กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 66

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2566 ทรงยินดีกับ 11 ครูดีเด่นที่ทุ่มเทเป็นแบบอย่าง

17 ต.ค.2566 – สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ประจำปี 2566 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยเป็นการประชุมในรูปแบบผสมผสานทางออนไลน์และการเชื่อมสัญญาณกับสถานทูตไทยประจำประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนและติมอร์-เลสเต รวม 11 ประเทศ 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเนื่องในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ปี 2566 ว่า ถือเป็นเวลา 10 ปีแล้ว นับตั้งแต่รางวัลนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2558 เพื่อเชิดชูครูที่เป็นเลิศในประเทศอาเซียนและติมอร์-เลสเต ซึ่งมีผู้รับรางวัลมาแล้ว 55 ราย และขอแสดงความยินดีกับครูดีเด่นทั้ง 11 ท่านจากอาเซียนและติมอร์-เลสเต ที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในปีนี้ ความทุ่มเทของครู การเป็นแบบอย่างที่สร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตของนักเรียน และเริ่มตั้งแต่ปีหน้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีนี้จะขยายครอบคลุมไปอีก 3 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน และมองโกเลีย ซึ่งข้าพเจ้าได้จัดทำโครงการบางอย่างในโรงเรียนประเทศเหล่านี้ และมีเอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานในวันนี้

ครูไม่เพียงแต่สอนเท่านั้น แต่ยังดูแลการพัฒนาด้านอื่นๆ ของนักเรียน เพื่อส่งเสริมนักเรียนให้เต็มศักยภาพ เช่น ในช่วงระหว่างและหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ครูทั่วโลกต้องทำงานอย่างหนักเพื่อชดเชยการเรียนรู้ของนักเรียน

นอกจากนี้ โลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คุณครูต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น เทคโนโลยีดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (cyber security) และ Big Data ซึ่งท้าทายครูในการใช้ข้อมูลเหล่านี้ผสานรวมเข้าไปในการศึกษาอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันครูก็ต้องพัฒนาตนเองผ่านชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อก้าวให้ทันโลกและติดตามการพัฒนาใหม่ๆ ข้าพเจ้าเชื่อว่า ผู้ที่ได้รับรางวัลยังคงสานต่อภารกิจของตนเองในฐานะตัวแทนการเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยพัฒนาครูและนักเรียนในประเทศของตนเองรวมถึงในเครือข่ายของเราด้วย 

​ข้าพเจ้าอยากจะแบ่งปันบทกลอนบทหนึ่งที่ประพันธ์โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งทำหน้าที่เป็นครูสอนเด็กๆ ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ห่างไกลของประเทศไทย บทนี้สะท้อนบทบาทของครูที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงได้เป็นอย่างดี “ครูเป็นเพียงนักรบจบแค่นี้ บุกป่าดงพงพีเข้ามาหา ครูไม่มีทั้งสิ้นปริญญา ครูมีแต่ศรัทธามาจากใจ จะจุดเทียนส่องสว่างที่กลางป่า ไม่เลือกว่าหน้าตาภาษาไหน ถึงแม้งานจะหนักสักเพียงใด ด้วยดวงใจของครูจะสู้ทน” ในบทสุดท้ายที่เขียนว่า “ด้วยดวงใจของครูจะสู้ทน” มีไว้เพื่อครูทุกท่าน ขอขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการทั้ง 11 ประเทศ คณะกรรมการและอาสาสมัครมูลนิธิ ซึ่งมี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นประธานคือลมใต้ปีกของครูหลายท่านในเครือข่ายรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 

​พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จัดขึ้นด้วยความเชื่อที่ว่า “ครูคุณภาพ สร้างคนคุณภาพ” ซึ่งฝ่าพระบาททรงเป็นแรงบันดาลใจแก่พวกเราทุกคน ที่ทรงทุ่มเททั้งเวลาและกำลังเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงคุณภาพการศึกษาและโภชนาการ โดยเฉพาะเด็กเยาวชนด้อยโอกาสและอาศัยในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่ยังรวมถึงประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต สำหรับบทบาทของครูเพื่อก้าวข้ามความท้าทายในยุคหลังโควิด-19 ครูคือผู้จัดการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพโดยให้ความรู้และสร้างสภาพแวดล้อม และมีความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาครูรุ่นใหม่ ที่ชาญฉลาด ออกแบบนวัตกรรมวิธีการสอนเพื่อใช้ในห้องเรียน จึงต้องสนับสนุนการจัดฝึกอบรมการใช้ ICT เพื่อประยุกต์ใช้เครื่องมือดิจิทัลและนำเทคโนโลยีในการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันจำเป็นต้องปลูกฝังมุมมองที่กว้างขึ้น เข้าใจในสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ ตลอดจนตระหนักถึงแนวโน้มในอนาคต ซึ่งการศึกษาเป็นหนทางเพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นหลักประกันของการเป็นพลเมืองที่รอบรู้ 

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ และมีคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศอาเซียนและติมอร์ เลสเต รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี และเพื่อถวายเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้านักการศึกษา โดยรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร โล่ เข็มเชิดชูเกียรติทองคำ และเงินรางวัล รางวัลละ 10,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ จาก 11 ประเทศ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง   

สำหรับครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ปี 2566 ครอบคลุมถึงครูการศึกษาพิเศษ ครูคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภูมิศาสตร์ การศึกษานอกระบบและผู้อำนวยการโรงเรียน มีประวัติที่น่าสนใจดังนี้ 

​1. นาย โมฮาหมัด อาเมียร์ เออร์วัน ฮาจี ม๊อกซิน (Mr. Mohamad Amir Irwan Haji Moksin) ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนประถมศึกษา Pengiran Kesuma Negara Bukit Beruang ผู้เชื่อมั่นว่า “เด็กทุกคนมีความสำคัญ” โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส ความมุ่งมั่นของครูเออร์วัน คือการดึงศักยภาพของนักเรียนทุกคนออกมาอย่างเต็มที่ 

​2. นางจักรียา เฮ (Mrs. Chakriya Hay) ประเทศกัมพูชา ครูสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนระดับมัธยมปลาย                    Sok An Samrong High School จังหวัดตาแก้ว ผู้ผสมผสานวิชาในสาขา STEM ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หลอมรวมเข้ากับการสอนของตนเอง โดยใช้สื่อการสอนและเทคโนโลยีที่เรียบง่ายเพื่อดึงดูดความสนใจของนักเรียน 

​3.นางฮาริสดายานี (Mrs. Harisdayani) ประเทศอินโดนีเซีย ครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนประถมศึกษา SMP Negeri 2 Binjai ผู้ใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย เช่น EduGame ผ่านโทรศัพท์มือถือ TikTok Facebook และ WhatsApp เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเรียนรู้  

​4. นางกิมเฟือง เฮืองมะนี (Mrs. KimfueangHeuangmany) สปป.ลาว ครูใหญ่และครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาในโรงเรียนประถมศึกษา The Pheermai เมืองละมาม แขวงเชกองผู้มุ่งมั่นที่จะพัฒนาลูกหลานรุ่นต่อไปให้เป็นพลเมืองของ สปป. ลาว ที่มีความรู้รอบด้านและมีคุณภาพ 

​5. นายไซฟูนิซาน เช อิสมาเอลท (Mr. SaifulnizanChe Ismail) ประเทศมาเลเซีย ครูคณิตศาสตร์ที่มีพื้นฐานด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และไอที โรงเรียนประถมศึกษา Sekolah Kebangsaan Raja Bahar ในโกตาบารู ผู้นำความรู้ของตนมาประยุกต์สร้างสรรค์กิจกรรมในชั้นเรียนและเปลี่ยนให้ห้องเรียนกลายเป็นศูนย์กลางของนักสร้างดิจิทัลและเวทีการเรียนรู้ด้านหุ่นยนต์เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมให้กับนักเรียน 

​6. ดอ อาย ซู หวิ่น (Daw Aye Su Win) ประเทศเมียนมา ครูสอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานในเมือง Hlaingtharyar Township ผู้กระตุ้นการเรียนรู้ให้นักเรียนเรียนภาษาอังกฤษผ่านการ์ตูน หนังสือนิทานในห้องสมุด และโซเชียลมีเดีย อีกทั้งยังส่งเสริมด้านสุขอนามัย และดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน 

​7. นายเจอร์วิน วาเลนเซีย (Mr. Jerwin Valencia) ประเทศฟิลิปปินส์ ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งชาติไดกราส ซึ่งเป็นโรงเรียนชั้นนำของจังหวัดอีโลโคสนอร์เต ผู้ที่มีการสอนสอดคล้องกับการบริการชุมชน หลอมรวมวิชาคณิตศาสตร์เข้ากับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของนักเรียนและเป็นผู้นำโครงการปรับปรุงชุมชน 

​8.นางชิว หลวน เพนนี ชง (Mrs. Chew Luan Penny Chong) ประเทศสิงคโปร์ ครูการศึกษาพิเศษ ที่มีความบกพร่องทางสายตา โรงเรียน Ahmad Ibrahim Secondary School ผู้มุ่งมั่นช่วยนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นเข้าเรียนในโรงเรียนปกติ โดยสนับสนุนให้นักเรียนเป็นอิสระพึ่งพาตนเองได้ สนับสนุนการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสายตาและนักเรียนปกติทั้งในและนอกโรงเรียน 

​9. นางสาว ฟิโลมินา ดา คอสต้า (Ms. Filomena da Costa) ประเทศติมอร์-เลสเต ครูสอนภาษาอินโดนีเซียในโรงเรียนมัธยมปลาย Saint MiguelArcanjo Secondary School ผู้เปิดประตูแห่งโอกาสในอนาคตของนักเรียนด้วยทักษะทางภาษา สร้างศูนย์ “Mother Teresa Home Care” เพื่อให้การดูแลเด็กยากจนและเด็กที่ถูกทอดทิ้ง ปัจจุบันศูนย์แห่งนี้ดูแลเด็กอายุตั้งแต่ 3-15 ปี 

​10. นายมา หุ่ง เหงียน (Mr. Manh Hung Nguyen) ประเทศเวียดนาม รองผู้อำนวยการโรงเรียน Hoang Van Thu High School for the Gifted ได้รับการยกย่องและมีชื่อเสียงด้านการสอนวิชาภูมิศาสตร์ และการนำนวัตกรรมมาใช้ ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตของนักเรียนชาติพันธุ์ในการสอนทักษะชีวิต และโมเดล “30 นาทีทอง” เพื่อสอนทักษะชีวิตนักเรียนมัธยมปลาย โดยคณะกรรมการกลางของสหภาพเยาวชนคอมมิวนิสต์โฮจิมินห์จัดให้เป็นหนึ่งใน 80ต้นแบบที่จำลองไปใช้ทั่วประเทศ  

​11. นายนิวัฒน์ เงินงามมีสุข ประเทศไทย ครูการศึกษานอกโรงเรียนที่บ้านโมโคคี บ้านมอโก้คี ผู้บุกเบิกศูนย์การเรียนรู้ชุมชนพื้นที่เขาแม่ฟ้าหลวง จังหวัดตาก ใช้การจัดการเรียนรู้แก้ปัญหาชุมชน ส่งเสริมศักยภาพนักเรียนด้วยความรู้และทักษะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน ซึ่งครูเชื่อมั่นว่านี่เป็นแนวทางของความกตัญญูเพื่อตอบแทนแผ่นดินไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เพิ่มพูน' นำชาวบุรีรัมย์ทำบุญตักบาตรรับปี 2568

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำประชาชนชาวบุรีรัมย์ ร่วมทำบุญตักบาตร เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัว เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2568

'อนุทิน' ขอบคุณสื่อตั้งฉายา ภูมิใจทำประโยชน์บ้านเมือง ปัดขวางใคร อุ้ม 2 รมต.โลกลืม

'อนุทิน' น้อมรับฉายาสื่อทำเนียบฯ ลั่นภูมิใจทำประโยชน์ให้บ้านเมือง ไม่ได้คิดขวางใคร อวย 'แพทองธาร' ตั้งใจทำงาน แจงแทน 2 รมต.โลกลืม 'เพิ่มพูน' พูดน้อยแต่ผลงานอื้อ

'รัฐบาลพ่อเลี้ยง' ฉายารัฐบาลปี67 นายกฯ'แพทองโพย' อนุทิน'ภูมิใจขวาง' วาทะแห่งปี'สามีเป็นคนใต้'

สื่อทำเนียบฯ ตั้งฉายาปี 67 'รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง' ส่วนฉายานายกฯ 'แพทองโพย' 7 รมต.ติดโผ 'บิ๊กอ้วน-อนุทิน-ทวี' พ่วง 3 รมต.โลกลืม

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงาน'ชัยพัฒนาแฟร์ สัญจร นครนายก'

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปยังเขื่อนขุนด่านปราการชล อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ทรงเปิด “ศูนย์ฝึกอบรมสุดาเดือนเพ็ญและที่พักของมูลนิธิชัยพัฒนา” และงาน “ชัยพัฒนาแฟร์ สัญจร จังหวั

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทอดพระเนตรงานกุหลาบรวมน้ำใจ เทิดไท้องค์ราชัน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทอดพระเนตรการจัดแสดงกุหลาบเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา  6 รอบ  ในงานกุหลาบรวมน้ำใจ

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงานกาชาดปี 2567

11 ธ.ค. 2567 เวลา 17.00 น.  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี       สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานกาชาดประจำปี 2567 ภายใต้