ตะลุยยุคดึกดำบรรพ์ ที่อุทยานธรณีโลกสตูล

หินนางฟ้า ในถ้ำเล สเตโกดอน

หากใครที่กำลังมีแพลนจะเดินทางไปเที่ยว สตูล ต้องบอกเลยว่าจังหวัดนี้เป็นหมุดหมายปลายทางที่คุ้มค่ามากๆ เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทะเล ภูเขา วิถีชุมชน เรียกได้ว่าครบอรรถรสในที่เดียว โปรแกรมการเดินทางในครั้งนี้จึงอยากจะพาทุกคนไปรู้จักจ.สตูล ในมุมที่ไม่มีทะเล แต่เป็นการพาไปท่องโลกดึกดำบรรพ์ที่อุทยานธรณีโลกสตูล เพราะในประเทศไทยมีเพียงแค่ที่จ.สตูล และจ.นครราชสีมา เท่านั้น ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) พร้อมกับลัดเลาะชมวิถีชุมชนสุดคลาสสิคสุดเพลิดเพลิน

ก่อนจะเดินทางไปยัง อุทยานธรณีโลกสตูล ขอพาแวะเที่ยวชมวิถีถิ่นของคนจังหวัดนี้ที่ สวนกะแหม อ.ควนโดน  สวนแห่งนี้จะปลูกจำปาดะพันธุ์ขวัญสตูลเป็นหลัก  ซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจ.สตูล จะออกผลเพียงปีละครั้งเท่านั้นในช่วงประมาณเดือน พ.ค.- ก.ค. นายวิวัฒน์ ขำดำ เจ้าของสวน ได้พามาชมภายในสวนจำปาดะพันธุ์ขวัญสตูล ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของพันธุ์ เมื่อสุกแล้วจะไม่หวานทานได้เพลินๆ เนื้อหนาไม่เละกัดได้เป็นคำ ในหนึ่งยวงจะมีเม็ดจำปาดะแน่นๆ ซึ่งจะแตกต่างจากพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ และได้การรับรอง GI นอกจากนี้ทางสวนยังได้มีการส่งจำปาดะเข้าประกวดและได้รับรางวัลชนะเลิศมาหลายเวที และมีการแปลรูปขายเป็นผลจำปาดะแช่แข็ง จำปาดะทอด ส่วนเม็ดก็นำมาทำเป็นแป้งได้ด้วย ที่นี่ไม่ได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบเต็มตัว แต่หากสนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ก็สามารถแจ้งกับเจ้าของสวนได้ที่เบอร์ 081-328-1808

เตรียมล่องเรือเข้าถ้ำเล สเตโกดอน

ออกจากสวน ก็มุ่งหน้าเข้าเมือง ชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูล อาคารสถาปัตยกรรมแบบโคโรเนียลที่ผสมผสานกับการตกแต่งด้วยศิลปะไทย จีน และอิสลาม 2 ชั้น ตั้งโดดเด่นในย่านชุมชนซอย 5 บนถนนสตูลธานี ซึ่งพิพิธภัณฑฯ แห่งนี้ เดิมแล้วคือ คฤหาสน์กูเด็น ที่สร้างขึ้นเมื่อ 2445 โดยพระยาภูมินารถภักดี หรือตวนกูบาฮารุตดิน บินตำมะหง เจ้าเมืองสตูลในขณะนั้นนำช่างจากปีนังมาสร้างเพื่อเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสหัวเมืองภาคใต้  แต่มิได้เสด็จมาประทับ  

แสงสว่างจากไฟฉาย ในถ้ำอันมืดมิด

คฤหาสน์หลังนี้จึงได้เปลี่ยนมาทำหน้าที่เป็นบ้านพัก ส่วนงานราชการต่างๆ และยังเคยใช้เป็นกองบัญชาการทหารญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนถูกกลับมาใช้ในส่วนราชการ และถูกทิ้งร้าง จนกระทั่งกรมศิลปากรได้บูรณะปรับปรุงอาคารคฤหาสน์กูเด็นในปี พ.ศ. 2537 และดำเนินการจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาจนถึงปัจจุบัน ภายในอาคารได้ถูกออกแบบเป็นพื้นที่จัดแสดง 6 ห้อง เริ่มต้นที่ห้องแรก จะจัดแสดงเรื่องราวภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของเมืองสตูล รวมถึงเครื่องใช้อาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์มันนิ ที่กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ป่าเขาในภาคใต้ ซึ่งมันนิในจ.สตูล ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในแถบอ.มะนัง และอ. ทุ่งหว้า มีวิถีชีวิตแบบคนเมืองมากขึ้น

