การเตรียมพร้อมรับมือกับภัยแล้ง เป็นสิ่งสำคัญเพราะประเทศไทยกำลังเผชิญกับภัยแล้งจากสถานการณ์เอลนีโญ ซึ่งรุนแรงและสร้างผลกระทบในทุกมิติ ทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสำนักงานนวัตกรรมและพันธกิจเพื่อสังคม ร่วมกับคณะทำงานผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกเกษตรศาสตร์ เปิดเวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง ”จะเตรียมรับมือภัยแล้งจากสถานการณ์เอลนีโญ กันอย่างไร” เมื่อวันก่อน ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน มีการแลกเปลี่ยนความรู้และเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช นักวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เอลนีโญส่งผลให้อุณหภูมิจะร้อนกว่าปกติ รายงาน NOAA ปี 2566 ระบุ 9 ปีที่ร้อนที่สุดในโลกเกิดช่วง 9 ปีที่ผ่านมา 9 เดือนแรกของปี 2566 อุณหภูมิโลกสูงเป็นอันดับ 1 ในรอบ 174 ปี ผลกระทบเอลนีโญ คาดการณ์ว่า เดือน ธ.ค. 66- ก.พ.67 ภาคใต้จะร้อนและแล้งกว่าปกติ ภาคอื่นร้อนกว่าปกติ
“ มีผลการศึกษาใหม่พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ปรากฎการณ์เอนโซ่ (ENSO) แปรปรวนมากขึ้น 10% และอาจเพิ่มมากถึง 15-20% ถ้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับสูง ในอีกสามเดือนข้างหน้า เดือน มกราคม 2567 คาดว่าจะเกิดเอลนีโญเต็ม 100% และอาจลากยาวถึงมิถุนายน 2567 คาดปริมาณฝนเดือน พ.ย.66 – เม.ย.67 คาดว่าจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในภาคใต้ ขณะที่ภาคเหนือ กลาง ตะวันออก และตะวันตก คาดปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วง ก.พ.- เม.ย. 67 ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 รุนแรงกว่าปกติช่วงนั้น “ รศ.ดร.วิษณุ ย้ำผลกระทบ
เอลนีโญรอบนี้ไม่ธรรมดา จะสร้างผลกระทบสูง นักวิชาการระบุ ไทยติดโผกลุ่มเสี่ยงสูงมากต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจในอนาคตจากเอลนีโญ ที่ผ่านมา เอลนีโญ ปี 25/26 และ 40/41 ทำให้รายได้ต่อหัวของไทยลดลง 5-7% และอนาคตก็คาดว่าจะลดลงมากกว่า 5% ต่อปี เมื่อเทียบกับปีปกติ ผลกระทบต่อภาคเกษตร เป็นภาคส่วนที่ใช้น้ำมากที่สุด เมื่อเกิดการขาดแคลนน้ำ ผลผลิตต่อไร่ลดลง เสียหาย พืชยืนต้นตาย รวมถึงประมง ผลผลิตสัตว์น้ำก็ลดลง อุณหภูมิสูงและแปรปรวน ฝนน้อย ทำให้การเลี้ยงปศุสัตว์มีต้นทุนที่สูงขึ้น โตช้า ส่วนพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตวน้ำก็กระทบจากน้ำเค็ม อุณหภูมิน้ำที่เพิ่มขึ้น หากคิดมูลค่าความเสียหายสะสม 2,850 ล้านล้านบาท ช่วง พ.ศ.2554-2588 ซึ่งสูงมาก ซึ่งไม่รวมมูลค่าความเสียหายของระบบอาหาร
“ ภาคใต้และภาคตะวันออกจะเสี่ยงเสียหายมากกว่าภาคอื่น ผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม หากขาดแคลนน้ำต้นทุนค่าเสียโอกาสเพิ่มจากปริมาณและผลผลิตที่ผลิตได้ลดลงกว่าระดับปกติ ส่งสินค้าไม่ได้ตามสัญญา อุณหภูมิสูงทำให้ความต้องการพลังงานเพิ่ม น้ำทะเลเดือดขึ้น ไทยติดท็อปไฟว์พื้นที่ปะการังลดลง 25% และสูงสุดถึง 82% ส่วนชุมชนเมืองต้องระวังเรื่องโรคลมแดดช่วงมีนาคม-เมษาปีหน้า น้ำเค็มบุกรุกกระทบกับการผลิตน้ำประปา ฝนน้อย เมื่อเกิดการเผาในที่โล่งแจ้งทั้งภาคเกษตรและป่าไม้จะรุนแรงกว่าปกติกทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ก่อฝุ่นพิษตามมา ปีหน้ารุนแรงแน่ ถ้าไม่เร่งแก้ไข ส่วนราคาอาหารจะเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานมากขึ้น “ รศ.ดร.วิษณุ กล่าว
