'BUFFERPUFF' วัสดุกันกระแทกจากข้าวโพด  ไอเดียสุดเจ๋งเยาวชนไทยคว้ารางวัลเฟดเอ็กซ์ฯ  

ในยุคปัจจุบันด็กและเยาวชนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่มีแนวคิดในการเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจ ซึ่งก้าวเล็กๆที่จะพาเด็กรุ่นใหม่ไปสู่หนทางของการเป็นเจ้าของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ โอกาสในการเรียนรู้และลงมือทำ  

ด้วยเหตุนี้เฟดเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (FedEx Express) บริษัทในเครือเฟดเอ็กซ์ คอร์ปอเรชั่น หนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการขนส่งสินค้าด่วนที่ใหญ่ที่สุดของโลก ร่วมกับหน่วยงาน จูเนียร์ อะชีฟเม้นท์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงได้จัด โครงการเฟดเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส/จูเนียร์ อะชีฟเม้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล เทรด ชาเล้นจ์ (FedEx/JA ITC) เพื่อส่งเสริมความรู้ทางธุรกิจผ่านการทำงานเป็นทีมและการเรียนรู้ในห้องเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา การประกวดของโครงการ FedEx/JA ITC ประจำปี พ.ศ. 2566 ได้จัดขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ มีตัวแทนเยาวชนเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศทั้งสิ้น 60 คน มาจากทั้งหมด 10 ประเทศ/เขตปกครองทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ได้แก่ ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไทย และเวียดนาม ซึ่งในการประกวดปีนี้ ได้กำหนดให้แต่ละทีมมีเยาวชน 2 คน(คนละประเทศ) ร่วมออกแบบกลยุทธ์การเจาะตลาดสินค้าที่นำเสนอโซลูชันด้านความยั่งยืนให้กับประเทศโปแลนด์ เนื่องด้วยผู้บริโภคในปัจจุบันคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ และบทบาทขององค์กรต่าง ๆ ในการช่วยสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของโลก

 ตัวอย่างรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ BUFFERPUFF
 กระบวนการผลิต BUFFERPUFF

ในปีนี้ ทีมได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม TAVI  ซึ่งมีตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทย ได้แก่ ณภัทร วรสง่าศิลป์ นักเรียนจากโครงการการศึกษานานาชาติ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา ที่ได้ร่วมทีมกับ เหงียน หง็อก ลินห์ ตัวแทนเยาวชนจากประเทศเวียดนาม นำเสนอผลิตภัณฑ์ BUFFERPUFF บรรจุภัณฑ์กันกระแทก ทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ซึ่งทำมาจากแป้งข้าวโพด ที่ช่วยให้บริษัทสามารถลดการสร้างขยะพลาสติกจากการขนส่ง

 นายเทียน หลง วูน กรรมการผู้จัดการเฟดเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส ประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าวว่า เป้าหมายของ เฟดเอ็กซ์ คือการเชื่อมโยงไอเดียและความเป็นไปได้ต่าง ๆ เพื่อช่วยยกระดับชุมชนสู่ความสำเร็จ จึงมุ่งมั่นบ่มเพาะผู้ประกอบการรุ่นต่อไปผ่านการเผยแพร่องค์ความรู้และเครื่องมือในการสร้างประสบการณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักสร้างสรรค์ นวัตกร และผู้นำแห่งอนาคต ซึ่งโจทย์ในปีนี้ คือ การคิดค้นกลยุทธ์การทำการตลาดโซลูชันผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนการขนส่งแบบยั่งยืน ในประเทศโปแลนด์ เนื่องด้วยโปแลนด์เป็นประเทศที่อยู่นอกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงเป็นความท้าทายใหม่สำหรับผู้เข้าแข่งขันทุกคน อีกทั้งยังมีการเน้นย้ำความสำคัญของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในหมู่ผู้บริโภค และบทบาทขององค์กรในการร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

