นายรวีวัชรฯ (สงวนนามสกุล) ทำหน้าที่ในการบันทึกภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวการรักษาเพื่อไปลงเพจเฟซบุ๊ก และ 5. นาง วชิรอักษราฯ (สงวนนามสกุล) ทำหน้าที่บรรจุยาสมุนไพรลงแคปซูลตามคำสั่งของพระนรสีห์ฯ และส่งยาให้ผู้ติดต่อขอซื้อทางออนไลน์ อีกทั้งในระหว่างรอตรวจรักษาจะพยายามพูดโน้มน้าวและวินิจฉัยโรคให้ผู้ที่มาตรวจรักษารู้สึกว่าตนเองป่วย เช่น บอกว่าผิวดำคล้ำ มีกลิ่นตัว ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เป็นต้น เมื่อประชาชนทั่วไปหลงเชื่อก็จะให้ซื้อยาไปรับประทาน ในราคาสูงถึงชุดละ 4,000 บาท (รับประทานได้ 10 วัน) เพื่อให้อาการป่วยดีขึ้นและกลับนัดหมายเพื่อรับการในรักษาภายหลัง
โดยวิธีการรักษาโรคให้ประชาชน พระนรสีห์ฯ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นผู้ทำการตรวจรักษา โดยมีวิธีการตรวจรักษาที่ไม่ใช่วิธีการตามหลักวิชาการทางการแพทย์ เช่น การให้ผู้ป่วยนอนราบไปกับพื้น แล้วใช้มือสัมผัสตัวและนำหินมาวนบริเวณหน้าท้อง อก และใบหน้า และสอบถามอาการ พร้อมทั้งวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ และมะเร็งปอด หรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ จากนั้นมีการใช้เข็มลักษณะคล้ายเข็มเย็บผ้าแทงไปตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น บริเวณหน้าท้อง ปลายนิ้วมือทั้งสองข้าง และต้นขาทั้งสองข้าง ตั้งแต่โคนขาจนถึงบริเวณเหนือหัวเข่าจำนวนหลายครั้ง บางราย แทงประมาณ 20 ครั้ง เพื่อให้เลือดออกมาจากรอยเจาะ จากนั้นใช้แท่งเหล็กลักษณะคล้ายปากกาถูวนบริเวณแผลที่มีเลือดออก เป็นต้น
เมื่อส่งผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่อวดอ้างสรรพคุณการรักษาส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีส่วนประกอบเป็นชิ้นส่วนพืชและชิ้นส่วนอื่นที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นชนิดใด ประกอบกับมีการโพสต์แสดงข้อความว่ามีสรรพคุณรักษาโรคได้ ดังนั้นผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงจัดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งจากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพรแต่อย่างใด
จากพฤติการณ์ของพระนรสีห์ฯ กับพวก เป็นการร่วมกันหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไป ด้วยการโพสต์ข้อความ
ที่สื่อให้เข้าใจว่า พระนรสีห์ฯ กับพวก สามารถตรวจรักษาโรค รวมทั้งอวดอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ยาของตนว่าสามารถรักษาโรคร้ายแรงต่าง ๆ ให้หายขาดได้ ผ่านเพจเฟซบุ๊กชื่อ “สำนักพระกรรมฐานศากยาราม” ซึ่งเปิดเป็นเพจแบบสาธารณะที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงและพบเห็นได้ ซึ่งเป็นความเท็จ เนื่องจาก พระนรสีห์ฯ ไม่ได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และวิธีการตรวจรักษาก็ไม่ใช่วิธีการตามหลักวิชาการทางการแพทย์แต่อย่างใด ประกอบกับผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวร่วมกันขายไม่ได้มีสรรพคุณในการรักษาโรคตามที่โพสต์โฆษณาไว้ในเพจเฟซบุ๊ก เมื่อมีผู้หลงเชื่อกลุ่มบุคคลดังกล่าวจะฉวยโอกาสหลอกเอาทรัพย์สินของประชาชน โดยตรวจวินิจฉัยว่าบุคคลนั้นป่วยเป็นโรคร้ายแรง แล้วขายผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นยารักษาโรคให้ในราคาที่สูง
พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. จึงทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ขอศาลอาญาอนุมัติหมายจับ พระนรสีห์ฯ กับพวกรวม 6 ราย ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับ, ร่วมกันโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรหรือคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรในลักษณะ
โอ้อวดสรรพคุณว่าสามารถบำบัดรักษา บรรเทา หรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือรักษาโรค
ให้หายขาดได้ และแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ เกินความจริง, ร่วมกันโดยทุจริตหรือหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา”
โดยพระนรสีห์ มีความผิดเพิ่มเติมในฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต”
ต่อมาในวันที่ 24 ตุลาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับ กก.5 บก.ป., กก.5 บก.ปทส., สภ.อู่ทอง, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และเจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัดสุพรรณบุรี นำหมายค้นศาลอาญา เข้าทำการตรวจสอบสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จำนวน 2 แห่ง ดังนี้
