“ เห็นสดชื่นสถาน ดีใจ เป็นความฝัน ตอนที่ผมนอนอยู่ราชดำเนินเป็นคนไร้บ้าน อยากให้คนไร้บ้านมีห้องน้ำ มีที่อาบน้ำ ไว้ถ่ายหนักถ่ายเบาครับ เพราะตรงที่เรานอนเป็นห้องน้ำที่ต้องเสียเงิน ถ้าเราไม่มีเงินก็เข้าไม่ได้ เราต้องวิ่งไปหาที่สาธารณะที่จะเข้า ตอนนี้ความฝันเป็นจริง เป็นความฝันของคนไร้บ้านทุกคน เป็นไปได้อยากให้มีหลายจุด จะได้ไม่แย่งกัน ถ้าปวดท้องหนักจัดๆ ท้องเสีย ไปไหนไม่ได้ นั่งอยู่ตรงนั้นเลย คนผ่านไปมาก็จะมองว่า เราเป็นคนเสียสติ ไม่ยอมไปเข้าห้องน้ำ แต่แท้จริงแล้วเค้าไม่มีเงิน “ ลุงเต้ย – อำนาจ บุลประพันธ์ อดีตคนไร้บ้าน เล่าประสบการณ์ไร้บ้านบนวงเสวนาในวันเปิดตัว”สดชื่นสถาน” สถานที่พัฒนาคุณภาพชีวิจของกลุ่มคนไร้บ้านอยู่ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ฝั่งถนนพระอาทิตย์ เขตพระนคร มีบริการความจำเป็นต่างๆ ที่สำคัญต่อคุณภาพการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งอาบน้ำ ซักอบผ้า เสื้อผ้าใหม่ สุขภาพ อาหาร จนถึงงานสร้างรายได้
ลุงเต้ย – อำนาจ บุลประพันธ์ อดีตคนไร้บ้าน
Fresh Station สดชื่นสถาน มีกรุงเทพมหานครเป็นโต้โผใหญ่จากนโยบายแก้ปัญหาคนไร้บ้าน ส่วนกรมทางหลวงชนบทเป็นเจ้าของพื้นที่ใต้สะพานพระปิ่นเกล้าที่เอื้อเฟื้อพื้นที่นี้ให้เกิดขึ้นจริง ส่วนบริษัทบุญถาวร เข้ามาจัดสร้างห้องน้ำใหม่ ขณะที่ OTTERI หนุนบริการรถซักอบผ้าให้คนไร้บ้านวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 – 15.00 น.
สำหรับคนไร้บ้านแล้ว การอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายรวมไปถึงซักเสื้อผ้าเป็นเรื่องไม่ง่าย ลุงเต้ย บอกว่า สมัยก่อนอาบน้ำและซักผ้าที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาสัปดาห์ละครั้ง เราจะไปหางาน ต้องนั่งรถเมล์ไป กลิ่นตัวเราออก ผู้โดยสารคนอื่นมานั่งข้างๆ ก็ลุกหนีไป เรารู้สึกว่า เกรงใจเขา ต้องหารถว่างนั่ง ความร่วมมือระหว่าง กทม. มูลนิธิกระจกเงา และนักธุรกิจ อยากขอบคุณแทนกลุ่มคนไร้บ้าน พวกเขายากลำบากจากการเข้าไม่ถึงห้องน้ำ ห้องส้วม ถ่ายในที่สาธารณะก็โดนว่า ไม่อาบน้ำขึ้นรถเมล์ก็มองว่าเป็นมนุษย์ตัวเหม็น เพราะบางคนมีเสื้อผ้าแค่ 2 ชุด ถ้าซักหมดก็ไม่มีใส่ ต้องซักทีละชุด
คนไร้บ้านนำเสื้อผ้ามาซักที่รถซักอบผ้าเคลื่อนที่
สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนนและจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า จากการเฝ้าสังเกตุพื้นที่นี้เดิม คนไร้บ้านลงมาอาบน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมนอนที่พาหุรัด เข้าถึงห้องน้ำที่ดิโอสยามเปิด 24 ชม. หลังจากประตูห้องน้ำปิด คนไร้บ้านหาที่ลงไม่ได้ ฉี่เรี่ยราด หรือไปเข้าในสวนสาธารณะ มีปัญหาถูกไล่ออกมาบ้าง ปี 57 มีการจัดระเบียบพื้นที่บริเวณนั้น เราคิดว่าการเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ เป็นเรื่องปกติสำหรับเรามากๆ แต่ว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่เข้าไม่ถึงห้องน้ำ คนไร้บ้านหลายคนไม่รู้สึกดีที่ต้องถอดกางเกงถ่ายในที่สาธารณะ ที่เปิดโล่ง เรานำมาคิดจะให้บริการพื้นฐานเหล่านี้จากคนไร้บ้านอย่างไรดี เริ่มจาก OTTERI หนุนซักเสื้อผ้าให้สะอาด เราหาแนวร่วมบุญถาวรช่วยสนับสนุนเรื่องห้องน้ำ คุยกับ กทม.ที่มีนโยบายแก้ปัญหาคนไร้บ้านอยู่แล้ว นำมาสู่การออกแบบและติดตั้งระบบ