การเตรียมความพร้อมภาคเกษตรรับมือภัยแล้งปี 66/67 และเอลนีโญ ศ.ดร.พูนพิภพ เกษมทรัพย์ คณะเกษตร มก. กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรมีแผนการรองรับภัยแล้งประจำปี คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงมากกว่า 16 ล้านไร่ เพราะไทยจะมีปริมาณน้อยกว่าปกติ โดยส่งเสริมการปลูกพืชทดแทน อาชีพทางเลือก เพิ่มน้ำต้นทุน รวมถึงแผนงานสร้างรายได้ในพื้นที่ที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ แผนป้องกันพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูงอย่างกล้วยไม้ รวมถึงส่งเสริมการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อประหยัดน้ำ อีกทั้งวิเคราะห์ความเสี่ยงสินค้า ปาล์มน้ำมันไม่ติดผล กระทบรุนแรง ยางพารา มันสำปะหลัง รอดตาย แต่ผลผลิตลดลง ข้าวก็เช่นกันถ้าร้อนผลผลิตน้อยลง ส่วนกล้วยไม้พบปัญหาน้ำเค็มรุก ต้องใช้เทคโนโลยีช่วยตรวจวัดค่าความเค็มของน้ำ ภัยแล้งยังกระทบพืชเกษตรยืนต้น ทำให้อ่อนแอต่อโรคและแมลง
“ เกษตรกรไทยต้องปรับตัง ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ใช้พันธุ์พืชที่เหมาะสม ใช้พันธุ์เบา เพื่อเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้นก่อนภัยแล้งจะเกิด ใช้พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพโลกรวน เช่น ทนแล้ง ทนน้ำท่วม เป็นต้น เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ปรับโครงสร้างดินให้อุ้มน้ำมากขึ้น เมื่อเกิดภัยแล้ง ก็ต้องมีการฟื้นฟูสภาพดิน ประมงต้องวางแผนเพาะเลี้ยง เพราะน้ำใช้ลดลง และทยอยจับก่อนกระทบจากแล้ง ส่วนปศุสัตว์ของไทย มีมากกว่า 567 ล้านตัว ไก่มากสุด ถ้าขาดน้ำ ตายยกเล้า เกษตรกรต้องเตรียมแหล่งน้ำ ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะต้องเตรียมการป้องกันปัญหาและเสริมเกษตรกรให้แข็งแกร่งมากขึ้น รวมถึง Reskill + Upskill เกษตรกรให้มีความรู้ ความพร้อมรับมือ และสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ด้วยตนเอง เพื่อให้เกษตรกรสู้ภัยแล้งดีขึ้นได้ด้วยตัวเองแทนที่จ่ายเงินเยียวยาความเสียหาย “ ศ.ดร.พูนพิภพ กล่าว
แนวทางรับมือด้านบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ ผศ.ดร.นิสา เหล็กสูงเนิน คณะวนศาสตร์ มก. กล่าวบนเวทีว่า เมื่อเจอภาวะแห้งแล้ง ผลกระทบต่อป่าไม้ คือ อาหารและผลผลิตจากป่าจะลดลง ป่าไม้เมื่อเผชิญกับภัยแล้ง ต้องพิจารณาว่าภัยแล้งนั้นจะรุนแรงขนาดไหน ยาวนานเพียงใด และต่อเนื่องหรือไม่ ถ้าเจอภัยแล้งที่รุนแรง ต้นไม้ในป่าไม้จะเกิดการติดดอกที่มากผิดปกติ เพราะต้นไม้กลัวตาย หลังภัยแล้งแล้วจะติดผลมากเป็นพิเศษ นี่คือการดูแลเยียวยาตัวเอง สำหรับต้นไม้ใหญ่ที่ผ่านประสบการณ์เผชิญภัยแล้งมา ย่อมจะทนแล้งได้ดี แต่ต้นไม้เล็ก ๆ อาจล้มตายได้ เนื่องจากป่าไม้ในประเทศไทยมีทั้งป่าไม้ผลัดใบ กับป่าไม้ไม่ผลัดใบ ถ้าเป็นป่าไม้ผลัดใบ จะเป็นป่าไม้ที่ทิ้งใบเกิน 50 % เมื่อเจอภัยแล้ง ป่าประเภทนี้จะมีอัตราการตายเมื่อเจอภัยแล้งที่น้อยกว่าป่าไม้ไม่ผลัดใบ เป็นภัยแล้งที่ยาวนาน จะส่งผลต่อป่าไม้ไม่ผลัดใบมากกว่า
