“ตลาดน้ำ” เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำให้ได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตของชุมชนริมคลอง ซึ่งอดีตสายน้ำที่ไหลผ่านคูคลองต่างๆ ชุมชนพึ่งพาสายน้ำในการดำรงชีวิต กลายเป็นทำเลปลูกสร้างบ้านเรือน ก่อเกิดเป็นชุมชนริมน้ำ ที่มีเส้นทางน้ำไว้สัญจรไปมาหาสู่กันและค้าขาย ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจากพ่อค้าแม่ขายทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมถึงประเพณีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสายน้ำ
แม้ว่าทุกวันนี้วิถีริมคลองปลี่ยนแปลงไปตามการพัฒนาของบ้านเมือง จากที่อยู่อาศัยและท่าเรือเดิมปรับเปลี่ยนมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้ย้อนวันวาน ตลาดน้ำจึงเป็นหนึ่งจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและมีวิถีชุมชนที่เพลิดเพลิน ไม่ว่าจะเป็นการนั่งเรือชมบรรยากาศริมสองฝั่งคลอง เดินชมบ้านไม้เก่าแก่ หรือลิ้มลองอาหารท้องถิ่นขึ้นชื่อ อุดหนุนพืชผักผลไม้ที่พ่อค้าแม่ค้านำมาขายกัน ได้พักผ่อนชมบรรยากาศบ้านเรือนและผู้คนที่สัญจรไปมา
มีโอกาสร่วมวันเดย์ทริปส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวทั้งตลาดน้ำและตลาดบกของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) พาไปสัมผัสวิถีตลาดน้ำ 2 แห่ง ใกล้เมืองกรุง ได้แก่ ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก จ.ราชบุรี และตลาดน้ำอัมพวา จ.สมุทรสงคราม ภายใต้โครงการ 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดโครงการ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง ผู้นำชุมชนฯ ผู้ขับเคลื่อนตลาดน้ำเหล่าตั๊กลักและตลาดน้ำอัมพวา เครือข่ายทางวัฒนธรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยทุนทางวัฒนธรรม การส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน สู่เส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมยอดนิยท สร้างรายได้ให้กับประชาชน
จุดหมายแรกมุ่งหน้าสู่ ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก ซึ่ง เหล่าตั๊กลัก แปลว่า ตลาดเก่า ตั้งอยู่บริเวณปากคลองลัดพลี ต.ดำเนินสะดวก อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าตลาดแห่งนี้เป็นตลาดน้ำดั้งเดิมแห่งแรกของ จ.ราชบุรี มีต้นกำเนิดมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เพื่อเชื่อมโยงการสัญจร และขนส่งจากเมืองหลวงไปยังหัวเมืองรอบนอก เชื่อมคลองภาษีเจริญ ไปยังแม่น้ำท่าจีน
สมัยก่อนบริเวณแถบนี้จึงเป็นที่พักของแรงงานชาวจีนแต้จิ๋ว และจีนไหหลำที่มาทำงานขุดคลอง และขยายตัว ชุมชนที่ขยายตัวขึ้นจนเป็นศูนย์กลางในการซื้อขาย แลกเปลี่ยนผลผลิต ทางการเกษตร และการคมนาคมทางน้ำไปยังจังหวัดอื่นๆ
ตลาดน้ำแห่งนี้เป็นตลาดเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 100 ปี แต่เมื่อ 30 ปีก่อน บรรยากาศมราเคยคึกคัก กลับซบเซาลงเนื่องจากการพัฒนาถนนหนทาง บวกกับมีตลาดน้ำดำเนินสะดวกตั้งขึ้นใหม่ใกล้ๆ กัน เหตุนี้ ชาวชุมชนตลาดเก่าเหล่าตั๊กลักได้ร่วมมือร่วมใจกันพลิกฟื้นให้ตลาดเก่ากลับมามีชีวิตอีกครั้ง จนเป็นตลาดน้ำน่าเที่ยวในปัจจุบัน เสน่ห์ที่ชวนหลงใหลของที่นี่ คือ การได้เดินชมบ้านไม้เก่าริมน้ำ ประกอบกับมีบันไดท่าน้ำเล็กๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เดินลงไปซื้อผักผลไม้ หรืออาหารจากเรือสินค้าของชาวบ้านที่นำใส่เรือมาขายมากมาย
การลิ้มรสอาหารที่ตลาดน้ำ ถือเป็นไฮไลท์ห้ามพลาด โดยเฉพาะอาหารยอดนิยม อย่างข้าวแห้งทรงเครื่อง ข้าวต้มแบบฉบับชาวจีน เกี้ยมอี๋น้ำใส ก๋วยเตี๋ยวหมูต้มยำมะนาวสด ผัดไทย ทอดมันหัวปลี หมูสะเต๊ะ ไปจนถึงของหวานอย่างไอศกรีมมะพร้าวน้ำหอม และกาแฟโบราณ ส่วนผลไม้มีทั้งส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ องุ่น มะม่วง กล้วย น้ำตาลมะพร้าว มะพร้าวกะทิ ในย่านตลาดยังมีร้านรวงขายของชำ ขาย ซีอิ้วตราเสือ เสื้อยืด ตู้ไม้สักจิ๋วโบราณ และบ้านไม้จำลอง
ช่วงที่ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลักจะคึกคักเป็นพิเศษ เริ่มตั้งแต่ 8 โมงเช้าไปจนถึงบ่ายสองโมง เพราะนักท่องเที่ยวจะสามารถเดินสะพานเชื่อมกับตลาดน้ำดำเนินสะดวก หรือนั่งเรือท่องเที่ยวแวะมาชมตลาด ได้ เรียกว่า มาที่เดียวได้เที่ยว 2 ตลาดน้ำเลย เดินชมจนหนำใจ เรามาเพลิดเพลินต่อที่พิพิธภัณฑ์ของตลาดที่จัดแสดงอยู่ตรงระเบียงด้านบนของบ้านไม้เล่าเรื่องราววิถีชีวิตริมน้ำ และจัดแสดงเรือไม้โบราณที่ไม่ได้ใช้งานแล้วรูปแบบต่างๆ ให้ได้ชม ที่นี่สามารถเดินมาเที่ยวตลาดได้วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
จากเมืองโอ่งราชบุรี เราไปเที่ยวต่อที่ ตลาดน้ำอัมพวา ต.อัมพวา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง บริเวณสองฝั่งคลองอัมพวา เป็นหนึ่งในตลาดน้ำยอดนิยมที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตชาวอัมพวามากว่า 100 ปี ตลาดน้ำแห่งนี้ในอดีตสองฝั่งคลองจะหนาแน่นไปด้วยเรือสินค้า ที่เหล่าพ่อค้าแม่ค้าพายเรือบรรทุกผลไม้ในสวน หรืออาหารพร้อมทำให้ทานแบบหอมกรุ่นสดใหม่ ออกมาขายริมท่าน้ำ พร้อมกับนั่งห้อยขาทาน พร้อมๆ กับชมวิวบ้านเรือนไม้เก่าและเรือที่สัญจรไปมา แต่ช่วงหนึ่งตลาดแห่งนี้ค่อยๆ ถูกลดความสำคัญและภาพความเจริญในอดีตค่อยๆ เลือนหายไป จนกระทั่งในปี 2547 ทางเทศบาลตำบลอัมพวาผนึกกำลังกับประชาชนในท้องถิ่น ฟื้นฟูตลาดน้ำอัมพวาให้กลับขึ้นมามีสีสันอีกครั้ง
อัมพวาถ้ามาเดินเล่นยามเย็นริมน้ำเคล้าแสงแดดอ่อนๆ ชวนให้ผ่อนคลาย ในระหว่างที่เดินอ้อยอิ่งชมวิถีริมน้ำ ดูความสวยงามของบ้านไม้เก่าแก่ที่ออกแบบอย่างสวยงามลงตัว แม้ว่าบางหลังจะมีการบูรณะดัดแปลงทำเป็นที่พัก ร้านอาหาร แต่มีดีไซน์อย่างกลมกลืน ยิ่งเย็นคนยิ่งคึกคัก มีนักท่องเที่ยวมาเยือนไม่ขาดสาย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติบ้างก็ถ่ายรูป บ้างก็เลือกซื้ออาหารที่มีหลากหลายเมนูทั้งบนบก และบนเรือ ไม่ว่าจะเป็นปลาทูซาเตี้ยะ ข้าวน้ำพริกปลาทู ซาลาเปาปลาทู ทะเลเผา ผัดไทยกุ้งสด ข้าวห่อใบบัว ไข่ปลาหมึกทอด ก๋วยเตี๋ยวกะลา และไอศกรีมมะม่วงน้ำปลาหวาน แถมมีของฝากอย่าง อาหารทะเลแปรรูป ส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ ขนมโสมนัส ขนมจ่ามงกุฎ น้ำตาลมะพร้าวแท้ หัวโขนจิ๋ว เครื่องเบญจรงค์ พวงกุญแจหิ่งห้อย กระเป๋าผ้าขาวม้า และโปสการ์ดภาพสวยๆ สื่อวิถีสายน้ำชวนช็อปเป็นของฝาก ละลายทรัพย์
อีกไฮไลท์ถ้ามีเวลาแนะนำมาเปิดประสบการณ์นั่งเรือชมหิ้งห้อยกับบรรยากาศสองฝั่งคลอง ก่อนจะล่องออกไปตามลำน้ำแม่กลอง สูดอากาศบริสุทธิ์ สัมผัสวิถีบรรยากาศวิถีชุมชนริมน้ำ . ซึ่งจะมีจุดให้บริการเรือนำเที่ยวคอยต้อนรับบริเวณสะพานข้ามฟากและอีกหลายจุดในตลาดน้ำอัมพวา เรือให้บริการมีหลายเจ้าให้เลือก ที่พักอัมพวาก็มีให้เลือกหลายสไตล์หลายราคา จนถึงโฮมเสตย์ ครบเครื่องเรื่องของกิน ของช้อป สมกับเป็นตลาดน้ำยามเย็นยอดฮิต ใกล้ๆตลาดน้ำมีวัดวาอารามให้เข้าไปไหว้พระเสริมมงคล สามารถเดินทางมาเที่ยวได้ตั้งแต่ 10.00-21.00 น. ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
สองตลาดน้ำภาคกลางที่ชวนเดินทางท่องเที่ยวเปี่ยมด้วยเสน่ห์ทางวัฒนธรรม เป็นสถานที่ที่ไม่ควรพลาด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วธ.จัดมหกรรม‘ปลาร้า หมอลำอีสาน’ ยกระดับวัฒนธรรมพื้นบ้านให้ดังก้องโลก
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนระดับประเทศ อาทิ หอการค้าไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท
สุดม่วน! วธ.จัด ‘หมอลำเฟสติวัลร้อยแก่นสารสินธุ์’ หนุนยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนระดับประเทศ อาทิ หอการค้าไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด Sustainable Brands (SB) Thailand และ บริษัท
พิกัด 11 วัด งานอารามอร่ามประดับไฟรับปีใหม่
เพื่อส่งมอบความสุขปลายปีและเสริมสิริมงคลแก่ชีวิต กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จัดกิจกรรม “อารามอร่าม 11 วัด 1 โบสถ์พราหมณ์1 พิพิธภัณฑ์ ประดับไฟฉลองต้อนรับเทศกาลปีใหม่ 2568 “ ถือเป็นอีกหมุดหมายที่ห้ามพลาดและไม่ได้จัดเป็นประจำ เพราะ
ฉลอง'ต้มยำกุ้ง' กระหึ่มโลก ชวนลองเมนูมรดกวัฒนธรรม
โด่งดังก้องโลกกับเมนูต้มยำกุ้งของดีเมืองไทย กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดงานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ในโอกาสที่ ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) และ “เคบายา” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List
แสดง'โขน-โนรา'สานสัมพันธ์ที่เขมร
25 พ.ย.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายนำมิติทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมมาส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยในภูมิภาคอาเซียนและเวทีนานาชาติ