“ สดชื่นสถานไม่ใช่แค่การได้ชำระล้างร่างกาย ได้ทำความสะอาดตัวเอง นำไปสู่ชีวิตประจำวันของคนไร้บ้านมีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงเราพยายามจะทำให้ระบบสวัสดิการพื้นฐานนี้เปลี่ยนผ่านคนไร้บ้านไปสู่คนมีบ้าน หลุดจากวงจรคนไร้บ้านได้ในที่สุด นอกจากสดชื่นสถาน อยากเห็นห้องน้ำในจุดที่คนไร้บ้านอยู่จริง เรื่องความไม่สะอาดจะหายไป ปรับปรุงคุณภาพชีวิต “ สิทธิพล ย้ำเป้าหมาย
ความร่วมไม้ร่วมมือช่วยคนไร้บ้านเข้าถึงอาบน้ำ-ซักผ้า
สิทธิศักดิ์ ทยานุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญถาวร รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บอกว่า ห้องน้ำที่สดชื่นสถานเป็นการรีโนเวทจากห้องน้ำที่ถูกทิ้งร้าง ก่อนหน้านี้ เคยช่วยเหลือโรงเรียน โรงพยาบาล และวัด แต่คนไร้บ้านอาจจะต้องมีเจ้าภาพ เพราะเป็นพื้นที่สาธารณะ ต้องได้รับการยิมยอมจากเจ้าของสถานที่ สดชื่นสถานไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้พร้อมสนับสนุนการสร้างห้องน้ำในพื้นที่อื่นๆ เพื่อคนไร้บ้าน จะได้มีโอกาสได้ใช้ชีวิตอย่างปกติ และทำให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ความร่วมมือระยะต่อไปบุญถาวรสามารถจัดอบรมทักษะสายงานช่างพื้นฐานให้กับคนไร้บ้านได้ด้วย
ด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม กล่าวว่า อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน คนไร้บ้านถือว่าเป็นประชากรกรุงเทพฯ เป็นจังหวะหนึ่งของชีวิต หากมีคนช่วยโอบกอด ดูแล ให้โอกาสจะหลุดจากการไร้บ้าน เราจะทิ้งให้เขาลำบากไม่ได้ เป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่หากปล่อยให้เขาอยู่แบบไร้บ้านต่อไปจะยิ่งลำบากขึ้น และจะยิ่งออกจากวงจรยาก เพราะฉะนั้นเรื่องง่ายๆ เช่น มีห้องน้ำ ที่ซักผ้า อาหาร สิทธิประโยชน์ การดูแลรักษา การมีบัตรประชาชน สิ่งเหล่านี้จะทำให้หลุดจากวงจรได้ รวมทั้งต้องให้คนไร้บ้านมีงานทำ มีเงินสามารถไปเช่าบ้าน ไปตั้งชีวิตได้ นอกจากนี้ กทม.เตรียมปรับปรุงตึกเก่าแถวสะพานวันชาติเป็นศูนย์พักพิงคนไร้บ้านถาวร คาดว่าแล้วเสร็จต้นปีหน้า หรืออยากกลับบ้านศูนย์นี้จะจัดส่งกลับภูมิลำเนา ส่วนห้องเช่าราคาถูกเป็นแนวคิดจ่ายคนละครึ่ง ขณะนี้ทำลิสต์ห้องเช่าอยู่
บริการตัดผมให้คนไร้บ้าน รักษาสุขอนามัย