- สำนักพระกรรมฐาน ศากยราม (เขาพระครุฑ) ต.พลับพลาไชย อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ตรวจรักษาผู้ป่วย ตรวจยึดแคปซูลบรรจุผงสีน้ำตาล จำนวน 7,586 แคปซูล, อุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจรักษา รวมจำนวน 42 รายการ และเงินสด จำนวน 114,000 บาท
- เทวสถาน ศิวาลัยเทพมณเฑียรทอง ต.สามชุก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ผลิต จัดเก็บ และจัดส่งแคปซูลบรรจุผงสีน้ำตาล ให้แก่ผู้ที่ติดต่อขอซื้อผ่านทางออนไลน์ตรวจยึดแคปซูล บรรจุผงสีน้ำตาล จำนวน 8,850 แคปซูล, แคปซูลเปล่า 18,000 แคปซูล, ผงสีน้ำตาลสำหรับบรรจุแคปซูล จำนวน 10 กก., อุปกรณ์ส่วนควบในการผลิต ผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมจำนวน 62 รายการ และเงินสด จำนวน 1,763,200 บาท
สามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ 6 ราย ได้แก่ 1. พระนรสีห์ หรือ นายสิทธัตถ์ฯ (สงวนนามสกุล), 2. นายเดชชรินทร์ฯ (สงวนนามสกุล) 3. น.ส.อรินดา หรือหนึ่งฯ (สงวนนามสกุล) 4. น.ส.อารียา หรือมดฯ (สงวนนามสกุล) 5. นายรวีวัชรฯ (สงวนนามสกุล) และ 6. นาง วชิรอักษรา หรือแน่งฯ (สงวนนามสกุล) รวมตรวจยึดแคปซูลบรรจุผงสีน้ำตาล จำนวน 16,436 แคปซูล, แคปซูลเปล่า 18,000 แคปซูล, ผงสีน้ำตาลสำหรับบรรจุแคปซูล จำนวน 10 กก., อุปกรณ์ส่วนควบในการผลิต ผลิตภัณฑ์สมุนไพร , อุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาโรค และเงินสด กว่า 2 ล้านบาท รวม 104 รายการ มูลค่าความเสียหายกว่า 3 ล้านบาท ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี
อนึ่ง จากการร่วมตรวจสอบสำนักกรรมฐานศากยราม ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ปทส. และเจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัดสุพรรณบุรี พบว่าอาคาร สิ่งปลูกสร้างภายในสถานดังกล่าว จำนวน 18 หลัง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาทุ่งดินดำ และป่าเขาตาเก้า อันเป็นการกระทำความผิดฐาน “บุกรุก ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และบุกรุก ก่อสร้าง หรือแผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต” ซึ่งได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี อีกส่วนหนึ่ง
จากการสืบสวนเพิ่มเติมผู้ต้องหาบางส่วนให้การว่า พระนรสีห์จะจำวัดที่เทวสถานเป็นประจำ โดยจะเข้าวัดเฉพาะในวันที่มีการตรวจรักษา หากตรวจรักษาเสร็จเร็วก็จะเข้าให้พระอีกรูปที่พักอยู่ด้วยกันขับรถยนต์มาจำวัดที่เทวสถาน
จากการสืบสวนเพิ่มเติมทราบว่า สำนักพระกรรมฐานศากยารามได้สร้างขึ้นประมาณเดือนมีนาคม 2561 พร้อมทั้งเริ่มมีการโพสต์กิจกรรมต่าง ๆ ของวัดเรื่อยมา จนกระทั่งเริ่มมีการโพสต์การใช้พลังสมาธิเพื่อบำบัดรักษาโรคให้สุนัข และคนที่ป่วยเป็นมะเร็งตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 – ปัจจุบัน (ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก “สำนักพระกรรมฐานศากยาราม) โดยพระนรสีห์บวชเมื่อเดือนเมษายน 2561 ในฝ่ายมหานิกาย ต่อมาในปี 2562 ได้ลาสิกขา และญัตติใหม่ในฝ่ายธรรมยุตินิกาย
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวมีความผิดตาม
กรณีพระนรสีห์
- พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ฐาน “บุกรุก ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ฐาน “บุกรุก ก่อสร้าง หรือแผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ
อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี
และปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท
กรณีพระนรสีห์และผู้ร่วมขบวนการ มีความผิดฐาน
- ประมวลกฎหมายอาญา ฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาน” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ฐาน “ร่วมกันประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ - พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562
6.1. ฐาน “ร่วมกันขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
6.2. กรณีพระนรสีห์ และผู้บรรจุยาสมุนไพรลงแคปซูลมีความผิดฐาน “ร่วมกันผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
6.3. ฐาน “ร่วมกันขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับ” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี
หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
6.4. ฐาน “ร่วมกันโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรหรือคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
6.5. ฐาน “ร่วมกันโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณว่าสามารถบำบัดรักษา บรรเทา หรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือรักษาโรคให้หายขาดได้ และแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ เกินความจริง” จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ฐาน “ร่วมกันโดยทุจริตหรือหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า จากกรณีที่ กรม สบส. ได้รับการประสานจาก กก.4 บก.ปคบ. ให้ร่วมตรวจสอบสถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ ณ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โดยสถานปฏิบัติธรรมดังกล่าว มีพฤติกรรมในการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียล โพสต์รูปภาพ คลิปวิดีโอการรักษาโรค และข้อความอันสื่อให้เข้าใจว่าสามารถรักษาโรคเบาหวาน หรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็งให้หายขาดในระยะเวลา 1 – 3 เดือน อีกทั้ง มีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรของสถานปฏิบัติธรรมว่าสามารถรักษา และบรรเทาอาการได้สารพัดโรค ตนจึงสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกองกฎหมาย กรม สบส. ร่วมสนธิกำลังกับ กก.4 บก.ปคบ. และ อย. เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยพบว่าสถานปฏิบัติธรรมดังกล่าว มีพระภิกษุซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ดำเนินการตรวจรักษาโรคแก่ประชาชน โดยใช้วิธีการตรวจรักษาที่มิใช่วิธีการตามหลักวิชาการทางการแพทย์ เช่น การใช้มือสัมผัสตัวและนำหินมาวนบริเวณส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อวินิจฉัยโรค หรือการใช้เข็มลักษณะคล้ายเข็มเย็บผ้าแทงไปตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อให้เลือดออกมาจากรอยเจาะ จากนั้นใช้แท่งเหล็กถูวนบริเวณแผลที่มีเลือดออก
ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงแสดงตัวเข้าจับกุมและแจ้งข้อหาการกระทำผิดกับพระภิกษุ และผู้ช่วยอีก 5 ราย ในเบื้องต้น ประกอบด้วย 1) พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต” 2) พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ฐาน “ร่วมกันประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต” 3) ประมาลกฏหมายอาญา ฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาน” 4) พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ฐาน “ร่วมกันขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต”, “ร่วมกันขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับ”, “ร่วมกันโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรหรือคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต” และ “ร่วมกันโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณว่าสามารถบำบัดรักษา บรรเทาหรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือรักษาโรคให้หายขาดได้ และแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ เกินความจริง” และ 5) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ฐาน “ร่วมกันโดยทุจริตหรือหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” พร้อมกับตรวจยึดของกลาง และพยานหลักฐานอื่น ๆ ส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี
นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กรม สบส. ขอเน้นย้ำกับพี่น้องประชาชนทุกท่าน ให้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนเลือกรับบริการรักษาพยาบาลทุกประเภท ขอให้เลือกรับบริการจากแพทย์ และสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น อย่าหลงเชื่อการโฆษณาอวดอ้างจากสื่อโซเชียล หรือจากคำบอกเล่าจากบุคคลอื่นว่าสามารถรักษาได้สารพัดโรคเรื้อรังให้หายขาด โดยเฉพาะการรักษาโรคมะเร็ง, โรคเบาหวาน, โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต, โรคทางจิตเวช, โรคความดันโลหิต, โรคทางสมอง หัวใจและหลอดเลือด และโรคเอดส์ ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่าสามารถรักษาอาการของโรคดังกล่าวให้หายขาดได้ หากพบเห็นขอให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นการโฆษณาโอ้อวดเกินจริงให้หลีกเลี่ยงการรับบริการ และหากอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก็ขอให้แจ้งเบาะแสมาที่กรม สบส. ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 แต่หากอยู่ในส่วนภูมิภาคก็สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อดำเนินการตรวจสอบ และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตำรวจสอบสวนกลาง CIB ผสานพลัง AIS ยกระดับเดินหน้าภารกิจปกป้องประชาชน เปิดบริการ *1185# แจ้งอุ่นใจ ตัดสายโจร กดแจ้งเบอร์โทรมิจฉาชีพได้ทันที หลังวางสาย
ตำรวจสอบสวนกลาง CIB จับมือ AIS ยกระดับการปกป้องลูกค้า และ ประชาชน จากมิจฉาชีพต่อเนื่องไปอีกขั้น เปิดตัวบริการ *1185# แจ้งอุ่นใจ ตัดสายโจร