ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันทั่วโลกต่างต้องเผชิญหน้ากับภัยธรรมชาติที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหา น้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุ ดินถล่ม ไฟป่า ปัจจัยหลักมาจาก การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่โลกร้อนขึ้นทุกวัน จนเมื่อกลางปีที่ผ่านมา สหประชาชาติ (UN) ต้องออกมาประกาศว่าโลกเข้าสู่ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ซึ่งเป็นระดับที่นักหน่วงกว่าภาวะโลกร้อน และเพื่อให้ทั่วโลกได้ตื่นตัวและหันมาร่วมกันดูแลโลกใบนี้ เพราะท่าปัญหาไม่สิ้นสุดลงง่าย ๆ หลายคนคงอยากรู้ว่า “คนรุ่นใหม่” ในฐานะรุ่นต่อไปที่จะเป็นผู้ใช้และรักษาโลกใบนี้ มีแนวคิดและแนวทางกันอย่างไร
ในเวทีเสวนา หัวข้อ “พลัง Youth...หยุดโลกร้อน” ภายในงาน “30 ปี TEI ก้าวไปกับภาคี สู่สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งทิศทาง โอกาส บทบาทในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศกับทุกภาคส่วน โดยในส่วนของเวทีเสวนาดังกล่าว ได้มีการเปิดพื้นที่ให้ผู้ใหญ่จากภาครัฐ ภาคเอกชน และเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้มาร่วมกันแบ่งไอเดีย ความรู้ ประสบการณ์ พร้อมส่งต่อนโยบายการดำเนินงานการขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมสู่รุ่นต่อ ๆ ไป
นายวรพล จันทร์งาม รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวบรรยายในช่วงเริ่มต้นของงานเสวนาว่า กรมฯ ให้ความสำคัญกับเยาวชนเป็นอย่างมาก ในฐานะของเครือข่ายความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อม ร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืน โดยได้มีการส่งเสริมเยาวชนในการปรับตัวให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 รวมถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี ค.ศ.2065 ตลอดจนการเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน
“ประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่เยาวชนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ว่าโลกเราจะร้อนไปถึงไหน จะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญมาก และน่ายินดีที่เยาวชนไทยของเรามีความตระหนักและอยากจะช่วยลดปัญหาโลกร้อนให้น้อยลง จากการที่กรมฯ ได้เข้าไปสนับสนุนกิจกรรมของเยาวชนผ่านสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เราได้ผลตอบรับที่ดี ทั้งจากนักเรียน นักศึกษา คณะครูอาจารย์ ซึ่งเราตั้งใจที่จะมอบองค์ความรู้เพื่อเป็นแนวทางให้กับเยาวชน รวมทั้งส่งเสริมผ่านกิจกรรมดี ๆ ต่อไป อยากฝากถึงเยาวชนทุกคนว่า คุณคือพลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อเราทุกคนได้ร่วมมือกันทุกภาคส่วน จะช่วยให้ประเทศไทยได้ยกระดับการแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
ในเวทีเสวนาฯ มีหนึ่งสถิติที่น่าสนใจซึ่งเสนอโดย ดร.จงรักษ์ ฐินะกุล ผู้เชี่ยวชาญฯ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ที่ได้ร่วมกับนิด้าโพลในการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวนกว่า 2,000 คน ทั่วประเทศ ซึ่งมีเยาวชนไทยอายุระหว่าง 18-25 ปี อยู่ในกลุ่มตัวอย่างด้วย เกี่ยวกับความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชน โดยใช้ดัชนีความตระหนักด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ: CCAI เป็นเกณฑ์วัด ซึ่งจากคะแนนเต็ม 1.0 เด็กไทยทำได้ที่ 0.66 นับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
จากการพูดคุยกับหนึ่งในวิทยากรเลือดใหม่ นางสาวศิรภัสสร ปราชญ์บัณฑิต หรือ น้องแบงค์พัน ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตัวแทนทีมนักศึกษาชมรมด้านสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับมุมมองและความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม พูดถึงความสนใจในปัญหาสิ่งแวดล้อมว่า เริ่มสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมจริงจัง จากตอนไปเที่ยวที่ภูกระดึงเมื่อสองปีที่แล้ว และเห็นเศษขยะเต็มไปหมด ทำให้รู้สึกว่า เราไปให้ธรรมชาติบำบัดตัวเรา แต่เรากลับทำลายธรรมชาติ หลังจากนั้นก็เข้าร่วมชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัย ทำให้ได้รู้จักกับโครงการ Green Youth เลยขอสมัครเป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้ โดย Green Youth เป็นกิจกรรมที่ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เข้ามาส่งเสริม ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีแนวทางของตัวเอง ส่วนปีนี้เป็นกิจกรรม Say No Thank You Season 5 ซึ่งออกแบบให้เป็น Mission แบบสุ่ม ในหัวข้อที่เกี่ยวกับการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน ผ่าน LINE Official ซึ่งสะดวกมากกับการดำเนินโครงการในช่วงโควิด-19 และทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ง่าย
เมื่อถามถึงปัญหาโลกร้อน น้อง แบงก์พัน กล่าวอย่างจริงจังว่า หนูมองว่าปัญหาโลกร้อนในตอนนี้คือวิกฤติ อากาศร้อนขึ้นทุกปี และในอนาคตยังไม่รู้ว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นไปถึงระดับไหน และจะมีผลกระทบอะไรตามมาอีกบ้าง เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกคนต้องหาทางออกร่วมกัน จริง ๆ แล้วเรื่อง Climate Change มีส่วนด้วย เพราะรูปแบบของอากาศมันเปลี่ยน ร้อนมากขึ้น นานขึ้น ก็จะเกิดไฟป่า ซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี เกิดปัญหาฝุ่นควันตามมาเป็นลูกโซ่ ถ้า Climate Change ยังรุนแรงขึ้นกว่านี้ ทำให้เกิดเอลนีโญ และ ลานีญา ไปเรื่อย ๆ ก็จะส่งผลต่อวิถีชีวิตของเราไปด้วย
"ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน เริ่มต้นที่ภาครัฐ อยากให้มีนโยบายมาใช้กับภาคเอกชนและประชาชนให้มากขึ้น หรือในด้านการศึกษา อยากให้สอดแทรกเรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เด็กเล็ก ในส่วนภาคเอกชน ก็อยากให้ดำเนินธุรกิจโดยใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ภาครัฐออกมากำกับดูแล สุดท้ายก็ประชาชน อยากให้เริ่มต้นที่ตัวเองก่อน ลด ละ เลิก ตามกำลังของตนเอง เพราะเราทุกคนคือเจ้าของโลกใบนี้”น้องแบงก์พันให้ความเห็น
มาต่อที่หนุ่มน้อยจากแดนเหนือ นายปาณสิน เหมือนแสง หรือ น้องนิว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวชิรวิทย์ เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ พ่วงตำแหน่งแกนนำด้านสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน และเป็นผู้คว้ารางวัลชนะเลิศจากการแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “คนพันธุ์ใหม่คิดอย่างไรกับปัญหาโลกร้อน จาก Single Use Plastic”ว่า ได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ก็เพราะทราบข่าวจากครูที่มาแนะนำ และส่วนตัวก็สนใจสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วเลยชวนเพื่อน ๆ มาร่วม ส่วนตัวเป็นแกนนำด้านสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มสิ่งแวดล้อมโรงเรียนวชิรวิทย์ เชียงใหม่” ก็จะมีการนำเสนอเรื่องประเด็นสิ่งแวดล้อมให้กับเพื่อน ๆ ในโรงเรียนทราบ โดยในปีที่ผ่านมา กลุ่มของเราเน้นไปที่ปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 มีการทำกิจกรรมออกมา เช่น สร้างสื่อสู้ฝุ่น ธงสีเตือนภัยฝุ่น เน้นการป้องกันตนเองของนักเรียนเป็นหลักครับ เพราะพวกเราอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนจะมีไฟป่า และการเผาป่าเพื่อเก็บของป่ากัน ทำให้เกิดฝุ่นเยอะ
น้องนิว ยังได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องของการตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ส่วนตัวมองว่าเพื่อน ๆ ในโรงเรียนและที่อยู่ในวัยเดียวกัน สนใจและให้ความร่วมมือในเรื่องของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างน้อย ๆ เขารู้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมมีอะไรบ้าง เขาจะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร และทำไมเราต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาตรงนี้ เราเหลือเวลาอีกไม่มากแล้ว ก่อนที่ปัญหาเหล่านี้จะลุกลามกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่แก้ไขไม่ได้ อยากผลักดันให้ภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังและเร่งด่วน
ปิดท้ายที่ นางสาวมณฑิชา ยศเฟื่องขจร หรือ น้องโบนัส นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร จ.ระยอง ผู้คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จากการแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “คนพันธุ์ใหม่จะอยู่อย่างไร เมื่อโลกร้อนขึ้น”
น้องโบนัสบอกว่า ทราบข่าวการจัดกิจกรรมแสดงความคิดเห็นจากคุณครู อีกอย่างคือหนูอยู่ในกลุ่มแกนนำสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนด้วย ก็เลยสนใจประเด็นนี้เป็นพิเศษ ซึ่งผลงานหนูที่ส่งเข้ามาร่วมเป็นการแชร์ไอเดียจากโจทย์ที่ว่า “คนพันธุ์ใหม่ จะอยู่อย่างไร เมื่อโลกร้อนขึ้น” คำตอบของหนู คือ ควรแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้ กับบุคคลทั่วไป ในส่วนของกลุ่มแรก หนูอยากให้คนกลุ่มนี้พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถลดโลกร้อนได้มากขึ้น เช่น Idling Stop System หรือระบบตัดการจ่ายน้ำมันเมื่อรถหยุดนิ่งเป็นเวลานาน ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยควัน และในส่วนของบุคคลทั่วไป ก็อยากให้เริ่มต้นที่ตนเอง แยกขวด แกะฉลาก แยกขยะอย่างถูกวิธี เป็นต้น
ท่ามกลางอุณหภูมิของโลกที่ยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ และอาจจะแก้ไขไม่ได้ในเร็ววัน อย่างน้อยในวันนี้ ก็ได้เห็นทัศนคติอันมุ่งมั่นของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนโลกใบนี้ต่อไป ด้วยความหวังและพลังแห่งการตระหนักรู้ในเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดร.ธรณ์ ชี้โลกร้อนฆ่าพะยูน ตายเฉลี่ยเดือนละ 3.75 ตัว แนะไทยควรพูดใน COP29
ในอดีตพะยูนตายเฉลี่ยเดือนละ 1 ตัว ปัจจุบัน (2566-67) พะยูนตายเฉลี่ยเดือนละ 3.75 ตัว
'ดร.ธรณ์' ชี้มหาพายุเฮอริเคน 'มินตัน' สภาพอากาศสุดขั้ว คนอเมริกานับล้านต้องอพยพหนี
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า
'โลกร้อน-โลกเดือด'! กระทบ 'พะยูน' เข้าใกล้จุดสูญพันธุ์
เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า พะยูนเป็นสัตว์ทะเลหายาก มีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ แต่สถานการณ์ปัจจุบันยิ่งทำให้พะยูน ก้าวข้าม
พายุเข้ามาที่ชายฝั่งเวียดนาม 'ดร.ธรณ์' แนะหน่วยงานในพื้นที่เตรียมตัวแจ้งเตือนหากฉุกเฉิน
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า
ดร.ธรณ์ เผยเหตุพายุธรรมดา กลายเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น 'ยางิ' ในเวลาไม่ถึง 2 วัน
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ระบุข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า
กรมลดโลกร้อน หนุน 8 แนวทางเสริมความเข้มแข็งเครือข่ายฯ เน้น “รุก รับ ปรับตัว รวมพลังสามัคคี ลดโลกร้อน”
กรมลดโลกร้อน ทำงานเชิงรุกเสริมแกร่งเครือข่ายภาคประชาชน และภาคีความร่วมมือ จัดประชุมใหญ่เสริมความเข้มแข็ง เน้น“รุก รับ ปรับตัว รวมพลังสามัคคี ลดโลกร้อน”