'สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์'ไทยปั้นเมือง' Net Zero'แห่งแรกของโลก

“รอบประชุมปีนี้ ทำในอิยิปต์ หรือทวีปแอฟริกา ซึ่งการจัดประชุมจะไล่เป็นทวีป ๆ เราอาจจะต้องรออีก 10 ปีข้างหน้า หรืออีก 8ปี ต่อถ้าเราขับเคลื่อนโครงการก้าวหน้าได้ตามแผน ก็สามารถเตรียมตัวที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดประชุมCopได้ “

ระยะหลังมานี้ คนที่ใส่ใจข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม มักจะได้ยินคำว่า”สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” บ่อยครั้ง ซึ่งหมายถึงโครงการที่จะทำให้จังหวัดสระบุรี ทั้งจังหวัดเป็นเมืองที่ปราศจากก๊าซเรือนกระจกหรือ Net Zero  สวนทางกับภาพจำเดิมที่ว่า สระบุรี เป็นเมืองแห่งมลพิษ

ด้วยเหตุนี้ ฟังดูแล้ว การจะทำให้”สระบุรี” เป็นเมืองปลอดจากก๊าซเรือนกระจกแห่งแรกของประเทศไทย จึงอาจเป็น”การขายฝัน ” หรือ เป็นเพียงแค่โครงการที่ผุดขึ้นตามกระแสการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน หรือโลกเดือด ซึ่งในที่สุดก็ไม่สามารถทำได้จริง จนเรื่องราวค่อยๆจางหายไป

ในการหาความกระจ่างของตัวโครงการ ทำให้ต้องไปสืบเสาะ “ต้นทาง”ของแนวคิด ผู้ผลักดันโครงการนี้  ซึ่งมาจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)  หนึ่งในหน่วยงานภายใต้สังกัดของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)

ที่มาของโครงการ สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ดร.กิติพงศ์ พร้อมวงศ์ ผู้อำนวยการสอวช.  กล่าวว่า หลังจากที่ประเทศไทยไปประชุม Cop26  หรือ การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เมื่อวันที่  31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน  ปี2564 รัฐบาลได้ประกาศในที่ประชุมว่าภายในปี 2065 การยกระดับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ )Carbon  Net Zero   และระหว่างทางลดคาร์บอนด์เหลือร้อยละ 40 ในปี 2030  รวมทั้ง เข้าสู่ภาวะคาร์บอนเป็ฯกลาง (Carbon Neutrality) ในปี 2050  ดังนั้น หากจะทำ net zero โดยเน้นทีละจังหวัด โอกาสสำเร็จง่ายกว่าทำทั้งประเทศทีเดียว

สำหรับ เหตุผลเลือกจ.สระบุรี เป็นเมืองต้นแบบ เพราะสระบุรีเป็นเมืองอุตสาหกรรมซีเมนต์  ซึ่งเป็นฐานอุคสาหกรรมด้านการก่อสร้างที่สำคัญของประเทศ  มีการใช้พลังงานสูงและปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง  นอกจากนี้  สระบุรียังเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมของประเทศ    

“ในการขับเคลื่อนโครงการ เราจึงเริ่มจากการหารือกับบริษัทเอกชนในพื้นที่ ที่เขาเห็นด้วยกับโครงการนี้ เนื่องจากบริษัทเอง ก็มีแรงกดดันสูง เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมที่ผลิต  และหากไม่ดำเนินการอะไร สินค้าที่ผลิตที่จะเจอปัญหาการแข่งขัน ที่ขณะนี้ยุโรปมีการออกมาตรการ เกี่ยวกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า CBAM กับ 7อุตสาหกรรมหลัก  ทำให้ที่ผ่านมาบริษัทฯจึงมีการเตรียมการเรื่องนี้มาตลอด  เพียงแต่ยังขาดแรงสนับสนุนผลักดัน “ดร.กิติพงศ์กล่าว

