วธ.บูรณาการจัดลอยกระทงสืบสานประเพณีทั่วไทย ชู’วัดอรุณฯ’ เป็นไฮไลต์เสนอวัฒนธรรมดีงาม ปี 67 ขอขึ้นทะเบียนเบื้องต้นจากยูเนสโก
12 ต.ค.2566 – นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานการประชุมหารือการบูรณาการการจัดงานลอยกระทง 2566 โดยมี นางโชติกา อัครกิจโสภากุล นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นายภูธร ภูมะธน ที่ปรึกษาด้านศิลปวัฒนธรรม บมจ.ไทยเบฟ นายสุรพล เศวตเสรณี ที่ปรึกษาด้านศิลปวัฒนธรรม บมจ.ไทยเบฟ คุณวิวรรณ กรรณสูต ที่ปรึกษาบริษัทไทยกรุ๊ปโฮลดิ้งส์ ตัวแทนบริษัท ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ศูนย์ประชุม ชั้น 8 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นางยุพา กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยมีเทศกาลประเพณีลอยกระทง ซึ่งถือเป็นประเพณีที่สำคัญของคนไทย สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญา วิถีชีวิต และวัฒนธรรมไทยอันงดงาม ตลอดจนการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ การรู้คุณค่าของน้ำ และขอขมาพระแม่คงคา ประกอบกับกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายอนุรักษ์ สืบสาน ส่งเสริมงานวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญของชาติให้คงคุณค่าและเนื้อหาสาระของวัฒนธรรมอันดีงามของไทย รวมถึงส่งเสริมเทศกาลประเพณีของชาติ ให้เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก รองรับนโยบาย Thailand Creative Content Agency หรือ THACCA ของรัฐบาล โดยที่ผ่านมา วธ. บูรณาการกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมอนุรักษ์ รักษา สืบสานการจัดงานวันลอยกระทงทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เทศกาลประเพณีลอยกระทงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
ปลัด วธ. กล่าวอีกว่า หนึ่ง ใน สถานที่การจัดงานวันลอยกระทงที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติร่วมงานเป็นจำนวนมาก คือ วัดอรุณราชวราราม ซึ่งเป็นศาสนสถานที่มีสถาปัตยกรรมล้ำค่า มีเอกลักษณ์ที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกและยังเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทย ในปีนี้ วธ. ได้หารือการบูรณาการร่วมมือกลุ่มบริษัทไทยเบฟ เตรียมพร้อมจัดงานสืบสานประเพณีลอยกระทง ประจำปี 2566 ณ วัดอรุณราชวราราม และหารือรูปแบบการจัดงานให้เป็นที่ประจักษ์สู่สายตานานาชาติด้วยอัตลักษณ์ที่มีเอกลักษณ์ของไทยผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยเร็วๆนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการการจัดงานวันลอยกระทง ซึ่งมีกลุ่มบริษัทไทยเบฟเป็น 1 ในกรรมการอีกด้วย
ปลัด วธ. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ วธ. โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม อยู่ระหว่างลงพื้นที่ เก็บข้อมูล สำหรับการจัดงานลอยกระทงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อเตรียมขอขึ้นทะเบียนเบื้องต้นจากยูเนสโก ในปี 2567 จึงผลักดันให้เตรียมจัดงาน “เทศกาลประเพณีวันลอยกระทง” ของไทยอย่างยิ่งใหญ่ บูรณาการความร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานต่างๆ อย่างเต็มที่ และจัดทำองค์ความรู้เผยแพร่อัตลักษณ์วันลอยกระทงเป็นตอนๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกมาท่องเที่ยวกันอย่างล้นหลาม สร้างความประทับใจ ดึงดูดให้กลับมาท่องเที่ยวในทุกๆปี ตลอดจนผลักดันให้เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนยูเนสโก ทั้งนี้ วาระดังกล่าวจะถูกนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ซึ้งใจมาหาถึงบ้าน” คาราวาน “ผ้าห่มผืนเขียว” เดินทางข้ามหุบเขา มอบไออุ่นถึงมือพี่น้องชาวพิษณุโลก
หากเอ่ยถึงจังหวัดภาคเหนือนตอนล่าง พิษณุโลกเป็นจังหวัด ที่มีลักษณะเป็นเทือกเขาและที่ราบลุ่ม โดยเฉพาะตำบลบ่อภาค เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เข้าถึงยาก
กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงาน'ชัยพัฒนาแฟร์ สัญจร นครนายก'
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปยังเขื่อนขุนด่านปราการชล อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ทรงเปิด “ศูนย์ฝึกอบรมสุดาเดือนเพ็ญและที่พักของมูลนิธิชัยพัฒนา” และงาน “ชัยพัฒนาแฟร์ สัญจร จังหวั
พิกัด 11 วัด งานอารามอร่ามประดับไฟรับปีใหม่
เพื่อส่งมอบความสุขปลายปีและเสริมสิริมงคลแก่ชีวิต กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จัดกิจกรรม “อารามอร่าม 11 วัด 1 โบสถ์พราหมณ์1 พิพิธภัณฑ์ ประดับไฟฉลองต้อนรับเทศกาลปีใหม่ 2568 “ ถือเป็นอีกหมุดหมายที่ห้ามพลาดและไม่ได้จัดเป็นประจำ เพราะ
ฉลอง'ต้มยำกุ้ง' กระหึ่มโลก ชวนลองเมนูมรดกวัฒนธรรม
โด่งดังก้องโลกกับเมนูต้มยำกุ้งของดีเมืองไทย กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดงานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ในโอกาสที่ ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) และ “เคบายา” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List