วันพิพิธภัณฑ์ไทย สร้างคนรุ่นใหม่รักษามรดกชาติ

19 กันยายนของทุกปี เป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ร่วมภับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศจัดวันพิพิธภัณฑ์ไทย ประจำปี 2566 ผ่านกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ที่จะทำให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องน่าสนุกและการเข้าพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ ดึงดูดให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้มรดกชาติผ่านโบราณวัตถุและศิลปะวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ รวมถึงเพิ่มอาหารสมองผ่านเวทีเสวนา  ปีนี้ชูธีม “การจัดการคลังและวัตถุพิพิธภัณฑ์สู่ความยั่งยืน” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานพิธีเปิด

พนมบุตร จันทรโชติ อธิบดี ศก. เยี่ยมชมกิจกรรมวันพิพิธภัณฑ์ไทย

กิจกรรมปีนี้นอกจากจะทำให้ประชาชนรู้จักพิพิธภัณฑ์มากขึ้น ยังมุ่งส่งเสริมความร่วมมือในหมู่นักวิชาชีพพิพิธภัณฑ์ในการพัฒนากิจการพิพิธภัณฑสถานให้สามารถตอบสนองต่อสังคมในมิติของความยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ “การจัดการคลังและวัตถุพิพิธภัณฑ์สู่ความยั่งยืน” โดยแนวคิดหลักที่นำมาสู่หัวข้อจัดกิจกรรมครั้งนี้ มาจากแนวทางการทำงานพิพิธภัณฑ์สากลของสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ หรือ ICOM ที่ได้ประกาศไว้ในวันพิพิธภัณฑ์สากล 18 พฤษภาคม 2566  ที่ผ่านมา ว่า “Museums, Sustainability and well-being: พิพิธภัณฑ์เป็นสถาบันที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการมีสุขภาวะที่ดี พร้อมการพัฒนาสังคมได้อย่างยั่งยืน” ด้วยเล็งเห็นว่า “คลังพิพิธภัณฑ์” และ “วัตถุพิพิธภัณฑ์” เป็นหัวใจสำคัญของพิพิธภัณฑ์ การดูแลบริหารคลังพิพิธภัณฑ์และวัตถุพิพิธภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ ถือได้ว่าเป็นการสร้างความยั่งยืนแก่มรดกทางวัฒนธรรมและมรดกทางธรรมชาติให้คงอยู่สืบไป

นำเสนอความรู้ผ่านวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์

กิจกรรมวันพิพิธภัณฑ์ไทย ปี 2566  “การจัดการคลังและวัตถุพิพิธภัณฑ์สู่ความยั่งยืน” กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19  ก.ย. นี้  ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยได้รับความร่วมมือจากพิพิธภัณฑ์เครือข่าย 20  แห่ง และหน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากร 9 แห่ง มีกิจกรรมน่าสนใจ ประกอบด้วย กิจกรรมการนำเสนอผลงานความก้าวหน้าทางวิชาการพิพิธภัณฑสถานวิทยา โดยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ นำเสนอข้อมูลและมุมมองที่แตกต่างในการทำงานเกี่ยวกับคลังพิพิธภัณฑ์ การนำเทคโนโลยีปัจจุบันเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ การดูแลรักษาวัตถุพิพิธภัณฑ์ และการถอดบทเรียนจากงานทำงานคลังพิพิธภัณฑ์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

การจัดนิทรรศการแสดงผลงานร่วมกันของเครือข่าย ในหัวข้อ “Museum Unveiling: เรื่องลึก เบื้องหลังพิพิธภัณฑ์ไทย” นำเสนอเรื่องราวความรู้ในศาสตร์ด้านต่าง ๆ ผ่านโบราณวัตถุในคลังที่หลายคนอาจยังไม่เคยเห็น นอกจากนี้ มีการจัดกิจกรรม Workshop ด้านการอนุรักษ์วัตถุพิพิธภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน  ภายในงานยังมีงานออกร้านแสดงผลงานหรือสินค้าต่อยอดกิจการพิพิธภัณฑ์

นอกจากนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้เปิดการนำชมพิเศษ “ยลพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน” (Night at the Museum) ภายในหมู่พระวิมาน  2  รอบ เวลา 17.00  น. และ 18.00  น. เปิดลงทะเบียนล่วงหน้าเวลา 16.15 น.  และกิจกรรม “มหาคณปติบูชา” เนื่องในเทศกาลคเณศจตุรถี ร่วมสักการะขอพรพระคเณศ ณ เทวาลัยชั่วคราว ห้องศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท และนำชมรอบพิเศษ “กำเนิดพระคเณศ” วันละ 1 รอบ ในเวลา 18.00  น. เปิดลงทะเบียนล่วงหน้าเวลา 17.30 น. 