กลุ่มปูนฯสมัครใจเต็มพิกัดเข้าร่วมโครงการ

ความเต็มใจเข้าร่วมโครงการของภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่   ทำให้ที่ผ่านมา ได้มีการร่วมกันทำโรดแมป กับสอวช. ซึ่งสอวช.มีการตั้งทีมศึกษาวิจัยเรื่อง” นวัตกรรมระบบนิเวศและเมืองต้นแบบสนับสนุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero) ของประเทศไทย:”โดยยกสระบุรีเป็นเมืองกรณีศึกษาเพื่อเป็นเมืองต้นแบบ  ซึ่งการวิจัยชี้ว่า การดำเนินการให้สระบุรี ปลอดาคร์บอนด์  ทาง ภาคอุตสาหกรรมปูนฯ จะต้องมีการเริ่มต้นจาก การเปลี่ยนผ่านภาคส่วนพลังงาน (Energy Transition)  เช่น  การเปลี่ยนเชื้อเพลิงที่ใช้ในอุตสาหกรรมซีเมนต์  ซึ่งก่อนหน้านี้มีการทำไฮดรอลิกซีเมนต์  ซึ่งเป็นซีเมนต์ที่ผลิตโดยเน้นลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก  โดยทางบริษัท จะต้องมีการลงทุนเปลี่ยนเครื่องจักรและเทคโนโลยีชนิดใหม่ ที่ลดการใช้พลังงาน เพราะในขั้นตอนการผลิตปูนให้เป็นปูนเม็ด(clinker) จะใช้พลังงานสูง ซึ่งจำเป็นต้องมีการนำเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นนวัตกรรม มาช่วย   รวมทั้ง ต้องมีการการใช้วัสดุทดแทน ที่อาจมาจากภาคเกษตรเป็นพลังงานในการผลิต  ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนที่จะต้องเปลี่ยนรูปแบบการผลิตในภาคเกษตรของจังหวัด ที่จะต้องเป็นไปในทิศทางที่เป็นการลดคาร์บอนด์ทั้งหมด

“ที่ผ่านมาปูนไฮดรอลิกซีเมนต์ เป็นหนึ่งในแผนชาติ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสาขา กระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ( IPPU) ซึ่งในสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เราชี้ว่าต้องมีการเปลี่ยนการใช้พลังงานอื่นๆที่สะอาดขึ้นแทนถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลัก ของการผลิตปูนมาตลอด  เรื่องเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดว่าจะใช้อะไร ต้องมีการศึกษา เช่น ถ้ามีการใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์  สระบุรีอาจไม่เหมาะที่จะผลิตเอง  อาจจะต้องมีการส่งจากแหล่งอื่น และวิธีการขนส่งจะใช้วิธีไหน เป็นสายส่งหรือยังไง ตลอดจน การทำที่จัดเก็บพลังงาน ก็จะเป็นรายละเอียดที่ต้องศึกษา “

ดร.กิติพงศ์ พร้อมวงศ์ ผอ.สอวช.หน่วยงานหลักขับเคลื่อน”สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์”


เปลี่ยน”วิถี”ทั้งจังหวัดสู่ Net Zero

ไม่ได้มีแต่เพียงภาคอุตสาหกรรมที่ต้อง”ปรับเปลี่ยน” ตัวเอง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในภาคส่วนอื่นๆของจังหวัด ก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำมาหากินและดำเนินชีวิตด้วยเช่นกัน ซึ่งดร.กิติพงศ์ อธิบายว่า ต้องเป็นการทำให้ครบ Value Chain ซึ่งจะส่งผลกระทบไปที่ภาคเกษตร ชุมชน ครัวเรือน  บางเรื่องจะเป็นเรื่องใกล้ตัว  เช่น  การใช้ประโยชน์ที่ดิน การจัดการขยะในครัวเรือน  ตลอดจนกระบวนการผลิตในอุตสหกรรมเกษตรกรรม  ที่สำคัญคือ การทำเกษตรจะต้องลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การทำนาแห้งสลับเปียก การเปลี่ยนไบโอแมส ทั้งแกลบ หรือ ฟางข้าว มาเป็นการสนับสนุนให้ปลูกหญ้าเนเปียร์ เพราะหลังจากที่โรงไฟฟ้ามีความต้องการใช้แกลบ จากราคา 400-500 บาทต่อตัน แต่ปัจจุบันราคา 2,000 บาทต่อตัน การปลูกหญ้าเนเปียก็เพื่อนำมาใช้เป็นไบโอแมส