เสาหินที่ปรากฎอักษรโบราณ

ส่วนห้องที่ 2 จัดแสดงเกี่ยววิถีชีวิตชาวสตูล ทั้งชาวเล การปั้นหมอต่างๆ ห้องที่ 3 บ้านเจ้าเมือง ที่ได้จัดแสดงเครื่องใช้ และจำลองสภาพการใช้งานของคฤหาสน์หลังนี้เมื่อครั้งเป็นบ้านพัก  ห้องที่ 4 การสร้างบ้านเรือนแบบชาวสตูล ห้องที่ 5 ได้มีการจำลองห้องรับแขกในสมัยอดีต รวมไปถึงเครื่องเคลือบลายคราม ศิลปะแบบจีน ที่ใช้ตกแต่งสวยงาม และห้องที่ 6  จัดแสดงวัฒนธรรมของชาวไทยมุสลิมในเมืองสตูล

ซากฟอสซิลกลุ่มนอติลอยด์

ช่วงเย็นอากาศดีๆ ต้องไปที่ชุมชนท่องเที่ยวสุไหงตำมะลัง ชุมชนหน้าด่านจากสตูลไปลังกาวี ไฮไลท์ของที่นี่คือ ล่องเรือตำมะลัง ชมนกอินทรีย์ กินซีฟู้ด ระหว่างที่เรือกำลังแล่นไปยังจุดชมอินทรีย์ ระหว่างทางก็นั่งรับลมชมวิถีริมคลองของชาวตำมะลัง ที่ยังคงมีอาชีพทำประมง ผ่านท่าเรือสินค้า มัสยิดเก่า และสะพานข้ามคลองตำมะลังที่กำลังสร้างขึ้น  “เราใกล้ถึงจุดนัดพบแล้ว” เสียงนายสุรินทร์ หลงกูนัน ที่มีฉายาว่า บังรองนกอินทรี ประธานท่องเที่ยวชุมชนตำมะลัง ประกาศแจ้ง พร้อมกับเป่านกหวีดเป็นจังหวะเฉพาะตัว เรียกนกอินทรีย์และเหยี่ยว ที่อาศัยอยู่ตามพุ่มไม้ในป่าชายเลน มี  4 สายพันธุ์หลักๆ ได้แก่ นกอินทรีย์ประจำถิ่น อินทรีย์ทะเล อินทร์ภูเขา และเหยี่ยวแดง บินออกมามาอวดโฉมใกล้กับเรือให้เราได้เชยชมนับร้อยๆตัว เรียกได้ว่ามาตามนัด เมื่อมาถึงปากอ่าวตำมะลัง ยังได้ชมวิวพระอาทิตย์ที่กำลังคล้อยลับขอบฟ้าไปอย่างช้าๆ เป็นมนต์เสน่ห์สุดประทับใจ

หัวใจที่ปลายอุโมงค์ ทางออกของถ้ำเล สเตโกดอน

การเดินทางของเช้าอีกวันเราจะไปตะลุยโลกดึกดำบรรพ์ ในอุทยานธรณีโลกสตูล ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุม 4 อำเภอ ได้แก่  ทุ่งหว้า มะนัง ละงู และอำเภอเมือง มีแหล่งมรดกทางธรณีวิทยาสำคัญหลายแห่ง เช่น ถ้ำเลสเตโกดอน ถ้ำภูผาเพชร ถ้ำเจ็ดคต น้ำตกวังสายทอง ปราสาทหินพันยอด เขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย ฯลฯ แต่ในทริปนี้เราจะพาไป 2 แห่ง คือ เขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย  อ.ละงู และถ้ำเลสเตโกดอน อ. ทุ่งหว้า

เดินทางเข้าสู่ยุคออร์โดวิเชียน

มาถึงเขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ภาพของภูเขาหินปูนสูงใหญ่ที่ปกคลุมไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ ซึ่งทางอุทยานฯได้ทำสะพานข้ามกาลเวลาบริเวณริมหน้าผาเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร เมื่อได้ลองเดินไปตามเส้นทางจะพบว่าเพียงแค่เดินจากบริเวณที่เป็นหินทรายสีแดง ในยุคแคมเบรียน ที่มีอายุประมาณ 541-485 ล้านปี ก็สามารถเข้าสู่ยุคออร์โดวิเชียน ซึ่งเป็นหินปูน มีอายุประมาณ 485-444 ล้านปี โดยเกิดจากการเลื่อนตัวของเปลือกโลก

จุดที่สองยุคหินปูนและยุคหินทรายแดงมาบรรจบกัน

เมื่อเดินมาจนสุดสะพาน สามารถเดินลงไปสัมผัสบริเวณชายหาดเขาโต๊ะหงาย ที่มีหินทรายแดงเป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละก้อนก็มีรูปร่างและลักษณะของสีที่แตกต่างกันไป กระจัดกระจายอยู่เต็มชายหาด ยิ่งในช่วงน้ำลดก็จะสามารถมองเห็นหินหลากสีได้ชัดขึ้น จะสวยงามมากยิ่งขึ้นเมื่อยามที่หินเหล่านี้กระทบกับแสงอาทิตย์ ในพื้นที่ของอุทยานฯ ยังพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล ของสัตว์ทะเลมากมาย อาทิ หมึกทะเลโบราณ พลับพลึงทะเล และหอยตะเกียง เป็นการเที่ยวชมปรากฏการณ์ธรรมที่ผ่านมากว่า 400 ปี สุดคุ้มค่าและสะดวกสบายมากๆ

ชายหาดเขาโต๊ะหงาย ที่มีหินทรายแดงหลากสีหลายรูปร่าง

ไปต่อที่ถ้ำเล สเตโกดอน อ.ทุ่งหว้า เป็นถ้ำที่อยู่ในเทือกเขาหินปูนทอดยาวมีลักษณะคล้ายอุโมงค์ใต้ภูเขา ภายในมีลักษณะคดเคี้ยว ระยะทางจากปากถ้ำจนถึงทางออกประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องชื่อ “สเตโกดอน” เนื่องจากมีการพบซากฟอสซิลกระดูกขากรรไกรพร้อมฟันกรามของช้างสกุล สเตโกดอนโบราณ ที่มีอายุกว่า 1.8 ล้านปีอยู่ภายในถ้ำแห่งนี้ที่แรกและที่เดียวในภาคใต้

จุดเด่นของที่นี่คือการพายเรือคายักเข้าชมภายในถ้ำ จากนั้นเปลี่ยนเป็นเรือยนต์ชมป่าโกงกางโดยจะมีเจ้าหน้าที่และชาวบ้านที่ผ่านการฝึกอบรมเป็นผู้พายเรือคายักนำชม ซึ่งใช้ระยะเวลาราวๆ 3 ชั่วโมง แนะนำว่าต้องเตรียมอุปกรณ์ใส่กระเป๋ากันน้ำ สวมใส่ชุดพร้อมเปียก สวมหมวกกันน็อคเสื้อชูชีพ รับฟังข้อปฏิบัติให้ดี จากนั้นเราก็ลงเรือเพียงไม่กี่อึดใจแสงสว่างของตอนกลางวัน ก็พลันมืดลงทันเมื่อเรือล่องเข้าสู่ตัวถ้ำ มีเพียงแสงจากไฟฉายของฝีพายนำชมที่คอยให้ความสว่าง พอได้เห็นเค้าโครงของถ้ำลอดผ่านแสงเพียงเล็กอยู่บ้าง

ภายในถ้ำเส้นทางค่อนข้างแคบบ้างเป็นบางจุด และคดเคี้ยว เข้าใจเลยว่าต้องเป็นผู้ที่ชำนาญเส้นทางจริงๆ ระหว่างทางก็จะมีจุดไฮไลท์ประติมากรรมที่ธรรมชาติได้สรรสร้างขึ้นมา มี 2 กลุ่ม คือ  หินหยด ที่มีชื่อเรียกตามลักษณะว่า หินหลอดกาแฟ หินย้อย หินงอก ม่านหินย้อย โล่หิน เสาหิน และ หินน้ำไหล มีชื่อเรียกว่า คอหอยช้าง หรือบริเวณหินนางฟ้า ซึ่งเป็นหินน้ำไหลที่รวมตัวกันแต่ส่วนปลายจะเป็นหินหยด เป็นต้น โชคดีมากๆที่เราได้พบปูก้ามดาบด้วย  เมื่อมาถึงบริเวณจุดโถงพระโรง ตรงเสาหินมีอักษรโบราณปรากฎอยู่ จุดนี้ทางเราจะได้ทดสอบความมืด หลังจากที่ชาวบ้านปิดไฟฉายความมืดก็เข้ามาแทนที่ทันทีราวกับหลับตา

ล่องคลองตำมะลังชมอินทรีและเหยี่ยวกว่า 100 ตัว

ล่องเรือมาเรื่อยๆจะพบกับฝูงค้างคาวที่กำลังนอนหลับอย่างสบายใจ ใกล้ถึงทางจะมีกลุ่มหินที่เป็นร่องรอยของฟอสซิลกลุ่มนอติลอยด์ คือ ปลาหมึกทะเลและหอยงวงช้าง โดยทางออกของที่นี่ชาวบ้านจะเรียกหัวใจที่ปลายอุโมงค์ เพราะปากถ้ำมีลักษณะคล้ายกับรูปหัวใจ โดยเราจะต้องปีนขึ้นปากถ้ำเพื่อล่องเรือชมป่าโกงกางรับแสงแดดกันสักหน่อย ข้อควรทราบสำหรับนักท่องเที่ยว เนื่องจากน้ำในถ้ำขึ้นลงเป็นประจำทุกวัน แต่สามารถเข้าถ้ำได้ตลอดทุกฤดูกาล จึงมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อความปลอดภัยเที่ยวได้อย่างสบายใจ สามารถติดต่อที่วิสาหกิจชุมชน กลุ่มพายเรือถ้ำเล สเตโกดอน โทร. 084-858-5100 Facebook: ถ้ำเลสเตโกดอน

ชมวิวพระอาทิตย์ตกเพลินๆ

สตูล เป็นอีกจังหวัดที่สนุกและอิ่มเอมกับการเดินทางมาเที่ยว ทั้งได้สัมผัสธรรมชาติของโลกยุคดึกดำบรรพ์ ไปพร้อมๆกับการเที่ยวสโลว์ไลฟ์เรียนรู้วิถีของชาวเมืองบอกเลยว่าไม่ควรพลาด

สวนกะแหม จำปาดะพันธุ์ขวัญสตูลเนื้อแน่นๆ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฝนถล่มสตูล น้ำเอ่อล้นคลองเข้าท่วมหลายหมู่บ้าน ถนนถูกตัดขาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝนที่ตกหนักลงมาอย่างหนักต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดสตูลส่งผลทำให้น้ำเข้าท่วม โดยเฉพาะอำเภอควนโดน ทั้งบ้านเรือนประชาชนและบนถนนในหมู่บ้านหลายสิบสาย

'คมนาคม' เร่งสร้างสะพานตำมะลังเสร็จกลาง ปี 67

“สุริยะ” กางแผนสร้างสะพานข้ามคลองตำมะลังเมืองสตูล คืบหน้า 75% คาดแล้วเสร็จกลางปี 67 ลุยเชื่อมเกาะสู่แผ่นดินใหญ่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย หนุนเศรษฐกิจการขนส่งสินค้าเกษตร - ประมง

'วาฬบรูด้า' โผล่อวดโฉมกลางทะเลสตูล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจฯ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล โพสต์วิดีโอฝูงวาฬบรูด้า กำลังเล่นน้ำอวดโฉมกระโดด บนผิวน้ำในท้องทะเลอันดามัน ที่บริเวณหน้าเกาะอาดังในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ทั้งนี้ นายมงคล แดงกัน หัว

ฮือฮา! ค้นพบงูชนิดใหม่ของโลก ที่อุทยานแห่งชาติทะเลบัน

อุทยานแห่งชาติทะเลบัน จังหวัดสตูล ได้ค้นพบงูชนิดใหม่ของโลก "งูหางไหม้เขาหินปูน" มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Trimeresurus ciliaris ซึ่งจัดเป็นงูหางไหม้ที่มีขนาดเล็กที่สุด

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วย ราษฎร ต.นิคมพัฒนา อ.มะนัง จ.สตูล มีน้ำดื่ม น้ำใช้ ที่สะอาดอย่างพอเพียง

ต.นิคมพัฒนา อ.มะนัง จ.สตูล ภูมิประเทศทั่วไปเป็นที่ราบเนินเขา สลับกับเทือกเขาสูง ลุ่มน้ำมีความลาดเทจาก ทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตก ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา