CMDF ผุดแคมเปญ'เช็กทุกดอก ไม่โดนหลอกลงทุน'หลังพบคนไทยเสียหายกว่าหมื่นล้าน

เมื่อ “เงิน” คือปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต ทุกคนล้วนมีเหตุผลที่ต้องเสาะหาวิธีในการหาเงิน ยิ่งในยุคผลตอบแทนจากดอกเบี้ยต่ำมากๆ ก็ยิ่งเป็นช่องทางให้ มิจฉาชีพหลอกลวงได้  ยิ่งปัจจุบันที่สื่อโชเชียลสามารถเปิดทางให้การหาเงินง่ายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขายออนไลน์ การทำสื่อวิดีโอต่างๆ ยิ่งเป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพทำงานได้ง่ายขึ้น  อย่างที่มีการเผยแพร่ข่าวบ่อยๆ ที่มีผู้เสียหายจากการโดนหลอกให้ลงทุน ทั้งการส่งลิงก์เพื่อให้เหยื่อกดเข้าไป การโทรติดต่อหรือสร้างโปรไฟล์ในโซเชียลแอบอ้างองค์กร ชื่อ ภาพ ผู้บริหารของหลายหน่วยงาน ร่วมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือจนเหยื่อหลงเชื่อจนสูญเสียเงินสร้างความเสียหายจำนวนมหาศาล

โดยข้อมูลของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ในช่วงเวลา 15 เดือนที่ผ่านมา พบว่าสถิติคดีอาชญากรรมออนไลน์ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ได้แก่ ได้แก่ 1.หลอกซื้อขายสินค้า/บริการ 108,383 ครั้ง 2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน 38,669 ครั้ง 3.หลอกให้กู้เงิน 35,121 ครั้ง 4.หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 23,545 ครั้ง และ 5.ข่มขู่หลอกลวงทางโทรศัพท์ (Call Center) 21,482 ครั้ง โดยคดีหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าความเสียหายสูงที่สุดรวมกว่า 11,500 ล้านบาท

ด้วยเหตุนี้ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ร่วมกับ พันธมิตรภาคตลาดทุน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ จึงได้จัดแคมเปญ “เช็กทุกดอก ไม่โดนหลอกลงทุน” รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อป้องกันการหลอกลงทุนภายใต้โครงการร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน เสริมภูมิคุ้มกันให้ประชาชนมีความรอบคอบในการลงทุนมากขึ้น ผ่านการบูรณาการการสื่อสารหลากหลายรูปแบบ ครอบคลุมช่องทางการสื่อสารต่างๆ ในวงกว้าง เตือนประชาชนให้มีสติเพื่อจะไม่ถูกหลอกลงทุน ตอกย้ำให้ประชาชนรู้ทันกลโกงของมิจฉาชีพ สื่อสารข้อเท็จจริง และตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานCMDF

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหามิจฉาชีพที่ชักชวนให้ลงทุนผ่านโซเชียลมีเดียยังคงมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และมีในหลากหลายรูปแบบ โดยมีการปรับเปลี่ยนกลโกงตลอดเวลา ซึ่งหากดูจากข้อมูลย้อนหลังของปอท. จะพบว่า การหลอกให้ลงทุน โดยเฉพาะการหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ติด 1 ใน 5 ของคดีอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งสร้างมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก ในปัจจุบันจะเห็นว่ามิจฉาชีพมีการหลอกลงทุนในหลายรูปแบบ หนึ่งในวิธีการที่ทำคือ การใช้ชื่อ โลโก้ หรือบุคคลขององค์กรที่มีชื่อเสียง นักวิชาการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ  เพื่อมาสร้างความน่าเชื่อถือ รวมไปถึงการใช้เรื่องผลตอบแทนสูง มาเป็นแรงจูงใจให้เหยื่อร่วมลงทุน

“ดังนั้นในอนาคตวิธีการหลอกลวงก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนการหลอกลงทุน ใช้การสร้างสตอรี่เพื่อให้เหยื่อลงเชื่ออีก ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายในการควบคุมได้ยาก ดังนั้นการมีส่วนร่วมของ CMDF ในการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์และสื่อสารตอกย้ำการรณรงค์ภายใต้แคมเปญเช็กทุกดอก ในการจัดทำภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ การสื่อสารที่เข้าใจง่ายผ่านรายการ ครูเพ็ญศรีจับโกงลงทุน ไม่โดนหลอกลงทุน เพื่อให้ความรู้ ย้ำเตือนให้ประชาชนมีความรอบคอบในการลงทุน และแนะนำช่องทางการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งการรณรงค์จะมีการบูรณาการการสื่อสารออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ลงทุนและประชาชนในวงกว้างไม่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลงทุน และก้าวเข้าสู่ตลาดทุนอย่างถูกต้อง

รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาฯ ก.ล.ต.

รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การหลอกลวงให้ลงทุนเป็นปัญหาทางสังคม ที่นับวันจะมีผู้ได้รับความเสียหายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นในการดูแลทั้งในส่วนของประชาชน และนักลงทุน โดยเฉพาะการหลอกในเรื่องของผลตอบแทน หรือการใช้ข้อมูลการลงทุนที่ไม่ได้รับการอนุญาตต่างๆ ซึ่งจำนวนยอดผู้ที่เข้ามาใช้แอปพลิเคชัน SECCheckFirst

ในการตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการในตลาดทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ก็มีจำนวนมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่ามีมิจฉาชีพที่ใช้ข้อมูลการลงทุนไปหลอกลวงประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น ลงทุนในหน่วยทองคำ ซึ่งทั้งหมดคือการหลอกลงทุน  ซึ่งก็พบว่ามีมิจฉาชีพที่สร้างสตอรี่ว่าเป็นผู้ให้บริการในตลาดทุนประมาณ 239 ราย   ซึ่งมูลค่าความเสียหายของผู้ที่โดนหลอกให้ลงทุนในปีนี้อาจจะสูงกว่า 11,000 ล้านบาท

“ดังนั้นในกลุ่มที่อาจจะต้องระมัดระวัง เช่น กลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้สูงอายุ ที่มีจำนวนมาก จะต้องเข้าไปให้องค์เกี่ยวกับเรื่องการลงทุน การเงิน เพราะเป็นกลุ่มเป้าหมายของมิจฉาชีพ โดยขณะนี้การดำเนินการภายใต้แคมเปญนี้ได้เน้นการสื่อสาร เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ และรู้เท่าทันหลอกลวงลงทุน ผ่าน SCAM CENTER รู้ทันภัยกลโกงลงทุน เป็นศูนย์รวมเรื่องราวกลโกงที่พบบ่อย ที่มีการนำเสนอในรูปแบบของบทความ อินโฟกราฟิกส์ คลิปวิดีโอ ในเว็บไซต์ เฟซบุ๊ค และช่องยูทูปของ ก.ล.ต. นอกจากนี้ยังได้ยกระดับการป้องกันโดนหลอกลงทุน ได้เปิดศูนย์รับแจ้งเบาะแสการหลอกลงทุนออนไลน์ เพื่อสกัดกั้นมิจฉาชีพ ได้รวดเร็วและทันต่อสถานการณ์มากยิ่งขึ้น” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว

น้าเน็ก ร่วมแชร์ประสบการณ์ของผู้ตกเป็นเหยื่อถูกหลอกลงทุน

น้าเน็ก-เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา พิธีกรชื่อดังผู้จัดรายการอย่าหาว่าน้าสอน และรายการคุยต้องรวย ได้แชร์เล่าเรื่องราวและประสบการณ์จากการเห็นบุคคลที่ถูกมิจฉาชีพหลอกลงทุนในรูปแบบต่างๆ ว่า จากการจัดรายการฯ พบว่าคนถูกหลอกลวงมีทุกวัน ซึ่งก็เป็นเหตุการณ์ที่มีการลงข่าวเกี่ยวกับเหยื่อถูกมิจฉาชีพหลอกที่ไม่น้อยลงเลย  เพราะมิจฉาชีพก็คิดกลวิธีในการหลอกลวงใหม่ๆขึ้นมา แม้ว่าจะมีวิธีการเช็คข้อมูลป้องกันการถูกหลอก แต่มิจฉาชีพก็คิดวิธีดักไว้ทุกทางเช่นกัน ทั้งการยืนยันด้วยเอกสารการเงิน การยืนยันความน่าเชื่อถือ หรือ การรีวิวจากผู้ที่ใช้งานจริง ก็จะพบได้ตามโซเชียลต่างๆ  

จากการพูดคุยกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อทำให้พบว่า รูปแบบการหลอกลวงจะมี 3 แบบหลักๆ คือ 1.การข่มขู่ เช่น การโทรแจ้งว่าบัญชีธนาคารมีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บพนัน หรือแจ้งว่าโดนฟ้องมีหมายศาล ทำให้เหยื่อเกิดความกังวลและยอมทำตามเงื่อนไขของมิจฉาชีพ 2.การนำเสนอผลประโยชน์ เช่น ลงทุนน้อยได้ผลตอบแทนที่รวดเร็ว ไม่มีเงื่อนไขและข้อผูกมัด ซึ่งคนที่แสวงหารายได้ก็อาจจะหลงเชื่อได้ง่าย 3.คนรอบข้าง เช่น คนที่สนิทได้มีจากการลงทุนกับมิจฉาชีพแล้วได้เงินกลับมา จึงมาชักชวนให้ร่วมลงทุนด้วย  ทั้งๆที่เขาก็ถูกมิจฉาชีพหลอกเหมือนกัน เป็นต้น ดังนั้นโครงการนี้ฯ ก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างองค์ความรู้และช่องทางให้ประชาชนได้เช็กข้อมูลก่อนการลงทุนด้วย

อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่พบเบาะแสหรือพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ หรือสงสัยว่าเป็นการหลอกลวงให้ลงทุน สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการในตลาดทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ได้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://market.sec.or.th/LicenseCheck/Search หรือแอปพลิเคชัน SECCheckFirst หรือ แจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงาน ก.ล.ต.โทร 1207 หรือเฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน กลต.” หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th


เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

OKMD จับมือ CMDF และภาคีเครือข่าย จัดโครงการ Fin Lab ปลูกฝังเยาวชนไทย “หา-ใช้-ออม-ลงทุน-ปกป้อง” ต่อยอดสู่โมเดลธุรกิจเพื่อสังคม

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ร่วมกับกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

วิกฤต EA 'พิชัย' สั่งตรวจเข้ม หลักเกณฑ์การให้เรทติ้งหุ้น ThaiESG

"พิชัย" รมว.คลัง สั่งทบทวน หลักเกณฑ์การให้เรทติ้งหุ้น ThaiESG หลังเกิดกรณี บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ย้ำเมื่อปัญหาเกิดต้องเร่งแก้ไข ด้านก.ล.ต. ยันการลงทุนของกองทุน ThaiESG ทุกกองทุนยังเป็นไปตามเกณฑ์การ กระจายการลงทุน

ก.ล.ต. เตือนประชาชนระวังใช้บริการ 'โบรกฯเถื่อน' หลอกลงทุนโทเคนดิจิทัล

ก.ล.ต. เตือนประชาชนให้ระมัดระวังการใช้บริการกับผู้ให้บริการด้านการลงทุนที่ไม่ได้รับอนุญาต และการหลอกลวงให้ลงทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ

บุญถาวร ยื่นไฟลิ่ง ก.ล.ต. ขาย IPO ไม่เกิน 320 ล้านหุ้น

BOON ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขาย IPO ไม่เกิน 320 ล้านหุ้น เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เสริมความแข็งแกร่งธุรกิจ ชูศักยภาพผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกวัสดุและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านแบบครบวงจร