จากการระดมสมองของภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมกว่า 500 คน ที่นำทัพโดยเอสซีจี เพื่อเร่งเปลี่ยนประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำ มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2065 ได้ผลสรุปแนวทาง 4 ข้อหลัก ได้แก่ 1.ร่วมสร้าง สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว เกษตรยั่งยืน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 2.เร่งผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นวาระแห่งชาติ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจจากวัสดุที่ใช้แล้ว นำร่อง 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ บรรจุภัณฑ์-ยานยนต์-ก่อสร้าง 3. เปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืน ปลดล็อกข้อจำกัด เปิดเสรีซื้อ-ขายไฟพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ พัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสะอาด และส่งเสริมพลังงานทางเลือก และ 4.ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้พึ่งพาตนเองได้ด้วยความรู้ เทคโนโลยีลดคาร์บอน แหล่งเงินทุนสิ่งแวดล้อม
โดยทั้ง 4 ข้อเสนอดังกล่าวได้ถูกนำเสนอต่อ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ภายในงาน ESG Symposium 2023 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 11 ภายใต้หัวข้อร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ ร่วมกับหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย หอการค้าไทยและ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเอสซีจี
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกประทับใจที่ได้เห็นการมีส่วนร่วมของภาครัฐ เอกชน วิชาการ และประชาสังคม ร่วมกันหาแนวทางทางนำพาประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพราะภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลก เชื่อมั่นว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันทำตามกลยุทธ์ ESG เน้นการสร้างเศรษฐกิจ ควบคู่กับการสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างโปร่งใส มุ่งสู่เป้าหมายเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(SDGs) จะสามารถกู้โลกให้กลับมาดีขึ้นได้ จากการได้ร่วมประชุมกับผู้นำว่าด้วยเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยสหประชาชาติได้มีการกำหนดให้เป็นทศวรรษแห่งการลงมือทำ เพราะเป็นเรื่องที่รอช้าไม่ได้ ดังนั้นประเทศไทยจึงสนับสนุนกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศให้เกิดความเข้มแข็ง โดยเฉพาะความร่วมมือการจัดสรรแหล่งทรัพยากรและลงทุน ซึ่งจะช่วยให้ทุกประเทศรับมือกับความท้าทายขับเคลื่อน SDGs อย่างเป็นรูปธรรม
นายกฯ กล่าวอีกว่า รัฐบาลได้มีการออกมาตรการทางการเงินกว่า 450,00 ล้านบาท เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีจากภาคธุรกิจไทย โดย Global Compact Network Thailand กว่า 100 บริษัททั้วประเทศ พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และตั้งเป้าลงทุนกว่า 1.6 ล้านล้านบาทในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ภายในปีพ.ศ. 2573 ดังนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนต้องมีแนวทางการเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งประเทศไทยมีแนวทางได้แก่ 1.มุ่งมั่นการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้าง หลัง ผ่านหลักการไปให้ถึงและช่วยเหลือกลุ่มที่รากหญ้า 2.ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ สำหรับประชากร ทุกคนในประเทศ และให้ความสำคัญกับสิทธิด้านสุขภาพ 3. ผลักดันความร่วมมือทุกระดับ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงาน ในราคาที่เหมาะสมและมีความน่าเชื่อถือภายในปี ค.ศ 2030
” ขอให้ทุกคนมั่นใจว่าวันนี้ประเทศไทยพร้อมเดินหน้าแก้วิกฤตสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลได้บรรจุนโยบายและมีแผนลดแก๊สเรือนกระจกของประเทศ ผ่านการดำเนินงานในทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการร่วมกัน สำหรับข้อเสนอทั้ง 4 ข้อ จะมีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ขอให้สามารถดำเนินการสำเร็จเพื่อเป็นตัวอย่างให้เมืองและอุตสาหกรรมอื่นต่อไป สู่การผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติ “นายเศรษฐากล่าว
ด้านธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ผ่านมาว่า แม้จะมีการเติบโตทั้งในด้านการผลิตและบริการ แต่ก็ควบคู่กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งระบบเศรษฐกิจลักษณะนี้จะไม่สามารถนำพาประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้ ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจมีการเติบโตต่อเนื่องการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ต้องลดลงด้วยเช่นกัน ตัวอย่าง ประเทศสวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ หรือในประเทศจีน ที่มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ก็สามารถที่จะเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากกว่าการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก หมายความว่า กลุ่มประเทศเหล่านี้กำลังก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำแล้ว
สำหรับการก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำในไทย ธรรมศักดิ์ อธิบายว่า จำเป็นต้องปรับให้เข้ากับสภาพและจุดแข็งจุดอ่อนของประเทศไทย โดยยึดความสมดุลตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน(BCG) ซึ่งได้ตกผลึกออกมาเป็น 4 แนวทางดังกล่าว อาทิ การเลือกพื้นที่ทำแซนด์บ็อกซ์ คือ จ.สระบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความซับซ้อน ท้าทาย มีระบบเศรษฐกิจผสมผสานระหว่างอุตสาหกรรมหลัก เกษตร ท่องเที่ยว และความเป็นเมือง นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของโรงงานเอสซีจี ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 70% ของประเทศ ซึ่งจะมีการปรับการผลิตแบบคาร์บอนต่ำ และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2567 จะมีข้อกำหนดให้ทุกงานก่อสร้างในจ.สระบุรี ต้องใช้ปูนซิเมนต์คาร์บอนต่ำเท่านั้น ส่วนภาคการเกษตรจะเน้นรูปแบบการทำตามโมเดล BCG เช่น การทำนาเปียกสลับแห้ง เป็นต้น และปลูกป่าชุมชน 38 แห่ง ทั่วจังหวัด เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ชุมชนน่าอยู่ เกิดการสร้างรายได้ ดังนั้นหากทำให้สระบุรี เป็นเมืองคาร์บอนต่ำได้ ทุกเมืองในประเทศก็จะสามารถทำได้เช่นกัน
ส่วนการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน พลังงานสะอาด และการช่วยหลือกลุ่มเปราะบาง ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า แน่นอนว่าทั้ง 3 เรื่องเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นจะต้องกำหนดให้เป็นนโยบายระดับประเทศ โดยมีการกำหนดกฎหมายและมาตรฐานการคัดแยกขยะให้เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ กำหนดตัวชี้วีดและมีการติดตามผล รวมไปถึงการสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีภาครัฐเป็นผู้นำร่อง ในส่วนของพลังงานสะอาด ในประเทศไทยพบว่า 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจากพลังงาน จึงเห็นด้วยที่จะเปิดการซื้อขายไฟฟ้าเสรีด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อให้ภาครัฐและเอกชน ใช้เครื่อข่ายไฟร่วมกันได้ รวมถึงผลักดันแผนพลังงานแห่งชาติ และหากสังคมคาร์บอนต่ำจะดำเนินการไปอย่างราบรื่นต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ที่ต้องจัดสรรการช่วยเหลือผ่านองค์ความรู้ เข้าถึงแหล่งเงินทุน และพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือตัวเองได้อย่างยั่งยืน
โดนภายในงานเสวนาครั้งนี้ยังได้เห็นมุมมองของการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำของเมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน Prof.Luo Zhigang Senior Engineer CAS กล่าวว่า การพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำในเมืองกวางโจว โดยสิ่งสำคัญเริ่มแรก คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มีส่วนในการสร้างคาร์บอน โดยกรอบนโยบายของเมืองกวางโจวที่จะพัฒนาให้เกิดเมืองคาร์บอนต่ำ คือ 1+1+N โดย 1 แรก คือการออกความคิดเห็นสิ่งใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการลดคาร์บอน ส่วน 1 ที่สอง คือ แผนปฏิบัติงานด้านความมุ่งมั่นของประเทศในการลดปล่อยคาร์บอน และ N คือ การนำไปปฏิบัติในภาคส่วนที่สำคัญ ได้แก่ ภาคพลังงาน ภาคอุตสาหกรรมและไอซีที ภาคการก่อสร้างในเมืองและชนบท ภาคการขนส่ง เป็นต้น
Prof.Luo กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กวางโจวยังสามารถที่จะสร้างตลาดซื้อขายคาร์บอนในหลายผลิตภัณฑ์ได้สำเร็จ และยังได้สร้างห่วงโซ่ของตลาดคาร์บอนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นกำหนดคาร์บอนเครดิตในระดับบุคคล เพื่อเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน อาทิ การปั่นจักรยานแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยจะมีการบันทึกกิจกรรมต่างๆ เพื่อคำนวนคาร์บอนเครดิต และแลกเป็นเหรียญคาร์เพื่อนำใช้จ่ายสินค้าได้ หรือสามารถนำไปซื้อขายในตลาดคาร์บอนต่อได้ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนในการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเกิดความร่วมในการมีส่วนร่วมลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการขยายต่อไปยังเมืองๆต่างในจีนด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เพื่อไทย' ไม่ฟังเสียงต้าน! ดันทุรังเข็น 'กิตติรัตน์' นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า รัฐบาลที่มาจากพรรคเพื่อไทยตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน
เปิดคำวินิจฉัยส่วนตน ประธานศาลรธน. 1 ใน 4 ตุลาการ : ความเป็นรมต.ของ 'เศรษฐา' ไม่สิ้นสุดลง
สืบเนื่องจาก ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพา
ยี้ปชป.ผสมพันธุ์พท. เสื้อแดง-ชวนซัดทรยศปชช./เด็กป้อมจองเวรอิ๊งค์
"เพื่อไทย" ส่งเทียบเชิญ "ประชาธิปัตย์" ร่วมรัฐบาล อ้างผลประโยชน์ชาติ
โถ! อ้าง 'ชัยเกษม' วืดนายกฯ ชี้ชัด 'นายใหญ่' ไม่ได้ครอบงำเพื่อไทย
'วิสุทธิ์' ไม่กังวลปมร้องยุบเพื่อไทย กรณี 'ทักษิณ' ครอบงำพรรค ชี้หากสั่งได้จริง 'ชัยเกษม' นั่งนายกฯ ไปแล้ว อ้างแนะนำได้ ขึ้นอยู่ พท. จะทำตามหรือไม่
ชัยชนะยกแรก“ทักษิณ” บ้านป่าฯแตก-ผู้เฒ่ากระอัก
พลิกสถานการณ์กลับมาชนะสำหรับ “นายใหญ่เพื่อไทย”-ทักษิณ ชินวัตร หลังจาก “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกฯ ถูกสอยปมตกเก้าอี้ จากการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ในเรื่องความซื่อสัตย์และจริยธรรม