แผนช่องทางการจัดจำหน่าย BUFFERPUFF

“รู้สึกภูมิใจกับเยาวชนไทยที่คว้าชัยชนะโดยไม่เพียงแต่จะแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ แต่ยังใส่ใจในเรื่องของความยั่งยืนและการนำไปใช้งานจริง ด้วยไอเดียที่เรียบง่าย เป็นไปได้จริง และชาญฉลาด ดดยได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ชีวภาพที่ย่อยสลายได้ จากวัสดุแป้งข้าวโพดซึ่งเป็นทรัพยากรท้องถิ่น ที่ยังช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้อีกด้วย” เทียน  กล่าว

จากความสนใจ สู่การพัฒนาศักยภาพ ณภัทร วรสง่าศิลป์ เล่าว่า การค้นพบตนเองนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตั้งแต่ยังเด็ก มีความสนใจรอบด้าน ทั้งวิชาการ ศิลปะ ด้านดนตรี ร้องเพลง ถึงแม้จะทำในสิ่งต่าง ๆ นั้นได้ดี แต่ก็ไม่ได้มีด้านใดที่โดดเด่นมากนัก การที่มีความสามารถหลายด้านนั้น ทำให้มีตัวเลือกมากก็จริง แต่ก็ทำให้ตัดตัวเลือกเพื่อเลือกเส้นทางเดินยากเช่นกัน ปัจจุบัน มีความสนใจสายงานทางด้านคอมพิวเตอร์ จึงตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเข้าศึกษาต่อเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัย ถึงแม้จะไม่ได้สนใจอาชีพในสายธุรกิจมากนัก แต่การได้เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ ก็ทำให้ได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่างที่มีประโยชน์ในโลกของการทำงานมากมาย เช่น การทำงานเป็นทีม  การวางแผนโครงการ และทักษะการนำเสนองาน ความเข้าใจในการทำธุรกิจจะทำให้เราสามารถเข้าใจในภาพรวมขององค์กรที่จะทำงานด้วยในอนาคต เพื่อให้ทำงานได้อย่างตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  ณภัทร ได้เล่าอีกว่า ในการประกวดครั้งนี้ได้ร่วมทีมกับเหงียน หง็อก ลินห์ เพื่อนจากเวียดนาม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ BUFFERPUFF  ซึ่งได้รับความร่วมมือที่ดี เพราะเขาเก่งเรื่องการค้นคว้าหาข้อมูลและการหาสถิติที่น่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก และยังถนัดการเขียนรายละเอียดสินค้า และทำส่วนของการเงิน ส่วนเราถนัดการกำหนดกลุ่มเป้าหมายและแผนการตลาด พวกเราสองคนรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำงานร่วมกัน ในตอนที่เราคิดสินค้านี้ขึ้นมา พวกเราใจตรงกันว่าต้องการหาสิ่งที่มาแทนโฟมกันกระแทก ซึ่งเขาก็เสนอว่าเราควรทำวัสดุกันกระแทกจากแป้งข้าวโพด

จากแป้งข้าวโพดสู่การเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์กันกระแทก ณภัทร  อธิบายว่าที่ตัดสินใจเลือกใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสินค้า เนื่องจากโจทย์ระบุให้พวกเราแก้ปัญหาการขนส่งในโปแลนด์ ซึ่งโปแลนด์มีข้าวโพดมากมายที่ยังนำมาใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ นอกจากนี้เมื่อเทียบกับตัวเลือกวัตถุดิบอื่น ๆ ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม คุณลักษณะและเสถียรภาพของราคาของข้าวโพดนั้นเหมาะกับการนำมาเป็นวัตถุดิบมากกว่า ดังนั้นพวกเราจึงวางแผนว่าจะผลิตสินค้าที่โปแลนด์ เพื่อใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่นั่นให้เป็นประโยชน์สูงสุด และลดต้นทุนในการขนส่งอีก และช่วยให้สินค้ามีความเรียบง่าย และแตกต่างบนพื้นฐานของความเป็นไปได้ทางธุรกิจ

จะมีแผนการต่อยอด BUFFERPUFF กันกระแทกพัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ณภัทร บอกว่า  เนื่องจากสินค้าที่พวกเราได้คิดขึ้นมา ได้รับการยอมรับจากกรรมการ จึงคิดว่าหากนำสินค้านี้ไปต่อยอดได้หลังจบการแข่งขัน อาจเป็นความคิดที่ดีไม่น้อย และในประเทศไทยในปัจจุบัน มีธุรกิจออนไลน์ที่ต้องพึ่งพาการขนส่งสินค้ามากมาย นับเป็นเรื่องที่ดีหากมีวัสดุที่ช่วยการแพ็กสินค้า และยังสามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม แต่หากจะเริ่มการผลิตและขายสินค้านี้ ต้องได้รับการยินยอมจากเพื่อนร่วมทีมด้วย เพราะนี่เป็นผลงานร่วมกัน ปัจจุบันจึงยังไม่ได้มีแผนที่จะลงมือใดๆ  แต่สิ่งหนึ่งที่จะได้นำไปใช้แน่นอนคือการเริ่มทำธุรกิจในอนาคตแบบยั่งยืน  ซึ่งช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่แบรนด์

  “จากการเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะบทเรียนที่ว่า การใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างสินค้าเป็นสิ่งที่ดี แต่หากนวัตกรรมนั้นไม่สามารถผลิตได้ หรือยากที่จะผลิตได้ ความคิดทั้งหมดนั้นก็จะไม่สามารถพัฒนาไปสู่ผลสำเร็จได้ ความคิดสร้างสรรค์ควรนำมาประยุกต์ใช้ให้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงจึงจะเหมาะสม นอกจากการนำหลักการนี้ไปใช้กับสินค้าแล้ว ที่จริงหลักการนี้ก็ใช้กับหลาย ๆ อย่างได้เช่นกัน ทางเลือกที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในทางทฤษฎี อาจมิใช่แผนที่ดีที่สุด หากเราปฏิบัติจริงไม่ได้”  ณภัทร ทิ้งท้าย

สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม SUSTAINOVATE โดยมี ซะกิฟ อัมมาร์ ซาคตี ตัวแทนเยาวชนจากประเทศอินโดนีเซีย และ จองอู ลี ตัวแทนเยาวชนจากประเทศเกาหลีใต้ นำเสนอ Flexiwrap วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตจากเมมโมรีโฟมที่ผ่านการอัพไซเคิล และนำมาใช้สำหรับการขนส่งวัสดุที่ทำจากเซรามิกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเสียหาย

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่  ทีม CRESCO โดยมี อิซึกิ ซอน ตัวแทนเยาวชนจากประเทศญี่ปุ่น และ เอลิเชีย อโลเดีย บินาร์โต จากประเทศอินโดนีเซีย นำเสนอ EcoFlow โฟมชีวภาพอเนกประสงค์ที่มีความทนทาน ผลิตจากแกลบในชุมชนท้องถิ่น ช่วยให้บริษัทสามารถลดการใช้พลาสติกและตอบโจทย์มาตรการหรือข้อกำหนดในท้องถิ่นได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นิรันดร์กัลป์'ธีมศิลปะ ภูเก็ตเบียนนาเล่

มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale , Phuket 2025  เปิดตัวผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ นายอริญชย์ รุ่งแจ้ง  และ Mr. David The  พร้อมภัณฑารักษ์ นางสาวมาริสา พันธรักษ์ราชเดช และ Ms. Hera Chan ณ HOUSE OF TIN BARON อำเภอเมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ตอกย้ำความพร้อมจัด Thailand Biennale ครั้งที่ 4

แนะศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์-SEA ตอบโจทย์ แก้ไขปัญหาพื้นที่ลุ่มน้ำยม เขื่อนแก่งเสือเต้น

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย แนะ ศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์(SEA) ตอบโจทย์แก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งของพื้นที่ลุ่มน้ำยม เพื่อลดความขัดแย้ง หาทางออก สร้างหรือไม่ควรสร้าง เขื่อนแก่งเสือเต้น

เปิดตัวโขนพระราชทาน'จักราวตาร'

วันที่ 3 ก.ย.2567 ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แถลงข่าวเปิดตัวการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน พระจักราวตาร โดยท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการ ในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้