“หรือแม้แต่กากของเสียในครัวเรือนและภาคเกษตร โรงปูนซีเมนต์ ทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลายในพื้นที่ได้ดี เพราะเตาเผาของโรงปูนที่มีอุณภูมิสูงสามารถกำจัดของเสียอันตรายได้ และจะรับซื้อขยะเปียกเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบ แปลว่า ชุมชนกับการปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะมีรายได้ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวจะต้องมีการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป็นที่มาทำให้  23 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ -เอกชน โดยมีสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเม  พร้อมด้วยสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี  และภาคี การสนับสนุนของ 7 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อว.และกระทรวงพลังงาน เซ็นเอ็มโอยูความร่วมมือ หรือเป็นการประกาศเจตนารมย์ร่วมกัน ในการพัฒนาจังหวัดต้นแบบ-สระบุรีเมืองคาร์บอนต่ำ หรือ ‘PPP-Saraburi Sandbox: A Low Carbon City’ เมื่อวันที่  17 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นความร่วมมือ ที่จะทำให้การขับเคลื่อนบรรลุผลในช่วงระหว่างปี 2566-2569 ผ่านโครงการต้นแบบที่จะเกิดขึ้นตามกรอบความร่วมมือ ครอบคลุมด้านพลังาน ด้านกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ด้านการจัดการของเสีย ด้านการเกษตร และด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน  “ดร.กิติพงศ์กล่าว


ความคืบหน้าอีกระดับของภาคปฎิบัติการสู่เมืองNet Zero ดร.กิติพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ มีการขับเคลื่อนดำเนินงานตามโรดแมปไปเรื่อยๆ โดยภาคเอกชนมีการวางแผนการลงทุนเพื่อที่จะเปลี่ยนกระบวนการผลิตในอุตสหกรรม ส่วนทางจ.สระบุรี ขณะนี้ ได้มีการตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด เป็นผู้ดำเนินการภายในจังหวัด และมีแผนที่จะตั้งคณะกรรมขึ้นอีกชุด ที่มีการทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้อง มาดำเนินการเหนือกว่าจังหวัด เพราะจะต้องดำเนินโครงการในหลายพื้นที่  เพราะต่อไปวิถีชีวิตของผู้คนก็ต้องเปลี่ยนเพื่อปรับให้เข้ากับการพัฒนาที่จะเป็น net zero   นอกจากนี้ ทางสอวช. ยังจะดึงหน่วยงานในอว.ได้แก่ หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)  มาจัดการเรื่องการให้เงินทุนในส่วนของภาคเกษตร พร้อมกับดึงหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มาสนับสนุน ในแง่เงินทุนทางด้านความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้ง การศึกษาข้อมูลด้านเทคโนโลยี  

“สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” โชว์เคสเวทีประชุมCop ปีนี้

ดูเหมือนว่าทุกอย่างยังอยู่ในขั้นการเริ่มต้น  ซึ่ง ดร.กิติพงศ์ บอกว่า การขับเคลื่อนได้แค่ไหน ยังอยู่ที่เรื่องของเงินทุนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการจะผลักดันโครงการให้สำเร็จ  เพราะแค่เงินทุนที่เอกชนซึ่งมีความตื่นตัวมาก วางแผนเตรียมควักกระเป๋า เพื่อเปลี่ยนตัวเครื่องจักรมาใช้พลังงานสะอาด  (Energy Transition) จำนวน 3-4 พันล้านบาท  ยังไม่เพียงพอทำให้เกิดสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ได้  โดยตามแผนที่จะทำได้มีการร่วมหารือกับทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม  หากนายกรัฐมนตรีมติเห็นชอบ ก็เตรียมที่จะนำเงินทุนจาก 2 แหล่งหลัก คือ 1.สอวช. ในส่วนของเงินทุนด้านวิจัยและนวัตกรรม 2.เงินทุนจากที่ประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)  

แหล่งเงินทุนจากยูเอ็น จะมีโอกาสได้หรือไม่ ดร.กิติพงศ์ บอกว่าก็มีความยาก พร้อมกับอธิบายว่า ในการประชุม UNFCCC แต่ละปี สอวช. เปรียบเสมือนหน่วยประสานงานกลางของประเทศทางด้านเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกับ UNFCCC  ซึ่งตามปกติ ในการเจรจาเรื่องเงินทุนสนับสนุน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็จะมีการเชื่อมโยงกับกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) และ กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (GCF)  ซึ่งเป็น 2 กองทุนใหญ่ เฉลี่ยกองทุนละ 1 แสนล้านบาท ซึ่งหากมีการเจราและศึกษาตัวโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ของกองทุนGCF และหากมีความเป็นไปได้ เขาก็อาจจะมอบเงินสนับสนุน ประมาณ 100 ล้านบาท ก็จะสามารถดำเนินการได้ แต่หากจะครอบคลุมทั้งโครงการก็จะต้องใช้เงินทุนเฉลี่ย 7,000 ล้านบาท หรือ 200 ล้านดอลลาร์  เพื่อจะทำในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในสระบุรี เช่น โรงกำจัดขยะ โรงไฟฟ้าชีวมวล และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งการให้เงินทุนก็จะเป็นทยอยให้ในระยะเวลา 4 ปี แต่ในระหว่างทาง GCF ก็จะมีการติดตามประเมินผล ซึ่งเงินทุนนี้ จะไม่เกี่ยวธนาคารโลก และ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียหรือ ADB ที่มีการเสนอในส่วนของเงินกู้แบบซอฟต์โลน แต่ GCF จะเป็นทุนแบบให้เปล่า

“การประชุม COP ปลายปี เราจะทำเคสของจ.สระบุรีไปทำการจัดแสดงเป็นพาวิลเลี่ยน ซึ่งปกติในการประชุม COP จะมีไทยพาวิลเลี่ยน ซึ่งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จะเป็นเจ้าภาพจัด ซึ่งทางสอวช. ก็ได้มีการเสนอให้จัด Innovation zone ซึ่งสระบุรีแซนด์บ็อกซ์จะเป็นหนึ่งเคสโชว์ที่ใหญ่ และในการเจรจาจะเริ่มในส่วนของนโยบายก่อน โดยในรายละเอียดการเจรจาก็ต้องนำเสนอช่องทางเพื่อให้ได้เงินทุน “ผอ.สอวช.กล่าว

การหาแหล่งเงิน ที่ดร.กิติพงศ์ บอกว่ามีความยาก ยังเกิดจากปัญหาที่ไทยจะขอเดี่ยวๆไม่ได้รวมตัวเกาะกลุ่มกับประเทศอาเซียนด้วยกัน แม้ว่าที่ผ่านมาไทยจะมีความพยายามให้เกิดการรวมตัว แตยังไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งหากรวมกันได้จะทำให้การเจรจาต่อรองมีพลังมากขึ้น  เหมือนกับกรณีประเทศอูกันดา ที่ขอในนามของทวีปแอฟริกา  ซึ่งมีพลังในการเจรจามาก  ทำให้ได้รับเงินสนับสนุนไป  900 ล้านเหรียญ

“อาทิตย์หน้าที่จะมีการเดินทางไปประเทศฟิลิปปินส์ จะเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการทำ Green City ในสระบุรี เพราะขณะนี้  อาเซียนต่างคนต่างทำ ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย มาเลเซีย เขาก็ทำในเมืองของเขา  แต่จริงๆแล้ว เราควรรวมตัวกัน ทำในลักษณะเสมือนเมืองพี่เมืองน้องกับไทย 10 เมือง รวมประชากรกว่า 600 ล้านคน  ถ้ารวมได้ ไปนำไปเสนอใน COP ก็จะเกิดพลังสูง ก็จะได้เงินทุนมาพัฒนาแต่ละประเทศ “ดร.กิติพงศ์กล่าว

เล็งขอซอฟต์โลนด์จากADBและเวิลดิ์แบงก์

ไม่ได้มีแต่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องการเงินทุนก้อนใหญ่มาสนับสนุนโครงการ  ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน สอวช. ที่ศึกษาวิจัยสระบุรีเมืองต้นแบบNet Zero  กล่าวเสริมว่า หลังจากมีการปล่อยโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ได้ประมาณเกือบ 1 ปี และมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมอื่นๆที่คู่ค้า บริษัทปูนฯ มีการเรียกร้องติดต่อเพื่ออยากเข้าร่วมด้วย ซึ่งคิดว่าจะมีการจัดเวทีกิจกรรมนี้ เพื่อหาอุปสงค์ของอุตสาหกรรมในพื้นที่ว่าต้องการอะไรบ้างเพื่อนำไปจัดทำเป็นแพคเกจ เพื่อเสนอแหล่งเงินทุนที่เป็นซอฟต์โลนด์ดอกเบี้ยต่ำ อย่างธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือADB ธนาคารโลก เพราะธนาคารเหล่านี้ไม่ได้เพียงแค่ปล่อยกู้เท่านั้น แต่ยังลงมาดูพื้นที่ให้เงินทุนศึกษาความเป็นไปได้ เกือบ 10 ล้านบาท


“เขาจะมาดูว่า นอกจากเรื่องเปลี่ยนเครื่องจักรโรงงาน แกนกลางโครงการ ว่าเราทำอะไรบ้าง เช่น Circular Economy การจัดการขยะ  ซึ่งในหลักการจัดการขยะ จะต้องป้องกันไม่ให้เกิดขยะ ก่อนที่จะนำไปสู่การ Recycling    ซึ่งหลังจากได้มีการพูดคุยกับทางจังหวัด  พบว่าการจัดการขยะในพื้นที่ยังไม่ค่อยเป็นระบบ อาจจะมีการตั้งเป้าเริ่มทำจาก Zero landfill หรือไม่เกิดการฝังกลบขยะ   Zero dumping  ไม่มีการทิ้งขยะแบบเทกองรวมกัน และZero open burning ไม่การเผาขยะแบบเปิด การเพิ่มเปอร์เซ็นการรีไซเคิล  เพื่อทำให้เกิด Circular Economy เชื่อมโยงไปถึงพลังงานต่างๆ ได้ 100% “ดร.ศรวณีย์ กล่าว

อาจกล่าวได้ว่า”สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ “มีความโดดเด่นมาก แม้ไม่ทำในนามอาเซียน ดร.กิติพงศ์ บอกว่า  ถ้าเป็นการทำเป็นพื้นที่จังหวัดแบบนี้ น่าจะมีไทยเป็นเจ้าแรก แตกต่างจากยุโรป ที่มีการทำทั้งประเทศ เช่น เบลเยียม เดนมาร์ก ซึ่งเป็นประเทศเล็กสามารถทำNet Zero ได้ทั้งประเทศ และทำได้ดี เพราะเป็นแถบประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ดี ซึ่งไทยก็จะนำองค์ความรู้ของเทคโนโลยีที่ประเทศเหล่านี้มาต่อยอดวิจัยของตัวเองเพื่อให้เข้ากับบริบทและการใช้งานของประเทศ อย่างการนำไฮโดรเจนมาผลิตรวมกับถ่านหิน ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือเทคโนโลยีประเภทที่กักเก็บคาร์บอน(Carbon Capture) ที่เหมาะกับประเทศ อย่าง กลุ่มประเทศ สแกนดิเนเวีย ซึ่งเมื่อมีการดักจับคาร์บอนจากโรงงาน ไปเก็บไว้ในโพรงใต้ทะเล แต่ในประเทศไทยไม่โพรงขนาดใหญ่รองรับ ประเทศอาจจะทำการดักจับคาร์บอนด์และแปลงเป็นสารอื่นๆ

ความหนักใจที่คิดว่า ที่คิดว่าเป็นอุปสรรคกับโครงการที่เป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน   ผอ.สอวช.กล่าวว่า  ปัญหาต่างๆต้องมีแน่นอน แต่ที่มองไว้ก็คือ  1. ปัญหาพื้นฐาน คือความเข้าใจในเรื่องนี้ ที่แตกต่างกัน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและประชาชน บางคนก็ตระหนัก บางคนก็เฉยๆ บางคนคิดว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวถ้าไม่ทำเราจะแย่ 2.ภาครัฐ ถ้าเกิดไม่ตระหนัก หรือไม่เข้าใจลึกซึ้งเพียงพอ ก็จะเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนโครงการ  เพราะเป็นผู้ควบคุมกฎระเบียบต่างๆ  3. ที่เป็นห่วงอีกอย่างคือ เทคโนโลยีต้นทุนสูง ถ้าเราทรานเฟอร์เทคโนโลยี แบบธุรกิจกับธุรกิจ จะแพงมาก จึงต้องหาวิธีหาเทคโนฯ ที่ต้นทุนถูก อาจทำในรูปแบบการซื้อแบบรัฐต่อรัฐ ในข้อตกลงพิเศษ หรือการส่งผ่านมาทางความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ที่จะทำให้ต้นทุนเทคโนโลยีถูกลง  4. เราจะต้องไม่เป็นแค่ผู้ซื้อเทคโนโลยี เพราะเรื่องClimate Change มุมหนึ่งคือการแข่งขันในตลาดเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมมาช่วยลดโลกร้อน  ประเทศที่ได้เปรียบคือ เป็นผู้ทำนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาขาย ถ้าเราไม่อยากเป็นเมืองขึ้นเทคโนโลยีประเทศเหล่านี้ เราต้องสร้างนวัตกรรมของตัวเองขึ้นมา ซึ่งเรามีศักยภาพเพียงที่จะทำได้  5.ในแง่ภาคประชาชน ต้องให้การศึกษาปลูกฝัง เพื่อเกิดความเข้าใจ ซึ่งจะทำให้เกิดความร่วมมือตามมา

ตั้งเป้าดึงประชุมCopจัดที่ไทย

ถ้าสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์สำเร็จ ประเทศไทยจะได้อะไร แค่ไหน ดร.กิติพงศ์  มั่นใจว่า อย่างแรก คือการลดก๊าซเรือนกระจก ภาวะโลกร้อน เป็นเรื่องระดับนานาชาติ ในมุมของการลดภัยพิบัติได้ระดับหนึ่ง เพราะเวลาโลกร้อน เราลดลง ได้แล้วโลกจะเย็น แต่ถ้าช่วยกันลดหลายๆที่ความแปรปรวนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะลดลง   อีกอย่างที่เราจะได้คือการแข่งขัน และซอฟต์เพาเวอร์ ซึ่งมองว่า ถ้าสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์สำเร็จ เราก็อาจจะดึงการประชุมCopมาที่ไทยได้  โดยโชว์เคสสระบุรี ซึ่งการประชุมCopใครๆ ก็อยากแย่งเป็นเจ้าภาพ เพราะทุกอย่างในงานแพงหมด แพงกว่าราคาปกติเป็น 10 เท่า ทั้งโรงแรมที่พัก หรือบริการต่างๆ  ตรงนี้เป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่เราจะได้

“รอบประชุมปีนี้ ทำในอิยิปต์ หรือทวีปแอฟริกา ซึ่งการจัดประชุมจะไล่เป็นทวีป ๆ เราอาจจะต้องรออีก 10 ปีข้างหน้า หรืออีก 8ปี ต่อถ้าเราขับเคลื่อนโครงการก้าวหน้าได้ตามแผน ก็สามารถเตรียมตัวที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดประชุมCopได้ “ดร.กิติพงศ์กล่าว


ตามแผนสร้างเมือง Net Zero  ในไทยยังมีอีก 2แห่ง คือ ที่แม่เมาะ จ.ลำปาง และมาบตาพุด จ.ระยอง  ซึ่งดร.กิติพงศ์ บอกว่า ขอพุ่งเป้าไปที่สระบุรีก่อน ถ้าสำเร็จ การขับเคลื่อนจังหวัดต่อไป ก็จะง่ายขึ้่น ซึ่งขณะนี้ จ.ภูเก็ต ก็มีความสนใจ ที่จะเข้าร่วมโครงการ และมองว่าหากประกาศว่าเป็นจังหวัด  Net Zero ก็จะเป็นจุดขายสร้างพลังด้านการท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น .

เพิ่มเพื่อน