สักการะขอพรพระคเณศ ณ เทวาลัยชั่วคราว

ปีนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดงาน ‘มหาคณปติบูชา’ เนื่องในเทศกาล คเณศจตุรถีควบคู่ไปด้วย  เทศกาลคเณศจตุรถี วันคเณศจตุรถี หรือวันเกิดพระพิฆเนศ ปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 19 ก.ย. 2566 – วันพฤหัสบดีที่ 28 ก.ย.2566 ผู้ศรัทธามีความเชื่อว่า ในวันนี้พระพิฆเนศจะมีเมตตาเป็นพิเศษ จะเสด็จลงมาฟังคำอธิษฐานและการสวดภาวนาขอพร ภายในงานมี กาชาปองที่ระลึก นวคเณศ รุ่น 2 โดยศิลปินอาร์ตทอย ซึ่งได้รับความสนใจมาก มีทั้งหมด 29 แบบ แบ่งเป็นชุด A มี 15 แบบ และ ชุด B มี 14 แบบ เปิดวันละ 2 รอบ รอบเช้า เวลา 10.00 น. รอบบ่าย เวลา 14.00 น. หมุนครั้งละ 100 บาท  จำกัด 1 คน 1 หมุน 1 รอบ  รายได้นำไปสนับสนุนอุปกรณ์สร้างสรรค์ผลงาน ศิลปินอาร์ตทอย และสมทบทุนกองทุนโบราณคดี ถ้าสนใจผลงานของศิลปินอาร์ตทอยรุ่นใหม่สามารถเดินเลือกซื้อตามบูธภายในตลาดอาร์ตทอย มีหลายรูปแบบ ราคาแตกต่างกันไป

กาชาปอง ‘นวคเณศ’ ผลงานศิลปินอาร์ตทอย

นอกจากนี้ มีกิจกรรม Talk & Touch พูดคุยเรื่องพระคเณศและเวิร์คช็อปการพิมพ์พระผง”ภัทรบูชา”  ณ บริเวณ ทางออกอาคารมหาสุรสิงหนาท  สัมผัสกรรมวิธีผลิตพระพิมพ์เนื้อผงด้วยส่วนผสมโบราณ  พร้อมลงมือสร้างพระพิมพ์ด้วยตนเอง  วันละ 2 รอบ รอบละ 30 คน เวลา 10.30 น.และ13.30 น.  , เก้าแต้มควิซ ตามล่าหาดอกไม้สำคัญสำหรับบูชาพระคเณศเพื่อรับรางวัล , DIY สายมู ทำเครื่องประดับมงคลด้วยตนเอง ตลาดอาร์ตทอยนี้เป็นความร่วมมือของพิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร กับกลุ่มศิลปินอาร์ตทอยศาลาอันเต 

คนรักพิพิธภัณฑ์และผู้สนใจเรียนรู้ประวัติศาสตร์สามารถเข้าร่วมกิจกรรมเนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทย 2566 ตั้งแต่เวลา 09.30 -19.30 น. . ณ พิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร  วันนี้วันสุดท้ายแล้ว ห้ามพลาด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วธ.ตั้งศูนย์ประสานงานโบราณสถานน้ำท่วม

24 ส.ค. 2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ติดตามผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยของโบราณสถานในพื้นที่ภาคเหนืออย่างใกล้ชิด ในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้รา

น้ำท่วมโบราณสถานเมืองน่าน

23 ส.ค.2567 - นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ติดตามผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยของโบราณสถานในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดน่าน เนื่องจากเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้มีน้ำไหลเข้าท่วมหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอเมือง ซึ่งมีวัดและโบราณสถานสำคัญหลายแห่ง เบื้องต้นพบว่า น้ำได้ไหลท่วมพื้นที่โบราณสถานวัดภูมินทร์

ทำแผนรับมือจุดเสี่ยงน้ำท่วมอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา

11 ส.ค.2567 - น.ส.สุดาวรรณ หวังศุกภิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ตนพร้อมด้วยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัด วธ. นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามแผนบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยยังพื้นที่โบราณสถานริมแม่น้ำ

ช่างไทยสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.7

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 องค์ใหม่  ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขอความร่วมมือกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร โดยสำนักช่างสิบหมู่ รับผิดชอบจัดสร้าง  โดยจะมีขนาด 4 เท่าของพระองค์จริง

วธ.จัดงาน'แพรพัสตรา บรมราชินีนาถ' เฉลิมพระเกียรติ พระพันปีหลวงฯ

1 ส.ค. 2567 ที่หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดแถลงข่าวงานแพรพัสตรา บรมราชินีนาถ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2567

'ภูพระบาท'คุณค่าโดดเด่น ไทยลุ้นมรดกโลก

เวลานี้คนไทยร่วมส่งแรงใจสนับสนุนการขึ้นบัญชีอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่ล่าสุดของประเทศไทยต่อจากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ วาระการพิจารณาภูพระบาทคาดว่าจะเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่  46