“ เวลาพืชป่าไม้เจอภัยแล้ง ต้นไม้เหล่านี้จะลดจำนวนใบ เพิ่มพลังให้รากในการแผ่ไปไกลๆ เพื่อหาพื้นที่น้ำ รวมถึงทิ้งใบแก่ การทิ้งใบแก่จะกลายเป็นเชื้อเพลิงก่อให้เกิดไฟป่าได้ สาเหตุการเกิดไฟป่ามาจากต้นเพลิงที่มักเป็นฝีมือจากมนุษย์ ไม่ใช่ธรรมชาติ บวกกับมีเชื้อเพลิง และปรากฏการณ์เอลนีโญเป็นปัจจัยแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดไฟป่าที่รุนแรงมากขึ้น อยากชวนแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ลดการปลดปล่อยและเพิ่มดารดูดกลับด้วยพื้นที่สีเขียว ” ผศ.ดร.นิสา ย้ำ
ด้าน รศ.ดร.เจษฎา แก้วกัลยา ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำสำคัญ ในหลวง ร.9 ทรงรับสั่ง น้ำคือชีวิต มีความสำคัญต่อสรรพสิ่ง ทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย นับตั้งแต่นภา ผ่านภูผาสู่มหานที และเรามีแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2565 – 2580) มี 5 ด้าน การจัดการน้ำกินน้ำใช้ ทุกปีมีชุมชนขาดแคลนน้ำ และจะขาดแคลนมากขึ้นผลกระทบจากเอลนีโญ การจัดการน้ำท่วม การบริหารจัดการ การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต และการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำ แผนแม่บทน้ำที่อัพเกรดใหม่สามารถใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการได้ นอกจากนี้ มีร่างแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ปี 2567 มีแผนงานและโครงการกว่า 6.3 หมื่นรายการ เพื่อเพิ่มความจุกักเก็บน้ำ การเตรียมรับมือเอลนีโญหากต่อเนื่อง 3 ปี จะต้องผลักดันโครงการกักเก็บน้ำขนาดเล็กให้เสร็จภายในหนึ่งปี อีกทั้งมีร่างมาตรการรับมือฤดูฝนปี66 เพิ่มเติมรองรับสถานการณ์เอลนีโญ เพื่อจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตรียมรับมือหมอกควัน-ฝุ่นพิษ 2568
ใกล้จะเข้าสู่ฤดูกาลฝุ่นช่วงเวลาที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะเริ่มสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินช่วงหลังวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีฝนที่ลดลง และจะมีมวลอากาศเย็นแผ่เข้ามาบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
เตรียมใจยังร้อนกันอีกยาว 'เอลนีโญ'ส่อหวนกลับมาเร็ว
จากกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศการติดตามและการคาดหมายปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 โดยมี 4 ปรากฏการณ์ ประกอบด้วย ปรากฏการณ์เอนโซ El Nino Southern Oscillation (ENSO) ปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole (IOD) ปรากฏการณ์ Madden Julian Oscillation (MJO) และลมมรสุม (Monsoon) นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองตรว
ทะเลเดือดของจริง! 'ดร.ธรณ์' เผยอ่าวไทยร้อนเกิน 32 องศา อุณหภูมิน้ำสูงจนน่าสะพรึง
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า ทะเลเดือดของจริงมาถึงแล้วแม่เจ้าเอ๊ย เตือนเพื่อนธรณ์มาตั้งแต่ปีก่อน เอลนีโญบวกโลกร้อนจะทำให้ทะเลเดือด เ
ราชกิจจาฯ ประกาศ เสียสัญชาติไทยจำนวน 16 ราย
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การเสียสัญชาติไทย
ยุคโลกเดือด! 'ดร.ธรณ์' เตือนรับมือ 'เอลนีโญ' ปีนี้เมืองไทยร้อนเป็นประวัติการณ์
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า โมเดลล่าสุดทำนายว่า ปีนี้เอลนีโญอาจทำให้เมืองไทยร้อนเป็นประวัติการณ์