กรมศาสนาตั้งคณะกรรมการเตรียมเสนอครบ 150 ปี ‘ครูบาเจ้าศรีวิชัย’ ให้ยูเนสโกรับรองเป็นบุคคลสำคัญของโลกปี 67 ลุยสืบค้นข้อมูล-ผลงานสร้างวัดทั่วภาคเหนือ
7 ก.ย.2566 – นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า รัฐบาลมอบหมายกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการเสนอชื่อครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นบุคคลสำคัญของโลก ต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในวาระครบรอบ 150 ปี ชาตกาล โดยการดำเนินงาน ในระยะแรกกระทรวงวัฒนธรรมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการเสนอวาระครบรอบ 150 ปีชาตกาล ครูบาเจ้าศรีวิชัยเพื่อให้องค์การยูเนสโกรับรองและร่วมเฉลิมฉลอง เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาและให้ความเห็นเกี่ยวกับการกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงาน และพิจารณามอบหมายการดำเนินงานตามแผนงาน โครงการ กิจกรรมต่างๆ ตามความเหมาะสม
อธิบดี ศน. กล่าวว่า เมื่อเร็วนี้ตนและคณะทำงานของกรมการศาสนาได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน เพื่อร่วมหารือกับภาคคณะสงฆ์ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้แทนสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ในประเด็นขับเคลื่อนเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ จากการหารือทุกฝ่ายมีความเห็นเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเสนอรายชื่อและจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง เนื่องในวาระครบรอบ 150 ปี ชาตกาล ครูบาเจ้าศรีวิชัย โดยให้คณะกรรมการสามารถแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ เพื่อให้การทำงานในพื้นที่ล้านนา 10 จังหวัดภาคเหนือ ให้มีความสะดวกและคล่องตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ เพื่อสืบค้น วิเคราะห์ และรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญ เนื่องจากผลงานของครูบาเจ้าศรีวิชัยมีประจักษ์พยานมากมาย
” โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านของการบูรณปฏิสังขรณ์วัด ถาวรวัตถุ ซึ่งปรากฏข้อมูลดำเนินการในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากประสงค์จะเสนอชื่อต่อองค์การยูเนสโกต้องมีผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนในต่างประเทศ รวมถึงต้องพิจารณาความสำคัญที่มีผลต่อนานาชาติด้วย ดังนั้น จึงต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในประเด็นนี้ นอกจากนี้ ข้อมูลต้องมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์ขององค์การยูเนสโก รวมทั้งสามารถนำเสนอให้ผู้ที่ไม่มีความรู้หรือไม่มีความสนใจเกิดความรู้ความเข้าใจและรู้สึกเห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม จะต้องดำเนินการเสนอยูเนสโกในปี 2569 เพื่อเฉลิมฉลองในปี 2571″ นายชัยพล กล่าว
อธิบดี ศน.กล่าวต่อว่า การเสนอชื่อครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นบุคคลสำคัญของโลก เป็นการเชิดชูยกย่องบุคคลสำคัญของประเทศไทย ซึ่งท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างและบูรณะพุทธศาสนสถานหลายแห่งทั่วภาคเหนือของประเทศไทย จนได้รับการขนานนามว่า “ตนบุญแห่งล้านนา” คุณงามและความดีของท่านจะสามารถเป็นแบบอย่างให้แก่พระสงฆ์ และประชาชนทั่วโลกได้ปฏิบัติตาม นับเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่จะนำสันติภาพสู่สังคมโลกได้
สำหรับประวัติ ครูบาเจ้าศรีวิชัย ท่านเกิดเมื่อวันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2421 ปีขาล เมื่ออายุได้ 18 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน จนกระทั่งอายุ 21 ปี จึงอุปสมบท ณ วัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ท่านมักเจริญภาวนาในป่า ฉันภัตตาหารมื้อเดียว ฉันมังสวิรัติ ไม่ฉันของเสพติด เช่น หมาก พลู บุหรี่ เมี่ยง ทำให้ประชาชนเลื่อมใสท่านมาก
เมื่อท่านทราบว่าที่ใดยังขาดเสนาสนะที่จำเป็นหรือกำลังชำรุด ทรุดโทรม ท่านจะเป็นผู้นำชาวบ้านไปก่อสร้างจนสำเร็จ ผลงานที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดคือการถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ ครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2481 ที่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สิริอายุได้ 60 ปี ตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปาง เป็นเวลา 1 ปี จึงได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ ณ วัดจามเทวี อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน จนกระทั่งวันที่ 21 มีนาคม 2489 จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ โดยมีประชาชนมาร่วมในพิธีพระราชทานเพลิงศพจำนวนมาก โดยอัฐิธาตุของท่านที่เจ้าหน้าที่สามารถรวบรวมได้ได้ถูกแบ่งออกเป็น 7 ส่วน แบ่งไปบรรจุเพื่อให้พุทธศานิกชนได้สักการะบูชา ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วแผ่นดินล้านนา ในภาคเหนือของประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศน.ชวนแจ้งความประสงค์ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐิน 9 พระอาราม
ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ และพระราชานุญาตให้กระทรวง กรม หน่วยงานองค์กร คณะบุคคล และเอกชนที่มีความประสงค์ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินพร้อมเครื่องบริวารพระกฐิน เพื่อน้อมนำไ
'นวราตรี' พื้นที่ของทุกศาสนา
หนึ่งปีมีครั้งเดียวเทศกาล “นวราตรี” ถือเป็นช่วงเวลาที่ชาวฮินดูบูชาพระแม่อุมาเทวีจากความเชื่อตามตำนานที่พระแม่อุมาเทวีในร่างอวตารเป็นองค์ “พระแม่ทุรคา“ ปราบอสูรชื่อว่า “มหิษาสูร” ที่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายไปทั่วได้สำเร็จ หลังสู้รบกันมา 9 วัน 9 คืน
รุ่นใหม่วัยเยาว์ 5 ศาสนา ท่อง'กะดีจีน'
ชุมชนกะดีจีนหรือชุมชนกุฎีจีนถือเป็นชุมชนที่อยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางความวัฒนธรรมและความเชื่อมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ย่านนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับทุกวัยและทุกศาสนา ในพื้นที่มีชุมชนและศาสนสถานแต่ละศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม เพื่อส่งต่อเรื่องราวพหุวัฒนธรรม เยาวชนรุ่นใหม่จาก 5 ศาสน