โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับไวรัสที่ชื่อว่า “อินฟลูเอนซา” (influenza) ซึ่งมีสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์อยู่ 4 สายพันธุ์ โดยโรคสามารถติดต่อด้วยการสัมผัสสารคัดหลั่งที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เช่น การรับประทานอาหารร่วมกับผู้ป่วยโดยไม่ใช้ช้อนกลางและการพูดคุยใกล้ชิดกับผู้ป่วย เป็นต้น
หลังการระบาดของโควิด-19 ซาลง ไข้หวัดใหญ่ก็เข้ามาระบาดแทนที่ โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว มีการระบาดหนักเลยก็ว่าได้ โดยล่าสุดกรมควบคุมโรคเผยว่ามีจำนวนผู้ป่วยสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 กันยายน 2566 ถึง 248,322 ราย อัตราป่วย 375.50 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 8 ราย เฉพาะในเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 109,556 ราย
ผลจากการระบาดในกลุ่มประชากรระดับแสนคน ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลน ยารักษาอาการไข้หวัดใหญ่ อย่างโอเซลทามิเวียร์ ซึ่งมีราคาแพงขึ้นในช่วงนี้ และถึงกับมีการทำยาปลอม และลักลอบนำเข้ายาอย่างไม่ถูกกฎหมาย ล่าสุดทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จึงได้ประกาศผลิตยาโอเซลทามิเวียร์เพิ่มขึ้น และจะกระจายยาไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศให้เพียงพอแก่สถานการณ์ระบาด
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ว่า ผู้ป่วยจะมีอาการที่คล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ และมีน้ำมูก แต่จะมีอาการรุนแรงอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ มีไข้สูง หนาวสั่น ไอหนักจนนอนไม่ได้ ปวดหัวมาก ปวดตัว น้ำมูกเยอะ แน่นจมูก บางรายอาจมีอาการหายใจติดขัด หอบเหนื่อย และแน่นหน้าอก ร่วมด้วย ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ที่อยู่ในวัยทำงาน อาการรุนแรงถึงขนาดนอนโรงพยาบาล
ก่อนหน้านี้ รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ ได้เคยออกมาเตือนว่า พอเข้าสู่ฤดูฝนในปีนี้ จะเริ่มเห็นการระบาดของไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นกว่า 3 ปีที่ผ่านมา เพราะในช่วงโควิด-19 ครองโลก ทำให้ผู้คนเก็บตัวในบ้าน ระมัดระวังด้านสุขอนามัย โอกาสแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่ก็น้อยลง บวกกับในช่วงโควิดระบาดประชาชนห่างหายจากการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ทำให้ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ยังหมุนเวียนอยู่อย่างเบาบาง พอสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มกลับสู่สภาวะปกติ ทำให้พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มากขึ้นอย่างชัดเจน โดยอัตราคนที่เป็นไข้หวัดแล้วมาโรงพยาบาล ตรวจพบว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ประมาณ 15% ซึ่งเป็นข้อมูลเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2566 ของคนที่เป็นไข้หวัดใหญ่
รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี บอกอีกว่า การที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในละติจูดตรงกลางระหว่างซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ จึงทำให้มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตลอดทั้งปี โดยช่วงที่มีการระบาดหนักจะอยู่ในฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน – ตุลาคม และจะระบาดอีกครั้งในช่วงอากาศเย็น เดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ แต่เป็นช่วงที่มีการระบาดน้อยกว่า จากสถิติช่วงระบาดหนัก ตรวจพบผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลด้วยไข้หวัดจะเป็นไข้หวัดใหญ่ 20-30% หรือบางปีตรวจพบสูงถึง 40% ของผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดแล้วมาโรงพยาบาล
“โรคไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่มักจะก่อโรคในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เด็ก 100 คนในปีหนึ่งๆ จะติดเชื้อและมีอาการเจ็บป่วยจากโรคไข้หวัดใหญ่ 20-25% แต่ถ้าผู้ใหญ่ จะพบเป็นไข้หวัดใหญ่ ประมาณ 10% โดยปัจจัยที่สำคัญของการระบาดของไข้หวัดใหญ่ นอกจากฤดูฝนที่ทำให้เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีชีวิตอยู่นาน ปัจจัยอีกประการ คือ โรงเรียนเปิด เด็กนักเรียนจะติดต่อส่งเชื้อให้กัน ทำให้เด็กอาจพาเชื้อไปสู่คนในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ปู่ย่าตายายที่อยู่ในบ้าน ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุหากติดเชื้อแล้ว มีโอกาสที่โรคจะรุนแรง ถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาลหรือหากรุนแรงมากอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวต่างๆ จากสถิติระบุว่า ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อาการรุนแรงที่นอน ICU พบจำนวนที่เสียชีวิต อยู่ที่ 10% ของผู้ป่วยที่นอน ICU “รศ.นพ.ทวีกล่าว
ไข้หวัดใหญ่มีความอันตราย ในตัวเอง โดยรศ.นพ.ทวี กล่าวว่า ‘ไข้หวัดใหญ่เป็นตัวนำร่อง’ เป็นเชื้อโรคที่ก่อโรคทางเดินหายใจ ตัวมันเองก่อโรครุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้บ้างแต่ไม่มาก แต่ตัวที่มาซ้ำเติม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อแบคทีเรียที่เกาะในลำคอจะมีอันตรายมากกว่า ทำให้โรครุนแรงมากขึ้น โดยเวลาที่เราเป็นไข้หวัดใหญ่ทำให้เส้นทางเดินหายใจที่ลงไปที่ปอดมีการติดเชื้อ มีการอักเสบ เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนทางเดินขรุขระ ทำให้เชื้อแบคทีเรียที่เกาะอยู่ที่คอ แต่พอทางเดินขรุขระเชื้อแบคทีเรียก็จะไต่ลงไปที่ปอด เกิดภาวะปอดอักเสบ ทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ หรืออาจจะกระจายเข้าสู่เลือดเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสโลหิต ทำให้เกิดเป็นลิ่มเลือดเล็กๆ น้อยๆ อยู่ตามที่ต่างๆ ทำให้โรคหัวใจรุนแรงขึ้น จากปกติที่เป็นโรคหัวใจที่ไม่รุนแรง หรือหากไปอุดตันตามเส้นเลือดของสมอง ก็ทำให้เป็นโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) หรือเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ได้
” เพราะฉะนั้น ไข้หวัดใหญ่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโรคซึ่งรุนแรงและอาจมีโรคแทรกซ้อนทำให้รุนแรงขึ้นหลายชนิด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่เป็นโรคประจำตัว พอเป็นไข้หวัดใหญ่ก็ยิ่งเป็นตัวเสริมทำให้คนที่เป็นโรคหัวใจอาจจะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน มีภาวะหัวใจวาย หรือคนชรามากๆ พอเป็นไข้หวัดใหญ่ก็ทำให้เลือดไปเลี้ยงช้า ทำให้มีภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ จึงเป็นที่มาของอันตรายจากโรคของหลอดเลือดที่ไปหัวใจและสมองได้”รศ.นพ.ทวีกล่าว
โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ อาจเรียกว่า ‘กลุ่มเสี่ยงตาย’ เพราะมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ เพราะหากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่แล้ว โรคแทรกซ้อนที่อาจจะตามมา ความรุนแรงอันดับหนึ่ง คือ ‘ปอดอักเสบ’ ตามมาด้วย โรคหัวใจวาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และโรคหลอดเลือดสมอง (stroke)
ไข้หวัดใหญ่กับเด็ก พญ. สุธิดา ชินธเนศ กุมารแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบการหายใจในเด็ก รพ.วิมุต กล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่ในเด็ก ๆ ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะจะมีไข้สูงถึง 39 – 40 องศาเซลเซียสติดต่อกัน 3 – 4 วัน อาจมีอาการหนาวสั่นสะท้านร่วมด้วย บางคนอาจมีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร เสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ ซึ่งถือว่าอันตรายมากและต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
“ด้วยอาการที่รุนแรงในเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่จึงควรพาไปฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อผ่อนหนักเป็นเบา ลดอาการรุนแรงเมื่อป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ “วัคซีนสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน โดยควรฉีดเป็นประจำทุกปี เพราะแต่ละปี วัคซีนจะมีการพัฒนาตามการกลายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่อยู่เสมอ ส่วนในเด็กอายุน้อยกว่า 9 ปี กรณีเริ่มให้วัคซีนเป็นปีแรก จะต้องฉีด 2 ครั้ง ครั้งละ 1 เข็มห่างกัน 1 เดือน” พญ.สุธิดากล่าว
การฉีดวัคซีนไป้องกันถือว่าเป็นวิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุด “วัคซีน’ ซึ่งจะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสามารถจัดการกับโรคได้ตลอดระยะเวลา ปัจจุบันมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์แล้ว ในประเทศไทยมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2 ประเภท ได้แก่
1. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดมาตรฐาน (Standard Dose) ซึ่งจะมีทั้งชนิด 3 สายพันธุ์ และชนิด 4 สายพันธุ์ สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป จนถึงผู้สูงอายุ (ขนาด 15 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์ต่อโดส)
2. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง (High Dose) สำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป สามารถฉีดได้ทั้งในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีร่างกายปกติ และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ซึ่งมีเฉพาะชนิด 4 สายพันธุ์เท่านั้น (ขนาด 60 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์ต่อโดส)
การมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง สำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีร่างกายอ่อนแอ ทำให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนต่ำ จากการศึกษาพบว่าผู้สูงอายุเกิน 65 ปี ฉีดวัคซีนขนาดมาตรฐาน ผลการศึกษาปรากฎว่า ผู้สูงอายุบางรายสร้างภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี ไม่เหมือนกับช่วงอายุอื่นๆ จึงมีการศึกษาพัฒนาโดยการเพิ่มขนาดของตัวยาในแต่ละสายพันธุ์ เป็น 60 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์ ผลการวิจัยพบว่าสามารถลดการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดที่มีอาการได้สูงกว่าชนิดที่เป็นมาตรฐาน (15 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์) ร้อยละ 24 และยังสามารถลดการนอนโรงพยาบาลจากไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบได้สูงกว่าขนาดมาตรฐานร้อยละ 64.4 และลดการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ได้สูงกว่าขนาดมาตรฐานร้อยละ 48.9 แต่อาจพบผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อาจมีอาการปวดบริเวณที่ฉีดมากกว่าขนาดมาตรฐาน แต่อย่างไรก็ตามมีความมั่นใจและปลอดภัยสูง เนื่องจากวัคซีนขนาดสูงได้ใช้อยู่ในประเทศยุโรป อเมริกา มานานมากกว่า 10 ปี และใช้มากกว่า 200 ล้านโดสแล้ว
สถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฤดูกาล ปี 2566 ได้แก่1. สถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บัตรทองทุกแห่ง ให้บริการฉีดวัคซีนชนิด 3 สายพันธุ์ ฟรี! สำหรับ 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี, ผู้มีโรคเรื้อรัง, ผู้พิการทางสมอง, โรคธาลัสซีเมีย, โรคอ้วน, ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป, หญิงตั้งครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
โรงพยาบาลภาครัฐทุกแห่ง / โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) / ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมให้บริการ
2. สำนักงานประกันสังคม สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และ มาตรา 39 ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ฟรี ปีละ 1 ครั้ง ที่สถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
3. สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง หรือประชาชนทั่วไป ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป สามารถรับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ ได้ทั้งจากโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลภาครัฐ หรือคลินิกเวชกรรม โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง
ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้อต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ http://www.ift2004.org/ หรือทางเพจของมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่