ครบ 1 ปีการจับมือแก้ปัญหาคนไร้บ้านของ กทม.กับมูลนิธิกระจกเงา ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า คนไร้บ้านอาจจะเป็นความบกพร่องของระบบสวัสดิการและระบบเศรษฐกิจ การมีจุดฟื้นฟู จุดสวัสดิการสำคัญ มี 2 จุด คือ สดชื่นสถาน ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า และตรอกสาเก หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการจ้างงานคนไร้บ้านแล้ว 170 คน ฝากถึงผู้บริจาคอาหารให้บริจาคที่ 2 จุดนี้เท่านั้น สดชื่นสถาน บริจาคอาหารได้ตั้งแต่เวลา 8.00- 17.00 น. ส่วนตรอกสาเก ตั้งแต่เวลา 17.00-21.00 น. รวมถึงอยากให้สนับสนุนการจ้างงานคนไร้บ้านได้มีอาชีพผ่านโครงการจ้างวานข้า
“ การพัฒนาคุณภาพชีวิตต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน สำหรับสดชื่นสถานเป็นสถานที่สำหรับปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้คนไร้บ้านเข้าถึงความสะอาดและการรักษาสุขอนามัยได้โดยง่าย สามารถเข้าถึงห้องน้ำ ห้องสุขา ได้อย่างปลอดภัย ถูกสุขภาวะ ลดผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาว “ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
ได้เสื้อผ้าใหม่ไว้เปลี่ยนในชีวิตประจำวัน
สำหรับห้องน้ำสาธารณะในพื้นที่สดชื่นสถาน แบ่งเป็นห้องสุขาแยกชาย-หญิง อย่างละ 2 ห้อง และห้องอาบน้ำแยกชาย-หญิงอย่างละ2 ห้อง รวม 8 ห้อง บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งถนนพระอาทิตย์ คนไร้บ้านทั้งชายและหญิงมาอาบน้ำ ส่วนรถซักอบผ้าเคลื่อนที่ในพื้นที่ก็ได้รับความนิยมในกลุ่มคนไร้บ้าน นำเสื้อผ้ามาซักเพื่อไว้ผลัดเปลี่ยนในแต่ละวัน
นอกจากเปิดสดชื่นสถานอย่างเป็นทางการ งานวันนั้นจัดกิจกรรมแฟชั่นสัญจร จัดห้องเสื้อผ้าให้คนไร้บ้านได้เลือกสรรเสื้อผ้าคุณภาพดีที่มาแจกฟรีกว่า 400 ตัว รวมทั้งรองเท้าและเครื่องประดับต่างๆ ให้คนไร้บ้านเลือกหยิบติดมือกลับบ้านได้ อีกทั้งมีบริการตัดผมให้คนไร้บ้าน บูธอาหาร Food Truck แจกอาหารให้คนไร้บ้าน และบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ ที่สำคัญมีบูธรับสมัครคนไร้บ้านเข้าทำงาน ซึ่งมีกลุ่มคนไร้บ้านมากกว่า 50 คน ร่วมกิจกรรมใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนครด้วยรอยยิ้มที่สดชื่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เช็กเลย! ค่าฝุ่น PM2.5 รายพื้นที่ทั่วไทย
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้
คน กทม. เกินครึ่งไม่เห็นด้วยมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด
นย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจ ของประชาชน เรื่อง “สองมาตรการใหม่ คน กทม. จะเอาไง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานคร หากมีการใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บขยะและค่าธรรมเนียมรถติด
เช็กเลย! ค่าฝุ่น PM2.5 ทั่วประเทศ 'เหนือ-กทม.' ยังอ่วม
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันที่ 6 ธันวาคม 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้
67 พื้นที่ กทม. พบค่าฝุ่นสูงกระทบสุขภาพ
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร