‘น้ำมันรั่วชลบุรี-ทะเลสีเขียว’ ปลุกแก้ที่ต้นเหตุ

จากเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหล บริเวณตอนใต้ของเกาะสีชัง จ.ชลบุรี กลางดึกวันที่ 3 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลาย ไม่พบคราบน้ำมันในทะเล และไม่พบการเคลื่อนตัวของคราบน้ำมันบริเวณเกาะสีชัง ตลอดจนบริเวณชายฝั่งตั้งแต่หาดบางพระ อ่าวอุดม และหาดวอนนภา  จ.ชลบุรี ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ตลอดจนทีมนักวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีมของคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เฝ้าติดตามสถานการณ์เพื่อป้องกันผลกระทบต่อระบบนิเวศและท้องทะเลในพื้นที่อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง  โดยเฉพาะแนวปะการังตามเส้นทางที่คราบน้ำมันเคลื่อนผ่าน เพราะเกาะสีชังมีประการังกระจายตามจุดต่างๆ

นอกจากปัญหาอุบัติภัยสารเคมีที่รั่วไหลลงทะเลชลบุรีแล้ว  เวลานี้ทะเลบางแสนและศรีราชายังเผชิญกับปรากฎการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวปี๋ หรือ “แพลงก์ตอนบูม”   ที่เกิดถี่ขึ้น  ค่าออกซิเจนที่ต่ำมาก  ส่งผลให้สัตว์น้ำเกยตื้นตาย กำลังเป็นภัยคุกคามทั้งการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และภาพลักษณ์การท่องเที่ยว เพราะบางแสนและพัทยาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก 

จากสถานการณ์ที่เจอ ผลกระทบซับซ้อน นำมาสู่การตั้งคำถามถึงมาตรการป้องกันและการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันความเดือดร้อนและรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลไม่ให้เสื่อมโทรมไปมากกว่าที่เป็นอยู่

ศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล  คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ  กล่าวว่า จุฬาฯ มีสถานีวิจัยสัตว์ทะเลตั้งอยู่บนเกาะสีชัง และมีงานวิจัยเกี่ยวกับการปลูกปะการังที่เกาะค้างคาวด้วย  จึงต้องตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดว่าการรั่วไหลของน้ำมันครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลบริเวณนั้นอย่างไร เพราะทั้งเกาะค้างคาวและเกาะสีชังห่างจากบริเวณที่น้ำมันรั่วประมาณ 1-2 กิโลเมตรเท่านั้น  ทีมนักวิจัยจุฬาฯ ได้เก็บตัวอย่างและสำรวจอย่างละเอียด โดยใช้เรือจุฬาฯ วิจัย ออกไปเก็บตัวอย่างน้ำทะเล ดินและตะกอนที่อยู่บริเวณรอบๆ กลุ่มคราบน้ำมันจะมาถึง  เพื่อนำกลับมาวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการจุฬาฯ ให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุด เพื่อดูผลกระทบของน้ำมันที่รั่วและสารเคมีขจัดคราบน้ำมันต่อสิ่งมีชีวิตและบอกถึงผลกระทบภายในของสัตว์ทะเล  รวมทั้งปลาต่างๆ ในบริเวณนั้นได้ นอกจากนี้ ได้วางแผนการศึกษาผลกระทบการรั่วไหลน้ำมันในระยะยาว โดยจะลงไปเก็บตัวอย่างมาศึกษาเป็นระยะๆ  จะเก็บตัวอย่างอีกครั้งอีกสองสัปดาห์ถัดไป   เพื่อนำเสนอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีหน้าที่รับผิดชอบเข้ามาร่วมมือกันป้องกันแก้ไขระยะยาว เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลของเราให้มากที่สุด  

เหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งนี้ไม่ใช่บทเรียนครั้งใหม่ของไทย ศ.ดร.วรณพ ระบุเคยน้ำมันรั่วที่ระยองแล้ว เมื่อกรกฎาคม พ.ศ.2556 และมกราคม  พ.ศ.2565 ซึ่งจุฬาฯ ได้ประเมินถึงการรั่วไหลของน้ำมันดิบลงสู่สิ่งแวดล้อม โดยเข้าไปศึกษาปริมาณโลหะหนัก ปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ผลของน้ำมันและสารเคมีขจัดคราบน้ำมันต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล รวมทั้งการสะสมและส่งผ่านสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในห่วงโซ่อาหารทะเล   

จากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า น้ำมันมีผลกระทบต่อการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ของปะการัง ทำให้เซลล์สืบพันธุ์ที่ปล่อยออกแตก ไม่สามารถผสมกันได้  และมาชัดเจนอีกครั้งปี 65  เพราะมีการศึกษาด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ พบว่า น้ำมันส่งผลต่อการคลาดเคลื่อนเซลล์สืบพันธุ์ปะการัง  ซึ่งปะการังเป็นระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญ  ส่วนสัตว์น้ำที่เคลื่อนที่ได้ เช่น ปลา ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำมัน ปัยหาจะเกิดกับสัตว์ทะเลหน้าดินที่กรองอาหารจากมวลน้ำพวกหอยต่างๆ ปัจจุบันก็ยังดำเนินการเก็บตัวอย่างที่ จ.ระยอง มาศึกษาเป็นระยะๆ

