ในคำว่า”น้ำผึ้ง”คนส่วนใหญ่มักรู้จักแต่”น้ำผึ้ง”ที่มาจากตัวผึ้ง ทั้งที่เป็นผึ้งเลี้ยงและผึ้งตามธรรมชาติ แต่น้อยคนที่จะรู้จัก”น้ำผึ้งชันโรง”ซึ่งในแง่คุณประโยชน์ต่อสุขภาพถือว่า น้ำผึ้งชันโรง มีความเหนือกว่าน้ำผึ้งทั่วไป 3-5เท่า แม้แต่น้ำผึ้งป่าก็ยังมีคุณสมบัติไม่เท่า น้ำผึ้งชันโรง แต่ทำไมน้ำผึ้งชันโรง ยังไม่แพร่หลาย เท่ากับน้ำผึ้งทั่วไป ทั้งนี้ก็เป็นเพราะใช่ว่าทุกแห่งจะสามารถเลี้ยงตัวชันโรงเพื่อสร้างน้ำผึ้งได้
ในประเทศไทยแถบจังหวัดทางภาคใต้ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่ามีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเลี้ยงชันโรงมาก ปัจจัยหลักมาจากสภาพอากาศที่ไม่ร้อนเกินไป เมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ เเพราะจะมีฝนตกเกือบตลอดทั้งปี เนื่องจาก ถ้าอากาศร้อนเกินไปตัวชันโรงจะไม่สามารถดำรงชีวิตได้ นอกจากนี้ ภาคใต้ยังมีพืชพรรณมากมายให้ชันโรงดูดกินเกสรผลิตน้ำหวานได้อีกด้วย
จากปัจจัยดังกล่าว จึงทำให้หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท) จึงมองเห็นโอกาสที่จะพัฒนายกระดับห่วงโซ่มูลค่าของเกษตรกรกลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรง และวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งชันโรงจ.ยะลาและจ.นราธิวาส โดยจับมือร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา และสภาเกษตรกรกร.ยะลา นำชุดความรู้ที่ได้จากงานวิจัย ของบพท.มาพัฒนาการเลี้ยงผึ้งชันโรงของเกษตรกร เพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนในชุมชน ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลผลิตไม่น้อยกว่า 30%
ผศ. ดร.อิสมะแอ เจ๊ะหลง คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา หัวหน้าชุดโครงการวิจัย “โครงการการพัฒนาศักยภาพและยกระดับห่วงโซ่มูลค่าของเกษตรกรกลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรงและวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งชันโรงจังหวัดยะลาและนราธิวาส” ภายใต้การสนับสนุน ของบพท. เปิดเผยว่า ที่มาของโครงการนี้เกิดขึ้น จากการที่ชาวบ้านได้รับลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2565 ทำให้มีรายได้ลดลง ซึ่งแต่เดิมจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการเลี้ยงผึ้งชันโรงอยู่กระจัดกระจาย และมีตลาดส่งออกหลักไปยังประเทศมาเลเซียคิดเป็นมูลค่า 2 ล้านบาทต่อปี ทั้งในรูปแบบรังพร้อมเลี้ยงชันโรง คิดเป็น 80 % และผลิตภัณฑ์จากผึ้งชันโรง แต่พอโควิดระบาด ทำให้ส่งการออกไปยังประเทศมาเลเซียไม่สามารถกระทำได้ และโควิดยังทำให้มีแรงงานคืนถิ่นส่วนหนึ่งต้องมาอยู่อาศัยที่บ้าน โดยที่ไม่มีอาชีพรองรับ จึงมองเห็นว่าการเลี้ยงชันโรง น่าจะเป็นทางออกในการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้ หรือเป็นการขับเคลื่อนสร้างเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน
ในการนำความรู้สู่ชุมชน ดร.ผศ. ดร.อิสมะแอ เจ๊ะหลง ซึ่งได้รับฉายานามว่า “DR.BEE” หรือดร.ผึ้ง เพราะคลุกคลีทำงานวิจัยเกี่ยวกับผึ้งมายาวนาน 19 ปี บอกว่า ความรู้ที่มอบให้ชุมชน เป็นไปในลักษณะสหวิทยา ครอบคลุมทั้งเกษตรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และการบริหารจัดการการตลาด ซึ่งมีการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน ได้แก่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) สภาเกษตรจังหวัด และเกษตรจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัด (ศวพ.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งชันโรง วิสาหกิจชุมชนด้านผึ้งชันโรง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น
“เรานำชุดความรู้จากงานวิจัย ถ่ายทอดแก่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งชันโรง เริ่มตั้งแต่นวัตกรรมการทำรังในการเลี้ยง เพื่อให้ได้ผลผลิตน้ำผึ้งที่มีความสมบูรณ์ มีนวัตกรรมในการขยายรัง สร้างทักษะในการเป็นผู้ประกอบการ พัฒนาต่อยอดน้ำผึ้งชันโรงให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย และมีขีดความสามารถในการบริหารจัดการการตลาดได้เอง แทนที่จะพึ่งพาเฉพาะตลาดมาเลเซียที่เคยผ่านมา”ผศ.ดร.อิสมาแอ กล่าว
“น้ำผึ้งชันโรงสีม่วงดำ”เป็นน้ำผึ้งที่มีความแปลกแตกต่างจาก น้ำผึ้งชันโรงทั่วไป ดร.อิสมาแอ บอกว่า เป็นการค้นพบน้ำผึ้งชันโรงชนิดใหม่ ปกติ น้ำผึ้งชันโรงจะมีสีเหลืองทองตามเกสรพืชที่ชันโรงดูดกิน หรือมีสีเขียวตามชนิดพืช แต่น้ำผึ้งชันโรงที่มีสีม่วงดำ เป็นผลจากตัวชันโรงได้ดูดกินเกสรต้นโครงเครง ที่เป็นพืชพบได้ทั่วไปในภาคใต้ ซึ่งน้ำผึ้งชนิดนี้มีคุณสมบัติที่ดีกว่าน้ำผึ้งสือื่นๆ จากปกติน้ำผึ้งชันโรงมีคุณสมบัติพื้นฐานคือต้านเซลล์มะเร็ง แก้การอักเสบ แบคทีเรีย ป้องกันเชื้อรา ชะลอความแก่ แต่สำหรับน้ำผึ้งสีม่วงดำ มีส่วนสำคัญที่เจอคุณสมบัติเช่นเดียวกับของน้ำผึ้งมานูก้า ซึ่งเป็นน้ำผึ้งอันดับหนึ่งของโลก คือมี DHA MGO และLeptosperin และยังมีคุณสมบัติอีก 3 อย่างเพิ่มเติม Flavonoids ,Phenolic compounds ,Hydroxymethylfurfura ซึ่งเป็นสารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
“การที่น้ำผึ้งมีสีม่วงดำ จากการวิจัยตามเก็บข้อมูลชองเราพบว่า ชันโรงจะเก็บน้ำหวานจากกระเปาะดอกต้นโครงเครงถึง 70-80% จึงทำให้มันมีสีม่วงดำ คุณสมบัติน้ำผึ้งชนิดนี้ถือว่าเป็นหนึ่งเดียวของโลก แม้แต่มาเลเซีย หรืออินโดนีเซียที่เลี้ยงผึ้งชันโรงมากๆ ก็ไม่มีคุณสมบัตินี้ เพราะเป็นเรื่องของสภาพแวดล้อม3จังหวัดภาคใต้ของไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพไม่เหมือนที่อื่นในโลก “ดร.อิสมาแอกล่าว
นายรุสดี ยะหะแม ประธานวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้บือมัง อ.รามัน จ.ยะลา นายรุสดี ยะหะแม ประธานวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้บือมัง อ.รามัน จังหวัดยะลา หนึ่งในพื้นที่เป้าหมายในการขับเคลื่อนงานวิจัยผึ้งชันโรงในครั้งนี้ กล่าวว่า เริ่มแรกวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ เป็นวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้บือมัง มีสมาชิกประมาณ 50 คน แต่ปลูกต้นไม้เศรษฐกิจมีค่า ได้แก่ ตะเคียนทอง พยุง ฯลฯ แต่ต้นไม้พวกนี้ต้องใช้ระยะเวลายาวนาน 10-20 ปี กว่าจะสามารถสร้างรายได้ เทียบกับการเลี้ยงผึ้งชันโรง ที่เก็บขายได้ทุกเดือน ถือว่าการเลี้ยงผึ้งชันโรงตอบโจทย์ด้านรายได้ดีกว่า
เริ่มแรกชาวบ้าน 11 คน จึงรวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรงบ้านบือมัง (Kelulut Bukit Bumae) โดยเลี้ยงผึ้งชันโรงเพียง 2 รัง แล้วขยายเพิ่มถึง 30 เท่าเป็น 60 รังภายในเวลาเพียง 3 เดือน เนื่องจากผลผลิตจากผึ้งชันโรงสร้างรายได้ที่ดีมาก ไม่พอขาย ซึ่งปัจจุบันทางกลุ่มเลี้ยงผึ้งได้ 200 รังและตั้งเป้าจะเลี้่ยงให้ครบ 1,000 รังในปีหน้า ” ภายใต้แนวคิด “แมลงจิ๋ว สร้างชุมชน” พร้อมกับวางแผนผลิตกล่องถาดน้ำหวานออกขาย และผลิตภัณฑ์จากผึ้งชันโรง ในรูปของสบู่ ลูกอม นอกจากนี้ ก็มีสมาชิกในกลุ่มบางคน เตรียมผันตัวเองมายึดอาชีพเลี้ยงผึ้งชันโรงเป็นอาชีพหลัก และเตรียมต่อยอดไปทำสวนทุเรียน โดยใช้ผึ้งชันโรง ช่วยผสมเกสร
นายมาหายุดิน ดอละ ประธานกลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรง ผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งชันโรง โดยภาพรวม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัย “โครงการการพัฒนาศักยภาพและยกระดับห่วงโซ่มูลค่าของเกษตรกรกลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรงและวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งชันโรงจังหวัดยะลาและนราธิวาส” บรรลุผลสัมฤทธิ์ที่ดีในการช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ที่มั่นคง ทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งชันโรงมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลผลิตผึ้งชันโรงจำนวนไม่น้อยกว่า 30 % ซึ่งมาจากการจำหน่ายน้ำผึ้งชันโรง เพิ่ม 10.26-13.79 %ด้วยราคารับซื้อที่ 700-750 บาทต่อ 1 กิโลกรัม และนำมาขายในราคา 1,000-1,200 บาทต่อ 1 กิโลกรัม การผลิตรังผึ้งชันโรง พร้อมเลี้ยง จำหน่ายใน ราคา 3,000-4,000 บาท/รัง
ทั้งนี้ พื้นที่วิจัยภายใต้โครงการข้างต้น มีอยู่ด้วยกัน 5 แห่ง ได้แก่ วิสาหกิจชุมชน/กลุ่มผู้เลี้ยงชันโรง อ.แว้ง จ.นราธิวาส วิสาหกิจชุมชนกลุ่มชันโรงบ้านไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส วิสาหกิจชุมชนบัยตุลมานบ้านเจาะตูแน อ.ยะหา จ.ยะลา วิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้บือมัง อ.รามัน จ.ยะลา และกลุ่มครัวเรือนตกเกณฑ์ จปฐ อ.กรงปีนัง จ.ยะลา
สำหรับคุณลักษณะทั่วไปของน้ำผึ้งชันโรง จะมีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน มีสรรพคุณทางยาสูงกว่าน้ำผึ้งปกติถึง 2 เท่า มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไปหลายเท่า ซึ่งเกิดจากกระบวนการหมักทางธรรมชาติ รสชาติจะต่างตามชนิดสายพันธุ์และชนิดดอกไม้ที่เป็นแหล่งอาหาร ซึ่งสายพันธุ์ที่นิยมนำมาเลี้ยง คือ พันธุ์อิตาม่า (สายพันธุ์ใหญ่) ซึ่งจะให้ผลผลิตน้ำผึ้งในปริมาณที่สูงกว่าพันธุ์ขนเงิน (พันธุ์เล็ก)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไปแอ่วหละปูนกันเต๊อะ ยลมหานครโคมโลก !
ประเด็น "การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล" ในไหล่ทวีป 26,400 ตารางกิโลเมตร ระหว่างไทย-กัมพูชา กลับมาเป็นเรื่องร้อนๆ ที่ถูกพูดถึงทางการเมืองอีกครั้ง