อย่างไรก็ตาม ผอ.สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำ แสดงทัศนะต่อเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งนี้ด้วยว่า ไม่ได้แตกต่างจากเหตุการณ์สองครั้งที่ผ่านมา เกิดบริเวณทุ่นรับน้ำมันและกระบวนการรั่วไหลมาจากท่อส่งน้ำมันดิบเหมือนกัน  ควรให้ความสำคัญกับการป้องกันมากกว่าแก้ปัญหาภายหลัง ด้วยสภาพทะเลของบ้านเรา การเปลี่ยนแปลงสภาพน้ำ อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ล้วนมีผลต่ออุปกรณ์และท่อส่งน้ำมัน ต้องมองไปไกลกว่าอายุการใช้งาน อะไรที่สุ่มเสี่ยงต่อความเสียหายส่งผลกระทบในภาพกว้างต้องยกระดับมาตรการป้องกันอุบัติภัยทางทะเลเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำซาก

สำหรับปัญหาแพลงก์ตอนบลูมทะเลบางแสน นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลจุฬาฯ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกับจุฬาฯ ทช.และ คพ. ติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลแพลงก์ตอนบูมเกิดขึ้นทุกปี มากน้อยต่างกัน แต่ปีนี้เกิดรุนแรงและมีความต่อเนื่อง แล้วมาประดังกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วลงทะเล ก็จึงกระทบในหลายมิติ น้ำจะเลิกเขียวเมื่อไหร่ ขึ้นกับการอ่อนกำลังลงของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

“ ปรากฎการณ์น้ำทะเลเขียวเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ฝนที่ตกชุกส่งผลให้ธาตุอาหารพัดพาจากแม่น้ำลงทะเลมากขึ้น  การไหลเวียนของกระแสน้ำ กระแสน้ำจากข้างล่างพาสารอาหารจากท้องน้ำสู่ผิวน้ำก็ทำให้เกิดแพลงก์ตอนเพิ่มจำนวนมากขึ้น รวมถึงลมมรสุมที่ขึ้นๆ ลงๆ พัดน้ำเขียวมาสู่ชายหาด  นอกจากนี้ ผมมองปรากฎการณ์เอลณีโญ ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน จะต้องติดตามต่อไป  แต่ภาพน้ำทะเลสีเขียวจะเตือนให้คนตระหนักถึงระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลต่อวิถีชีวิต สัตว์น้ำ  และธุรกิจท่องเที่ยว จะร่วมกันแก้ปัญหาอย่างไร “

 นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลคนเดิมบอกอีกว่า จ.ชลบุรี ถือเป็นพื้นที่หน้าด่านที่มีความสำคัญ การแก้ปัญหาอย่างจริงจังต้องช่วยกันเก็บข้อมูลและบูรณาการทุกส่วนข้อมูล ต้องมานั่งคุยกัน นอกจากปรากฎการณ์ธรรมชาติแล้ว ยังมีปัจจัยเร่งอะไรทำให้น้ำเขียว ภาคอุตสาหกรรม การปล่อยน้ำเสียที่มีธาตุอาหารของแพลงก์ตอน แม้จะเกิดปรากฎการณ์ในพื้นที่ จ.ชลบุรี แต่ชายฝั่งชลบุรีอยู่ในอ่าวไทย ซึ่งจ.สมุทรสาคร และจ.สมุทรสงคราม  มีชุมชน มีอุตสาหกรรม กระแสลมพัดพาธาตุอาหารมา ทำให้เกิดการสะพรั่งได้อย่างรวดเร็ว เพื่อนบ้านเองก็ต้องร่วมเข้ามาแก้ปัญหา

“ ขณะที่พื้นที่ชลบุรีเองก็มีอุตสาหกรรมเล็กใหญ่ เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม ยิ่งกว่านั้นเป็นพื้นที่ EEC เพื่อเกื้อกูลระบบเศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติ จะไม่ดูแลไม่ปกป้องทะเลไม่ได้ รวมถึงมีมาตรการช่วยลดผลกระทบหรือแนวทางปรับตัวให้ชาวประมง ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งอย่างไร เพื่อให้พวกเขามีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว  การแก้ปัญหาต้องมีหัวโต๊ะที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง   “ ศ.ดร.วรณพ หวังจะเห็นการแก้ปัญหาทะเลอย่างจริงจัง เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' ชี้ 'โควิด' ระบาดหนัก แต่รุนแรงลดลง เข้าใกล้ไข้หวัดใหญ่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19

เปิดผลวิจัยอเมริกา 'ออกกำลังกาย' เวลาไหนดีกว่ากัน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ประเด็นร้อน.. ออกกำลังเช้า หรือบ่าย-เย็น ดีกว่ากัน

จุฬาฯ ผงาดเจ้าภาพครั้งแรกของเวทีระดับโลก ‘Hult Prize 2024 Global Summits Bangkok’

การแข่งขันระดับโลกในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโค้งสุดท้ายในระดับนานาชาติ Bangkok” ระหว่างวันที่ 21 – 23 มิถุนายน 2567

'หมอยง' ชวนฟังบรรยาย 20 มิ.ย. รับมือ RSV ฤดูกาลนี้

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า RSV กำลังจะระบาด